โป๊-ถึงแม้จะมีความหมายที่ถูกระบุเอาไว้ในพจนานุกรมที่ค่อนข้างจะชัดเจนในความเข้าใจว่า เปลือยหรือค่อนข้างเปลือย, เปิดเผยอวัยวะบางส่วนที่ควรปกปิด...
แต่การตีความต่อคำที่ว่านี้ในบริบทของการเป็น "หนังสือ" นั้น กลับเป็นเรื่องที่หามาตรฐานไม่ได้เอาเสียเลย
.....
หากนับเอาหนังสือที่บรรดาหนุ่มๆ เคยรู้จักกันดีในอดีตอย่าง แมน, หนุ่มสาว, นวลนาง, ไทยเพลย์บอย, ระทึก, ทีเด็ด ฯ เหล่านี้คือพัฒนาการลำดับขั้นที่สองของหนังสือปกขาว หนังสือ(โป๊)ใต้ดินอาทิเปิดบริสุทธิ์ ด้วยเหตุผลที่สามารถขึ้นมาวางขายบนแผงได้แล้วละก็ มันคงจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดเท่าไรนักหากเราจะมองถึงการก่อกำเนิดขึ้นมาของหนังสือ อย่าง FORMEN, Cute, FHM, Penthouse คือพัฒนาในลำดับขั้นที่ 3
แต่ถึงแม้จะมีพื้นฐานของวัตถุประงสงค์ที่เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทว่ามุมมองที่มีต่อหนังสือเหล่านี้เฉพาะอย่างยิ่งที่มาจากผู้คนในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต นางแบบ ตากล้อง กลับมีความรู้สึกที่แปลกแตกต่างออกไป
“มันคือหนังสือเซ็กซี่มากกว่า มันคือความสวยงามของสรีระของผู้หญิงและความเซ็กซี่ เราไม่ใช่หนังสือนู้ด ถ้านู้ดมันคือไม่ใส่เสื้อผ้า เรียกว่าเราก็แนวกึ่งๆ นู้ดดีกว่าครับ เซ็กซี่ บวกนู้ดนิดๆ..." เสียงบอกเล่าถึงมุมมองจาก "อาทร ฮุนตระกูล" ต่อนิตยสารที่อยู่ภายใต้การผลิตของเขาอย่าง Cute หนึ่งใน 22 นิตยสารที่แผนกสิ่งพิมพ์ กองบัญชาการตำรวจสันติบาลได้ขึ้นบัญชีเป็นหนังสือที่ต้องทำการเตือนในการนำเสนอรูปภาพในช่วงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
ด้วยมุมมองที่มีความถูกต้องทางด้านกฏหมายเข้ามารองรับ บวกรวมเข้ากับอำนาจ(ในการสั่งปิดโรงพิมพ์)ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดูแลในส่วนนี้ที่ลดลงไปภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมานอกจากจะทำให้หนังสือในแนวที่ว่ามีความเฟื่องฟูขึ้นมาแล้ว ยังส่งให้ผลให้บรรดานิตยสารเพื่อความบันเทิงที่เกิดขึ้นใหม่อีกหลายต่อหลายหัว หรือแม้กระทั่งบางหน้าของหนังสือพิมพ์ในส่วนของข่าวบันเทิงเองได้ใช้บริการรูปแบบการโพสต์ สไตล์การถ่ายภาพของนางแบบในแนวทางที่ว่านี้ด้วย
อาจจะดูเป็นความสีเทาต่อสิ่งที่เป็นนามธรรมในเรื่องของความเหมาะสม ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี แต่ก็คงต้องยอมรับว่าการทำงานของสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้ตั้งหรืออย่างน้อยๆ ก็คือพยายามที่จะตั้งอยู่บนความชัดเจนของตัวอักษรที่ถูกเขียนระบุไว้เป็นกฏหมายมราชัดเจน ผิดไปจากกลไกการแก้ปัญหาของรัฐบาลในยุคปัจจุบันที่ออกมาซึ่งดูเหมือนจะทำให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้นไปอีกหลังพยายามเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมที่ว่าเข้ามาเป็นบรรทัดฐานในการจำกัดและจัดการต่อสิ่งที่มองว่าเป็นปัญหาสังคมของหน่วยงานที่ชื่อ คณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย โดยมีสาระสำคัญห้ามครอบครองวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย อันเนื่องมาจากสังคมปัจจุบันมีพัฒนาการมีวัตถุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่นำไปสู่ความไม่ดีอย่างยิ่ง เช่น ภาพ ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ รูปลอย ภาพโฆษณา เครื่องหมายรูปถ่ายภาพยนตร์ ฯลฯ
"มาตรการตัวนี้ทำภาพรวมทั้งหมด 7 สื่อด้วยกัน คือ สิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต ทีวี วิทยุ แผ่นซีดี ภาพยนตร์ โทรศัพท์ โดยหน้าที่ของสันติบาลก็คือสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก..." พ.ต.อ.สุทัศน์ อันทานนท์ รอง ผบก.อก.บช.ส. เผยถึงขอบข่ายในการทำงานของสันติบาล ก่อนบอกเล่าถึงอำนาจหน้าที่ให้ฟังว่า...
"มาตรการของการขจัดสื่อร้ายในสื่อสิ่งพิมพ์เนี่ยเราต้องมองภาพรวม ซึ่งเราอาจจะแยกเป็น 2 ส่วนคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่กระทำผิดตามกฏหมายอาญาก็คือสื่อลามากอนาจาร ผิดตามประมวลกฏหมายอาญา 287 ซึ่งเราทำอยู่แล้ว มันก็มีโทษ จำ 3 ปี ปรับไม่เกิน 6000 บาท อีกส่วนที่ไม่ใช่ซึ่งมันมีมากมายในขณะนี้ก็คือเป็นสื่อที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมอันดีทางวัฒนธรรมต่างๆ สิ่งพิมพ์ประเภทนี้ก็มีมากมาย ต้องแยกจากกัน"
...
ความต่างของทัศนะบนความไม่ชัดเจน
สื่อที่เข้าข่ายลามกอนาจารคงมิใช่เรื่องยากนักที่จะโยนให้เป็นหนังสือโป๊ประเภทใต้ดินซึ่งมีภาพหรือเนื้อหาของการบรรยายในการร่วมรัก หรือเป็นภาพถ่ายที่เปิดเผยให้เห็นอวัยวะเพศอย่างชัดเจน แต่ในสื่อประเภทหลังนั้นต้องถือว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินที่จะสรุปฟันธงตามความรู้สึกของ "อาทร ฮุนตระกูล"
"ทุกคนเห็นเราแล้วเหมารวมเลย เรานู้ดแบบมีศิลปะนะ เท่าที่ดูๆ เนี่ยไม่เห็นมันจะน่าเกลียดตรงไหน ดูเป็นศิลปะ ตำรวจที่เขาดูเราอยู่ยังบอกเลยว่าไม่เห็นมันจะมีอะไรที่มีมากมายเลย แล้วของเราเป็นเล่มแรกเลยนะครับที่เราใส่ปกพลาสติกแล้วปั๊มไว้ว่าต่ำกว่า 18 ห้ามซื้อขาย ชัดเจน กลุ่มคนอ่านต่ำกว่านี้ไม่ต้องหวังครับ เราไม่ขายให้"
"จริงๆ ราคาหนังสือ 180 บาทวัยรุ่นเขาก็คงมีกำลังซื้อแหละ แต่เราไม่ได้หวังตรงนั้น เราทำมาเป็น1 - 2 ปีแล้ว พอมาเล่นเรื่องความโป๊ทางกฎหมายไม่ได้กระทรวงวัฒนธรรมก็หันมาเล่นเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมแทน สดส.องค์กรที่เกี่ยวกับสตรีและเด็กก็ออกมาต่อว่าต่อขาน ซึ่งเราไม่ได้ขายสตรีและเด็กนะครับ มาหาว่าเรามีภาพยั่วยุทางกามารมณ์ เลยงงว่าในเน็ตเยอะแยะเนี่ย เข้าไปดูในเน็ตบ้างซิ มันมีการแสดงร่วมเพศเลยนะ”
เจ้าของนิตยสารที่กำลังเป็นที่ถูกจับตายอมรับว่าในการถ่ายภาพอาจจะมีบางภาพที่หลุดไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็มิได้น่าเกลียดอะไร ก่อนจะบอกว่าหากเอาเรื่องของการผิดศีลธรรมหรือการเป็นสื่อที่ยั่วยุกามารมณ์เข้ามาเป็นบรรทัดฐานจริงๆ คงเป็นเรื่องที่วุ่นวายมากๆ..."ก็อาจมีหลุดบ้าง บางรูปบางจังหวะก็มีหลุดเห็นหัวนมบ้าง ซึ่งถ้าไม่เห็นมันก็จะดูแปลกๆ บางภาพมีหลุดบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่เราก็พยายามทำให้มันถูกต้องที่สุดน่ะครับ"
"คือผมว่ามันตีความยากนะ บางทีพอเอามือมาปิดกลายเป็นภาพยั่วยุอีก เวลาใส่กางเกงเอามือล้วงผิดศีลธรรมอันดีงามอีก ตีความว่ามันคือภาพยั่วยุทางกามารมณ์ แต่ถ้ายืนเฉยๆ ถอดเสื้อผ้าเห็นหมดเลยแล้วข้างล่างไปโกน ไปทำอะไรที่ไม่เห็น เขาบอกว่าเป็นรูปที่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย ไม่ผิด"
"อ้าว..เราก็งง นี่คือกฎหมายที่เขาส่งมาให้นะ เป็นแบบนี้เลย ถ้าเห็นหมดเลยแล้วไม่โพสต์ท่าคือความสมบูรณ์ของร่างกาย มันยิ่งไปกันใหญ่เลย ก็เลยคิดว่านี่ถ้าถ่ายยืนเฉยๆ แก้ผ้าหมดแล้วบอกอาบแดดนี่เราไม่ผิดใช่มั้ย แล้วถ้ามีอะไรมาปิดอวัยวะดันบอกว่าส่อไปในทางยั่วยุ ถึงบอกไงว่า พอเขาตีความอะไรไม่ได้เขาก็บอกว่ามันขัดศีลธรรมที่ดีงาม"
ด้านนักแสดงหญิง "พริก กานต์ชนิต ซำมะกุล” เองก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่ว่านี้ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่สันติบาลได้ร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมจับกุมหนังสือพ็อกเกตบุ๊กที่มีเนื้อหายั่วยุทางเพศซึ่งวางขายตามร้านสะดวกซื้อและร้านหนังสือตามห้างสรรพสินค้าโดยมีนิตยสารแฟชั่นน้องใหม่ "มีโม่ เวรี่" (Memo very) ซึ่งมีเธอเป็นนางแบบรวมอยู่ด้วย
“ต้องถามก่อนว่าถ้าจะมาจับหนูแล้ว หนูทำผิดอะไรล่ะคะ เข้าข่ายผิดกันตรงไหน และถ้าจะบอกว่าหนังสือมีโม่เล่มนี้เข้าข่ายลามกอนาจารหนูว่า อย่างนี้หนังสือเล่มใหญ่ๆ อย่างอิมเมจ, เพ้นท์เฮ้าท์ ก็คงโดนหมดนั่นแหล่ะ เพราะแต่ละเล่มที่มีการถ่ายแฟชั่นออกมา แต่ละครั้งก็หวือหวาฮือฮากันทั้งนั้นไม่เห็นเขาไปจับกันเลย เห็นยังวางขายตามแผงกันอยู่”
"แถมนางแบบที่มาถ่ายนั้นก็เป็นวัยที่ใสๆ กันทั้งนั้น อย่างที่บอกว่าถ้าเค้าคิดว่าหนังสือมีโม่ฯ ลามกอนาจารแล้วอย่างหนังสือเพ้นเฮ้าท์ไม่ยิ่งกว่าเหรอ ไม่ว่าจะเป็นชุดหรือท่าทางมันยิ่งกว่าเล่มนี้หลายเท่า"
"อยากรู้ว่าอันไหนลามก อันไหนไม่ลามก ใครเป็นคนกำหนด คุณเอามาตรฐานอะไรมาวัด อย่างที่ผ่านมาเห็นพี่ ต่าย - เพ็ญพักตร์ ถ่ายแฟชั่นคู่กับพี่ฮันนี่ ไม่ใส่เสื้อผ้ากันเลยด้วยซ้ำ แล้วอันนั้นนะเป็นการเข้าข่ายลามกอนาจารหรือเปล่าค่ะก็ไม่เห็นมีใครมาจับเลย”
ทัศนะของ "อาทร" เจ้าตัวเชื่อว่าคำว่าโป๊นั้นแม้จะมีความหมายแต่ก็ไม่มีคำจำกัดความแต่ถ้าตัดสินกันที่ภาพ "ลามก" นั้นเจ้าตัวบอกเห็นด้วย..."ถ้ามีการร่วมเพศ นั่งแหก อ้า เนี่ย แบบนั้นเรียกได้ว่าลามก เรานั่งโพสต์ท่าใส่กางเกงก็ว่าเราอีก ว่ายั่วยุอีกแล้ว ถ้าแก้ผ้าอย่างเดียว ไม่ยกเท้า พับเพียบ เห็นหมดไม่ผิด"
"เราแค่งงว่ามาตรฐานมันอยู่ตรงไหน จัตเรตมาซิครับ ถ้าขึ้นศาลผมแพ้ เราก็ยอม แต่ว่าช่วยเรตมาหน่อยครับ ตำรวจก็บอกว่าน้ำมันเชี่ยวอย่าเอาเรือมาขวาง คือคณะขิงแก่ตราชั่งมันเอียงอยู่ โยนตูมว่าไอ้นี่ผิด ตราชั่งก็จะบอกไอ้นี่ผิด ตำรวจก็ยังบอกเองเลยว่าให้เราทำให้เบาลง จากเห็นสองข้าง ก็เหลือข้างเดียว เขาก็แนะนำเรามา"
"นี่พูดจริงๆ เลยว่ามันขัดศีลธรรมอย่างไร ศีลธรรมเรามีนะครับ เรามีหมด เข้าใจหมด แต่เราบอกแล้วว่าเราบอกแล้วว่าหนังสือเราต่ำกว่า 18 ห้ามขาย...เราเป็นบริษัทใหญ่ ภาษีเราก็เสีย เราก็มีรีจิสเตอร์ไว้กับตำรวจ แล้วเราไม่ดีตรงไหน คนอื่นมาถึงทำใต้ดิน ก็ไม่ต้องเสีย เงินสดๆ ก็เก็บไปซิ ผมถึงบอกไงว่าผมเอาหนังสือผมลงใต้ดินไม่ดีกว่าเหรอ เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างนะนี่”
"เราอยากได้ที่จัดเรตมาเลย คนทำได้จะได้รู้ว่าเขาควรทำอย่างไร หนังสือแบบนี้ฝรั่งเขารู้ครับ เมืองนอกเขาก็รู้กฎดี”
...
ทางออกที่ตรงกัน
"ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยโดยเฉพาะสื่อที่ทำผิดกฏหมายที่เกี่ยวกับเรื่องทาเพศทางเซ็กซ์เนี่ย เหมือนกับตอนนี้เราปล่อยให้มีมานาน จนมันเกิดความสะสมชินชาต่อสิ่งเหล่านี้ ให้มองดูว่าเอ๊ะมันเป็นเรื่องไม่เท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงสักเท่าไหร่..." พ.ต.อ.สุทัศน์ พยายามให้เหตุผลถึงการก่อเกิดในความคิดที่แตกต่าง
"ทุกวันนี้ที่ทำอออกมานิตยสารมันไม่ถึงเข้าข่ายลามก มันขัดต่อศีลธรรมอันดี หนึ่งคือภาพโป๊ภาพเปลือย สองคือรูปภาพมีอารมณ์ ทำปากทำโน่นทำนี่ มันยั่วยุทางเพศก็เสื่อมเสียศีลธรรมอันดีอันนี้ก็เข้าข่าย หรือเป็นภาพหญิงชายกอดจูบกันแต่ไม่ได้มีการร่วมเพศมันก็เข้าข่าย"
"หรือแม้กระทั่งภาพศิลป์ไม่ได้เจตนาให้เป็นศิลป์แต่ออกมาในลักษณะของการดูแล้วมีเรื่องของการยั่วยุทางเพศ ไม่ถือว่าเป็นภาพศิลป์ พอมันเป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น"
อาจจะถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนส่วนใหญ่ทว่าโดยความคิดของตำรวจจากสันติบาลคนนี้เจ้าตัวมองว่าข้อเท็จจริงมันเป็นการซึมทราบที่สังคมอาจจะมองไม่เห็น แต่มันมีความร้ายแรงในตัวของมันเอง เนื่องจากเด็กและเยาวชนมันจะซึมเรื่องนี้ลงไปจนมองเป็นเรื่องธรรมดากระทั่งก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ การก่ออาชญากรรมทางเพศซึ่งปัจจุบันมีมากกว่าในอดีตเยอะ
"รวมไปถึงการเสพยา คือมันเชื่อมโยงกันหมด เราก็ควรต้องตระหนัก ซึ่งกระแหลักของสังคมวัฒนธรรมไทยเราคงรับอย่างนั้นไม่ได้ ประเทศตะวันตกเขาโอเค เขารับมานาน วัฒนธรรมของเขา การศึกษา เขาแยกแยะได้ แต่เราแยกไม่ออกของเราพอซึมเข้ามามันจะไม่รู้ว่าดีไม่ดี เมื่อเด็กและเยาวชนแยกไม่ออกมันก็จะนำไปถึงความเสื่อมเสียทางวัฒนธรรมและสังคม"
แม้จะมีข่าวให้เห็นออกมาบ่อยๆ ถึงข่าวคราวการทำงานในการตักเตือนจับกุมต่อสื่อที่เข้าข่ายที่ว่า แต่ พ.ต.อ.สุทัศน์ ก็ยอมรับว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสื่อปลอดภัยฯ นั้นหามีได้มากมายล้นฟ้าแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่พรบ.การพิมพ์ พ.ศ.2484 ซึ่งกำลังจะถูกยกเลิกไปโดยจะมีกฏหมายใหม่ขึ้นมาคือพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์
"ก็คือให้เจ้าพนักงานการการพิมพ์รับการแจ้งเพียงจดแจ้งหัวหนังสือที่ผู้ประกอบการจะมาออกหนังสือประเภทต่างๆ ส่วนโรงพิมพ์ไม่ต้องมาจดแจ้งแล้ว สมัยก่อนถ้าต้องเปิดต้องมาจดแจ้งนะเพื่อที่เราจะได้เข้าไปควบคุมดูแล แต่ตอนนี้ก็คือแค่รับการจดแจ้ง ซึ่งเวลาที่เขามาขอเขาก็ต้องบอกไปในทางดีทั้งนั้นแหละ"
"ใครจะมาบอกว่าจะมาทำหนังสือที่มันเสื่อมเสียศีลธรรมอันดี หรือว่าออกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบเรียบร้อย แล้วเรื่องอำนาจของการยึด อายัด ห้ามจำหน่ายก็หมดไป เหลืออันเดียวก็คือเรื่องสิ่งพิมพ์ต่างประเทศ ห้ามนำเข้าสิ่งพิมพ์ต่างประเทศที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือขัดต่อวัฒนธรรมอันดีห้ามนำเข้ายังมีบทลงโทษอยู่"
"ตอนนี้ก็คือเราจะเน้นไปที่ขอความร่วมมือ เรียกมาพูดคุย ซึ่งเราทำมาตลอดเวลา หรือว่าหากใครเจอที่ไหนก็แจ้งเราเข้ามา ส่วนกฎหมายที่พอจะเอาผิดได้ก็คือเรื่องของการโฆษณาที่จะไปอยู่ในพรบ.คุ้มครองผู้บริโภค เราอาจจะหยิบมาได้ ส่วนพวกสื่อลามกเราก็จับกันตลอด ก็ลดลงไปเยอะนะ"
สำหรับทางออกในอนาคตนั้น พ.ต.อ.สุทัศน์ ให้ความเห็นว่านอกจากจะต้องพยายามออกมาตราการใหม่มาแล้ว คงจะมุ่งไปในเรื่องของการจัดเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงเรื่องของการจ่ายภาษีโดยอาจจะงดหรือลดการเก็บภาษีต่อบริษัทที่ผลิตหนังสือ - นิตยสารที่มีเนื้อหาค่อนข้างเป็นไปในทางขาวสะอาด ซึ่งค่อนข้างจะสอดรับกับทางเจ้าของนิตยสาร Cute ในความต้องการเห็นกฏเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม
"มันควรมีเรตชัดเจนไม่งั้นคนขายเขาก็ไม่กล้าขายซิครับ ตำรวจก็มาเหมาหมดหนังสือลามก โป๊ จับหมด มันก็เป็นแบบนี้ อย่างบางเล่มอิมเมจนี่ แมกซิมเนี่ยมาถึงหวือหวากว่าเราตั้งเยอะ ขึ้นหราเลยทำไมไม่จับล่ะ ประเด็นนี้อย่าเอียงซิครับ อย่างนิตยสารของผู้หญิงบางเล่มผู้ชายในนั้นก็มาแบบเบ้อเร่อเลย"
"ทำไมเขาเลือกปฏิบัติล่ะ มันต้องเหมือนกันหมดซิ อย่ามาอ้างว่าหนังสือผู้หญิงซิ มันต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน ให้มันเหมือนกับนานาชาติเขา ไม่ใช่ว่าไม่พอใจใคร ไม่ประทับใจอะไรก็เร่งขึ้นมา เวลาเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีก็มาว่ากันใหม่เหรอ มันไม่ควรแบบนี้ เอามาตรฐานมา แล้วกันเราก็จะทำ”
..........
22 หนังสือในบัญชีดำของสันติบาล
1.หนังสือ cute 2.หนังสือ For Him Magazine (FHM) 3.หนังสือ penthouse 4หนังสือ gossip 5.หนังสือดาราภาพยนตร์ 6.หนังสือ women’story 7.หนังสือทีวีพูล 8.หนังสือซุบซิบ 9.หนังสือสตาร์นิวส์ 1.หนังสือ tv gossip 11.หนังสือชีวิตจริง 12.หนังสือ Oop 13.หนังสือ spicy 14.vcd ไดเจสท์ 15.หนังสือ ดารานางแบบ
16.หนังสือ iamguy 17.หนังสือเพลย์ออฟ 18.หนังสืออายส์ แอนด์ อายส์ 19.หนังสือ tv magazine 20.หนังสือ star’album 21.หนังสือ maxim 22.หนังสือการ์ตูน สปอต โดยหนังสือบางเล่มมีการแจกแผ่นวีซีดี ภาพเคลื่อนไหวเบื้องหลังการถ่ายทำภาพนู้ด บทสัมภาษณ์ของนางแบบในหนังสือด้วย