การลวนลามประเภท ‘จับต้องลูบคลำ’ ในสถานที่สาธารณะ (Groping) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วน -ซึ่งแน่นขนัดจนแทบไม่มีที่ว่างให้อากาศซุกตัวแทรกผ่าน– ดูจะเป็นสถานที่ที่ผู้ชายมือไวทั้งหลายเห็นว่าเหมาะสมแก่การสำรวจภายใต้ร่มผ้าของสุภาพสตรี โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตอย่างยิ่ง
ในปี 2001 มีการสำรวจสถิตินักเรียนหญิงที่เคยถูกลวนลามขณะโดยสารรถไฟ โดยใช้เด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยม 2 แห่งในโตเกียวเป็นกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ตัวเลขนั้นสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ยังมีสถิติบ่งชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีมีผู้ชายญี่ปุ่นถูกจับในข้อหาดังกล่าวราว 1,000 คนด้วยกัน
แน่นอนว่า ในคดีทำนองนี้ ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงแบบบาง ย่อมได้รับความเห็นใจอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงอีกด้านที่ได้รับการเปิดเผยอย่างต่อเนื่องในระยะหลังก็คือ ในกรณีเช่นนี้ บางที ‘เหยื่อ’ ก็ไม่ได้มีแค่หญิงสาวผู้เป็นเจ้าทุกข์แต่เพียงผู้เดียว
ทว่าผู้ชายที่ถูกกล่าวหานั้น อาจกำลังตกเป็นเหยื่อเหมือนกันก็เป็นได้
ตัวอย่างที่กลายเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปลายปี 2000 ก็คือ ฮิเดกิ คาโต มนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ วัย 30 เศษ ถูกกล่าวหาว่าลวนลามเด็กนักเรียนหญิงวัย 13 ปี บนรถไฟสายหนึ่งซึ่งเขาโดยสารกลับบ้านเป็นประจำ
ตามปรกติ ผู้ชายที่ถูกจับ ร้อยทั้งร้อยจะยอมรับสารภาพและจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 50,000 เยน เพื่อให้เรื่องจบลงโดยไวและไม่ต้องนอนคุก เพราะตระหนักดีว่า เรื่องแบบนี้ เพียงคำกล่าวหาก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สังคมรุมพิพากษาว่าเขาเป็น ‘ไอ้โรคจิต’ ไม่ว่าจะมีความผิดจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ฮิเดกิ คาโต กลับทำในสิ่งที่แตกต่าง เขาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับ ยืนกรานหนักแน่นว่าไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา และพร้อมที่จะต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอย่างถึงที่สุด
คาโตกลายเป็นผู้ชายคนแรกที่กล้าเปิดเผยชื่อและหน้า และกล้าสู้เพื่อร้องหาความยุติธรรมให้แก่ตนเองในคดีเช่นนี้ ทว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมก็มีราคาค่างวดที่สูงลิบ คาโตต้องติดคุกอยู่นานหลายเดือน สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงานที่ทำอยู่ เสียเงินเป็นค่าจ้างทนายไปมากมาย เสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล เสียกำลังใจเมื่อต้องพบกับความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า
อย่างไรก็ตาม ความกล้าของคาโตก็ก่อให้เกิดอานิสงส์ประการหนึ่ง นั่นก็คือ มันทำให้ผู้ชายที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันทั้งที่ไม่มีความผิด เริ่มจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองบ้าง อีกทั้งยังมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และช่วยเหลือกันและกันอย่างเป็นกิจลักษณะ – แทนที่จะเอาแต่ก้มหน้าก้มตารับกรรมเหมือนที่ผ่านๆ มา
เรื่องราวของจำเลยสังคมเหล่านี้ เผยให้เห็น ‘ความไม่ยุติธรรม’ ของกระบวนการยุติธรรมในญี่ปุ่น ตั้งแต่ตำรวจที่ทั้งขู่ทั้งปลอบให้พวกเขายอมสารภาพเพื่อให้เรื่องยุติลงโดยไว การสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างเลือกปฏิบัติ รวมถึงผู้พิพากษาที่คล้ายกับจะตัดสินให้จำเลยมีความผิด ก่อนจะขึ้นนั่งบัลลังก์เสียอีก
แน่นอนว่า เรื่องของ ‘แพะ’ ทำนองนี้ กระตุ้นความรู้สึกบางอย่างแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟังได้เสมอ
และเรื่องหนึ่งในจำนวนหลายต่อหลายเรื่องนั้น ก็ถึงกับกระตุ้นเร้าให้ มาซายูกิ สุโอะ ผู้กำกับ Shall We Dance? ต้องลุกขึ้นมาทำหนัง หลังจากเว้นวรรคไปนานถึง 11 ปี
I Just Didn’t Do It เป็นผลงานกำกับล่าสุดของสุโอะซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น
หนังเล่าเรื่องของ คาเนโกะ เทปเป ชายหนุ่มวัย 20 เศษซึ่งถูกจับด้วยข้อหาลวนลามเด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งบนรถไฟซึ่งแน่นขนัด
เทปเปปฏิเสธ พยายามหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ของตน แต่ก็ไม่เป็นผล ไม่ใช่เพราะหลักฐานไม่หนักแน่น แต่เพราะไม่มีใครยอมฟัง เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดโอกาสให้เขารับสารภาพอีกหลายครั้ง แต่ชายหนุ่มยังคงยืนกรานว่าตัวเองไม่ได้ทำ
เรื่องราวจึงบานปลาย เทปเปต้องนอนคุกอยู่หลายเดือน แม่กับเพื่อนต้องวิ่งวุ่นหาทนายให้ พร้อมกันนั้นก็ขอความช่วยเหลือจากชายวัยกลางคนผู้หนึ่งซึ่งเคยถูกกล่าวหาทั้งที่ไม่มีความผิดแบบเดียวกันด้วยอีกทาง
จนในที่สุดเรื่องก็ถึงศาล เทปเปถูกสั่งฟ้อง มีการไต่สวนสืบพยานหลายต่อหลายครั้ง สร้างความยุ่งยากใจให้แก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม เทปเปยังคงเชื่อมั่นว่าตนจะรอดพ้นจากวิกฤติชีวิตในครั้งนี้ไปได้ คาถาบทเดียวที่เขาใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและปลอบประโลมใจ ก็คือ “เราไม่ได้ทำอะไรผิด”
และในความคิดของเขา ระบบยุติธรรมย่อมต้องให้ความยุติธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์เสมอ
ตัวมาซายูกิ สุโอะ เอง ยอมรับว่า I Just Didn’t Do It ไม่ใช่หนังประเภทที่ปรกติแล้วเขาคิดอยากจะทำ และไม่ว่าจะมองมุมไหนมันก็ไม่เหมือนหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา เพราะขณะที่งานดังอย่าง Sumo Do, Sumo Don’t และ Shall We Dance? เป็นดรามา-คอมเมดี้ที่ให้ความรู้สึกรื่นรมย์ ดูแล้วเกิดพลังใจในการดำเนินชีวิต I Just Didn’t Do It กลับเป็นหนังคนละสายพันธุ์อย่างสิ้นเชิง มันหนักหน่วง จริงจัง ไม่มีอารมณ์ขันเป็นเครื่องปรุงรส และที่สำคัญ เป็นหนังที่ให้อารมณ์หม่นหมอง หดหู่ ทำลายความหวังของผู้ชมลงอย่างราบคาบ
หนังจัดอยู่ในประเภท ‘คอร์ตรูม-ดรามา’ เนื้อหาสำคัญอยู่ที่การต่อสู้ห้ำหั่นระหว่างฝ่ายโจทก์กับจำเลยในชั้นศาลเสียเป็นส่วนใหญ่ หนังพูดกันเยอะ อีกทั้งยังมีความยาวเกินหนังปรกติทั่วไปไม่น้อย (ประมาณ 145 นาที) แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นหนังที่ดูสนุก เข้มข้น เร้าใจ ชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
เหนืออื่นใดก็คือ แม้เนื้อหาจะมีลักษณะเฉพาะของ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายก็ตาม หรือคดีลวนลามในที่สาธารณะ –ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องทั้งหมด- ก็ตาม ทว่าหนังก็นำเสนอสาระซึ่ง ‘เป็นสากล’ ยิ่ง และผู้ชมไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ก็น่าจะมีความรู้สึกร่วมกับมันได้ไม่ยากนัก
ตัวละครอย่างคาเนโกะ เทปเป จะว่าไปก็ไม่ได้ต่างจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะไทยหรือญี่ปุ่น กล่าวคือ แทบไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย ไม่รู้ว่าสิทธิพื้นฐานของตนในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศมีสิ่งใดบ้างแต่แล้วจู่ๆ กลับต้องต้องถูกยัดเยียดบทบาท ‘ศัตรู’ ของกฎหมายขึ้นมาเสียอย่างนั้น
มีตัวละครอีกตัวซึ่งตกที่นั่งเดียวกับเทปเป นั่นก็คือ ชายวัยกลางคนที่กลายมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการของเขา ชายผู้นี้ถูกกล่าวหาแบบเดียวกัน เลือกที่จะปฏิเสธอย่างเชื่อมั่นในความผิดที่ตนไม่ได้ก่อเหมือนๆ กัน อีกทั้งยังเคยเป็นผู้ด้อยภูมิปัญญาด้านกฎหมายเช่นเดียวกันด้วย แต่ปัจจุบัน หลังจากต้องขึ้นโรงขึ้นศาลนานนับปี ความรู้เรื่องกฎหมายของเขาก็พลันงอกงาม เขารู้ว่าควรต้องสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนอย่างไร รู้ว่าควรทำอย่างไรให้ผู้พิพากษาเห็นว่าคดีมีความสำคัญจะได้ไม่ปล่อยให้มันยืดเยื้อ
ตามความเข้าใจของดิฉัน ชายผู้นี้น่าจะเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเทปเปในอนาคต หมายความว่า วันหนึ่งเทปเปจะไม่เป็นผู้ไร้เดียงสาทางกฎหมายอีกต่อไป แต่การถูกผู้รักษากฎหมายเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรม จะทำให้เขามุ่งมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องดังกล่าว เพื่อจะได้ใช้มันในการป้องกันและช่วยเหลือตนเองได้
แน่นอนค่ะว่า กฎหมายนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ว่าใครก็ควรจะต้องรู้เอาไว้บ้าง อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้กฎหมายก็ควรจะเกิดขึ้นเมื่อคนเห็นว่ามันเป็นหน้าที่ที่ตนในฐานะประชากรคนหนึ่งของประเทศจำต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เพราะถูกผู้ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายโดยตรงหักหลัง ปฏิบัติงานอย่างโหลยโท่ย จนเราต้องลุกขึ้นมาศึกษากฎหมายไว้เป็นภูมิคุ้มกันภัยให้ตัวเองอย่างที่เห็น
ถ้าถามดิฉัน - วายร้ายตัวฉกาจของหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แต่คือทัศนคติของผู้มีอำนาจในการพิทักษ์รักษากฎหมาย ตั้งแต่ตำรวจ ทนาย ยันผู้พิพากษา
คนเหล่านี้ไม่ได้เลว แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพวกเขาพลาดอย่างร้ายกาจจนไม่สมควรให้อภัย ก็คือ การด่วนตัดสินไปล่วงหน้าว่าจำเลยมีความผิดจริง และมุ่งที่จะทำทุกทางเพื่อยืนยันความผิดนั้น โดยปิดหู ปิดตา ไม่ยอมรับฟังหลักฐานอีกด้านหนึ่ง ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการปิดประตูใส่หน้าจำเลย ไม่ให้พวกเขาได้มีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองด้วยโดยปริยาย
คำกล่าวที่ว่า “ศาลมีหน้าที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์” กับ “ศาลมีหน้าที่ลงโทษผู้กระทำผิด” นั้น ฟังเผินๆ ก็คล้ายๆ กันและเหมือนจะยุติธรรมดีทั้งคู่ แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้ จะพบว่ามันบ่งบอกทัศนคติของผู้พูดเอาไว้เหมือนกัน นั่นก็คือ พวกเขาสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีหลักฐานตรงข้ามมาหักล้าง หรือเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริง และศาลก็มีหน้าที่เพียงหาบทลงโทษที่เหมาะสมกับความผิดนั้นๆ แต่เพียงเท่านั้น
มาซายูกิ สุโอะ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนที่อ่านเจอข่าวซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่องนี้ (ในบทสัมภาษณ์ไม่ได้ระบุชื่อชายผู้ถูกกล่าวหาเอาไว้ แต่เทียบกับช่วงเวลาที่สุโอะบอกว่าเขาอ่านข่าวนี้เมื่อ 4 ปีก่อนแล้ว ดิฉันอนุมานว่าน่าจะเป็นข่าวของ ฮิเดกิ คาโต ซึ่งได้เล่าไว้ข้างต้น) เขารู้สึกโกรธจนรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง และ I Just Didn’t Do It ก็คือผลลัพธ์ของอารมณ์พลุ่งพล่านในวันนั้น
ดิฉันไม่แน่ใจว่าหนังประสบความสำเร็จด้านรายได้มากน้อยเพียงใดในประเทศญี่ปุ่น แต่ที่แน่ๆ สิ่งหนึ่งที่สุโอะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ก็คือ การส่งผ่านความรู้สึกเกรี้ยวกราดโกรธขึ้งต่อผู้ชม
I Just Didn’t Do It เป็นหนังที่ดูจบแล้วดิฉันรู้สึกโกรธโลกและใครบางคนอย่างรุนแรง