* หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของหนัง
XXY มาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด และสามารถคว้ารางวัล ‘กินรีทองคำ’ หรือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานไปครองด้วย
คราวนั้น มีผู้สนใจเข้าชมกันมากน้อยเท่าใด ดิฉันไม่ทราบ ส่วนตัวดิฉันเองไม่ได้ไปดูที่งาน แต่เพิ่งได้มาดูจากแผ่นเมื่อไม่กี่วันมานี้ (ด้วยความเอื้อเฟื้อของ คุณธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้)
หนังเป็นผลงานของผู้กำกับหญิงชาวอาร์เจนตินาวัย 34 ชื่อ ลูเชีย ปูเอนโซ
ตามประวัติบอกว่า ปูเอนโซจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวรรณคดีที่มหาวิทยาลัยบัวโนส ไอเรส เคยมีงานเขียนประเภทนิยายออกมาหลายเล่ม หลังจากนั้นจึงหันมาจับงานเขียนบทดูบ้าง ผลงานส่วนใหญ่เป็นทีวีซีรีส์ XXY เป็นงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรกของเธอ
ดิฉันไม่แน่ใจว่า ชื่อ XXY ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่ล่วงรู้เรื่องราวของหนังมากน้อยแค่ไหน วัดเอาจากตัวเองซึ่งโง่ทุกวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์ ดิฉันเดาได้คร่าวๆ แค่ว่า หนังน่าจะเล่าเรื่องของ ‘กะเทย’ สักคน แต่จะเป็นกะเทยเทียมหรือกะเทยแท้ อยู่ในร่างชายหรือหญิง –หรือมีครบทั้งสองเพศในกรณีที่เป็นกะเทยแท้- ดิฉันไม่บังอาจคิดต่อ
XXY เป็นเรื่องของกะเทยจริงๆ และก็เป็นกะเทยแท้ เป็นความผิดปรกติตั้งแต่ในระดับของโครโมโซม ส่งผลให้บุคคลผู้นั้นมีทั้งอวัยวะเพศชายและหญิงในร่างเดียวกัน รูปลักษณ์ภายนอกของเธอเหมือนเด็กสาวทั่วไป เสียงแหลมเล็ก อาจจะผอมเก้งก้างสักหน่อย ทว่าก็มีหน้าอกหน้าใจแบบที่เด็กผู้หญิงในวัยของเธอพึงจะมี เพียงแต่ความลับที่น้อยคนนักจะล่วงรู้ก็คือ เพื่อรักษาสภาพร่างกายดังกล่าวไว้ เธอจำต้องกินยาชนิดหนึ่งทุกวันเพื่อกดทับฮอร์โมนเพศชายในร่างกายไม่ให้แสดงตัวออกมา
เธอคนนี้ชื่อ อเลกซ์ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นขณะเธออายุได้ 15 อยู่กับแม่ซึ่งเป็นแม่บ้าน และพ่อที่เป็นนักชีววิทยารับผิดชอบดูแลเต่าทะเลโชคร้ายซึ่งบาดเจ็บเพราะบังเอิญหลงมาเกยตื้นหรือติดอวนของชาวประมง
สามชีวิตใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเล็กๆ ติดทะเลแห่งหนึ่งในประเทศอุรุกวัย หนังบอกเล่าคร่าวๆ ว่า ก่อนหน้านี้ทั้งหมดอาศัยอยู่ที่ใดสักแห่งในอาร์เจนตินา ทว่าพ่อกับแม่ทนสุ้มเสียงซุบซิบนินทาและสายตาชาวบ้านที่มองว่าลูกตัวเองเป็นตัวประหลาดไม่ไหว จึงพาลูกหลบมาปลีกวิเวกที่เมืองดังกล่าวจนกระทั่งปัจจุบัน
หนังเปิดเรื่องเมื่อแม่ของอเลกซ์ชักชวนเพื่อนเก่าคนหนึ่งพร้อมสามีและลูกชายซึ่งอยู่ในวัยไล่เลี่ยกับอเลกซ์ เดินทางไกลมานอนค้างอ้างแรมด้วยกันที่บ้าน แน่นอน นั่นเป็นการกระทำที่ไม่ปรกตินัก และในเวลาต่อมา อเลกซ์ พ่อของเธอ และผู้ชม ก็รับรู้ไปพร้อมๆ กันว่า สามีของเพื่อนแม่คนนี้นั้นเป็นหมอศัลยกรรมฝีมือฉกาจ เหตุที่แม่ชวนเขามาก็เพราะลึกๆ ในใจกำลังชั่งใจอยู่ว่า มันอาจถึงเวลาแล้วก็ได้ ที่อเลกซ์จะต้องรับการผ่าตัดเพื่อให้ร่างกายของตน ‘เป็นปรกติ’ เหมือนชาวบ้านชาวช่องเขา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ อเลกซ์ ใช่ว่าจะมีร่างกายที่สับสนทางเพศแต่เพียงอย่างเดียว ทว่าหัวใจของเธอก็ยังเลือกไม่ได้อีกด้วยว่า รักชอบเพศใด และต้องการจะเป็นอะไรแน่
ทั้งที่ XXY ไม่ใช่และไม่ใกล้เคียงหนังสยองหรือระทึกขวัญ ทว่าระหว่างดู มันกลับทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนถูกบีบคั้นและกดดันอย่างน่าประหลาด
ย้อนนึกดู สาเหตุหลักคงเป็นเพราะหนังเต็มไปด้วย ‘ความลับ’ ซึ่งผู้กำกับเลือกจะเปิดเผยทีละปมอย่างค่อยเป็นค่อยไปและใจเย็น กว่าหนังจะอนุญาตให้ผู้ชมได้ยินเต็มสองหูว่า อเลกซ์เป็นกะเทยแท้ก็ปาเข้าไปครึ่งชั่วโมง กว่าจะรู้เงื่อนงำความสับสนในใจของเธอก็ต้องรออีกครู่ใหญ่ ไหนยังจะมีเรื่องของ อัลวาโร เด็กหนุ่มผู้เป็นลูกชายของเพื่อนแม่คนนั้น ซึ่งหนังแย้มพรายให้ผู้ชมพอทราบเลาๆ ว่า เขาเองก็มีความลับบางอย่างที่รอคอยวันจะเปิดเผยให้ทุกคนได้รับรู้
เหนือสิ่งอื่นใด –ไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้กำกับหรือไม่- ดิฉันรู้สึกว่า หนังทำให้ผู้ชมรู้สึกทั้งเห็นใจและไม่ไว้ใจตัวละครซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่องอย่าง อเลกซ์ ไปในคราวเดียวกัน
ความไม่ปรกติที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดเช่นนั้น นานๆ จะพบสักครั้ง และเราก็เห็นใจที่มันเกิดขึ้นกับเธอ ขณะเดียวกัน เมื่อเรื่องดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง หนังก็ให้อเลกซ์แสดงความสับสนในจิตใจของเธอผ่านการกระทำบางอย่างที่รุนแรงและ ‘ไม่น่าให้อภัย’ แม้ผลลัพธ์ของการกระทำครั้งนั้นจะไม่เลวร้ายถึงขั้นทำให้ใครต้องล้มหายตายจาก ทว่าส่วนตัวดิฉันเอง หลังจากจุดนั้นแล้ว เกิดความรู้สึกเคลือบแคลงอยู่ลึกๆ ว่า แท้ที่จริงอเลกซ์สมควรได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างที่เคยได้มาตลอดหรือไม่ หรือที่จริง เธอก็เป็นสัตว์ป่าบาดเจ็บที่พร้อมจะโดดขย้ำคอหอยใครก็ตามเพื่อล้างแค้นโลกที่ทำให้เธอต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างที่เห็น
ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของหนังหรือไม่ ความรู้สึกทั้งหมดทั้งมวลข้างต้น ก็ส่งผลให้ดิฉันดูหนังด้วยอาการลุ้นระทึก ดิฉันเดาไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และเรื่องทั้งหมดจะดำเนินไปสู่บทสรุปส่งท้ายเช่นไรแน่
พ้นจากที่กล่าวมา XXY ยังโดดเด่นในเรื่องของการแทรกใส่รายละเอียดจุกจิกชวนให้ผู้ชมได้ขบคิดตีความบริหารสมอง ทั้งที่เป็นแต่เพียง ‘ความซนของคนทำหนัง’ บ้าง หรือบ้างก็เป็นความตั้งใจจะสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์บางอย่าง
เป็นต้นว่า พ่อของอเลกซ์ซึ่งหนังให้ชื่อว่า คราเกน (Kraken: เป็นชื่อของอสูรร้ายใต้ทะเลลึกในตำนาน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสัตว์สายพันธุ์เดียวกับปลาหมึกยักษ์), ปลาการ์ตูน ที่หนังตัดสลับกับภาพของอเลกซ์วิ่งร่าในฉากเปิดเรื่อง ซ้ำยังเป็นปลาชนิดเดียวกับที่พ่อของเธอเลี้ยงไว้ในตู้ (คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของปลาชนิดนี้ก็คือ เมื่อแรกเกิดจนถึงช่วงวัยประมาณหนึ่งมันจะคงสถานะเป็นปลาตัวผู้ จนเมื่อฤกษ์งามยามเหมาะ จังหวะเวลาและสถานการณ์แวดล้อมเหมาะสม ปลาการ์ตูนบางตัวจะกลายร่างเป็นเพศเมียไปเองตามธรรมชาติ)
รวมถึง เต่าทะเล ซึ่งข้อมูลที่ดิฉันอ่านพบระบุว่า มันเป็นสัตว์ที่ไม่มี ‘โครโมโซมเพศ’ หมายความว่า เมื่อแรกที่ตัวเมียออกไข่นั้น ลูกเต่าที่จะฟักตัวจากไข่ใบนั้นยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นตัวเมียก็ได้ หรือตัวผู้ก็ได้ ทั้งนี้ปัจจัยในการกำหนดเพศอยู่ที่อุณหภูมิของสถานที่ที่ตัวเมียวางไข่ (ข้อมูลรกสมองอย่างหนึ่งซึ่งรู้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจหนังดีขึ้นก็คือ ถ้าหลุมวางไข่มีอุณหภูมิต่ำ โอกาสที่ลูกเต่าจะเป็นตัวผู้ก็มีมาก ในทางกลับกัน หากหลุมมีอุณหภูมิสูง ลูกเต่าส่วนใหญ่จะกลายเป็นตัวเมีย)
ดิฉันไม่คิดว่าชื่อ ‘คราเกน’ จะมีความหมายใดเป็นพิเศษนอกเหนือจากแสดงถึง ‘ความซนของคนทำหนัง’ เนื่องจากพ่อของอเลกซ์ในเรื่อง ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็ไม่ได้มีฐานะใกล้เคียงกับ ‘อสูรร้าย’ แต่อย่างใด
แต่กับปลาการ์ตูนและเต่าทะเล ตามความเข้าใจของดิฉัน มันเชื่อมโยงกับสิ่งที่อเลกซ์เป็นและประเด็นหลักของเรื่องทั้งหมด นั่นคือ ‘เพศ’ ไม่อาจชี้วัดได้ด้วยสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับให้ใครเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ทว่าเมื่อถึงวัยและวันที่เหมาะสม ในเวลาที่เหมาะควร ธรรมชาติจะผลักดันให้ความเป็นหญิงหรือความเป็นชาย เผยตัวของมันออกมาเอง
ดูเหมือนว่า ‘ความเป็นชายหรือหญิง’ จะเป็นเรื่องใหญ่ใน XXY ทว่าลงท้าย นั่นก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่หนังเรื่องนี้พูดถึง หากลูเชีย ปูเอนโซ ยังนำเสนอแง่มุมความคิดหลากหลายไว้ในงานกำกับชิ้นแรกชิ้นนี้ของเธอ
ทั้งเรื่องของสถาบันครอบครัว ที่หนังบอกกล่าวผ่านการแสดงภาพเปรียบระหว่างครอบครัวของอเลกซ์กับครอบครัวของเพื่อนแม่ที่มาเยี่ยมเยือนว่า ปัญหาของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนักหนาร้ายแรงแค่ไหน ก็ไม่มีอานุภาพมากพอที่จะทำให้ครอบครัวนั้นๆ ถึงแก่กาลล่มสลาย แต่ความเป็นครอบครัวจะถูกทำลายลงเสียง่ายๆ หากสมาชิกไม่ยอมเปิดใจ และไม่ยอมรับในตัวตนของกันและกัน
ทั้งการบอกว่า การหลับตา ไม่ได้ช่วยสะสางปัญหาใดให้กับชีวิต แต่ปัญหาบางอย่าง –ที่แม้จะคลี่คลายไม่ได้ - ต้องการการเรียนรู้ ยอมรับ และทำความเข้าใจ
ทั้งเรื่องของการค้นหาและเรียนรู้ เพื่อจะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
เหนืออื่นใด แง่มุมความคิดประการหนึ่งซึ่งดิฉันได้รับจาก XXY ไปเต็มๆ ก็คือ ธรรมชาติไม่มีแม่พิมพ์ แต่ละคนมีบางสิ่งซึ่งทำให้แตกต่างจากอีกคนเสมอ
ดิฉันเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า โลกหมุนเคลื่อนไปได้ไม่รู้จบ ก็ด้วยความ ‘แตกต่าง’ และ ‘หลากหลาย’
แต่ที่หลายครั้ง ความแตกต่างทำให้เราอยู่ร่วมกันไม่ได้ – นั่นไม่ใช่เพราะโลกแคบเกินไป
มันเพราะหัวใจคนต่างหาก ที่ไม่กว้างพอ