xs
xsm
sm
md
lg

Surf’s Up : คลื่นลูกใหม่ที่ไม่ใหญ่ไปกว่าเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย เวสารัช โทณผลิน

มหกรรมแอนิเมชั่นพาเหรดได้ทำให้วงการแอนิเมชั่นโลกเติบโตเบ่งบานไปในทิศทางที่ดี คำว่า ‘ดี’ในที่นี้หมายถึงแง่ของ อัตราแข่งขันที่ผู้ผลิตจะต้องรุดเร่งพัฒนาศักยภาพในชิ้นงานของตัวเอง ทั้งเรื่องของภาพ เสียง เนื้อหา และกรรมวิธีในการนำเสนอ

การประชันขันต่อของผู้สร้างแอนิเมชั่นในปัจจุบัน คงไม่ต่างอะไรจากการแข่งขันของเหล่าสัตว์ปีกบนกระดานโต้คลื่นในภาพยนตร์เรื่อง Surf’s Up แอนิเมเรื่องล่าสุด ของ โซนี่ แอนิเมชั่น พิคเจอร์ ค่ายภาพยนตร์ที่หันไปจับธุรกิจทางด้านการทำแอนิเมชั่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากที่ได้ลองแหย่เท้าก้าวขาเข้ามาชิมลางบนสนามแห่งนี้ กับเรื่อง Open Season, Monster House มาแล้ว

บนเกลียวคลื่น หนุ่มน้อยอย่าง โคดี้ มาเวอริค (ให้เสียงโดย เซีย ลาเบิฟ)ก็เป็นเพียงจอมยุทธวัยกระเตาะที่เปี่ยมแน่นไปด้วยไฟกรุ่นโชน เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่นเหมือน บิ๊ก ซี(ให้เสียงโดย เจฟ บริสเจ็ส) บุคคลต้นแบบในตำนาน ที่มีท่วงท่าเสมือนเหาะลอยพริ้วแผ่วอยู่บนกระดานโต้คลื่นก็ไม่ปาน

ถ้าไม่มีวันที่แดดแรง ริมหาด ในชั่วโมงที่บิ๊ก ซีเหาะเหนือยอดคลื่นลอยเข้ามาที่ชายฝั่ง ในเสี้ยววินาทีที่บุรุษในตำนานสืบเท้าเข้ามาหาโคดี้ ปลดสร้อยสัญลักษณ์รูปตัว Z ที่คอตัวเอง แล้วบรรจงสวมไปที่คอของเขา เหตุการณ์ชั่วระยะที่ตรึงตราอยู่ในความทรงจำของโคดี้มาตลอดชีวิตครั้งนั้น ได้ช่วยเติมเชื้อให้ไฟในตัวเพนกวินหนุ่มให้โหมกระพือเสมอมา

แม้จะขัดกับกิจปฏิบัติของสัตว์ตระกูลเพนกวิน แต่ตัวตนที่โคดี้ประสงค์จะเป็น ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนแอนิเมชั่นหลายตัวที่เราต่างได้รู้จักมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น หนุ่มเพนกวินนักเต้น อย่าง Happy Feet (ภาพยนตร์โดยวอเนอร์ บราเดอร์ พิคเจอร์) หรือ หนูพ่อครัว ชื่อ เรมี่ ใน Ratatouille(ภาพยนตร์ โดย วอลท์ ดิสนีย์ พิกซาร์) โดยเฉพาะยิ่งเป็นสัตว์ประเภทเดียวกันกับ Happy Feet ด้วยแล้ว โคดี้จึงถูกหยิบไปเปรียบกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่รายละเอียดของ Surf’s Up กับ Happy Feet นั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร เพราะสิ่งที่ Surf’s Up ต้องการเสนอ ตลอดจนกลิ่นเกร็ดและลีลาการถ่ายทอดนั้น แทบจะไม่มีอะไรเหมือนหรือคล้ายกับ Happy Feet เลย

Surf’s Up ใช้สำเนียงการเล่าเรื่องแบบเรียลลิตี้ เป็นการหยิกกัดรายการโชว์ประเภทเหตุการณ์จริงได้อย่างน่ารักน่าชัง ซึ่งการบรรยายเรื่องราวด้วยวิธีนี้ นอกเหนือจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ตั้งและตบมุขด้วยตัวเองอย่างคล่องตัวแล้ว มันยังมีประโยชน์ในการที่จะทำให้ผู้ชมติดตามเรื่องได้อย่างง่ายและเร็วที่สุดอีกด้วย

นอกเหนือจากการเล่าเรื่องดังกล่าวแล้ว Surf’s Up ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่หวือหวา ตัวละครเอกที่ต้องการจะพิสูจน์อะไรบางอย่าง กับตัวละครที่เคยเป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตถึงขีดสุด แต่กลับต้องมาจ่อมอยู่กับความผิดพลั้งพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวในชีวิต โดยที่ตัวละครทั้งสองนี้จะหนุนเกื้อซึ่งกันและกันตั้งแต่แรกพบจนจบเรื่อง

นอกจากนี้ก็มีตัวละครเพื่อนพระเอกจอมโปกฮา ที่เรียกเสียงหัวเราะได้แทบจะทุกฉากที่ปรากฏ ตัวละครวายร้ายจอมโอ่ ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเลวร้ายน่ากลัว แต่ก็แฝงไว้ด้วยความชั่วแบบซื่อๆ ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เป็นตัวละครเดิมๆ บนฉากใหม่ของภาพยนตร์แอนิเมชั่นมาหลากหลายเรื่องแล้ว

พัฒนาการทางด้านภาพของแอนิเมชั่น คงเจียนจะถึงปลายทางในเร็ววันนี้ (หรืออาจจะถึงไปแล้วก็เป็นได้) เพราะมิติของภาพ ทั้งผิว สี เงา แสง ตลอดจนการเคลื่อนไหวต่างๆ คงไม่ใช่ปัญหาในการสร้างงานแอนิเมชั่นที่บริษัทผู้ผลิตจะต้องนำไปตีโจทย์เพื่อนำมาประชันกันสักเท่าไรแล้ว เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ชมที่ติดตามงานแอนิเมชั่นมาโดยตลอดต้องยอมรับว่า มิติทางด้านภาพของแอนิเมชั่นได้เติบโตแบบก้าวกระโดดจริงๆ

หากพัฒนาขึ้นไปมากกว่านี้ ภาพในงานแอนิเมชั่นคงใกล้เคียงภาพจริงจนกลายเป็นเนื้อเดียว ซึ่งหากวันนั้นมาถึง เสน่ห์บางประการในงานแอนิเมชั่น สื่อที่หลายต่อหลายคนยอมรับว่า มันคือ ตัวแทนคั่นกลางระหว่างโลกของเด็กกับผู้ใหญ่จะต้องหดหายไปอย่างแน่นอน

ต้องยอมรับว่า พัฒนาการของแอนิเมชั่นที่เสมือนจริงจนแทบแยกไม่ออกว่า ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง จับต้องได้ หรือภาพในจินตนาการ ถือเป็นความมหัศจรรย์ที่น่าตื่นตะลึงไม่น้อย

แต่ถ้าไปถามเด็กๆ และผู้ใหญ่หัวใจเด็กทั้งหลาย เชื่อว่าเกินครึ่ง พวกเขาน่าจะนิยมแอนิเมชั่นที่มีความสวยคม และมิติของภาพในระดับพอดีๆ มากกว่า เพราะถ้าตัดรูปทรงไม่สมจริง และการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวการ์ตูนไปจนสิ้น ก็เหมือนไปขอดเสน่ห์ของแอนิเมชั่นออกไปจนเกลี้ยง เหลือเพียงความสวยงามจอมปลอมที่ดูแล้งแห้งไม่น่าดูชม

มิติของภาพใน Surf’s Up สวยและคมอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ส่วนเนื้อหาก็จัดเป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กโต ที่มีมุขตลกเสียดสีแบบที่เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจ วิธีการนำเสนอซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมุขของผู้สร้างทำให้หนังเรียบและลื่นยิ่งขึ้น โดยรวมถือว่า Surf’s Up เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ไม่มีอะไรหวือหวาแปลกใหม่ ดูพอเพลินได้อีกเรื่องหนึ่ง

ทิศทางการแข่งขันของแอนิเมชั่นในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่ชัด เพราะหลักชัยของผู้สร้างแอนิเมชั่นไม่ได้กำหนดไว้ที่ชายหาด ดังเช่น การแข่งขันของโคดี้กับเหล่านักเซิร์ฟตัวอื่นๆ

 อย่างไรก็ดีในฐานะผู้เชียร์ผู้ชม ก็คงต้องหวังให้ผู้ผลิตแอนิเมชั่นหันไปทุ่มเทให้กับเนื้อหา และกรรมวิธีการนำเสนอ มากกว่าการมุมุ่งมาประดิษฐ์ภาพ แสง และเงาจนแพร้วเพริดไปจนทำให้เนื้อหาย่ำวนรอยเดิมอย่างที่ผ่านมา










กำลังโหลดความคิดเห็น