"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมรู้สึกว่าน่าจะรอบคอบกว่านี้ และถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของคนแต่งเพลง โดยเฉพาะกับผมที่บกพร่องในเรื่องความละเอียดก่อนจะเสนอเพลงออกสู่สังคม
แต่ไม่อยากให้มองว่านักแต่งเพลงมีมีดในมือแล้วเราเขียนอะไรก็ได้ เพราะจรรยาบรรณของนักแต่งเพลงจะมีดุลพินิจในการรับผิดชอบสังคมอยู่แล้ว
ครั้งนี้เป็นกรณีเดียวในชีวิตที่ผมเทน้ำหนักไปให้กลุ่มเป้าหมายมากกว่าความรับผิดชอบในการดูแลสังคม มาถึงขั้นนี้ผมคงทำอะไรไม่ได้มาก คงปล่อยให้เป็นบทเรียนที่สอนตัวเองเราต้องห่วงเรื่องสังคมมากกว่าที่จะเขียนเพลงให้โดนอย่างเดียว..."
ยอมรับเลยครับว่าผมค่อนข้างจะแปลกใจออยู่พอสมควรกับคำให้สัมภาษณ์ที่ว่านี้ของคุณ "สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา" นักแต่งเพลงจากบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) ผู้เขียนเพลง 'นางฟ้าคืนเดียว' ที่คุณวิด ไฮเปอร์ นำไปร้องซึ่งกลายเป็นข่าวขึ้นมาเมื่อต้นสัปดาห์ หลังเพลงที่ว่าถูกคนในกระทรวงวัฒนธรรมออกมาติติงถึงความเหมาะสมของเนื้อหา และการใช้ภาษาที่ค่อนข้างจะกำกวม (ขออนุญาตเอาเนื้อเพลงดังกล่าวมาให้อ่านกันนะครับ)
"ไม่รักแล้วมานอนกับฉันทำไม ไม่รักแล้วเธอไยไม่ยอมขัดขืน
ไม่รักแล้วมาบอกเมื่อตอนฉันตื่น ไม่รักแล้วเมื่อคืนเราเป็นอะไรกัน
ไม่รักแล้วทำไมให้ฉันทุกท่า ไม่รักไยลีลาเร่าร้อนปานนั้น
ไม่รักแล้วมาห่มผ้าผืนเดียวกัน ไม่รักแล้วมาอม....ใจฉันทำไม
ไม่ใช่ผู้ชายข้างทาง สว่างก็จะชิ่งกัน
เจ็บปวดกับความสัมพันธ์ สำคัญแค่ตอนดับไฟ
ไม่ใช่ผู้ชายชั่วคราว จบข่าวก็จบเยื่อใย
หมดแม็กก็แยกกันไป มาฆ่าให้ตายเลยดีกว่า
ไม่รักแล้วมานอนกับฉันทำไม ไม่รักแล้วเธอไยไม่บอกกันหา
ปล่อยฉันให้น้ำแตกตรงนี้ที่ตา บอบช้ำเพราะลีลานางฟ้าคืนเดียว"
ย้อนไปถึงที่มาของเพลงนี้คุณสิทธิพงษ์บอกว่า มีน้องผู้ชายคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าเขาไปเจอเด็กเชียร์เบียร์คนหนึ่งแล้วไปมีความสัมพันธ์กัน ตื่นเช้ามาผู้หญิงคนนั้นก็หายไป เขาเลยมาคุยกับตนว่าทำไมผู้หญิงทำแบบนั้น เพราะเขารักจริง
นั่งฟังน้องคุยเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ตนก็เลยเอากีตาร์มาดีดและแต่งเล่นๆ จนกลายเป็นเพลงเอาไว้ร้องเล่นๆ กับทีมงานโดยไม่ได้คิดว่าจะเอาไปลงอัลบั้มแต่อย่างใด
กระทั่งวันหนึ่ง 'วิด ไฮเปอร์' มาได้ยินบอกว่าเพลงนี้โดนมากๆ และเหมาะกับภาษาเพลงที่เขาร้องอยู่ น่าจะเอามาลองทำดู
"ด้วยความที่ตนและคนอื่นร้องเพลงนี้กันมา 2 ปี ก็เป็นความเคยชินที่ฟังดูว่าเนื้อหามันไม่แรง แล้วก็ลองเอาเพลงนี้ไปทำ พอไปผ่านเซ็นเซอร์ก็รู้สึกว่าคงไม่มีปัญหาอะไร..." นักแต่งเพลงชื่อดังกล่าว
.....
ที่บอกว่าน่าแปลกใจกับคำให้สัมภาษณ์ของนักแต่งเพลงคนนี้ (ซึ่งผมแอบปลื้มมากๆ ในหลายเพลงจากอัลบั้ม "หนุ่มบาวสาวปาน") เพราะโดยส่วนตัวผมรู้สึกว่า ระยะหลัง หากมีข้อถกเถียงถึง "ความรับผิดชอบต่อสังคม" ต่อเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นงาน "ศิลปะสายบันเทิง" แล้วละก็ เป็นเรื่องยากเหลือเกินครับที่เราจะได้ยินคำให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ผู้ผลิตจะยอมรับว่าสิ่งที่ตนเองทำไปมันคือความผิดพลาดที่ขาดความรับผิดชอบจริง
เพราะส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่มีคำธิบายในลักษณะที่คล้ายๆ กันต่อเรื่องทำนองนี้ว่า แล้วแต่คนจะวิจารณ์เพราะสิ่งที่ตนเองทำคือการทำหน้าที่กระจกสะท้อนสังคม, สิ่งที่ตนเองสื่อออกมามันคือความจริงของสังคม, ความจริงของสังคมนั้นมันโหดร้าย มันหยาบ มันรุนแรงกว่านี้เยอะ เรื่องแค่นี้ทำเป็นรับไม่ได้ หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงคำชี้แจงแบบไม่ต้องคิดอะไรเลยว่า ก็แค่เพลงๆ หนึ่ง ก็แค่หนังเรื่องหนึ่ง ขำๆ กับมันไปน่า ฯลฯ
หายากนะครับที่จะมีคนมาบอกว่า...ครั้งนี้เป็นกรณีเดียวในชีวิตที่ผมเทน้ำหนักไปให้กลุ่มเป้าหมายมากกว่าความรับผิดชอบในการดูแลสังคม มาถึงขั้นนี้ผมคงทำอะไรไม่ได้มาก คงปล่อยให้เป็นบทเรียนที่สอนตัวเองเราต้องห่วงเรื่องสังคมมากกว่าที่จะเขียนเพลงให้โดนอย่างเดียว...เช่นนี้
กรณีของ "วิด ไฮเปอร์" หากมองย้อนกลับไปยังผลงานเก่าๆ ของเขา แม้จะอดชื่นชมไม่ได้กับความค่อนข้างจะแน่ชัดในการเป็นตัวของตัวเองของเขา แต่ในหลายๆ เพลงของเขา ไม่ว่าจะเป็นนัยของเนื้อหา ภาษาที่ใช้ มิวสิกวิดีโอ ฯ โดยทัศนะส่วนตัวผมคิดว่ามันค่อนข้างจะมีความสุ่มเสี่ยงอยู่พอสมควรในการที่จะทำให้คนฟังเพลงของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยมมีทัศนะคติเกี่ยวกับเรื่องของความรักบางอย่างจนอาจจะส่งผลให้แสดงออกในพฤติกรรมที่สังคมตีความว่าเป็นปัญหาออกมา
อย่างมิได้จะมองไม่เห็นความมีประโยชน์ของเรื่อง "ด้านมืด" จนไม่ต้องการให้นำเรื่องเหล่านี้ ทำนองนี้มาเป็นตัวอย่างนะครับ หากแต่ผมคิดว่ามันมีหลายองค์ประกอบที่จะต้องระมัดระวังและใส่ใจอยู่พอสมควร
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิธีการนำเสนอ ประเภท/วุฒิภาวะของกลุ่มคนที่เราจะสื่อด้วย รวมไปถึงเรื่องของสถานการณ์/ช่วงเวลา/โอกาส ฯ และที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ "เจตนา" การนำเสนอที่มิได้อิงอยู่บนความสะใจหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง
ต้องไม่ลืมนะครับว่ากระจกมันสะท้อนได้ก็แค่ "เงา" เท่านั้น
แต่มันไม่ได้อธิบายหรอกว่าเงาที่สะท้อนออกมา เงาไหนคือ "ความจริง" ที่ถูก - ผิด สมควรจะเอาเยี่ยง - ไม่เอาอย่าง หรือมีนัยอื่นๆ ที่มองไม่เห็นแฝงอยู่หรือไม่อย่างไร?