xs
xsm
sm
md
lg

When the Wind Blows : ยามเมื่อสายลมพัด

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


เรื่องโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล

จอห์น โคตส์ ผู้อำนวยการสร้างชาวอังกฤษ เล่าว่า ตอนที่อ่าน When the Wind Blows ครั้งแรก เขากำลังรู้สึกไม่สบาย และอยากจะได้หนังสือเบาๆ สักเล่มมาผ่อนคลายสมอง

โคตส์เลือก When the Wind Blow ซึ่ง เรย์มอนด์ บริกส์ ผู้เขียนและวาดภาพประกอบ มอบให้เขาเองกับมือมาอ่าน เพราะตระหนักในสรรพคุณของบริกส์ดีว่า ขึ้นชื่อลือชายิ่งนักในการเขียนเรื่องบันเทิงสำหรับเด็ก อีกทั้งภาพประกอบของบริกส์ก็ยังสดใส ดูแล้วสบายตา เหมาะมากสำหรับวันอันขุ่นมัวอย่างนั้น

แต่แล้วหนังสือของบริกส์เล่มนี้กลับไม่ให้ผลอย่างที่หวัง ทันทีที่อ่านถึงหน้าสุดท้าย โคตส์พบว่าน้ำตาของตัวเองกำลังไหลเป็นทาง เนื้อหาของหนังสือทำให้เขาเศร้าหนักอย่างคาดไม่ถึง และอาการหัวใจสลายก็ยังหลงค้างในความรู้สึกจนวันรุ่งขึ้น นั่นเองทำให้โคตส์ตัดสินใจโทรหาบริกส์เพื่อถามว่า ลิขสิทธิ์หนังสือยังว่างอยู่ไหม เขาอยากนำมันมาทำหนังแอนิเมชันขึ้นจอใหญ่ให้ใครๆ ได้สัมผัสความรู้สึกอย่างเดียวกันเสียเหลือเกิน

การนำหนังสือของบริกส์มาดัดแปลงเป็นหนังแอนิเมชันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับจอห์น โคตส์

ไม่นานก่อนหน้านั้น โคตส์เป็นผู้อำนวยการสร้างให้กับหนังแอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง The Snowman ซึ่งดัดแปลงจากนิยายภาพขายดีชื่อเดียวกัน ของนักเขียน-นักวาดภาพประกอบคนเดียวกันนี้ และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ได้รับรางวัล BAFTA สาขารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กยอดเยี่ยมในปี 1983 (The Snowman แพร่ภาพครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ แชนเนล 4 ในช่วงคริสต์มาส ปี 1982) อีกทั้งยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาแอนิเมชันขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปีเดียวกันนั้นด้วย (พ่ายให้กับ Tango ของผู้กำกับโปแลนด์ชื่อ ซบิกนิว ริบซินสกี)

When the Wind Blows ฉบับแอนิเมชัน ภายใต้การดูแลการผลิตของจอห์น โคตส์ และการกำกับของ จิมมี มุราคามิ มีความยาวราว 80 นาที ออกฉายที่อังกฤษในเดือนตุลาคม 1986 หนังยังคงได้รับเสียงวิจารณ์ในทางบวก เพียงแต่โดยรวมแล้วก็ยังไม่บวกเท่ากับที่ The Snowman เคยได้รับ


คะแนนที่หดหายไป เป็นได้ว่าเกิดจากความรู้สึกที่ผู้ชมได้รับหลังดูจบ เรื่องดีนั้นดีแน่ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นหนังที่สร้างความหดหู่สะเทือนใจสุดจะบรรยาย และการที่จอห์น โคตส์ บอกว่า หนังสือเคยทำให้เขาถึงกับร้องไห้ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินเลยความจริงเท่าใดนัก

รูปลักษณ์หน้าตาตัวละครใน When the Wind Blows ดูเผินๆ ก็ไม่ได้ต่างจาก The Snowman แต่เนื้อหานั้นกลับเป็นคนละขั้ว กล่าวคือ ขณะที่ The Snowman เป็นแฟนตาซีเพลิดเพลินแฝงความซาบซึ้งปนเศร้านิดๆ When the Wind Blows กลับมืดหม่น ไร้ความหวัง อีกทั้งสาระสำคัญก็เป็นการพูดถึงสาระหนักหน่วงอย่างผลกระทบจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลซึ่งมีประชาชนตาดำๆ เป็นผู้รับเคราะห์ รวมไปถึงผลพวงอันเหี้ยมโหดเลวร้ายของสงครามนิวเคลียร์โน่นเลย

ขอคั่นเวลาสักหน่อยด้วยการชี้แจงไว้ก่อนว่า ดิฉันคิดว่า When the Wind Blows ไม่ใช่หนังที่เดาเรื่องยาก ทั้งยังไม่ได้มีการพลิกผันหักมุมเหนือความคาดหมายจนถึงขั้น ‘รู้ตอนจบไม่ได้’ อย่างไรก็ตาม หากคุณถือสาและไม่ต้องการทราบเรื่องราวของหนังมากเกินไป นับจากบรรทัดนี้ ดิฉันขอแนะนำให้อ่านด้วยความระมัดระวัง

หนังใช้ประเทศอังกฤษยุค 70 เป็นฉากหลังของเรื่อง โดยสร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมาว่า ขณะนั้นสงครามโลกครั้งที่ 3 กำลังจะอุบัติขึ้น อังกฤษกับอเมริกายังคงจับมือปรองดองกันเหมือนเดิม แต่หัวหอกของฝ่ายตรงข้าม เปลี่ยนจากเยอรมันในครั้งที่แล้ว กลายมาเป็นรัสเซีย

ศูนย์กลางของหนังอยู่ที่ เจมส์ กับ ฮิลดา บล็อก คู่สามี-ภรรยาซึ่งย้ายจากลอนดอนมาใช้ชีวิตหลังเกษียณในชนบทห่างไกลผู้คน หนังเล่าว่าทั้งคู่ไม่ได้มีความรู้ติดตัวมากนัก แต่ขณะที่ตัวสามีขยันหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ป้อนตัวเองสม่ำเสมอ แม้จะไม่เข้าใจมันถ่องแท้ ฝ่ายภรรยากลับไม่ใยดีในเรื่องนี้ สำหรับเธอแล้ว การเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไร้สาระ เพลินสู้การทำอาหารและการทำความสะอาดบ้านไม่ได้สักนิด

เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง เจมส์กลับถึงบ้านแล้วแจ้งข่าวฮิลดาว่า สงครามกำลังจะเกิดขึ้นอยู่รอมร่อ และคราวนี้ท่าจะร้ายแรงกว่าเก่า เพราะทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ใช้ระเบิดนิวเคลียร์เป็นอาวุธหลัก เจมส์รู้สึกตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว แต่เมื่อนึกได้ว่าตนหยิบ ‘คู่มือเอาตัวรอดจากระเบิดนิวเคลียร์’ ซึ่งรัฐพิมพ์แจกจ่ายให้ประชาชนติดมือมาด้วย เขาก็ใจชื้นขึ้น และลงมือทำตามคำแนะนำทุกอย่างที่คู่มือบอกไว้โดยไม่รอช้า

สิ่งที่คู่มือบอกให้ทำก็เช่น สร้างที่หลบภัยโดยเอาประตูมาพิงกับผนังในมุม 60 องศา ทาสีบ้านให้เป็นสีขาว เตรียมรายการของกินของใช้ยาวเหยียด (ถุงกระดาษใบโต เนยถั่ว ใบเกิดและประวัติทางการแพทย์ เกมแก้เซ็ง หนังสืออ่านเล่น ฯลฯ) ทั้งหมดนั้นคู่มือบอกว่าจะช่วยให้รอดตายจากระเบิดนิวเคลียร์

อาจฟังดูน่าขัน แต่ทั้งหมดนั้นหนังยกมาจากเนื้อหาในใบปลิวชุด Protect and Survive ซึ่งรัฐบาลอังกฤษจัดพิมพ์ขึ้นจริงในช่วงปลายยุค 70 ถึงต้นยุค 80 ทั้งนี้เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ประชาชนพร้อมรับสงครามนิวเคลียร์ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะปะทุขึ้นในช่วงเวลานั้น

เหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นกินความราวครึ่งเรื่อง หนังเล่าเรื่องในส่วนนี้ด้วยน้ำเสียงเริงรื่น ราวกับเจมส์และฮิลดากำลังเพลินกับของเล่นใหม่ มีอารมณ์ขันอันเกิดจากความประสีประสาของทั้งคู่ สีสันของภาพในครึ่งแรกนี้ช่างสดใส สบายตา

แต่แล้วภาพในครึ่งเรื่องหลังกลับพลิกผันเป็นตรงข้าม อังกฤษถูกระเบิดนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงข้ามถล่ม แรงระเบิดพังทุกอย่างจนพินาศย่อยยับ บ้านแสนสุขของเจมส์กับฮิลดาหลงเหลือเพียงซากปรักหักพัง ทั้งคู่รอดมาได้และกล่าวขอบอกขอบใจสิ่งที่คู่มือแนะนำ โดยไม่เฉลียวใจเลยสักนิดว่า ณ เวลานั้นลมได้พัดพากัมมันตภาพรังสีให้ห่อหุ้มปกคลุมทั่วทุกอณูในบริเวณนั้นไปแล้ว

และโทษภัยของมันก็กำลังกัดเซาะชีวิตให้หดสั้นทีละน้อย โดยทั้งคู่ไม่ทันได้รู้ตัว

ทันทีที่ดู When the Wind Blows จบ ดิฉันพาลนึกถึงหนังแอนิเมชันอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ Grave of the Fireflies หรือ ‘สุสานหิ่งห้อย’ ของ สตูดิโอ จิบลิ

ทั้งสองเรื่อง นอกจากจะสะท้อนให้เห็นชะตากรรมของคนซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่แต่กลับต้องมารับผลกรรมจากสงครามเข้าไปเต็มๆ แล้ว ยังมีจุดร่วมสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ การใช้ความซื่อใสบริสุทธิ์ของตัวละครเป็นอาวุธหลักในการกรีดหัวใจผู้ชม

ใน ‘สุสานหิ่งห้อย’ นั้นชัดเจนว่าตัวละครเป็นเด็กซึ่งมีความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ส่วนใน When the Wind Blows หนังสร้างความบริสุทธิ์ให้คุณตา-คุณยายบร็อกด้วยการให้ผู้ชมเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า ทั้งคู่เป็นผู้ไม่ประสีประสาอะไร ซ้ำความรู้ก็ยังต่ำต้อย เป็นแต่เพียงตาสีตาสาที่เชื่อผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองอย่างไร้ข้อกังขา รัฐบอกสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมถูกเสมอ และหากรัฐบอกว่าการหลบซ่อนตัวอยู่ในซอกหลืบเล็กๆ ระหว่างผนังกับแผ่นไม้จะทำให้รอดตาย พวกเขาก็เชื่อว่ามันจะต้องเป็นเช่นนั้น โดยไม่เผื่อใจให้กับความสงสัยเลยสักนิด

ที่มันสะเทือนใจสาหัสก็คือ ทั้งคู่ยังคงเชื่อเช่นนั้นแม้ในคืนวันสุดท้ายของชีวิต

สาระสำคัญอีกประการหนึ่งของ When the Wind Blows -ที่ไปๆ มาๆ ทำท่าจะเด่นชัดกว่าการสะท้อนให้เห็นว่าสงครามเลวร้ายอย่างไร- ก็คือ การบอกว่า คำพูดทุกคำ การตัดสินใจทุกครั้ง ของผู้เป็นใหญ่ในภาครัฐ จะส่งผลกระทบทางใดทางหนึ่งต่อประชาชนในประเทศอยู่เสมอ

ชื่อ When the Wind Blows นั้นมีที่มาจาก 2 ทาง หนึ่งคือการดัดแปลงจากข้อความตอนหนึ่งในแผ่นพับ Protect and Survive ซึ่งบอกไว้ว่า “ฝุ่นกัมมันตภาพรังสี -ซึ่งจะแพร่กระจายไปทุกที่ ตามแต่ลมจะพัดพาไป- เป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตในระดับที่กว้างขวางที่สุด”

ส่วนอีกทางหนึ่งเป็นการหยิบยกมาจากเพลงกล่อมเด็กเพลงหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในอังกฤษ ในหนังสือฉบับภาษาไทยซึ่งใช้ชื่อ ‘ยามเมื่อสายลมพัด’ คุณอู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ผู้แปล ได้ถอดความไว้ว่า “กล่อมเจ้าบนยอดไม้ ยามเมื่อสายลมพัด อู่เจ้าก็พลอยกวัด แกว่งตามสายลมไกว ยามเมื่อกิ่งไม้หัก อู่ก็จักพรากไป ทั้งอู่ทั้งสายใจ ล้วนร่วงหล่นลงดิน”

พร้อมกันนั้น ผู้แปลยังตีความการเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาของเพลงกับเนื้อเรื่องในหนังสือไว้ด้วยว่า เป็นการเปรียบเปรยว่าประชาชนนั้นอยู่ในสภาพไม่ต่างอะไรจากเด็กที่ถูกรัฐบาลเห่กล่อมบนยอดไม้ “แขวนชีวิตไว้กับการตัดสินใจของรัฐบาล ชะตากรรมของชาวบ้านอย่างเราๆ จึงไม่พ้นจะแกว่งไกลไปมาตามแต่กระแสลมจะพัดไปทิศทางใด” และเมื่อใดที่รัฐบาลตัดสินใจผิดพลาด คนที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด ก็คือประชาชนนั่นเอง

ฉากหนึ่งของหนังซึ่งปรากฏขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็คือ ในช่วงต้นเรื่อง ระหว่างที่สามีกำลังง่วนกับการสร้างที่หลบภัยอย่างวุ่นวาย ฮิลดา ออกมายืนริมสวน เด็ดดอกไม้ขึ้นดอกหนึ่ง แล้วบรรจงเป่าลมฟู่ ส่งผลให้เกสรของมันปลิวกระจายไปทั่วทั้งบริเวณ

หญิงชราเห็นดังนั้นก็ส่งยิ้มให้กับเกสรดอกไม้ที่กำลังลอยละล่อง แล้วภาพจินตนาการของเธอก็ปรากฏขึ้นอย่างบรรเจิด เธอเห็นตัวเองกลายร่างเป็นนางฟ้า บินอย่างเริงรื่นไปพบปราสาท พบเจ้าชายและเจ้าหญิง ทุกคนล้วนยิ้มแย้มอย่างมีความสุข แต่แล้วทันใดนั้นเอง เสียงโครมครามที่ดังขึ้นข้างหลังก็ลบภาพฝันเหล่านั้นมลายหายไปสิ้น ฮิลดาเหลียวกลับมามองและพบว่า เป็นเจมส์นั่นเองที่กำลังถอดฝาประตูบ้านเพื่อสร้างที่หลบภัยให้เธอและตัวเอง

สาระสำคัญของฉากนี้ หนึ่งคือการแสดงให้เห็นว่า ชีวิตที่เคยสงบสุขของเจมส์กับฮิลดา กำลังถูกรุกล้ำจากสงครามที่ใกล้จะอุบัติขึ้น และอีกหนึ่งก็คือการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

เพราะในไม่ช้าไม่นาน เมื่อลมพัดผ่านอีกครั้ง มันจะไม่ใช่สายลมแห่งความสุขและรอยยิ้ม หากแต่เป็นลมกรรโชกของภัยสงครามอันชั่วร้าย

และก็ไม่ใช่เพียงละอองดอกไม้ที่ปลิดปลิว แต่ทุกอณูชีวิตล้วนถูกฉีกกระชากสาดซัดอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

กำลังโหลดความคิดเห็น