xs
xsm
sm
md
lg

Taxidermia : ล่ารัก 3 ชั่วโคตร

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


ดิฉันลงมือเขียนต้นฉบับในวันที่ Taxidermia เพิ่งจะเข้าฉายที่ house อาร์ซีเอ เป็นวันแรก ฉะนั้นจึงไม่อาจทราบได้ว่า มีผู้สนใจเข้าชมหนังเรื่องนี้สักแค่ไหน

ส่วนตัวดิฉันเอง คิดว่ารูปลักษณ์หน้าตาพิลึกกึกกือบันลือโลกของหนัง น่าจะดึงดูดให้ผู้ชมสนใจอยากดูมันพอสมควร

แต่เพื่อนดิฉันอีกคนกลับเห็นตรงข้าม เพื่อนบอกว่า หนังแปลกน่ะโอเค แต่เรื่องนี้มันแปลกไป “จู๋พ่นไฟ คนตัวเท่าปลาวาฬ นักถลกหนังมืออาชีพ...ใครมันจะไปอยากดูวะ” เขาให้เหตุผลเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดก็เป็นอย่างที่ทราบกัน เรื่องการคาดคำนวณว่าหนังเรื่องใดจะได้ตังค์ เรื่องใดจะไม่ได้ตังค์ คุยกันไปก็เท่านั้น ท้ายที่สุดก็ต้องวัดกันตอนหนังเข้าแล้วอยู่ดี

ถ้าเข้าใจไม่ผิด Taxidermia น่าจะเป็นหนังจากประเทศฮังการีเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายในโปรแกรมปรกติในบ้านเรา (ที่จริงหนังเป็นการร่วมทุนของ 3 ชาติ คือ ฮังการี ฝรั่งเศส และออสเตรีย แต่ผู้กำกับเป็นฮังกาเรียน ใช้ฮังการีเป็นฉากหลัง และตัวละครใช้ภาษาฮังกาเรียนในการสื่อสารแทบจะทั้งเรื่อง)

ผู้กำกับหนังเรื่องนี้คือ กอร์กี พัลฟี คนหนุ่มไฟแรงวัย 34 ปี (เกิดเมื่อปี 1974) ซึ่งก่อนหน้านี้ดังระเบิดจากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกในชีวิตที่ชื่อ Hukkle (2002 – ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังนานาชาติฮ่องกง, สมาคมนักวิจารณ์ฮังการี และอีกหลายรางวัลจากหลายเวทีการประกวด)

ด้าน Taxidermia เองก็โด่งดังไม่น้อยหน้า หนังได้รับเลือกให้เข้าฉายในสาย Un Certain Regard (สายเดียวกับ ‘สุดเสน่หา’ ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี 2006 อีกทั้งยังสามารถคว้า 4 รางวัลใหญ่จาก Hungarian Film Week ซึ่งถือเป็นเทศกาลหนังที่สำคัญที่สุดในวงการภาพยนตร์ประเทศฮังการี ได้อีกต่างหาก

ตัวละครสำคัญของ Taxidermia คือ ชาย 3 คน 3 รุ่นที่เกี่ยวพันกับครอบครัว บาลาโตมี หนังเล่าเรื่องของพวกเขาไล่เรียงกันไปตามลำดับ

เริ่มต้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กับเรื่องของ โมโรสโจวานนี เวนเดล นายทหารรับใช้ตระกูลบาลาโตมี โมโรสโจวานนีหมกมุ่นอยู่กับเครื่องเพศของตนแทบจะตลอดเวลา เขาแสวงหาโอกาสสร้างความสุขสมให้ ‘เจ้าหนู’ ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ทว่าดูเหมือนจะไม่ใคร่ประสบความสำเร็จนัก

จากนั้นหนังพาผู้ชมกระโดดข้ามเวลามาราว 20 ปี เพื่อเล่าเรื่องของ คาลมาน บาลาโตมี ลูกนอกสมรสซึ่งเกิดจากเพศสัมพันธ์แบบพิลึกพิลั่นระหว่างท่านผู้หญิงบาลาโตมีกับโมโรสโจวานนี คาลมานในวัยหนุ่มมีรูปร่างอ้วนฉุ และปรารถนาจะครองแชมป์กินเร็ว-กินจุระดับโลก แต่ลงท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

และสุดท้าย - ก้าวกระโดดมาอีก 20 ปีอีกครั้ง - หนังเล่าเรื่องของ ลายอสกา ลูกชายแท้ๆ ของคาลมาน เขาหาเลี้ยงตัวเองและพ่อด้วยการทำสตัฟฟ์สัตว์ (ชื่อหนังมีรากศัพท์มาจากคำว่า taxidermy ซึ่งในพจนานุกรมระบุว่าหมายถึง ‘เทคนิคการทำให้ซากสัตว์คงสภาพเหมือนมีชีวิต) ลายอสกามีชัยเหนือการถลกทะลวงร่างสัตว์มาแล้วทุกประเภท แต่กลับไม่เคยพิชิตใจพ่อแท้ๆ ของตัวเองได้ (แม้บัดนี้ขนาดร่างกายของพ่อจะขยายใหญ่ขึ้นกว่าสมัยหนุ่มแน่นอีกหลายเท่า จนมองเผินๆ นึกว่าเป็นปลาวาฬแล้วก็ตาม) สาเหตุสำคัญที่ทำให้ชายหนุ่มไม่เป็นที่รักของพ่อ สืบเนื่องมาจากรูปร่างของเขาที่ช่างผ่ายผอมบักโกรกดูเหมือนคนอมโรค ซึ่งสำหรับคาลมานผู้หลงใหลในกีฬากินจุเหนือสิ่งอื่นใด ลายอสกาถือเป็นความผิดหวังและความอัปยศครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

กอร์กี พัลฟี ผู้กำกับ บอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่องนี้หลังจากที่อ่านเรื่องสั้นของ ลายอส ปาร์ตี-นากี นักเขียนชื่อดังชาวฮังกาเรียน

เท่าที่ทราบ ปาร์ตี-นากีเป็นนักเขียนที่เขียนงานได้หลากหลายประเภท ทั้งบทกวี บทละคร บทความ เรื่องสั้น และเรื่องแปล ความโดดเด่นในงานเขียนของเขาอยู่ที่อารมณ์ขันป่วนๆ กับการสร้างสรรค์โครงเรื่องเนื้อหาที่แปลกใหม่พิสดารพันลึกยิ่งนัก

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เรื่องสั้นต้นฉบับของปาร์ตี-นากีจะแปลก ป่วน และป่วย มากน้อยเพียงใด แต่สำหรับ Taxidermia ฉบับภาพยนตร์นั้น แม้จะไม่บ้าตกขอบโลกเหมือนที่ดิฉันคาดหวังไว้ในคราวแรก ทว่าโดยรวมก็ยังเป็นหนังที่สามารถจัดให้อยู่ในโซนที่ดูแล้วต้องร้องว่า “หนังบ้าอะไรวะ?” ได้อย่างไม่ขัดเขิน

จู๋พ่นไฟ คนตัวเท่าปลาวาฬ นักถลกหนังมืออาชีพ...เหล่านี้ได้รับการระบุไว้ในแฮนด์บิลของหนัง ซึ่งใครใคร่เห็น ก็คงได้เห็น (ถ้าไม่ถูกมือมีดคมกรรไกรของใครจัดแจงแล่เนื้อเถือหนังไปเสียก่อน)

อื่นๆ ที่เพี้ยนพอกัน และหลังแฮนด์บิลไม่ได้บอกไว้ ก็เช่น เด็กมีหาง, คนอ้วกแตกกันเป็นกาละมัง, แมวปีศาจ, การเผยให้เห็นภาพด้านตรงของ ‘อวัยวะ’ ในระยะประชิด (!), อสุจิของใครบางคน พ่นไกลไปถึงดวงดาว (?!), เพศสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นๆ กับซากหมู (??!!), เรื่อยไปจนถึงความอุตริของใครบางคนที่อุตส่าห์คิดค้นเครื่องมือ ‘สตัฟฟ์ตัวเอง’ โน่น (???!!!)

อย่างไรก็ตาม ที่น่าฉงนเสียยิ่งกว่าที่เล่ามาทั้งหมดนั่น กลับอยู่ที่ ‘น้ำเสียง’ ในการเล่าเรื่องของผู้กำกับ กล่าวคือ กับโครงเรื่องเนื้อหาที่แปลกประหลาดขนาดนี้ แทนที่กอร์กี พัลฟี จะเลือกเล่าเรื่องด้วยลีลาโปกฮา สนุกสนาน เคล้าอารมณ์ขันหลุดโลก (ซึ่งในความเห็นของดิฉัน มันน่าจะเหมาะกว่า เข้ากันมากกว่า และจะทำให้หนังสนุกกว่านี้มาก) เขากลับเลือกใช้ท่วงทำนองเรียบๆ จังหวะจะโคนเนิบๆ ชวนให้รู้สึกหม่นเศร้าอย่างบอกไม่ถูก

มากกว่านั้นก็คือ ดิฉันเองดูหนังจบแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเก็บมาคิดต่ออีกเป็นวันสองวัน และพบว่า สาระสำคัญที่หนังต้องการจะสื่อกับผู้ชมนั้น แท้ที่จริงก็เศร้าสร้อยไม่น้อยอยู่

เพราะมันบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ ‘ยิ่งแข่งยิ่งแพ้’ และไม่ว่าจะเพียรพยามถีบตัวเองให้หลุดพ้นจากสภาพไอ้ขี้แพ้อย่างที่เป็นอยู่มากเพียงใด สุดท้ายก็ไม่อาจทำได้สำเร็จ

ทั้งโมโรสโจวานนี คาลมาน และลายอสกา ต่างฝันถึงบางสิ่ง มองกันอย่างผิวเผินอาจคล้ายกับว่ามันเป็นฝันที่พิลึกพิลั่นเอาเรื่อง (ความปรารถนาจะช่วยตัวเองให้สำเร็จของโมโรสโจวานนี, ความใฝ่ฝันจะเป็นแชมป์กินจุระดับโลกของคาลมาน และความต้องการที่จะเอาชนะใจพ่อผู้มีรูปร่างเหมือนปลาวาฬของลายอสกา)

แต่หากพิจารณากันจริงจัง ทั้งหมดนั้นก็เป็นแต่เพียงความปรารถนาในสิ่งซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ทุกคนเท่านั้น

โมโรสโจวานนีปรารถนาความสุขทางกายภาพ

คาลมานแสวงหาการยอมรับนับถือจากสังคม

ลายอสกาฝันถึงความรัก

แต่ถึงแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานปานนั้น คนบางคนก็ยังไม่เคยได้รับ

สรุปรวมความทั้งหมด Taxidermia จึงเป็นผลรวมของส่วนผสมที่ค่อนข้างจะประหลาดพิกลระหว่าง เนื้อหาแปลกๆ ท่วงทำนองการเล่าเรื่องเรียบๆ และสาระเศร้าๆ

ส่วนตัวดิฉันเองไม่ถึงกับหลงรักหนังเรื่องนี้สุดหัวจิตหัวใจ กระนั้นก็ยังอยากแนะนำให้คุณไปดู

ไม่บังอาจรับประกันความพอใจหรอกนะคะ แต่ถ้าประสงค์ความประหลาดใจ และอยากดูอะไรแปลกๆ แก้เลี่ยน...อันนี้พอรับประกันไหว
..........
เรื่องโดย โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล




กำลังโหลดความคิดเห็น