แม้ทุกอย่างจะถูกยอมรับว่ามีขั้วที่อยู่ตรงข้าม สูง-ต่ำ สั้น-ยาว หนัก-เบา ดี-เลว
แต่หากพูดถึงเรื่องราวของผู้คนในวงการมายาแล้วละก็ เชื่อได้เลยว่า ความรู้สึกของคนที่รับรู้มักจะมองเห็นแต่ด้านที่เป็นสีดำของพวกเขาและเธอเสียเป็นส่วนใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย
จริงหรือที่พวกเธอและเขาเป็นเช่นนั้นจริงๆ
และนอกจากข่าวฉาวๆ คาวๆ แล้ว จริงหรือที่พวกเธอและเขาไม่เคยสร้างสรรค์ในสิ่งที่ดีๆ ให้กับสังคมหรืออย่างน้อยๆ ก็เพื่อตนเองบ้างเลย
...
ว่ากันตามตรงๆ มันก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่อย่างใดนัก หากบรรดาคนส่วนใหญ่ที่ติดตามอ่านข่าวบันเทิงจะมีความรู้สึกถึงความไม่ดีของบรรดาดารา นักร้อง นักแสดงทั้งหลาย ด้วยเหตุผลเพราะส่วนใหญ่ของข่าวบันเทิงที่ออกมาให้คนเสพกันนั้นล้วนแล้วแต่บ่มเพาะก่อให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว
ทั้งที่จะว่าไปแล้ว ในความเป็นจริงยังมีดาราอีกมากมายหรือแม้กระทั่งอีกบางมุมของดาราที่เป็นข่าวคาวๆ ฉาวๆ เหล่านั้นต่างก็มีสีขาวอยู่ในตัวมากน้อยแตกต่างกันไป
- หากเอ่ยถึง “ฟิล์ม รัฐภูมิ” เชื่อได้เลยว่า จากคน 100% ที่รู้จักตัวเขา จะต้องมีมากกว่า 90% ที่จำเรื่องอื้อฉาวของเขากับ “เสี่ยอู๊ด” ได้ คงมีเพียงสัก 10% เท่านั้นกระมังที่จะรู้ว่านักร้องหนุ่มคนนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทูตมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย (Habitat for Humanity Thailand) คนแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นผู้ประชาสัมพันธ์ให้กับโครงการแล้ว เจ้าตัวยังเคยลงแรงขนอิฐ ปูน หิน ทราย ช่วยสร้างบ้านให้กับผู้อยากไร้อีกด้วย
- ผลของการทำความดีด้วยการจอดรถช่วยคนขับจักรยานยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อ 5 ปีก่อน จะทำให้นักแสดงหนุ่มที่มีอนาคต “คริสโตเฟอร์ เบญจกุล” เกือบจะต้องจบชีวิตของตนเอง และเส้นทางในวงการบันเทิง ทว่า “ความดี” ก็ส่งผลให้เขาได้รับสิ่งดีๆ กลับไปมากมาย ทั้งในเรื่องของกำลังใจ รวมถึงรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลคนดีมีน้ำใจ จากสถาบันราชภัฏจันทรเกษม (ในขณะนั้น) เกียรติบัตร “เพื่อนยุวทูตความดีกิตติมศักดิ์” จากกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงศึกษาธิการ รางวัลศิลปินเกียรติยศจากสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย รางวัลเยาวชนดีเด่น ประจำปี 2542 จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ฯลฯ รวมถึงร่วมเป็นตัวแทนรณรงค์โครงการเมาไม่ขับของกระทรวงสาธารณสุข
เคยมีคนถามเขาว่าหากย้อนเวลากลับไปถ้ารู้ว่าการทำดีของเขาจะทำให้ตัวเขาเองเป็นเช่นนี้ เขาจะยังทำมันอยู่หรือเปล่า คำตอบที่เขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยก็คือ...ทำ
- “จิ๊ก เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์” อาจจะดูเฮฮา ไร้สาระ และถูกพาดหัวข่าวในลักษณะของดารากินเด็ก แต่อีกสถานะหนึ่งของเธอ ก็คือ “นางฟ้าสีน้ำเงิน” (Blue Angel) ใน “โครงการอำนวยความสะดวกผู้รับบริการ” ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ปี 2548
สำหรับสมาชิกของอาสาสมัครในโครงการดังกล่าวนั้น ทั้งหมดจะเป็นพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล มีเธอคนเดียวในฐานะของคนนอก โดยเหตุแห่งอภิสิทธิ์ที่ทำให้เธอได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ก็เพราะเจ้าตัวเคยเข้ามารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน กระทั่งทำให้รู้จักศัพท์ทางการแพทย์เป็นอย่างดี ส่วนหน้าที่ของเธอ ก็คือคอยช่วยเหลือผู้ป่วยนอก เช่น ช่วยพยุงผู้ป่วยที่เดินไม่ค่อยไหว, เตรียมประวัติผู้ป่วย, บอกเส้นทาง หรือขั้นตอนการตรวจรักษาให้แก่ผู้ป่วย หรือแม้กระทั่งสร้างอารมณ์ขันให้แก่ผู้ป่วยให้ผ่อนคลาย
“มันอิ่มบุญมากกว่า แล้วได้คุยได้มีเพื่อนใหม่ ได้มีมิตรภาพที่ดี ได้ช่วยเหลือคน แล้วก็ทำให้คนมีความสุข ไม่เครียด”
- ดารารุ่นใหญ่อีกคนที่อาสาสมัครทำงานให้ฟรีๆ ก็คือ “ทูน หิรัญทรัพย์” ที่ทำงานเป็นตัวแทนอยู่ในมูลนิธิเมาไม่ขับ โดยมีหน้าที่คอยเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อที่ประสบอุบัติเหตุที่ได้รับแจ้งจากมูลนิธิ
- ส่วนที่มีชื่ออยู่ในมูลนิธิร่วมกตัญญูนี่ ก็มากมายหลากหลายทีเดียว ทั้ง อธิวัฒน์ สนิทวงศ์ฯ, โอ๋ ฐาปกรณ์ ดิษยนันทน์, หนึ่ง วรเชษฐ์ นิ่มสุวรรณ, โก้ นฤเบศน์ จินปิ่นเพชร, พวงเพชร ห้าวหาญ, อ๋อง กษาปณ์ จำปาดิบ, ต่าย สายธาร นิยมการณ์, สุนารี ราชสีมา, แอ๊ด ยืนยง โอภากุล, ช.อ้น ณ บางช้าง, ฝันดี – ฝันเด่น จรรยาธนากร.., กิ่ง ภัทรา ทิวานนท์, บิณฑ์ – เอกพันธ์ บันลือฤทธิ์, อ๊อฟ อภิชาต พัวพิมล
- ว่าที่เจ้าบ่าว “นีโน่ เมทนี บูรณศิริ” และ “ตุ๊ก วิมลเลขา” สองคนนี้ได้รับการแต่งตั้งจาก “ศาลแขวงพระนครเหนือ” ให้เป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวและอื่นๆ ซึ่งเป็นการทำงานบริการสังคมที่เจ้าตัวขออาสาเอง
...
“จริงๆ แล้วคือมันเป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกมันก็เป็นอย่างนี้นะ อย่าว่าแต่อันนี้เลย แม้แต่นักการเมืองอย่างแบมเนี่ยเรื่องของอะไรแบบนี้ก็จะมีพูดอยู่ตลอดเวลา...” ต้อย แอคเนอร์ หนึ่งในคนข่าวบันเทิงรุ่นเก๋าแสดงความคิดเห็น
“เรื่องข่าวฉาวมันเป็นเรื่องที่ถ้าเกิดเราเรียนนิเทศ วารสารฯ มาเราก็จะรู้ว่าในเรื่องของข่าว Negative จะเป็นข่าวที่น่าสนใจมากที่สุด มันก็เหมือนกัน แต่ว่าเราก็ลงข่าวที่มันเป็นบวกอย่าง ข่าวทอดผ้าป่าเราก็ลงหน้า 1 เลยด้วย เขตต์-นุ่น ไปทอดผ้าป่าเราก็ยังลงให้เขาอยู่ตลอดเวลา”
“แหม่มไปทำสังฆทานเรายังลงเลย ไม่ใช่ว่าไม่ลงแต่ว่าไอ้ความสนใจของคนมันเบนไปเอง พฤติกรรมของสื่อถ้าเกิดดาราหรือว่าคนที่อยู่ในข่าวเขาทำอะไรหน้าที่สนใจที่มันเป็นข่าวเราก็ลงให้เขาตลอดนะ”
ไม่เกี่ยวกับว่าจะต้องเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย แต่ขึ้นอยู่กับความสนใจของประชาชนเป็นหลัก
“ดูจากความนิยมของประชาชนนะ การทำสื่อจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ของพี่นะ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคนที่เป็น บก.คนที่เป็นหัวหน้าข่าวเขาก็จะดูข่าวที่มันน่าสนใจ ประชาชนให้ความใส่ใจมากที่สุดเขาก็จะมองตรงนั้น บางทีถ้าเกิด อย่าง อั้ม เมย์ เข็ม อย่างนี้ผมก็จะมาพาดหน้า 1 อย่างแต่ทูตวัฒนธรรมอะไรคนก็ให้ความสนใจน้อย”
ทั้งเรื่องของธุรกิจแฝงและเรื่องของการสร้างภาพเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ข่าวในเชิงแนวบวกส่วนใหญ่จะมีค่าแค่ข่าวประชาสัมพันธ์เท่านั้น...“โอเค ไม่เป็นไรเราชั่งใจได้แต่ถ้าเกิดเขาคิดว่าจะใช้สื่อ แล้วเราตกเป็นเหยื่อเขาก็ได้ เราไม่ว่ากัน ดุลพินิจเรามีไง แต่บางคนก็ทำเนียนเหลือเกินอย่าง แนน อมิตดา เนี่ยพี่ก็โดน”
ด้านมุมมองของคนติดตามข่าวสารในแวดวงบันเทิงอย่าง “อาร์ต” วัย 23 ปี เผยว่า โดยส่วนตัวของเขา มองว่าหากเป็นข่าวที่ออกไปในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับโครงการนั้นโครงการนี้ หรือขึ้นรับรางวัลอะไรต่างๆ นานา ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของผลประโยชน์เสียเป็นส่วนใหญ่
“มันก็คัดเอาจากคนมีชื่อเสียงนั่นแหละ ดาราก็ได้ชื่อว่าทำดี มีโล่ มีใบประกาศเกียรติคุณ ขณะที่องค์กรเองก็ได้โฆษณาองค์กร ได้โฆษณาการจัดงานของตนเอง ผมเคยอ่านเจอนะว่าไอ้รางวัลอะไรต่างๆ นานาเนี่ย บางทีตัวดาราเองยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าได้รางวัลเพราะอะไร”
เชื่อ ไม่ได้ผลกับการนำเอาดารามาพรีเซ็นต์ ว่า ดีอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ ผ่านทางการแจกรางวัล...“มันไม่ได้ผลหรอก ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขารู้ว่าคุณไม่ได้เป็นแบนนั้น คุณไม่ได้ทำอย่างนั้นจริงๆ แล้วมันยิ่งเป็นผลลบด้วย สมมติคุณดันตาบอดไปเลือกเอาดาราที่มันภาพดีทว่าเบื้องหลังเลวมีรับรางวัลดาราดีด่งดีเด่อะไรทำนองนี้”
“บางคนเขาก็ทำดี เสียสละเพื่อสังคมจริงๆ แต่บางคนก็แค่เอาชื่อเท่านั้น ซึ่งจริงๆ ผมว่าไม่ต้องถึงขนาดจะต้องไปเสียสละตัวเองหรือว่าอะไรให้มันมากมายหรอกครับ คือ ถ้าทำได้มันก็ดีนั่นแหละ แต่ผมว่าแค่วางตัวดี ไม่ทำผิดกฎหมาย ตั้งใจทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แม้จะไม่มีข่าวว่าไปทำดี ไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์อะไร แค่นี้คนก็ชื่นชมแล้ว”
“อย่างจั๊กจั่นที่ไปช่วยคนแกล้งพิการขายของอะไรนั่น ผมว่าเป็นความตั้งใจดีของเธอมากๆ ไม่มีอะไรแอบแฝงหรอก ทีนี้เห็นเปล่าว่าถ้าสื่อไม่เอาข่าวด้านลบๆ มานำเสนอ ป่านนี้เราก็คงไม่รู้ว่าผู้ชายคนนั้นแกล้งพิการ คือ ผมบอกแล้วไงว่าผลสะท้อนจากความผิดพลาดของข่าวที่มันบวก พอมันลบขึ้นมามันเป็นสองเท่าไปเลยนะ อย่าง แหม่ม คัทฯ นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก”
แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่าข่าวที่เป็นไปในเชิงที่ไม่ดีของดาราที่ได้อ่านมันคือเรื่องจริง?
“โดยส่วนตัวผมยอมรับนะว่าข่าวไม่ดีที่ออกมาส่วนใหญ่มันทำให้ผมมองวงการบันเทิงไปในด้านลบอยู่พอสมควร ก็เหมือนที่ส่วนใหญ่เรามองพวกตำรวจนั่นแหละ แต่โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงทั้งหมดอะไรหรอก ประมาณฟังหูไว้หู ผมจะฟังเหตุผล ฟังวิธีการตอบคำถามมากกว่าว่ามันมีน้ำหนัก มันมีเหตุผลหรือมันน่าเชื่อถือขนาดไหน”
“จริงๆ ผมต้องถามพวกพี่มากกว่า เอาง่ายๆ นะพี่ ระหว่างดาราไปเก็บศพ กับดาราจูบกัน พาดหัววางคู่กันใครมันจะอ่านเล่มเก็บศพ แล้วอย่างสมมติว่ามันมีข่าวลือว่าดาราน้องบอใบไม้ไปทำแท้งกับมันก็มีข่าวลือว่าดาราบอใบไม้ไปเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือให้คนตาบอด ข่าวลือนะ”
“แล้วพี่คิดว่านักข่าวเขาอยากจะสนใจทำข่าวไหนมากกว่ากัน เขาอยากจะรู้ว่าอันไหนมันจริงมันไม่จริง แล้วตอนแรกที่พอได้ยินข่าวออกมาปั๊บ จากไหนก็ไม่รู้กันนะอาจจะเป็นนักข่าวลือกันเองก็ได้ พี่ว่านักข่าวจะพาดหัวว่าอะไร ระหว่างลือหึ่งน้องบอแอบทำแท้ง หรือว่าลือหึ่งน้องบออ่านหนังสือให้คนตาบอด...” หนุ่มอาร์ตตั้งเป็นคำถาม ก่อนเพิ่มเติมปิดท้ายว่า...
“เรื่องส่วนตัวน่ะพี่ ใครๆ ก็อยากจะรู้ ยิ่งเรื่องส่วนตัวด้านมืดๆ ด้านไม่ดีนี่ยิ่งสะใจ เพราะภาพของดารามักจะมากับความสวย ความหล่อ คือ มันด้านขาวน่ะ ออกทีวีพูดแต่เรื่องดีๆ ชวนคนอื่นทำดีอย่างนั้นอย่างนี้ พอตนเองมีลือเรื่องดำๆ คนมันก็ชอบเพราะพื้นฐานอาจจะหมั่นไส้อยู่”
“ส่วนดาราไปทำดีอย่างนั้นอย่างนี้มันก็ดูจะโยงไปถึงเรื่องของบทบาทของตัวเองเข้าไปอีก เพราะเกี่ยวกับการเอาเชื่อเอาเสียงทำนองนั้น”
ขณะที่ผู้ผลิตข่าวอย่างฝ่ายประชาสัมพันธ์ทั้งหลายอย่าง “เจี๊ยบ สราญญา องค์วิเศษไพบูลย์” แห่ง ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ บ.อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แสดงทัศนะคติว่า...
“มันขึ้นอยู่กับข่าวนะ บางข่าวมันก็ได้ลง แต่อาจจะไม่ได้เยอะตามความต้องการแต่คือแบบไมได้ลงเลยมันก็ไม่ใช่ไง มันแล้วแต่เล่มน่ะบางเล่มก็มีมุมมองในการขายข่าวของเขาซึ่งข่าวแบบนี้มันอาจจะความสนใจน้อย มันอาจจะได้ลงไมได้ลงบ้างกรอบเล็กกรอบใหญ่ก็ไม่เถียงไม่ได้อะไร”
“บางเล่มถ้าเป็นข่าวหวือหวาหน่อยมันอยู่ในความสนใจของคนมากหน่อยมันก็มีเปอรืเซ็นต์ได้หยิบไปลงมากกว่า”
วิธีการก็คือจะต้องเพิ่มความหวือหวา?
“ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง คือ กิจกรรมอาจจะต้องแตกไปกว่าเดิม แค่ไปวัด ทำบุญ ตักบาตรก็ดูธรรมดาไปต้องแบบรวมพลแฟนคลับหรือพาเด็กๆ น้องๆ มาร่วมทำบุญ ต้องคิดอะไรที่แบบนี้เป็นมุมมองที่สื่อไม่ค่อยได้เห็นมั้งก็น่าจะพอลงได้ หรืออีกอันหนึ่งก็คือถ้าคนเดียวไม่พอ มันต้องเป็นจำนวนคนที่เยอะหน่อยมั้ย อาจไม่จำเป็นต้องไปเกาะกระแสคนที่มีกระแสอยู่เพื่อเรียกสื่อมา อย่างเรื่องทำบุญไปอิงกับเรื่องที่เป็นกระแสที่ไม่ดีก็ไม่ดีน่ะ ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรไง”
“มันต้องคิดแผน คิดรูปแบบการประชาสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นแต่มันไม่ใช่การสร้างภาพนะ คือให้มันอยู่ในระบบในธีมของมันน่ะ จริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับดาราด้วยน่ะถ้าไม่ใช่เบอร์ใหญ่มากๆ ความสนใจก็น้อยเป็นเรื่องธรรมดา”
ยอมรับบางครั้งก็มีอาการน้อยใจกับสิ่งที่ตนเองส่งไปแล้วไม่ได้รับการเหลียวแลแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ...“จริงๆ จะบอกว่าถ้าไม่คิดน้อยใจเลยที่สื่อลงข่าวดีให้น้อยก็ดูจะเฟกไป ก็มีบ้างนะคือมันเข้าใจสภาพของสื่อและสังคมมากกว่า ความต้องการของคนที่จะเสพข่าวแบบนี้มันอาจจะเยอะกว่าแต่เขาก็ไม่ได้ใจร้ายเสมอไปที่จะไม่สนใจข่าวแบบนี้เลย”
“ไม่โทษใครแต่อยากให้ทั้งสื่อ และคนอ่านเข้าใจว่า พีอาร์ไม่ได้ทำเฉพาะต้องการโปรโมตศิลปินหรือกิจกรรมตัวนี้เท่านั้น คือ ทำเพราะว่าอยากทำจริงๆ ไม่ใช่ทำเพราะว่าพอมีกิจกรรมตัวนี้ขึ้นมาก็ต้องรีบเข้าไปทำ ไม่อยากให้มองแค่แบบนั้น”
“คือ บางทีเราทำเพราะดาราเขาอยากไปทำแล้วเราอยากให้คนเห็นข่าวแบบนี้ อยากให้ประชาชนรับรู้ว่ามีการทำแบบนี้ขึ้นเราเลยอยากให้สื่อช่วยกระจายข่าวมากกว่า ไม่อยากให้มองแค่ว่าน่าเบื่อน่ะมีแต่เรื่องเดิมๆ”
แต่ดูเหมือนทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องของการสร้างภาพไปหมด?
“ก็รู้สึกแย่นะที่จะมีได้ยินว่าพีอาร์รีบประโคมข่าวเพื่อการสร้างภาพ ให้คิดถึงเจตนาในการทำดีกว่า คือ ทำเนี่ยบางกิจกรรมมันก็ไมได้เฉพาะแต่ตัวองค์กรหรือตัวศิลปินหนิ มันก็ได้ไปถึงคนอื่นๆ ด้วย มันต้องเต็มใจที่จะไปทำจริงๆ ถ้าคนมันไม่เต็มใจที่จะทำหรือร่วมมือมันคงไม่มีประโยชน์อะไรน่ะ คงไม่ได้รู้สึกสุขใจน่ะ คงรู้สึกหงุดหงิดน่ะ เพราะฉะนั้นไม่อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างภาพ เป็นเรื่องของความร่วมมือและเป็นเรื่องของการให้ใจในการทำมากกว่า” ประชาสัมพันธ์สาว เผย
“พี่ไม่น้อยใจเลยนะที่เราทำความดีแล้ว ถึงแม้อยู่ในที่สว่างหรืออยู่ที่มืด ขึ้นอยู่กับใจเราถ้าเราทำความดี เราก็อย่าไปสนใจอะไร อย่าคิดอะไรแม้กระทั่ง ไม่มีใครสนับสนุนเรา...” นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ “จิ๊ก เนาวรัตน์” ยืนยันถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
“เราไม่ได้ทำเพื่อต้องการหน้า แต่เราทำเพื่อใจที่เราอยากทำ ไม่แคร์หรอกจะมีคนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เพราะพี่ถือว่าเป็นความสุขของพี่ แล้วพี่ทำด้วยใจบริสุทธิ์”
ส่วนเหตุผลที่สื่อไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องพวกนี้ จิ๊ก มองว่า เพราะที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าเป็นพวกดาราเองที่ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือขึ้นมา
“ให้ไปเป็นตัวแทนไอ้โน้น ไอ้นี้ มันก็เลยออกมามันก็ไม่ดีเท่าที่ควร โปรโมตกับไม่ได้โปรโมต พี่ว่าทำจริงดูดีกว่าโปรโมตนะ เพราะคนทำจริงมีความสุขมากกว่า โปรโมตบางครั้งก็อายตัวเองนะ เพราะว่าถูกโปรโมตไปแต่เราไม่ได้ทำจริง”
“เขาก็คงจะเห็นว่าเอาคนที่ดังเป็นข่าวน่ะ ต้องไปโปรโมตตัวนี้ไอ้โน้นไอ้นี้ ต้องเป็นคนที่ดัง พวกเราเป็นดาราก็เหมือนสินค้า”