xs
xsm
sm
md
lg

คนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนนอก

โดย นพวรรณ สิริเวชกุล ; nopawan@manager.co.th


คลิกที่ไอคอนด้านบนเพื่อ ชม และ ฟัง ในรูปแบบ MULTIMEDIA

..... ผมเชื่อว่า ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งอื่นใดที่มีความหมาย เหนือกว่าความยุติธรรม แต่ผมก็รู้ด้วยว่า มีบางสิ่งในความยุติธรรมนั้นที่มีความหมาย.....สิ่งนั้นคือ คน เพราะคนคือสิ่งมีชีวิตสิ่งเดียวที่เรียกร้องต้องการให้มีความยุติธรรม......อัลแบรต์ กามูส์

จู่ๆ ดิฉันก็นึกถึงบทประพันธ์เรื่องมนุษย์สองหน้าและคนนอกของอัลแบรต์ กามูส์ (Albert Carmus) ขึ้นมาค่ะ เลยหยิบบทประพันธ์ของนักเขียนนามกระเดื่องผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1957 คนนี้ ขึ้นมาอ่านอีกรอบ ทั้งมนุษย์สองหน้าและคนนอก เคยเป็นวรรณกรรมที่นักแสวงหายุคหนึ่งชื่นชอบ และทำให้เกิดคำถามในใจว่า เหตุใดวรรณกรรมบางเรื่องของนักประพันธ์บางคน แม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงไร แต่เนื้อหาในนั้นไม่เคยหมดสมัย... หรืออาจเป็นเพราะยุคสมัยไม่อาจทำให้คนเราเปลี่ยนวิธีคิดไปได้...

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม ( Existentialism) คงไม่มีใคร ไม่รู้จักกามูส์ เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิเสธความเป็นนักปรัชญาของตัว รวมทั้งปฏิเสธวิธีคิดที่ถูกจัดให้อยู่ในกรอบของอัตถิภาวนิยม นี้ด้วย กามูส์ถือว่าตัวเองไม่มีระบบความคิดอะไรที่เป็นล่ำเป็นสัน มีแต่เพียงท่าทีของความคิดที่ไม่พอใจกับความคิดแบบเก่าๆ เท่านั้น มีความรู้สึกนึกคิดอะไรก็ระบายออกตามโอกาส ไม่พอใจอะไรก็กล่าวออกมาตรงๆ ชอบใจอะไรก็สนับสนุน และเขาก็ไม่เคยมุ่งหวังที่จะให้ใครมาขอเป็นลูกศิษย์หรือสาวกของเขา แต่กระนั้นก็ตาม นักวิชาการรวมทั้งนักวิจารณ์ในยุคนั้น ต่างก็บอกว่า ด้วยท่าทีและวิธีคิดอย่างกามูส์นี่หล่ะ คือปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยมชัดเจนเลยทีเดียว

กามูส์ไม่เคยเขียนตำราหรือคู่มือปรัชญาโดยตรง แต่เขาได้เสนอสิ่งเหล่านี้แทรกไปในงานวรรณกรรมต่างของของเขา ไม่ว่าจะเป็นความเรียง บทความ นิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละคร และแม้เขาจะเป็นคนที่ไม่ชอบการใช้เหตุผลเพราะถือว่าไม่ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริง แต่ตัวเขาเองกลับเสนอความคิดเห็นตามระเบียบของเหตุผล มีการเรียงลำดับเรื่องและพิสูจน์ตามหลักตรรกวิทยาเป็นอย่างดี และขณะที่เขาพิสูจน์จุดยืนของตัว เขาก็มักจะแสดงความเห็นใจต่อฝ่ายตรงข้ามด้วย จนบางครั้งกามูส์ทำให้ใครหลายคนสงสัยในจุดยืนของตัวเขาเอง...

อัลแบรต์ กามูส์เกิดในปี 1913 จากครอบครัวชาวฝรั่งเศสที่อพยพไปอยู่ในแอลจีเรียซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อเขาลืมตาดูโลกมาได้เพียงหนึ่งปี ก็ต้องสูญเสียบิดาของตัวเองไปในสนามรบช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 กามูส์บันทึกไว้ว่าพ่อของเขาถูกสะเก็ดระเบิดฝังในสมอง สิ้นสติอยู่หนึ่งสัปดาห์ก่อนจะหมดลมหายใจ...

หลังจากนั้นแม่ผู้หูหนวกและไม่รู้หนังสือของเขากลายเป็นผู้เลี้ยงดูครอบครัวอันประกอบด้วยลูกน้อยสองคน ยายและลุงซึ่งพิการอีกด้วย แม่ของกามูส์ตัดสินใจอพยพครอบครัวเข้ามาทำงานในเมืองหลวง เช่าห้องเล็กๆอยู่ในสลัมของนครหลวงแอลจีเรีย

กระนั้นกามูส์ก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแห่งเมืองแอลจีเรียในคณะอักษรศาสตร์ หลังจบการศึกษาก็ได้ทำงานในสภาวัฒนธรรมแห่งเมือง และยังก่อตั้งคณะละครกรรมาชีพขึ้นเพื่อเผยแพร่อุดมคติของตัวเอง เพราะเขารั้งตำแหน่งผู้อำนวยการ เขียนบทละครและแสดงเอง

หลังจบปริญญาตรีและทำงานสักระยะหนึ่งแล้ว กามูส์ยังคงศึกษาในระดับต่อไปและในปี 1936 ได้เสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก แต่ไม่ได้รับการพิจารณา จึงออกเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสและอิตาลี

หลังจากที่กามูส์เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์และหันหลังให้กับระบบคอมมิวนิสต์ในปี 1937 เขาก็ตั้งคณะละครสามัคคี ขึ้นมาเพื่อทำงานงานละครของตัวเองต่อ พร้อมๆ กับทำงานหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กามูส์เกิดความรำคาญใจที่ชาวฝรั่งเศส พยายามจะแบ่งออกเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายโดยไม่จำเป็น และข้อสำคัญสิ่งนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีต่อใครเลย เขาเคยเขียนไว้ว่า...”ข้าพเจ้าแทบจะหมดปัญญาแก้ไขความสับสนที่นักเขียนหัวก้าวหน้าแยกไว้ว่าพวกฝ่ายขวาใช้โวหารงดงาม ส่วนพวกฝ่ายซ้ายจำเป็นต้องใช้สำนวนตลาดเพื่อแสดงการปฏิวัติ... “ กามูส์ไม่ต้องการให้ชาวฝรั่งเศสแบ่งกันเป็นซ้ายหรือขวา แต่เขาต้องการให้ทุกคนช่วยกันสร้างสังคมใหม่ที่ให้เสรีภาพและความยุติธรรมอย่างแท้จริง...

กามูส์เคยกล่าวไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนหน้านี้ว่า จิตใจของคนเรากำลังป่วยโดยไม่รู้ว่าตัวเองป่วย จึงไม่คิดหาสาเหตุและทางแก้...และชีวิติมีคุณค่าและความหมายตามแต่ใครจะให้กับตัวเอง คุณค่าชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ในโลกหน้า แต่อยู่ในโลกนี้ ขณะนี้...แต่ละคนต้องรับสภาพและสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองตามสภาพของตน....

นวนิยายเรื่องแรกและเป็นนวนิยายที่นักอ่านชาวไทยรุ่นหนึ่งให้ความสนใจมาก ก็คือเรื่องคนนอก L’Etranger ; The Stranger เขาแต่งมันขึ้นในปี 1940 ขณะที่ทำงานอยู่ที่กรุงปารีส ในตำแหน่งเลขานุการประจำหนังสือพิมพ์ Paris – Soir ในวรรณกรรมเรื่องนี้ กามูส์ได้แสดงให้เห็นความสับสนในจิตใจของคนที่ค้นหาความหมายและคุณค่าของชีวิตที่มีปัญหา

ดังตัวเอกในเรื่องที่ชื่อ เมอร์โซลต์ ซึ่งเป็นเสมือน คนนอก เป็นคนแปลกหน้าในสังคมที่ยึดมั่นในหลักการ เขายึดถือไม่ได้เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า จะหาคุณค่าใหม่ก็หาไม่พบ จึงปล่อยตัวเองเป็นคนนอกเรื่อยไป กว่าจะพบหลักยึดเหนี่ยวได้ก็เหลือเวลาปฏิบัติได้น้อยเหลือเกิน...

วรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งของกามูส์ที่เป็นที่รู้จักของใครหลายคนในชื่อภาษาไทยว่า
‘มนุษย์สองหน้า’ La Chute หรือ The Fall ที่เนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องของคนคนหนึ่งไปตลอดทั้งเรื่อง โดยรวมแล้ว เขาได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์เราไม่ได้มีคุณค่าจริงตามที่ยกย่องสรรเสริญกัน คุณค่าต่าง ๆ ที่ยกย่องกันอยู่ล้วนแต่ไร้ความหมายทั้งสิ้น

กามูส์เขียนเรื่องนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านช่วยกันคิดหาคุณค่าใหม่ที่เหมาะสมกับมนุษย์ คุณค่านั้นไม่ควรจะสูงส่งจนทำให้คนเราลืมตัว และไม่ควรจะต่ำเสียจนเราลืมศักดิ์ศรีของตัวเอง....

การจากไปของอัลแบรต์ กามูส์เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน หลังจากที่เขารับประทานอาหารกลางวันได้ไม่นานนัก พาหนะที่เขาโดยสารมาก็เสียหลักพุ่งเข้าชนต้นไม้ข้างทางจนยับเยินส่งผลให้กามูส์หมดลมหายใจในฉับพลัน นาฬิกาในรถคันนั้นระบุเวลาไว้ที่ 13.54 น.ของวันที่
4 มกราคม 1960 ข้างกายของเขามีกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวที่บรรจุ หนังสือเดินทาง ภาพถ่าย บันทึกประจำวันและหนังสืออีกสองเล่ม และต้นฉบับนวนิยายที่เขียนด้วยลายมือของเขากว่า 140 หน้ากระดาษ อีกชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือ มนุษย์คนแรก Le Premier Homme

แม้วันนี้ เวลาจะล่วงมาหลายสิบปี แต่ความคิดที่กลั่นกรองผ่านงานเขียนของอัลแบรต์ กามูส์ก็ยังเฉียบคมและนำมาใช้เตือนสติดิฉันได้ในหลายสภาวการณ์ทีเดียวค่ะ.

พบกับรายการ ต่างสมัย รอยไทย โดย นพวรรณ สิริเวชกุล
ได้ทุกวัน เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 07.00 - 08.00 น.
ทางคลื่นยามเฝ้าแผ่นดิน FM 97.75 MHz
หรือรับฟังรายการย้อนหลังได้ทาง
www.managerradio.com 
กำลังโหลดความคิดเห็น