ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ชวนให้น่าเศร้าของวงการบันเทิงแขนงต่างๆ ในบ้านเราไปเสียแล้ว กรณีที่ว่าแม้จะเป็น(ผล)งานดี มีคุณภาพ เป็นทางเลือก แต่หากงานชิ้นนั้นๆ หาเงินไม่ได้ งานดีที่ว่าก็ย่อมจะไม่มีที่ให้ยืน ไม่มีที่ให้อยู่
ย้อนไปประมาณ 15 ปีที่แล้ว การเกิดขึ้นมาของ "ไพเรท ร็อค" โดย "วินิจ เลิศรัตนชัย" จัดได้ว่าเป็นคลื่นที่มีสีสันจัดจ้านเป็นอย่างมากในแวดวงวิทยุบนหน้าปัดเอฟเอ็ม 89.0 เมกะเฮิร์ต แต่หลังจากออกอากาศไปได้ระยะหนึ่งคลื่นโจรสลัดคลื่นนี้ก็จำต้องปิดตัวเองลงไปด้วยสาเหตุหลักก็คือ มีคนฟังแต่หาตังค์ไม่ได้
ทิ้งช่วงไม่นาน คลื่นตัวโต "แฟต เรดิโอ 104.5" ของ "เต็ด ยุทธนา บุญอ้อม" ก็ปรากฏขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับบรรดาคอเพลงที่เบื่อความซ้ำซากของดนตรีจากค่ายยักษ์ใหญ่อย่างแกรมมี่ฯ และอาร์เอสฯ ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะกินส่วนแบ่งทางการตลาดเพลงของบ้านเราไม่น่าจะต่ำกว่า 80% โดยในระยะแรกๆ คลื่นตัวโตฯ คลื่นนี้ค่อนข้างจะได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ ด้วยคอนเซ็ปต์ขายความเป็นอินดี้ + อัลเทอร์เนทีฟให้บรรดาเด็กวัยรุ่นที่มีศัพท์บัญญัติเฉพาะว่า "เด็กแนว" ทั้งหลาย
ทว่าเมื่อกระแสดนตรีดังกล่าวเกร่อจนถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับทางคลื่นฯ เองมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอเพื่อความอยู่รอด แฟต เรดิโอฯ จึงคลายความเข้มข้นลงไปเรื่อยๆ กระทั่งแทบจะมิได้มีอะไรแตกต่างอะไรไปจากคลื่นเพลงอื่นๆ ในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
ท่ามกลางความซบเซาของคนฟังเพลงที่จมอยู่ในกองแห่งความซ้ำซากจำเจจากเพลงที่เปิดกรอกหูโดยคลื่นวิทยุหลายต่อหลายคลื่น ปลายปี 2549 คอดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัย 30 ขึ้นไป จึงได้รู้สึกกระชุ่มกระชวยจากการเกิดขึ้นของรายการเพลงสากลที่มีชื่อว่า "เดอะ เรดิโอ" ทางเอฟเอ็ม 99.5 ที่มีดีเจมือเก๋าทั้ง หมึก วิโรจน์ ควันธรรม, ซัน มาโนช พุฒตาล และเจ้าแม่บริทร็อกอย่าง ป้าแต๋ว วาสนา วีระชาติพลีนำทีม
แต่คลื่นวิทยุที่ได้รับการชื่นชมแบบปากต่อปากจนกลายเป็นความแปลกแตกต่างแห่งทางเลือกนี้ก็สร้างความกระชุ่มกระชวยได้ไม่นานนัก หนึ่งปีหลังออกอากาศมีเสียงลือหนาหูว่า "เดอะ เรดิโอ 99.5" กำลังจะถูก 2 ค่ายวิทยุยักษ์ใหญ่เข้ายึด ร้อนถึง "หมึก วิโรจน์" ผู้กุมบังเหียนต้องออกมาปฏิเสธข่าว ทว่าจากนั้นอีกเพียง 2 - 3 เดือน เดอะ เรดิโอ ก็มีอันต้องกระเด็นหลุดผังจริงๆ
นับเป็นของขวัญรับปีใหม่ 2551 ชิ้นที่ทำเอาหลายคนซึ่งเป็นแฟนของคลื่นนี้ตกใจไม่น้อยกับความค่อนข้างกะทันหันที่เกิดขึ้น
โดยสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลง "วิโรจน์" บอกว่า ไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมากไปกว่าทำรายการแล้วไม่มีสปอนเซอร์เข้ามา
"เอ่อ...ผมขอเรียนอย่างนี้นะว่าเราไม่ได้โดนปลดหรืออะไรนะ เรียกอย่างไรดีล่ะ คือโดยตัวเนื้อหารายการ โดยตัวรูปแบบผมมั่นใจว่ามันโอคะนะครับ แล้วมันก็ออกมาได้ดี แต่ทีนี้เมื่อตอนปลายปีที่ผ่านมากลุ่มนายทุนซึ่งเป็นคนลงทุนเนี่ยเขาก็เขามาคุยกับผมว่า มีเรื่องสำคัญจะคุยได้นะ เขาก็เลยมาเจรจาเรื่องนี้ ว่ารายการเนี่ยแบกภาระไว้ไม่ไหว"
"ที่จริงรายการของเราเนี่ยมีคนฟังเยอะจริงๆ แต่เราไปพูดคำนี้กับทางสปอนเซอร์ไม่ได้ไง มันไม่มีตัวตน ในทางธุรกิจมันพูดแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งเราก็เข้าใจบอกกับทางกลุ่มทุนว่า โอเคเราเข้าใจว่าเงินก็หายากทุกบาททุกสตางค์กว่าจะหามาได้ เราเข้าใจ ก็เลยต้องยุบรายการทั้งที่ทำมา 14 เดือน"
"ก็จะมีทีมใหม่เข้ามาทำ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าทีมไหน แต่ทีมใหม่ที่เข้ามาสามารถที่จะคำนวณตัวเลขได้เลย เขาบอกผมอย่างนี้ ซึ่งถ้ามีคนสามารถคำนวณตัวรายได้ได้ขนาดนั้น ผมยอมถอยครับ ผมเข้าใจ"
ดีเจรุ่นเก๋าบอกว่าถึงตอนนี้ตนเองรู้สึกเพียง 2 คำ เท่านั้น ก็คือ "เสียใจ" และ "เสียดาย"
"เราเองเราอาจจะมีกลุ่มคนฟังที่เหนียวแน่น แต่เราก็ต้องยอมรับในตรงนี้ ซึ่งเรายอมรับว่าในทางธุรกิจมันไม่ไหว ถ้าถามผม ความรู้สึกตอนนี้มันทั้งเสียใจและเสียดายแค่คำสองคำนี้มันบ่งบอกทุกอย่างแล้วล่ะครับ"
"ยิ่งผมมาดูความคิดเห็นในพันทิป ดูที่เขาตั้งกระทู้มาให้ ซึ่งเราไม่เคยไปกระพือตรงนั้น เขาก็แสดงความอนาทรถึงคลื่นที่เราทำอยู่ บางข้อความทำให้เรารู้สึกภูมิใจ บางคนเขียนมาบอกว่า วันหนึ่งเราเคยไปบ้านเพื่อน แล้วเราเคยฟังเพลงนี้ เพื่อนเปิดเพลงนี้ให้เราฟัง แต่มาวันหนึ่งเพื่อนปิดประตูบ้าน เราก็ยังอยากที่จะเดินมาฟังเพลงของเขา และจะเดินมาทุกวัน มารอว่าเมื่อไหร่เพื่อนจะเปิดประตูบ้านนั้น โห...แค่นี้มันก็ซึ้งใจแล้ว"
ไม่อยากคาดเดาอนาคตของเดอะ เรดิโอ ว่าจะเป็นเช่นไร แต่จะไม่ยอมอยู่เฉยๆ แน่นอน
"ตอนนี้มันคาดเดาอะไรไม่ได้หรอกนะ ผมบอกตามตรงไม่รู้จะคาดหวังอะไรได้อีกมั้ย แต่จะบอกตรงนี้ให้กลุ่มคนที่เป็นแฟนเดอะเรดิโอว่า ผมจะไม่งอมืองอเท้ารออยู่เฉยๆ แน่ ผมจะทำทุกอย่างให้เราได้มาเจอกันครับ ไม่นิ่งแน่นอน จริงๆ คลื่นยังอยู่ แต่ทีมดีเจเดอะ เรดิโอที่ลาออกยกทีม เราก็จะหาทางมาเจอกลุ่มคนฟังของเรา ซึ่งเราก็กำลังทำอยู่ เราอยากมาสบตากันน่ะ"
"ทุกคนมีความรู้สึกเสียดาย เราไม่ตั้งใจที่จะไปกระพือความสูญเสีย เราไม่เคยทำ ไม่เคยคิด ไม่เคยกระพือ ทุกอย่างมันเป็นไปตามที่มันเป็น ตอนนี้ก็กาคลื่นพร้อมทั้งหาทางทำอะไรที่จะได้มีโอกาสพบกับแฟนเพลง หาทุกวิถีทางที่จะทำได้ตอนนี้"
ขณะที่ "มาโนช พุฒตาล" บอกสั้นๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงว่า เป็นเรื่องธรรมดาในการทำงานของคนที่ไม่ได้มีบริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุน
"ผมก็เห็นเป็นทุกรายการที่ไม่ได้มีบริษัทขนาดใหญ่รองรับ ไม่ได้เป็นค่ายเทปที่มีเงิน หรือมีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่พร้อมเพรียง"
"ในประเทศไทยเราเอง มันไม่ใช่เฉพาะวงการสื่อ หรือวงการเพลงหรอกครับที่ผู้บริโภคเองจะสามารถเลือกหรือกำหนดในสิ่งที่ตนเองต้องการ ที่ตนเองชอบ ทุกอย่างมันถูกกำหนดมาจากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ที่มีอำนาจอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทางการเมือง ทางการทหาร พ่อค้านักธุรกิจ"
"บางทีคนเหล่านี้เขาทำอะไรกับเราไปโดยที่ไม่คำนึงหรอกว่าผู้บริโภคเองจะคิด รู้สึกหรือว่าต้องการอะไร ทุกอย่างเขาเป็นคนกำหนด บางทีก็คิดแต่เพียงว่าทำอย่างไรก็ได้เพื่อต้องเอาไปขาย คือผมคิดจริงๆ นะว่า เราเองปกครองกันในระบอบประชาธิปไตยก็เพียงแค่ในนาม แต่ในทางภาคปฎิบัติ ไม่ใช่"
บ่อยครั้งที่เหตุการณ์เช่นนี้มักจะเกิดขึ้น ซึ่งนายใหญ่ของเดอะ เรดิโอ "หมึก วิโรจน์" เปรียบว่ามันเหมือนกับน้ำ 2 น้ำ ที่ทำอย่างไรมันก็ไม่สามารถไปด้วยกันได้เสียที
"มันเหมือนน้ำ 2 น้ำที่มันยังไปด้วยกันไม่ได้ หนึ่งคือน้ำใจดีกับสองน้ำใจทางธุรกิจ สองอันนี้มันรวมเป็นชิ้นเดียวกันไม่ได้ ผมว่าจริงๆ แล้ว ถ้าวันนี้ผมมีคนการตลาดที่มีความเข้าใจในรูปแบบรายการวิทยุที่ผมทำอยู่นี้อย่างถ่องแท้และมีใจกับเราอย่างเต็มที่ ยืนอยู่ข้างๆ ผม ผมไปได้รอดครับ"
"ผมขาดคนการตลาดที่เป็นมืออาชีพทางด้านวิทยุเพลงสากล จริงๆ ครับ ถ้ามีติดต่อผมมาหน่อยเถอะ มันคือตรงนี้เท่านั้นเอง ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนการตลาด ผมแค่พอจะทำได้ แต่มันคงจะไม่ดีหรอกครับ ถ้าคนหนึ่งต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน"
"มันน่าจะเป็นว่าใครถนัดอะไรก็น่าจะได้ทำอย่างนั้น เพื่ออะไร ก็เพื่อจรรโลงให้รูปแบบการจัดรายการแบบนี้ ซึ่งคนที่เขาอยากฟังก็รออยู่"