โดย เวสารัช โทณผลิน
ปรัชญาชีวิตข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า "หากว่าเราคิดว่าเราเป็นอะไร เราก็ย่อมจะเป็นตามที่เราคิด ณ. ช่วงเวลานั้นๆ" หากยึดถือเทียบเคียงตามหลักปรัชญาดังกล่าวแล้ว ก็คงจะมีคำถามต่างๆ ตามมามากมาย แล้วหากเราไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดหล่ะ? หรือถ้าเราไม่ได้คิดในสิ่งที่เรากำลังเป็น?
แม้กระทั่งว่าหากเราสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว เราสามารถที่จะปลูกฝังความทรงจำเกี่ยวกับตัวตนใหม่ๆ ลงไปได้ขนาดไหน เพียงผิวเปลือกของอาชีพการงาน ระดับชั้นสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานของบทบาทตำแหน่งในครอบครัว หรือลงลึกถึงแก่นกระพี้ของจิตวิญญาณในการสถิตย์ขึ้นมาเป็นตัวตนในภพชาตินี้เลย?
หากเราใช้ชีวิตเรื่อยเรียบเฉกเช่นทุกวันทั่วไปนั้น คำถามดังกล่าวข้างต้นก็คงจะไม่สำคัญในระดับที่จะต้องนำมาตระหนักนึก แต่สำหรับ "อุ้ม" หญิง ที่ดูภายนอกเหมือนสาวทำงานที่มีความมั่นใจสูงทั่วไปแต่ภายในแสนจะอ่อนไหวและเปราะบาง หลังจากที่กำลังประสบภาวะอ่อนแอในจิตใจจากการที่ถูกคนรักเลิกราไป
ท่ามกลางความมืดมิดของคืนค่ำ บนเส้นทางสายเปลี่ยว ฉากด้านหน้าที่พร่ามัวไปด้วยน้ำตา เธอก็ได้พบกับบุรุษผมยาวนิรนามคนหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หากมิใช่การพานพบเพียงธรรมดา แต่เขามาในสถานะของผู้ประสบอุบัติเหตุ และเธอตกอยู่ในบทผู้ก่อเหตุครั้งนั้นแก่เขา หลังจากใช้เวลาพักใหญ่ในการรวบรวมสติ อุ้มก็พาชายดังกล่าวไปส่งโรงพยาบาล โดยที่หารู้ไม่ว่า ในเวลาต่อมา เธอจะตกอยู่ในสภาพที่ต้องครุ่นคิดวิเคราะห์ถึงคำถาม คำตอบเกี่ยวกับชีวิต ทั้งชีวิตของตัวเธอเอง และชีวิตของชายแปลกหน้าคนนั้น
หนุ่มผมยาวฟื้นคืนสติ ทว่าความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับตัวเขากลับไม่คืนมาด้วย เขาไม่สามารถจดจำกระทั่งชื่อหรือรายละเอียดเล็กน้อยเกี่ยวกับตัวเองได้เลย และหลังจากที่อุ้มพบสร้อยที่เป็นเพียงหลักฐานชิ้นเดียวซึ่งคล้องติดมากับคอของเขา เธอก็เรียกนามแทนตัวเขาว่า "แทน"(Tan) ซึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษเพียงสามตัวที่อยู่บนสร้อยเส้นนั้น
แม้จะไม่อยากนำมาเป็นภาระผูกพันธ์เพราะอุ้มก็มีหลานชายทีเกิดจากพี่ซึ่งเสียชีวิตไปแล้วอยู่ในการอุปการะหนึ่งคน แต่การตกกระไดพลอยโจนก็ทำให้แทนกลายมาเป็นหนึ่งในสมาชิกภายในคอนโดของเธอ จากคนแปลกหน้าเมื่อแรกพบ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว และพัฒนามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเมื่อห้วงเวลาดำเนินไป
สิ่งเดียวที่ดูจะเป็นปัญหาและข้อกังขาที่เปรียบเสมือนปมที่แฝงฝังอยู่ในชีวิตของแทนคือ ตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นใคร? ในขณะที่ความทรงจำเดิมยังไม่ผุดพราย ความทรงจำใหม่ๆ เกี่ยวกับอุ้มและหลานชายก็ค่อยๆ ซึมแทรกเข้ามาในสมอง
แทนเปิดรับอุ้มและหลานชายให้เข้ามาในชีวิตอย่างช้าๆ พร้อมกับการพยายามค้นหาตัวเอง ในช่วงเวลาที่เงื่อนปมในชีวิตของแทนเริ่มจะคลี่คลายนั้น เขาก็พบความจริงบางอย่างเกี่ยวกับตัวตน ซึ่งทำให้เขารู้สึกอยากจะผูกมัดและเก็บกักปมปัญหาเกี่ยวกับตัวตนนั้นไว้ตามเดิม
Me...Myself หรือชื่อภาษาไทย ขอให้รักจงเจริญ อาจเป็นเพียงภาพยนตร์โรแมนติก ดราม่าธรรมดาๆ ที่มีกลิ่นคอมมาดี้เจืออยู่พอให้ยิ้มตามและขำออกมาได้เรื่องหนึ่ง ถ้าไม่มีปมประเด็นเรื่องราวที่ลึกและมีมิติมากขึ้นกว่าหนังรักเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องของปรัชญาชีวิต ความฝัน อดีต ปัจจุบันและอนาคต
จากพล็อตหลักของ "พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง" ที่มานั่งแท่นกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ขยายความแตกเนื้อหาโดย ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์มากฝีมือ "คงเดช จาตุรันรัศมี" ซึ่งเคยฝากฝีไม้ลายมือกับภาพยนตร์รักโรแมนติกเรื่องดังมากมาย อาทิ จดหมายรัก(The Letter), เฉิ่ม ฯลฯ เพียงแค่ชื่อของทั้งสองก็คงจะสามารถการันตีตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับใครที่ติดภาพมาดร็อกกวนๆ ของอ๊อฟ พงษ์พัฒน์ อาจพาลสงสัยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะอ่อนนุ่มมีอารมณ์เป็นหนังรักได้อย่างไร ก็ต้องบอกตรงนี้เลยว่า Me, Myself อาจเป็นด้านมุมที่ไหวพริ้วของอ็อฟ พงษ์พัฒน์ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นสักเท่าไร
เพราะทั้งเนื้อหา มิติของตัวละคร อารมณ์ของภาพยนตร์ รวมถึงรายละเอียดเล็กน้อยต่างๆ นั้น พงษ์พัฒน์สามารถทำได้ดีในระดับที่พูดได้เต็มปากว่าภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาเรื่องนี้ มีจุดบกพร่องเล็กน้อยมากในระดับที่ผู้ชมสามารถจะมองข้ามตำหนิเล็กน้อยเหล่านั้นไปได้อย่างสนิทใจ
เพราะตั้งแต่นักแสดงที่สามารถเลือกมาสวมบทได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ทั้งตัวละครอย่าง "แทน" ที่รับบทโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม ชายหนุ่มปริศนาซึ่งสามารถแสดงให้คนดูเชื่อสนิททั้งในช่วงที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองคือใคร และตอนที่ค้นพบอดีตของตัวเองแล้ว
อนันดาแสดงเป็นแทนได้อย่างลื่นไหล ติดปัญหาเล็กๆ ในเรื่องของการพูดและการสนทนาบางฉาก ที่ผู้ชมอาจสะดุดกับการพูดภาษาไทยที่ยังไม่ชัดเปรี๊ยะของเขาสักเท่าไร แต่โดยรวมหากดูจากการเคลื่อนไหวทั้งภายในและภายนอกของอนันดาแล้ว เราสามารถสลัดภาพเก่าๆ ของเขา แล้วเชื่อว่า อนันดาคือแทน ชายหนุ่มความจำเสื่อมที่กำลังถูกอดีตที่ตัวเองกำลังค้นหาตามมาหลอกหลอนได้อย่างคล้อยตาม
อีกหนึ่งคนที่อยากให้จับตามอง คือ แอม ฉายนันท์ มโนมัยสันติภาพ ที่รับบทเป็น"อุ้ม" ด้วยความที่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ จึงได้เปรียบในการสร้างภาพใหม่ให้ผู้ชมเชื่อว่าเธอคือ อุ้ม สาวทำงานผู้มีด้านอ่อนไหว และไม่ชัดว่าตัวตนจริงๆ ของแอมกับอุ้มในเรื่องจะเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
เพราะแอมสามารถพูดอย่างอุ้ม เดินอย่างอุ้ม และคิดอย่างอุ้มได้อย่างเนียนสนิท ส่งผลให้ภาพของอุ้มเป็นดังที่ปรากฏอยู่ในฉากจอภาพยนตร์ ภาพสาวทำงาน ที่มีกิจวัตรและความคิดไม่ต่างจากสาวทำงาน 80 เปอร์เซ็นต์ในประเทศ และที่สำคัญอุ้มเป็นหญิงสาวไม่สวยที่มีเสน่ห์ ซึ่งตรงจุดนี้แอมสามารถถ่ายทอดความมีเสน่ห์ออกมาได้มากพอที่เราจะเชื่อว่าทำไมคนอย่าง แทนจึงหลงรักอุ้มได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็คงต้องจับตาดูบทต่อไปของเธอ ว่าหากได้รับบทที่ไกลตัวแล้ว แอมจะยังคงทำได้ดีเพียงใด?
ในส่วนของเนื้อเรื่อง คงเดช สามารถแตกหน่อต่อยอดแนวคิดของพงษ์พัฒน์ได้อย่างลงตัว ถึงแม้ว่าหากดูกันจริงๆ แล้ว Me...Myself ไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยปรัชญาการใช้ชีวิตเป็นแกนแก่น แต่เป็นเพียงการหยิบยืมประเด็นดังกล่าวมาแทรกใส่ในเรื่องราวหลักๆ ที่ว่าด้วยความรักประเภทหนุ่มสาวมากกว่า และหากตัดปมประเด็นเรื่องปรัชญาการใช้ชีวิตดังกล่าวไปแล้ว Me...Myself ก็คือภาพยนตร์โรแมนติก ดราม่าธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง
แต่ด้วยพล็อตของหนังที่ทำให้เรื่องราวที่ว่าด้วยความรักดูมีมิติมากขึ้น อีกทั้งรายละเอียดเล็กน้อยที่ผู้กำกับตั้งใจหยิบใส่ลงไปนั้น ก็ทำให้ส่วนประกอบต่างๆ ของหนังดูลื่นไหลและลงตัวมากขึ้น ทั้งรายละเอียดของฉาก เสื้อผ้า บทสนทนา ตลอดจนการแสดงท่าทีของตัวละครในหลายๆ ฉาก ที่หากใครมองข้ามไปหรือไม่สังเกตก็อาจจะผ่านเลยไป
แต่อยากจะให้ตั้งใจดูฉากที่แทนกับอุ้มเมาแล้วกลับมาคุยกันที่ห้องเป็นครั้งแรกให้ดีๆ จะเห็นรายละเอียดที่ผู้กำกับจงใจปูพื้นให้คนดูทราบคร่าวๆ แล้วว่า ตัวตนที่แท้จริงของแทนนั้น เป็นเช่นไร?
เพราะบางครั้งบางหน ตัวตนที่เติบโตเคียงคู่เรามานานเกินกว่า 20 ปีนั้น ก็มิอาจจะลบกลบได้เพียงชั่ววูบที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน วัตรปฎิบัติบางอย่างที่เราคุ้นชินและทำต่อเนื่องมาเนิ่นนาน อาจกลายเป็นกิจที่ปลูกฝังลึกหลบอยู่ในสมองส่วนที่แรงกระเทือนใดๆ เข้าไปไม่ถึงก็ได้
ในช่วงกลางเรื่อง จังหวะของหนังอาจเฉื่อยช้าไปบ้าง พลอยทำให้หลายคนง่วงเหงาหาวนอน แต่ด้วยความที่เรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ มิอาจดำเนินความสัมพันธ์ของตัวละครไปในระยะเวลาอันสั้นแล้วจะทำให้ผู้ชมเชื่อได้ ดังนั้นการลากยาวเรื่องราวแบบเอื่อยๆ จึงเป็นจุดด้อยที่แทบจะไม่สามารถหลีกเร้นได้เลย
ข้อเสียอีกหนึ่งประการที่พบถี่ในระยะหลังของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย คือการขาดบุคลากรที่จะมาตั้งชื่อหนังไทยให้ทั้งไพเราะ ลงตัว และคลุมครอบเนื้อหา แบบน่าสนใจ เพราะหากดูจากเรื่องราวของ Me...Myself แล้ว ต้องบอกตรงๆ ว่า การใช้ชื่อภาษาไทยว่า "ขอให้รักจงเจริญ"ดูเป็นหนึ่งหนทางในการลดทอนคุณภาพของหนังอย่างอ้อมๆ ได้เลยทีเดียว
หากใครที่ประทับใจกับภาพยนตร์รักเกาหลีที่กำลังแทรกซึมเข้ามากอบโกยสตางค์ในกระเป๋าของเราอยู่นั้น ก็น่าที่จะลองเปิดใจรับภาพยนตร์ไทย ฝีมือผู้กำกับและคนเขียนบทไทย ที่มีเนื้อเรื่องและการดำเนินชีวิตเป็นสากลเรื่องนี้สักหนึ่งเรื่อง
ซึ่งถ้าดูจากตรงนี้ ต้องบอกว่า Me...Myself นั้น เป็นหนังรักที่สามารถเทียบชั้นได้กับหนังรักเกาหลีหลายเรื่อง ถึงจะขาดฉากจงใจขายเรียกน้ำตาเหมือนที่ภาพยนตร์โสมส่วนมากพึงกระทำ แต่เพลงประกอบที่ชื่อ "สิ่งที่ฉันเป็น" ซึ่งเลือกมาใส่ไว้ในหนังเรื่องนี้ ก็ไพเราะและมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับเรื่องราวจนเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกันชนิดแยกไม่ได้
และแม้ว่ากลุ่มศิลปินอีโบล่า จะไม่ได้ตั้งใจแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่แรกก็ตามที แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ สามารถนำกลับไปทอดทาบอย่างสมมาตรกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตกาลเช่นนี้
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็ไม่ใช่อนาคตวันข้างหน้า หรืออดีตกาลอันผ่านพ้น หากแต่คือห้วงเวลาปัจจุบัน ว่าเรากำลังทำอะไร คิดอะไรเกี่ยวกับตัวตนและสังคม เพราะแท้จริงแล้วหลายครั้งหลายหน อดีตก็ทำหน้าที่เพียงบทเรียนบทหนึ่ง มิใช่สิ่งที่มีอิทธิพลในการกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าแต่อย่างใด