ก่อนหน้านี้ เพื่อนฝูงของดิฉันซึ่งได้ดู Borat (Borat : Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan) แล้ว ให้ความเห็นว่า มันเป็นหนังที่ ‘ถ้าไม่รักจัง ขำกลิ้ง ก็ต้องเผาพลิกเผาเกลือสาปส่ง เกลียดมันอย่างแรง’
จริงอย่างที่เพื่อนว่า Borat เป็นหนังสุดโต่งที่ผู้ชมไม่อาจรู้สึกเพียง ‘เฉยๆ’ หรือ ‘งั้นๆ’ กับมันได้จริงๆ
แย่ตรงที่ ดิฉันดันอยู่ในพวกหลัง ดิฉันไม่ชอบหนังเรื่องนี้ มันเป็นหนังตลก แต่ดิฉันดูแล้วไม่ขำ ตรงข้าม มันกลับทำให้ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดหัวเสียอย่างยิ่ง
ชื่อเต็มๆ ของBorat ยาวเหยียดอย่างที่จั่วหัวไว้ตอนต้น หนังกำกับโดย แลร์รี ชาร์ลส์ ผู้กำกับชาวอเมริกันซึ่งเคยอำนวยการสร้างและเขียนบทซีรีส์ดังจำนวนไม่น้อย (อาทิ Seinfeld และ Entourage) และรับบทนำแถมร่วมเขียนบทโดย ซาชา บารอน โคเฮน นักแสดงตลกชื่อดังของฝั่งอังกฤษ
เท่าที่ดิฉันเช็กเรตติ้งนักวิจารณ์ใน rottentomatoes.com พบว่า ผู้ที่ให้คะแนน Borat ในแดนบวกนั้น สูงถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นไม่พอ หนังยังคว้ารางวัลสำคัญจากสถาบันใหญ่น้อยอย่างคับคั่ง (หนึ่งในนั้นคือ ลูกโลกทองคำ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ประเภทเพลง/ตลก) ส่วนในแง่รายได้ หนังทำสถิติเปิดตัวสูงสุดสำหรับหนังที่เข้าฉายต่ำกว่าพันโรง ทำลายสถิติเก่าที่ Fahrenheit 9/11 ของ ไมเคิล มัวร์ ทำไว้ลงราบคาบ
Borat ในชื่อเรื่อง หมายถึง โบแรท แชกดิเยฟ ตัวละครที่หนังอุปโลกน์ขึ้นว่าเป็นพิธีกรชื่อดังของประเทศคาซัคสถาน ส่วนข้อความยาวเหยียดหลังเครื่องหมายทวิภาค ( : ) ก็คือคำอธิบายเรื่องราวทั้งหมดของหนัง โบแรทได้รับมอบหมายจากรัฐบาลของตนให้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อศึกษาเรียนรู้ดูงานด้านวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งนี้ก็ด้วยความมุ่งหวังว่า จะนำสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มาปรับใช้กับประชาชนในประเทศตน เพื่อท้ายที่สุดจะทำให้คาซัคสถาน ‘ศิวิไลซ์’ เหมือนอเมริกาบ้าง
หนังจัดอยู่ในกลุ่ม ‘ล้อสารคดี’ หรือ mockumentary กล่าวคือ เป็นการนำเรื่องที่สมมติขึ้นมาเล่าผ่านสารพัดวิธีการที่หนังสารคดีมักใช้กัน ทั้งนี้ เหมือนเป็นการเย้าหยอกกวนๆ ชวนให้คนดูสงสัยว่า ‘นี่มันเรื่องจริงหรือเปล่าหนอ?’ ทำนองนั้น
อย่างไรก็ตาม ข้อหนึ่งที่ Borat มาแปลกกว่า mockumentary ทั่วไปก็คือ เป้าหมายหลักในการล่อหลอกและหยอกเย้ากลับไม่ใช่ผู้ชม แต่เป็นสารพัดบุคคลที่ร่วมเข้าฉากกับโบแรทในเรื่อง
ข้อมูลที่ดิฉันอ่านพบระบุว่า คนส่วนใหญ่ที่มาร่วมแสดงในหนัง ได้รับการติดต่อล่วงหน้าว่า ทีมงานจะมาพบเพื่อถ่ายทำหนังสารคดีเรื่องหนึ่ง จากนั้นเมื่อถึงเวลาถ่ายทำจริง ซาชา บารอน โคเฮนในบทโบแรท ก็ทำตัวเพี้ยนพิลึกตามที่ตัวเขาเองกับผู้กำกับ ‘ตระเตี๊ยม’ กันไว้ แล้วดูว่าบุคคลต่างๆ ที่ร่วมเข้าฉากด้วยกันนั้น จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ดังกล่าวบ้าง
ดิฉันดู Borat แล้วนึกถึงรายการพวก ‘ดาราจำเป็น’ ไม่น่าแปลกใจที่หลังจากหนังออกฉาย ผู้ที่มาปรากฏตัวในหนังจำนวนไม่น้อย จึงโกรธไฟแลบ เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะพบว่าตัวเองถูกหลอกเท่านั้น ทว่า Borat กับหนังที่ทีมงานบอกว่าจะขอความร่วมมือให้ร่วมแสดงทีแรก มันต่างกันราวนรกกับสวรรค์เลยทีเดียว
ตัวละครอย่างโบแรทนั้น นิยามสั้นๆ แต่จำกัดความครอบคลุมก็คือ ‘อุบาทว์หลุดโลก’
หนังเปิดเรื่องด้วยการให้เขาแนะนำบ้านเกิดเมืองนอนให้ผู้ชมรู้จัก เพื่อนบ้านมีทั้งนักข่มขืนชื่อก้อง (ตอนหนึ่งโบแรทบอกกล่าวหมอนี่ด้วยความปรารถนาดีว่า ‘ถ้าเป็นได้ ก็ทำแค่กับคนนะพวก’) ช่างซ่อมเครื่องยนต์เบ็ดเตล็ดที่หาลำไพ่พิเศษด้วยการรับทำแท้ง แล้วตอนหนึ่งโบแรทก็พบหญิงสาวผมทองคนหนึ่ง ทั้งคู่โน้มตัวเข้าหากัน บรรจงจุมพิตกันอย่างดูดดื่ม ก่อนเขาจะแนะนำว่า “นี่น้องสาวผมเอง โสเภณีอันดับ 4 ของประเทศ”
ทั้งหมดนี้ โบแรทนำเสนอด้วยสีหน้าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
เมื่อไปถึงอเมริกา ความอุบาทว์ของโบแรทก็ได้แผลงฤทธิ์เต็มที่ เริ่มตั้งแต่การวักน้ำในชักโครกล้างหน้าล้างตา, อ้ากางเกงในออกเพื่อให้โปรดิวเซอร์ที่เดินทางไปด้วยกัน ใช้ไดร์เป่าผมเป่าทั้ง ‘ด้านหน้า’ และ ‘ด้านหลัง’ ให้แห้งก่อนแต่งตัวออกไปพบปะผู้คนข้างนอก, นั่งอึและช่วยตัวเองริมถนนซึ่งผู้คนพลุกพล่านและฟ้ายังสว่างโร่
หรืออีกหน โบแรทไปพบกลุ่มคนชั้นสูงเพื่อฝึกหัดมารยาทบนโต๊ะอาหาร ทว่ายังไม่ทันไร เขาก็เกิดปวดอึขึ้นมาเสียก่อน โบแรทพยายามถามหา “ที่ขี้น่ะครับ...ขี้ รู้จักใช่มั้ย? สีน้ำตาลๆ ที่ออกมาจากรูตูด” เจ้าบ้านบอกทางให้โบแรท แต่เมื่อไปถึงห้องน้ำจริง ความที่ไม่เคยใช้ชักโครกมาก่อน หมอจึงใช้ผ้าห่อของเสียที่ร่างกายขับถ่ายออกมา แล้วถือติดมือมาถามเจ้าบ้านถึงโต๊ะอาหารว่า “ผมเอาไอ้นี่ไปไว้ที่ไหนดี? ”
เท่านั้นไม่พอ ฉากนี้จบลงด้วยการที่โบแรทโทรเรียกนางทางโทรศัพท์คนหนึ่งมาหาถึงที่ หลังจากเข้าใจผิดคิดว่า การพา ‘เพื่อน’ ตัวเองมาร่วมโต๊ะทั้งที่ไม่ได้รับเชิญนั้น เป็นมารยาทที่ศิวิไลซ์ชนพึงกระทำได้ (ขอย้ำอีกครั้งว่า เจ้าบ้านและแขกเหรื่อที่ร่วมโต๊ะอาหารกับโบแรทวันนั้น ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น)
เท่าที่ดิฉันอ่านความเห็นของทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ชี้ 2 ประเด็นคล้ายๆ กันคือ หนึ่ง มันเป็นหนังที่ตลกเอามากๆ และสอง หนังเสียดสีความเป็นอเมริกันอย่างร้ายกาจและเหนือชั้น
อย่างไรก็ตาม ดิฉันเอง อย่างที่เรียนไว้ข้างต้น ดิฉันดูแล้วไม่ขำ ร้ายกว่านั้นคือ ดิฉันไม่รู้สึกว่า ความเป็นอเมริกันและคนอเมริกัน คือเป้าหมายหลักของการเสียดสี
จริงอยู่ มีทัศนคติน่ารังเกียจบางอย่างของคนอเมริกันบางคนปรากฏอยู่ในหนัง (ประเภท เห็นใครหนวดดกผมดำก็เหมาไว้ก่อนว่าเป็นพวกอาหรับ และคงมาที่นี่เพื่อก่อการร้าย หรือทัศนคติเหยียดหยามกลุ่มรักร่วมเพศทำนอง ‘เราน่าจะเอาพวกมันไปยิงทิ้งซะให้หมด’) ทว่านั่นก็เป็นสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก ยิ่งมาเจอกับพฤติกรรมทุเรศทุรังเต็มพิกัดของโบแรทแล้ว ก็ทำให้สารในส่วนนี้เลือนลางบางเบาเข้าไปอีก
หรือหากจะบอกว่า อาการตกอกตกใจที่คนอเมริกันตามท้องถนนแสดงออกต่อพฤติกรรม ‘ไม่ธรรมดา’ ของโบแรทนั่นแหละคือการเสียดสี ส่วนตัวดิฉันเห็นว่า ยิ่งไม่ใช่หนัก
เพราะการเห็นคนถลกกางเกงลงนั่งอึริมถนน หรือเอามือล้วงเข้าไปจับเป้าสำเร็จความใคร่ หรือกระทั่งการที่ใครที่ไหนไม่รู้จู่ๆ ก็มายื่นมือขอจับทักทายแถมยื่นหน้าเข้ามาใกล้เพื่อหอมแก้มซ้าย-ขวา (นิสัยอย่างหนึ่งของโบแรทคือ เจอคนแปลกหน้าโดยเฉพาะผู้ชายทีไร เป็นต้องเดินดิ่งเข้าไปแนะนำตัว แล้วหอมแก้มทักทายเสมอ) ไม่เฉพาะแต่คนอเมริกันเท่านั้นหรอกค่ะที่จะเกิดอาการผวา - แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือกระทั่งคนไทยที่ได้ชื่อว่ามีอัธยาศัยและน้ำใจเป็นเลิศ ก็ต้องแสดงปฏิกิริยาอย่างเดียวกันทั้งนั้น
พูดให้ชัดก็คือ พฤติกรรมจาบจ้วงแบบไม่ไว้หน้าใครของโบแรท –ที่แม้หนังจะบอกว่ามันมาจากความซื่อใสโดยแท้- มันเกินตลกไปเยอะสำหรับดิฉัน และเมื่อบวกรวมกับปฏิกิริยาของผู้คนแวดล้อมซึ่ง ‘จริงอย่างยิ่ง’ แล้ว ก็ทำให้ดิฉันไม่มีใจรักใคร่ตัวละครตัวนี้เหลืออยู่เลย ตรงข้าม ดิฉันกลับนึกเห็นใจคนเหล่านั้นที่ถูกหนัง ‘ใช้เป็นเครื่องมือ’ มากกว่า (เปรียบเทียบกับหนังอุบาทว์ทั้งหลายของ จอห์น วอเตอร์ส แล้วดิฉันพบว่า เหตุที่ดิฉันรับหนังวอเตอร์สได้ แต่กลับรับ Borat ไม่ได้ เป็นเพราะในหนังของวอเตอร์สนั้น ทั้งบุคลิกหน้าตาของตัวละคร ทั้งท่าทางการแสดงออก รวมถึงองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ถูกทำให้โอเวอร์เกินจริงหลุดโลก จนผู้ชมเข้าใจว่ามันเป็น ‘โลกสมมติ’ มันเป็นหนัง และไม่ควรนำความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังเข้าไปจับ)
การดูหนังตลกที่เราดันไม่ขำนั้นก็แค่เบื่อหน่ายทรมาน แต่จุดใหญ่ใจความที่ทำให้ดิฉันรู้สึกหงุดหงิดหัวเสียเหลือกำลัง อยู่ที่บทสรุปลงท้ายของหนัง
Borat จบลงด้วยการที่โบแรทได้เรียนรู้ว่า อเมริกาไม่ได้สมบูรณ์พร้อม ทั้งยังไม่ยินดีต้อนรับเขาอย่างที่คิด และบางทีการไล่ตามความฝันโง่ๆ ก็อาจทำให้เรามองข้ามความจริงบางอย่างที่สวยงามไป เขาเดินทางกลับบ้าน (โดยที่พฤติกรรมอุบาทว์ไม่ได้ลดลงกว่าเดิม) ใช้ชีวิตแบบเดิม และพูดถึงความเป็นคาซัคด้วยความรักใคร่
ถูก-ผิดอย่างไรไม่ทราบ แต่ในความเห็นของดิฉัน การจบแบบนี้ทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกหนังตะโกนใส่หน้าว่า ‘เออใช่ อเมริกาไม่วิเศษวิโส แต่ที่โง่สุดๆ ก็คือพวกที่อยากเป็นอเมริกันนั่นแหละ!’
มากกว่านั้นคือ การที่โบแรทมาจากประเทศซึ่งสภาพแวดล้อมค่อนข้างจะเสื่อมโทรมชำรุด (อันนี้ดิฉันวัดจากในหนัง คาซัคสถานในความเป็นจริงเป็นอย่างไรนั้นไม่ทราบ) ก็ทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกหนังเหยียบย่ำซ้ำเติมคำรบสองว่า ‘มาจากประเทศโลกที่ 3 ก็จงอยู่แบบประเทศโลกที่ 3 อย่าได้ทำหัวสูงอยากเป็นศิวิไลซ์ชนเหมือนคนโลกที่ 1 เด็ดขาด...ไม่มีวัน!’ ...ดิฉันรู้สึกขนาดนั้นจริงๆ
ความรู้สึกขุ่นเคืองที่ได้รับจากการดูครั้งแรกทำให้ดิฉันร่ำๆ จะจดชื่อหนังลง ‘เดธโน้ต’ แต่เมื่อนึกถึงผลคะแนนบวกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ใน rottentomatoes.com แล้ว บอกคุณตามตรง ดิฉันชักหวั่นไหวขึ้นมาหน่อยๆ จึงตัดสินใจให้โอกาสตัวเองอีกสักรอบ เผื่อจะดูหนัง ‘ผิดเหลี่ยม’ หรือมองข้ามอะไรบางอย่างไปในรอบแรก
อย่างไรก็ตาม ผลการดูรอบหลังกลับไม่แตกต่างจากเดิม ดิฉันไม่รู้สึกดีกับมันมากขึ้น อาการหงุดหงิดอาจลดทอนลงไปมาก (คาดว่าเพราะไม่มีความตกตะลึงทำนอง ‘เอางี้เลยเรอะ?’ เป็นแรงหนุน) แต่โดยรวมแล้ว ดิฉันทำใจให้ชอบหนังเรื่องนี้ไม่ลงจริงๆ
หากจะมีคำถามว่า ถ้าไม่ชอบขนาดนั้น แล้วเขียนถึงมันทำไม?
ดิฉันมี 2 เหตุผล
หนึ่ง ดิฉันเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า หนังทุกเรื่องในโลก ควรค่าแก่การชมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะแม้แต่หนังห่วยหลุดโลกหรือหนังที่ดูแล้วเกลียดเหลือกำลัง อย่างน้อยก็ยังทำให้เราเรียนรู้ว่า ‘หนังแบบนี้ก็มีในโลก’
และสอง อย่างที่บอกกล่าวกันไว้ในย่อหน้าแรกสุด Borat เป็นหนังที่ ‘ถ้าคุณไม่เกลียดมัน คุณก็จะรักมัน’ ดิฉันเองแม้จะอยู่ฝ่ายไม่รักหนังเรื่องนี้ แต่ก็เห็นเพื่อนหลายคนชอบมันเอามากๆ ดิฉันจึงนำมาเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคุณ
เพราะจะรักหรือจะชัง คุณเท่านั้นคือผู้ตัดสิน