xs
xsm
sm
md
lg

อาลัยแด่ "เพ็ญศรี พุ่มชูศรี" ผู้จากไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับวงการเพลงไทยกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของศิลปินระดับชาติ "เพ็ญศรี พุ่มชูศรี" ในวัย 78 ปีด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในช่วงเช้าที่ผ่านมาของวันวาน(14)

หลังก่อนหน้านี้เพียง 1 เดือน เธอเพิ่งจะสูญเสียนักเขียนดัง "สุวัฒน์ วรดิลก" ผู้เป็นสามีไป

ทั้งนี้ ศพของศิลปินชื่อดังนั้นได้ถูกนำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฎกษัตริยาราม(ศาลา 15 ) และจะมีการสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 5 วันด้วยกัน โดย "เจี๊ยบ ฉัตรชัย วรดิลก" ได้เผยถึงการเสียชีวิตของผู้เป็นแม่บุญธรรมว่า..."ตอนเกิดเหตุคุณแม่ได้ทานข้าวไปเมื่อเวลาประมาณ 8 นาฬิกา แล้วไม่ยอมเคี้ยวหรือกลืนข้าว กลับอมไว้ในปากเฉยๆ แล้วจู่ๆ ก็เกิดสำลัก แล้วหมดสติไป"

"ทางบ้านก็ได้นำส่งที่คลินิกใกล้บ้านซึ่งเป็นสาขาของทางโรงพยาบาลเมืองสมุทร ทางคลินิกได้ทำการปั๊มหัวใจ และทำการปฐมพยาบาลขั้นต้น หลังจากนั้นจึงนำส่งโรงพยาบาลเมืองสมุทร เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณแม่เกิดหัวใจหยุดเต้น พยายามที่จะปั๊มหัวใจอีกครั้งก็ไม่ฟื้นแต่อย่างใด"

เผยคุณแม่ไม่รู้เรื่องการเสียชีวิตของคุณพ่อก่อนหน้านี้แต่อย่างใด เหตุเพราะทางญาติๆ ไม่ต้องการให้เกิดความสะเทือนใจ รวมถึงเป็นห่วงในเรื่องของสุขภาพร่างกายที่มีโรครุมเร้ามากมาย อาทิ โรคหัวใจ เบาหวาน พาร์กินสัน ฯลฯ ส่วนศพนั้นหลังจากที่ทำการสวดพระอภิธรรมแล้วก็จะนำไปเก็บรวมไว้กับคุณพ่อ ก่อนที่จะมีการทำพิธีฌาปนกิจร่วมกัน

"จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิตคุณแม่ก็ยังไม่ทราบเรื่องของคุณพ่อแต่อย่างใด ส่วนเรื่องศพนั้นเป็นความประสงค์ของคุณพ่อเองว่าหากใครสิ้นลมก่อนก็ให้เก็บศพไว้เพื่อรอให้อีกคนเสียชีวิตแล้วจึงค่อยเผาพร้อมกัน ซึ่งกำหนดการต้องรอปรึกษากับทางสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง"

"เพ็ญศรี พุ่มชูศรี" เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2472 ใช้ชื่อในการประกวดร้องเพลงตามงานวัดต่างๆ ตั้งแต่อายุเพียง 8 ปีว่า "ผ่องศรี พุ่มชูศรี" ก่อนจะถูกทาบทามให้ไปร้องเพลงอัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2484 ขณะที่อายุ 12 ปี ชื่อเพลง "ศีลธรรมทั้งห้า" หลังจากนั้นจึงได้สมัครเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสากลของกรมโฆษณาการที่มีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง ต่อมาได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงที่ห้าง ต.เง็กชวน ส่งผลให้ผลงานเพลงเริ่มเผยแพร่ออกไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เริ่มรู้จักกับยอดนักร้องที่มีน้ำเสียงที่ไพเราะจับใจคนใหม่ และเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ปี 2490 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพ็ญศรีขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ "สายฝน" ซึ่งเพิ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยเป็นการร้องสดในรายการบรรเลงดนตรีรายการหนึ่ง หลังจากนั้นในปี 2491 จึงได้ขับร้องเพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงกับห้างแผ่นเสียงนำชัย นับเป็นงานสำคัญในยุคแรกๆ ของการทำงานที่เจ้าตัวมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้นชื่อเสียงของเพ็ญศรีก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าเกือบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก "เพ็ญศรี พุ่มชูศรี" เลย

ช่วงระหว่างปี 2494 - 2495 เข้าร่วมงานกับละครคณะชุมนุมศิลปิน ซึ่งเป็นคณะละครเวทีของ "สุวัฒน์ วรดิลก" ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากราชการและใช้ชีวิตร่วมกัน

หลังได้รับอิสรภาพจากการถูกจองจำเพราะถูกใส่ร้ายทางด้านการเมืองร่วมกับสามี ชีวิตของ "เพ็ญศรี" กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ปี 2506 ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน (รองชนะเลิศ) จากเพลง "วิหคเหิรลม" และเพลง "ม่านไทรย้อย" ปี 2508 ได้รับรางวัลชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง "ง้อรัก" ทั้งยังได้รับพระราชทานรางวัลดาราทองพิเศษในฐานะผู้มีงานร้องเพลงดีเด่นในรอบปี ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิง

"เพ็ญศรี" ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนการร้องเพลงเล็กๆ ขึ้น ชื่อว่า "ศกุนตลา" เปิดสอนให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจการขับร้อง ทำให้มีนักร้องใหม่ๆ ที่มีความสามารถเกิดขึ้นมาหลายคน นอกจากงานสอนร้องเพลงแล้ว เธอยังได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงเพื่อช่วยงานการกุศลและสาธารณประโยชน์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดมา อีกทั้งเคยได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมนักร้องแห่งประเทศไทยติดต่อกันถึง 3 สมัย

กินเวลานานหลายสิบปีที่นักร้องหญิงคนนี้ได้ทำการขับกล่อมบทเพลงด้วยน้ำเสียงอันไพเราะและเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลที่สำคัญของวงการเพลงไทยนั่นเองที่ทำให้ "เพ็ญศรี" ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) เมื่อปีพุทธศักราช 2534
.....
ผลงานของ "เพ็ญศรี พุ่มชูศรี"


เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่เพลง สายฝน ดวงใจกับความรัก เทวาพาคู่ฝัน มหาจุฬาลงกรณ์ ความฝันอันสูงสุด และ อาทิตย์อับแสง เป็นต้น

ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น ใต้ร่มมลุลี สุดรำพัน ธนูรัก รำพันสวาท ห่วงรักห่วงอาลัย พิษรัก ยาใจยาจก กำสรวลสวาท ศรกามเทพ หาดสงขลา ผู้ที่พระเจ้าลืม โอ้ยอดรัก หงส์ทอง เมื่อเธอกลับมา เดือนดวงเด่น หงส์เหิร ชื่นตาฟ้างาม จันทร์ข้างแรม รำพึง ชายหาด ฝากรัก ชื่นสุข ชะตาฟ้า เพื่อเธอ ม่านไทรย้อย คนจะรักกัน ศกุนตลา ดึกแล้วคุณขา จันทร์เจ้าขา เหยื่อกามเทพ โพระดก ลาทีความรัก ทาสรัก พระจันทร์ร้องไห้ วิหคเหิรลม รักข้ามแดน หนามชีวิต อยากจะรักสักครั้ง พ่อแง่แม่งอน สัญญารัก สาบานรัก รักลวง ฯลฯ



กำลังโหลดความคิดเห็น