xs
xsm
sm
md
lg

The Bridge : แอบดูเป็น แอบดูตาย

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


สะพานโกลเด้น เกต ออกแบบโดย โจเซฟ สเตราส์ เปิดใช้งานในปีค.ศ. 1937 ณ เวลานั้น ด้วยความยาวช่วงกลางสะพานถึง 1,280 เมตร มันได้ชื่อว่าเป็น ‘สะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก’

แม้ทุกวันนี้ โกลเด้น เกตจะถูกเขี่ยกระเด็นจากตำแหน่งดังกล่าวจนร่วงลงมาอยู่ที่ลำดับ 7 (ปัจจุบันสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก คือสะพานอากาชิ ไคโก ที่ประเทศญี่ปุ่น มีความยาวถึง 1,991 เมตร) ทว่าชื่อเสียงที่สั่งสมมาอย่างยาวนานส่วนหนึ่ง บวกรวมกับทัศนียภาพรอบบริเวณด้วยอีกส่วน อีกทั้งตัวสะพานเองก็นับว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างฝีมือมนุษย์ที่มหัศจรรย์เอาการ ก็ทำให้ใครต่อใครยังคงหลั่งไหลมาเที่ยวชมกันอยู่โดยไม่ขาดสาย

สถิติตัวเลขโดยคร่าวระบุว่า ในแต่ละปีมีผู้เดินทางมาเที่ยวชมสะพานแห่งนี้ถึง 9 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม โกลเด้น เกตก็ไม่ได้มีเพียงแง่มุมงดงามสดใสเช่นนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

เพราะในอีกฟากหนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชวนตระหนกตกใจว่า โกลเด้น เกตถือเป็นสถานที่ที่คนนิยมใช้เป็นที่ฆ่าตัวตายอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยจำนวนเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 2 คนเลยทีเดียว

อะไรทำให้คนนิยมฆ่าตัวตายที่โกลเด้น เกต? ดิฉันเองไม่ทราบ แต่สอบถามจาก ‘คุณเพื่อนพหูสูตร’ คนหนึ่ง ก็ได้ความเห็นที่ค่อนข้างจะเข้าท่าว่า เพราะหนึ่ง สะพานอยู่สูงกว่าผิวน้ำถึง 227 เมตร บวกกับกระแสน้ำในอ่าวซาน ฟรานซิสโก ที่เชี่ยวกรากแล้ว ทำให้โอกาสที่จะได้ตายสมดังความตั้งใจนั้น สูงเฉียดร้อยเปอร์เซ็นต์

และสอง เพื่อนดิฉันให้ทัศนะส่วนตัวว่า มันเป็นสถานที่ฆ่าตัวตายที่ให้ความรู้สึก ‘โรแมนติก’ มาก

The Bridge เป็นหนังสารคดีที่เล่าเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการกระโดดสะพานโกลเด้น เกต

เอริก สตีล
ผู้กำกับ บอกว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องดังกล่าวหลังจากอ่านบทความชื่อ Jumpers – The Fatal Grandeur of the Golden Gate Bridge ของ แท็ด เฟรนด์ ในนิตยสารนิวยอร์กเกอร์

วิธีการทำงานของสตีลก็คือ เขารวบรวมทีมงานราว 4-5 ชีวิต แล้วยกกองกันไปปักหลักตั้งกล้องตามจุดต่างๆ บนชายฝั่งเพื่อสามารถสอดส่องความเป็นไปบนสะพานได้อย่างครอบคลุมที่สุด สตีลใช้เวลาสะสมฟุตเตจทั้งหมดถึง 1 ปีเต็มๆ ระยะเวลาการทำงานในแต่ละวันจะสั้นหรือยาวสุดแท้แต่แสงอาทิตย์จะกำหนด

ผลก็คือ ปีนั้นทั้งปี สตีลกับทีมงานสามารถบันทึกภาพคนที่กระโดดลงจากสะพานโกลเด้น เกต ได้ถึง 19 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย

นอกจากนั้น สตีลยังเดินทางไปพบคนใกล้ชิดของนักโดดหลายคน บ้างเป็นญาติ บ้างเป็นเพื่อน บ้างเป็นพ่อแม่พี่น้อง แล้วขอให้พวกเขาเล่าเรื่องราวของผู้คนเหล่านั้นขณะยังมีชีวิตอยู่ และความรู้สึกภายหลังทราบว่าผู้เป็นที่รักของตนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงอย่างนั้น

เมื่อนำทั้งหมดมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน ทำให้ The Bridge เป็นหนังที่กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึก 2 ด้านที่แตกต่างได้อย่างทัดเทียม

ด้านหนึ่งมันแทบไม่ต่างจากหนังระทึกขวัญ การที่ผู้ชมดูหนังโดยรู้อยู่แล้วว่ามันเล่าเรื่องของอะไร ทำให้เรารู้สึกสยองลึกล้ำทุกครั้งที่หนังเผยให้เห็นภาพผู้คนบนสะพาน เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่า ใครกำลังคิดอะไร รู้สึกเช่นไร และจะทำอะไรต่อไป (เหตุการณ์ตอนหนึ่งซึ่งระทึกใจอย่างยิ่งก็คือ ช่างภาพคนหนึ่งซึ่งกำลังเก็บภาพทิวทัศน์อยู่บนสะพาน พบว่าหญิงสาวที่อยู่ใกล้ๆ กัน ปีนออกไปยืนที่ขอบสะพาน เตรียมพร้อมจะกระโดด และได้บันทึกภาพนิ่งของเธอเก็บไว้)

ในอีกด้าน The Bridge ทำให้ดิฉันพาลนึกถึงเหตุการณ์ช่วงท้ายของหนังครอบครัวเรื่องเยี่ยมที่ชื่อ A River Runs Through It

เหตุการณ์ดังกล่าว เล่าอย่างรวบรัดก็คือ พ่อ –ซึ่งเป็นนักเทศน์- ขึ้นเทศน์เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต เนื้อหาใจความของสิ่งที่พูดวันนั้นพาดพิงถึงลูกชายคนเล็กที่จากไปของตนเอง ชายชราบอกทุกคนว่า คงจะมีบ้าง อย่างน้อยก็สักครั้งในชีวิต ที่เราเฝ้ามองผู้เป็นที่รักโดยรู้ทั้งรู้ว่าเขากำลังตกอยู่ในความทุกข์ และตั้งคำถามอย่างเดียวกัน “เราเต็มใจจะช่วย แต่อะไรล่ะที่เขาต้องการ? และที่จริง เขาต้องการความช่วยเหลือจากเราหรือไม่?...จริงที่ว่า ท้ายที่สุด ผู้ที่เราช่วยเหลือได้น้อยที่สุด กลับเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับเรามากที่สุด อาจเพราะเราไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร หรือไม่...เราก็ไม่รู้กระทั่งว่า สิ่งที่เราพอจะทำได้นั้น เป็นที่ต้องการของเขาหรือไม่...”

ชายชราจบบทเทศน์วันนั้นด้วยสิ่งที่เขาใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเรียนรู้...

ไม่ใช่ทุกครั้งที่ความรักจะนำมาซึ่งความเข้าใจ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนที่จะรัก แต่กับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เรานับเป็นครอบครัว
“เรายินดีที่จะรักเขา...รักอย่างไร้เงื่อนไข รักอย่างหมดหัวใจ แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจเขาเลยแม้แต่นิดเดียว”

ใน The Bridge ผู้ที่ยังอยู่ พูดถึงผู้ที่จากไปทำนองเดียวกัน

ทุกคนรู้ว่าใครคนนั้นมีปัญหา ทุกคนเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ที่คาดหมายได้ว่าจะนำพาไปสู่จุดจบเช่นนั้น ทุกคนพยายามจะเข้าใจ แต่ดูเหมือนจะไม่สำเร็จ ความช่วยเหลือถูกส่งออกไป แต่ปลายทางกลับไม่ยอมรับ
มันเหมือนทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะต้องจบลงแบบนั้น บนสะพานแห่งนั้น

ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องราวของ The Bridge ดิฉันเกิดคำถามขึ้นมาข้อหนึ่ง –ซึ่งน่าจะเป็นข้อเดียวกับที่คุณกำลังนึกสงสัย- โดยอัตโนมัติ นั่นคือ การที่เอริก สตีล กับทีมงานไปตั้งกล้องจับภาพบนสะพานอย่างนั้น หมายความว่าพวกเขาจะต้องเห็นความผิดปรกติก่อนแล้วล่วงหน้า ทว่ากลับไม่ลงมือทำอะไรเพื่อยับยั้งคนพวกนั้นไม่ให้กระโดดเลยหรืออย่างไร?

ตามคำบอกเล่าของสตีล หลายครั้งพวกเขาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่เห็นคนบนสะพานตั้งท่าจะกระโดด (ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างปุบปับ เช่น เห็นใครสักคนยืนนิ่งอยู่ตามลำพัง แต่เพียงชั่วกระพริบตา ใครคนนั้นก็พาร่างของตนปีนออกมาอยู่อีกฝั่งของสะพาน แล้วดิ่งลงสู่เบื้องล่างอย่างไม่รอช้า นอกจากนั้นยังมี ‘เด็กเวร’ หลายคนที่เล่นพิเรนทร์ด้วยการปีนขึ้นไปยืนบนราวสะพาน แล้วเต๊ะท่าให้เพื่อนถ่ายรูป) มีบางครั้งที่พวกเขาหยุดยั้งมันได้ทัน แต่โดยมากแล้วมักจะสายเกินไป

นอกจากนั้นยังมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่อาจเป็นข้อแก้ต่างให้เอริก สตีล และทีมงานได้ นั่นก็คือ ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งพูดตรงกันว่า นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาหรือเธอคนนั้นพยายามที่จะจบชีวิตตนเอง เพียงแต่มันเป็นครั้งแรกที่พวกเขาทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้

คุณแม่ชราคนหนึ่งพูดถึงลูกสาวว่า เธอเห็นลูกมีปัญหาใหญ่น้อยทั้งทางร่างกายและจิตใจรุมเร้ามาอย่างยาวนาน เธอรู้ว่าลูกไม่มีวันหายเป็นปรกติ และตัวลูกเองก็รู้ดีเสียยิ่งกว่า เธอพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยอมรับและเข้าใจ “ลูกคงโล่งใจที่ทุกอย่างจบลงเสียได้ เธอทนอยู่กับมันมานานจนไม่อยากทนอีกต่อไป แต่นับจากนี้ ฉันเชื่อว่าเธอจะอยู่ในที่ที่ดีกว่า ฉันเชื่อว่าลูกจะได้พบกับความสงบเสียที”

พ่อของชายหนุ่มอีกคนเล่าว่า วันที่รู้ว่าลูกหายจากบ้านไป เขารู้ทันทีว่าจะเกิดอะไรขึ้น “เขาเคยฆ่าตัวตายมาหลายครั้ง แต่เราช่วยเขาไว้ได้ ในครั้งที่ 2 หลังจากฟื้นขึ้นมาเขาบอกผมว่า ‘คราวหน้าผมจะไม่พลาดอีก’”
ผู้เป็นพ่อเล่าว่า หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ลูกชายของตนไม่น่ามีเหตุให้ต้องตัดสินใจทำอย่างนั้น “เขารู้ว่าตัวเองมีพร้อมทุกอย่าง รู้ว่ามีคนรักเขา รู้ว่าตัวเองมีความสามารถ แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังรู้สึกอึดอัดและไร้สุขกับชีวิต…บางคนอาจบอกว่า ‘ร่างกายคือวิหาร’ แต่สำหรับลูก มันคือคุก ผมไม่อยากให้เขาต้องทนอยู่กับความรู้สึกนั้นโดยไร้ทางออก…ที่สุดแล้ว หากนั่นเป็นหนทางเดียวที่เขาจะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ หากเขาปรารถนาที่จะตายถึงเพียงนั้น ผมคงต้องปล่อยเขาไป... ”

ดิฉันเพิ่งอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งที่พูดถึงหนังเรื่องนี้ เนื้อความตอนหนึ่งพูดถึงความห่วงกังวลของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่บริเวณสะพานโกลเด้น เกต ว่า หลังจากหนังออกฉาย มันอาจจูงใจให้หลายคนใช้โกลเด้น เกต เป็นสถานที่ฆ่าตัวตายมากขึ้นกว่าเก่า

จะว่าไป ความเห็นดังกล่าวก็แทบไม่ต่างจากการโต้แย้งกันทางความคิดว่า ที่สุดแล้วการดูหนังที่มีฉากฆาตกรรมโหดๆ จะทำให้ใครลุกขึ้นมาเป็นฆาตกรหรือไม่? หรือการเห็นตัวละครในหนังดื่มเหล้าสูบบุหรี่ จะส่งผลให้เยาวชนของชาติเติบโตขึ้นกลายเป็นสิงห์ขี้เหล้าขี้ยาหรือเปล่า?

ในความเห็นของดิฉัน ดิฉันเชื่อว่าหนังมีพลัง แต่ไม่เชื่อว่ามันมีพลังมากพอที่จะไปฉุดกระชากลากถูใครให้ลุกขึ้นมาทำอะไรที่ไม่เคยคิดจะทำมาก่อนได้

นอกจากนั้น เท่าที่ดิฉันดู The Bridge ก็ไม่มีท่าทีจะชี้ให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องเท่ สตีลถึงกับอุทิศเวลาช่วงหนึ่งให้กับการสัมภาษณ์เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเคยโดดโกลเด้น เกต แต่กลับรอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ สิ่งที่เขาเล่าให้ผู้ชมฟังก็คือ ก่อนถึงวันนั้น เขารู้สึกอยากตายขนาดหนัก แต่เพียงเสี้ยววินาทีที่ปล่อยมือจากราวสะพาน และร่างกำลังทะยานสู่พื้นน้ำเบื้องล่าง “ผมรู้ทันทีว่า ที่จริงผมไม่อยากตาย...ไม่อยากตายแม้แต่นิดเดียว”

เนื้อหาส่วนนี้เหมือนจะเป็นการเตือนกันอยู่กลายๆ ว่า แม้เด็กหนุ่มคนนี้จะโชคดีที่รอดมาได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่คิดเปลี่ยนใจกลางคันแล้วจะโชคดีอย่างเขา

มากกว่านั้นก็คือ หนังเรื่องนี้กระตุ้นให้ดิฉันนึกถึงวิวาทะทางความคิดข้อหนึ่งซึ่งเถียงกันทั้งชีวิตก็ไม่มีวันได้ข้อสรุป นั่นคือ การมีชีวิต เป็น ‘สิทธิ’ หรือเป็น ‘หน้าที่’?

ดิฉันเชื่อของดิฉันเป็นการส่วนตัวว่ามันเป็นสิทธิ ซึ่งหมายความว่า การจะอยู่ต่อไปหรือไม่นั้น ทุกคนสามารถเลือกได้โดยเสรี และไม่มีใครอื่นใดจะมาตัดสินได้ว่า หนทางที่คุณเลือก ผิดพลาดหรือถูกต้อง

The Bridge ไม่ได้ทำให้ความเชื่อของดิฉันสั่นคลอน ทว่ามันชี้ให้เห็นข้อเท็จจริง 2 ประการด้วยกัน คือ

ชีวิตของแต่ละคนย่อมเกี่ยวข้องกับคนอื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นั่นหมายความว่า การอยู่ต่อหรือจากไปของใครสักคน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

และแม้การเลือกที่จะตาย หรือมีชีวิตอยู่ต่อไป จะเป็นสิทธิเฉพาะของแต่ละบุคคล ทว่าในบางครั้งบางหน เราควรจะต้องมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นบ้าง



กำลังโหลดความคิดเห็น