xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกแฟนเพลงไทย หลัง CD Warehouse / EMI พร้อมใจกันสูญพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดูจะเป็นเรื่องที่แดกดันเสียเหลือเกิน สำหรับสโลแกนที่อยู่ข้างๆ กับโลโก้ของร้านซีดีเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง CD Warehouse ที่แฟนๆ ติดตาด้วยวลีที่มองโลกในแง่ดีว่า The Future of Music เพราะอนาคตของดนตรีที่มาถึงจริงๆ นั้น นำมาซึ่งการตั้งป้ายเอาไว้หน้าร้านด้วยข้อความที่สื่อได้หลายความหมายว่า All Items 50% Off เพราะขณะที่แฟนเพลงกำลังช็อปปิ้งแผ่นซีดีราคาถูกกันอย่างมันมือ จำนวนสินค้าที่ร่อยหรอไปจากร้านเรื่อยๆ โดยไม่มีตัวใหม่ๆ เข้าร้านมาเลยนั้น เป็นเหมือนการสร้างภาพอันเด่นชัดของ "อนาคตของเสียงเพลง" ด้วยมือของแฟนเพลงเอง

อนาคตที่ไม่แน่ว่าการเดินเลือกซื้อสื่อเสียงเพลงตามร้านค้ากำลังจะหมดไป

ที่ดูจะซ้ำเติมกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าใช้เสียงเพลงเป็นการผ่อนคลายอารมณ์หรือคนที่มีเสียงเพลงอยู่ในหัวใจเข้าไปอีก คงไม่พ้นการตามมาติดๆ ของการปิดตัวลงอย่างถาวรของค่ายเพลง EMI ประเทศไทย 1 ใน 4 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลกที่ผลิตผลงานของศิลปินระดับสากลให้แฟนเพลงชาวไทยได้ชื่นชมกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น Nat King Cole,Frank Sinatra (ก่อนปี 1961), The Beach Boys, The Beatles, Pink Floyd, Lily Allen, Beastie Boys, Black Sabbath, Blur, David Bowie, Garth Brooks, The Chemical Brothers, Coldplay, Depeche Mode, Duran Duran, Hilary Duff, Electric Light Orchestra, Erasure, Exodus, Foo Fighters, Grand Funk Railroad, George Harrison, Iron Maiden, Janet Jackson , Jane's Addiction, Norah Jones, Korn, Kraftwerk, Marillion, Megadeth (ก่อนปี 2000), Paul McCartney (ก่อนปี 2006), George Michael, Kylie Minogue, Morrissey, Pet Shop Boys, Queen, Queensryche, Radiohead (ก่อนปี 2003), Corinne Bailey Rae, Red Hot Chili Peppers (ก่อนปี 1990), R.E.M. (ก่อนปี 1988), The Rolling Stones, Roxette, The Sex Pistols, The Smashing Pumpkins (ก่อนปี 2001), Spice Girls, Joss Stone, Supergrass, KT Tunstall, Hikaru Utada, The Verve, The White Stripes, Robbie Williams รวมทั้งผลงานของศิลปินในแวดวงคลาสสิกทั้ง Maria Callas, Enrico Caruso, Jacqueline du Pre, Sir Edward Elgar, Herbert von Karajan, Nigel Kennedy, Yehudi Menuhin, Itzhak Perlman, Maxim Vengerov ที่ต่อไปแฟนเพลงจะสามารถติดตามผลงานของพวกเขาทั้งใหม่ๆ และย้อนหลังได้จากการดาวน์โหลดทางอินเตอร์เน็ทเท่านั้น ส่วนการเลือกซื้อผลงานที่จับต้องได้อย่างแผ่นบันทึกเสียงหรือซีดีนั้นต้องพึ่งพาการนำเข้าแผ่นอิมพอร์ตจากร้านค้าหรือโดยส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะผลงานของศิลปินที่กล่าวมาในข้างต้นจะไม่มีการผลิตในประเทศไทยอีกแล้ว

ฤาจะเป็นการสูญพันธุ์ของค่ายเพลงเทศเมืองไทย

เป็นที่รู้กันดีว่าเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานเพลงและภาพยนตร์ในบ้านเราเริ่มรุนแรงขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเทคโนโลยีมีความพัฒนามากขึ้นเท่าไหร่ ปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ยิ่งมีความรุนแรงมาขึ้นเท่านั้น และสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด (แต่รู้ว่าต้องเกิดแน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง) อย่างการยุบตัวลงของ 1 ใน 4 ค่ายเพลงต่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง EMI ที่ผลิตผลงานให้แฟนเพลงชาวไทยมากว่า 20 ปีก็มีให้เห็นคาตากันในต้นปีหน้านี้

ซึ่งทางตัวแทนของทาง EMI ก็ได้ชี้แจงว่าปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมเมื่อปีที่แล้วของบริษัทตกลงมากกว่า 30% ส่งผลให้บริษัทแม่ที่อังกฤษตัดสินใจยุติการจัดจำหน่ายเทป, ซีดี, วีซีดี, ดีวีดี, และรูปแบบอื่นๆ ยกเว้นในรูปแบบดิจิตอลในประเทศไทย ซึ่งทาง EMI ชี้แจงว่าการตัดสินใจครั้งนี้ทางฝ่ายบริหารของคนไทยไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด เพราะ EMI ในภูมิภาคนี้ทั้งในฮ่องกง, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย ต่างก็ต้องดำเนินตามนโยบายแบบนี้เหมือนกันทั้งหมด

ทางตัวแทนชี้แจงว่า แม้ในปีหน้าทางค่ายจะมีผลงานที่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างผลงานชุดใหม่ของวง Coldplay แต่จากปัญหาทางด้านการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากไปกว่านี้ ทางบริษัทแม่จึงจำเป็นต้องดำเนินตามนโยบายดังกล่าวภายในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2551

การจากไปของ 1 ใน 4 ค่ายเพลงต่างประเทศยักษ์ใหญ่ คำถามที่ตามมาจึงหนีไม่พ้นว่า ถ้าสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่นี้ จาก 4 ที่เหลือ 3 จะเหลือ 2 เหลือ 1 เมื่อไหร่

นัดดา บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการบริษัท Warner Music (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกมาชี้แจงว่าสิ่งที่กำลังรุมเร้าธุรกิจเสียงเพลงทุกวันนี้ก็คือสภาพการตลาดโดยรวมที่กำลังตกต่ำลง

"ปัจจัยที่หนึ่งก็คือสภาพเศรษฐกิจในบ้านเราที่กำลังตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของแฟนเพลงลดลง ที่ส่งผลต่อยอดขาย ส่วนปัจจัยที่สองก็คือสื่อมีการโปรโมทผลงานเพลงใหม่ๆ กันน้อยเกินไป ชอบเปิดแต่เพลงที่ฮิตไปแล้ว จะเห็นไว้ว่าทุกวันนี้แฟนเพลงไม่ค่อยจะรู้จักเพลงใหม่ๆ กันมากนัก ซึ่งส่งผลต่อยอดขายโดยรวม"

"ในส่วนการเปลี่ยนแปลงของทางฝั่ง EMI โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าพวกเขาใจร้อนเกินไปหน่อย แต่ก็เข้าใจได้เพราะหลังจากที่ทางบริษัทแม่ถูกทางเครือ Terra Firma ซื้อกิจการไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเขาดำเนินแผนธุรกิจแบบถือเอาผลประโยชน์ของบริษัทเป็นหลัก อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำกำไรก็ต้องปิดตัวลง ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าธุรกิจตรงนี้มันมีทั้ง Good Time, Bad Time คือเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แต่การไปยึดติดกับการทำธุกิจ digital อย่างเดียวนั้นมันค่อนข้างเสี่ยง เพราะยังไงมันก็ยังไม่เหมือนกับแผ่น CD จริงๆ ที่เราจับต้องได้มากกว่า"

"ทุกวันนี้มันกลายเป็นว่าสินค้าเพลงประเภทตลาด มันขายได้ลดลง แต่ประเภทเฉพาะกลุ่มกลับมีคนสนใจกันมากขึ้น ซึ่งการที่พฤติกรรมของผู้ฟังมีการเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ กลยุทธ์ในการดำเนินงานของแต่ละค่ายจะต้องตามให้ทัน"

"ในส่วนค่ายของเราทุกวันนี้พยายามเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อคงสถานภาพเดิมเอาไว้ จับงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแบบ 360 องศา อย่างงานคอนเสิร์ตของวงคาราบาวที่ผ่านมาเราก็เริ่มที่จัดเองแล้ว ขอยืนยันว่าทาง Warner จะยังคงยืนหยัดต่อไปอย่างแน่นอน"

ฉากสุดท้ายของ CD Warehouse ปิดตำนานสวนสนุกแห่งเสียงเพลง

จากชื่อ Tower Records ที่ลดขนาดมาเป็น CD Warehouse แต่สุดท้ายร้านเทปเจ้าแรกที่เปิดประสบการณ์ในการเดินชมซีดีเพลงจนเมื่อยขาและได้ฟังเพลงในร้านผ่านหูฟังจนหมดแผ่นก็มีอันต้องปิดตัวลง แม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการเหมือนกับทาง EMI แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าร้านค้ายักษ์ที่เปิดโอกาสได้ให้แฟนเพลงได้ใช้เวลาครึ่งค่อนวันเดินชมกองทัพซีดีเพลงจากศิลปินทั่วโลกต้องปิดตัวลงในสิ้นปีนี้

ซึ่งผู้ที่เข้าใจความรู้สึกนี้ดีที่สุดอาจจะเป็น ศิริพงษ์ ลิมปพัฒนะ อดีตเจ้าของร้านเพลง Jedi Music ที่แต่ก่อนมีอยู่หลายสาขาตามห้างดังของกรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันเหลือเพียงสาขาเดียวที่เดอะ มอล บางกะปิ ที่ใครเดินผ่านไปผ่านมาอาจจะไม่รู้ว่าเจ้าของที่แท้จริงของร้านเทปรุ่นเก๋าร้านนี้ได้เปลี่ยนมือเป็นของค่ายเพลง Platinum เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในฐานะคนที่อยู่ในวงการเทปซีดีมากว่า 20 ปี ศิริพงษ์ที่ ณ วันนี้ต้องหันไปจับธุรกิจอื่นเพื่อโอกาสการอยู่รอดที่ดีกว่า เผยว่าการดำเนินธุรกิจด้านการขายซีดีทุกวันนี้ผู้ดำเนินกิจการต้องเซฟตัวเองเต็มที่ เพราะต้นทุนทุกอย่างมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้านที่คนขายทำการบ้านมาดีและมีความคล่องตัวมากกว่าจะได้เปรียบ อย่างร้านโดเรมีแถวสยามที่ยังอยู่มาได้เพราะเขารับผิดชอบตัวเอง ส่วนร้านของเขาต้องแบกภาระของลูกน้องหลายคนจึงต้องเลิกกิจการไป

ในส่วนการยุบค่ายของ EMI นั้น ศิริพงษ์เผยว่ารู้สึกเสียดายเพราะว่าเป็นค่ายที่มีโปรดักชั่นที่โดดเด่นมากกว่าค่ายอื่นๆ แต่เลือกที่จะตัดช่องน้อยแต่พอตัว ขณะที่ Warner นั้นมักจะเน้นขายแต่พวกรวมเพลงมากกว่า เรื่องโปรดักชั่นยังเทียบ EMI ไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับทาง Sony BMG พร้อมให้ข้อสังเกตว่าถ้าค่าย Universal ที่มีความเข้มแข็งที่สุดทั้งด้านโปรดักชั่นและการบริหารปิดตัวลง เตรียมนับวันสูญพันธุ์ค่ายเพลงเทศเมืองไทยได้เลย

ส่วนทัศนะของ สุรศักดิ์ ตั้ง หรือ เฮียฮ้อ คนขายเทปรุ่นเก๋าแห่งย่านสะพานเหล็กของร้าน BKP กล่าวถึงการปิดตัวของ CD Warehouse ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร้านค้าที่มีขนาดใหญ่โตที่ต้องแบกรับภาระเรื่องค่าเช่าที่ที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ปัญหาเรื่องสต็อกสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เช่นนี้ ร้านค้าที่จะอยู่รอดได้คือร้านเล็กๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นร้านโดเรมี, เจ.ยู.พันธุ์ทิพย์ หรือ BKP ที่สามารถซื้อใจลูกค้าเก่าเอาไว้ได้

ส่วนประเด็นการปิดตัวของ EMI เฮียฮ้อเผยว่าเป็นเรื่องที่พอจะคาดเดาได้มานานแล้ว เพราะยอดขายผลงานลิขสิทธิ์ของ EMI ที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของข่าวเศร้าของแฟนเพลงครั้งนี้
ธุรกิจดนตรีดิจิตอล อนาคตของการฟังเพลงจริงหรือ?

ถ้าศัตรูที่นำมาซึ่งอนาคตของการสูญพันธุ์ของซีดีเพลงลิขสิทธิ์คือแผ่นผีที่อาจจะวางขายในราคาที่ถูกกว่า 1 ใน 4 ของแผ่นแท้ในบริเวณพื้นที่เดียวกันของห้างดังห้างหนึ่ง แล้วจะเป็นอย่างไรกับธุรกิจเพลงดิจิตอลแบบถูกกฏหมาย เมื่อศัตรูของพวกเขาคือแหล่งเว็บไซต์ประเภท Bittorent ที่อยู่ไม่ไกลไปจากหน้าจอคอมพ์เดียวกันของแฟนเพลงกลุ่มเป้าหมายหลัก ขณะที่การดาวน์โหลดเพลงอย่างถูกกฎหมายในบ้านเรายังซอยเพลงขายกันทีละเพลงๆ แฟนเพลงที่เป็นขาประจำของเว็บไซต์นอกกฎหมายดังกล่าวสามารถเลือกเพลงจากศิลปินที่ชอบได้เป็น Discography แบบได้ครบทุกเพลง จากทุกเวอร์ชั่น

ศิลปินระดับโลกที่พยายามจะสร้างบรรทัดฐานผู้บริโภคแห่งโลกเสียงเพลง แต่กลายเป็นวีรกรรมเข้าเนื้ออย่างแรง อย่างการปล่อยผลงานชุดใหม่ของวง Radiohead ที่เปิดโอกาสให้แฟนดาวน์โหลดโดยเลือกเองได้ว่าอยากจะจ่ายเงินให้พวกเขาเท่าไหร่ ซึ่งผลที่ออกมาก็คือส่วนใหญ่โหลดไปฟังโดยไม่คิดที่จะจ่ายอะไรเลย!

จึงน่าสงสัยว่าธุรกิจการดาวน์โหลดเพลงในเมืองไทยจะสามารถมาแทนที่การเดินห้างซื้อซีดีที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้จริงหรือ

"ธุรกิจการโหลดเพลงลิขสิทธิ์ยังเป็นอะไรที่ไกลตัว อย่างล่าสุด Long Road Out of Eden งานชุดใหม่ของ The Eagles ที่เปิดตัวด้วยยอดขาย 4 แสนแผ่น แต่ไปดูยอดดาวน์โหลดแบบลิขสิทธิ์มีเพียงแค่ 3,000 ครั้งเท่านั้น เป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก" เฮียฮ้อกล่าว
เฮียฮ้อ จากร้าน BKP และ ศิริพงษ์ กับอดีตร้าน Jedi Music สาขาสุดท้ายของเขา
ส่วน นัดดา บุรณศิริ ยังคงยืนยันว่าแผ่นซีดียังคงเป็นปัจจุบันและอนาคตของธุรกิจดนตรีต่อไป

"ขั้นตอนการสั่งซื้อเพลงทางอินเตอร์เน็ตยังมีความยุ่งยากเกินไปสำหรับพฤติกรรมการฟังเพลงของคนไทย เพราะการซื้อขายต้องผ่านบัตรเครดิต ทำให้แฟนเพลงที่เป็นเยาวชนหรือนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ขาดโอกาสตรงนี้"

"ถามว่าซีดีจะตายไหม บอกได้เลยว่าไม่ตายแน่ๆ ไม่งั้นผู้ผลิตเขาคงไม่ผลิตเครื่องเล่นออดิโอ ไฟล์เครื่องละล้านออกมาขาย เพราะยังมีแฟนเพลงอยู่มากที่แคร์เรื่องคุณภาพตรงนี้ สังเกตจากยอดขายซีดีของทางเว็บไซต์ Amazon.com ที่สูงขึ้นทุกปี เนื่องจากเขาเน้นเรื่องโปรโมชั่น การลดราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์"

ราคา...มุมมองที่ไม่เคยตรงกันของผู้ผลิตและผู้บริโภค

เมื่อ 10 ปีก่อนสมัยที่เทปคาสเซ็ตยังเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของแฟนเพลงส่วนใหญ่ในเมืองไทย ราคาเทปลิขสิทธิ์จะอยู่ที่เกือบๆ 100 บาท ขณะที่เทปผีในตอนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 50 บาท หรือครึ่งหนึ่งของราคาเต็ม แต่ทุกวันนี้ที่ซีดีเพลงเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของแฟนเพลง ขณะที่ราคาซีดีที่มีลิขสิทธิ์มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 350 - 450 ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาซีดีเถื่อนที่แผ่นละ 100 นับว่าต่างกันถึง 3-4 เท่า ยิ่งถ้าเทียบกับแผ่น mp3 ที่จุมาถึง 10 กว่าชุดในแผ่นเดียว สำหรับแฟนเพลงบางคนการซื้อแผ่นซีดีลิขสิทธิ์ดูจะกลายเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุไปเลย

จากประเด็นดังกล่าว ทางตัวแทนของ EMI ที่กำลังจะยกเลิกการขายซีดีแข่งกับแผ่นผี เผยว่าเรื่องราคาซีดีที่ผ่านทางค่ายได้ลดราคาจากป้ายที่ 500 บาทมาอยู่ 300- 400 บาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ถือว่าแพงแล้วสำหรับผู้บริโภค

ส่วนทาง นัดดา บุรณศิริ ของทาง Warner เผยว่าเรื่องสัดส่วนของการตั้งราคาซีดีในเมืองไทยมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น

"ก็คือต้องเป็นราคาที่ทุกคนสามารถซื้อได้ แต่กระนั้นเราก็ต้องมีราคามาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการลักลอบไปขายยังต่างประเทศที่ค่าครองชีพสูงกว่าเรา นอกจากเรื่องราคามันต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนฟังเพลงด้วย อย่างเพลงไทยดีๆ ที่ออกมาขายแค่ร้อยกว่าบาท แต่ยังไม่มีคนซื้อ อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน อย่างที่ญี่ปุ่นหรืออังกฤษนี่ไปดูได้เลยว่าธุรกิจซีดีเพลงของเขาโตขึ้นด้วยซ้ำ เพราะแฟนเพลงบ้านเขาเข้าใจ อย่างค่ายเราเองที่ขายในไทยก็มีประเภทแผ่นคู่ราคาปก 399 บาทออกมาหลายตัวในช่วงหลัง ซึ่งถือว่าโอเคแล้ว เมื่อดูจากค่าลิขสิทธิ์ การออกแบบปก การผลิตต่างๆ"

"เรื่องราคาซีดีทุกวันนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับแฟนเพลง อย่างของค่าย Universal ก็เริ่มปล่อยตัวที่เป็นแผ่นที่ผลิตในไทยในราคาปก 279 บาทออกมา ตอนขายจริงอยู่ที่ 259 บาท ซึ่งก็เป็นราคาที่แฟนเพลงน่าจะให้การตอบรับที่ดี" เฮียฮ้อ จากร้าน BKP กล่าวปิดท้าย

บางทีคำตอบที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้ อาจจะอยู่ไม่ไกลเกินกว่าเครื่องเล่นซีดีที่บ้านคุณ ลองสำรวจดูซิว่าแผ่นซีดีที่อยู่ในนั้น เงินที่คุณจ่ายไปเข้ากระเป๋าเจ้าของผลงานที่กำลังขับกล่อมคุณ หรือเข้าบัญชีพ่อค้าในคราบโจร หรือให้กระชับกว่าก็คือ

...เดือน(ปี)นี้คุณซื้อซีดี(ลิขสิทธิ์)แล้วหรือยัง

กำลังโหลดความคิดเห็น