xs
xsm
sm
md
lg

10 ฉากหนังสงครามยอดเยี่ยม(และยอดแย่)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เริ่มต้นปีหมูทองปีนี้แฟนหนังก็ได้ชมหนังที่มีฉากสงครามที่ยิ่งใหญ่ครบรสมาแล้วถึง 3 เรื่อง ทั้งหนังไทย ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคประกาศอิสรภาพ หรือหนังจีนอย่าง Curse of the Golden Flower รวมทั้งผลงานจากฝั่งฮอลลีวูดชิ้นล่าสุดอย่าง 300 กับความมันส์ผสมซาดิสต์ที่กำลังถล่มรายได้ทั่วโลกในขณะนี้ จากกระแสการสร้างหนังสงครามที่มาพร้อมกับความทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ของเทคนิค CGI เพื่อสร้างภาพจากจินตนาการให้สมจริงมากที่สุด มาดูกันว่าจากการจัดอันดับของทีมข่าวบันเทิงของสำนักข่าว cnn ในหัวข้อฉากในหนังสงครามที่เยี่ยมและแย่ที่สุด ว่ามีเรื่องไหนที่เข้าตา (และแทบจะเบือนหน้าหนี) กันบ้าง

นอกจากจะจัดอันดับกันเองแล้ว ทาง cnn ยังได้เปิดโอกาสให้แฟนหนังเข้าไปแสดงทัศนะถึงฉากในหนังสงครามยอมเยี่ยมและยอดแย่ของแต่ละคนที่ thescreeningroom@cnn.com ซึ่งนอกเหนือจากที่ทาง cnn เลือกมา ฉากในหนังสงครามที่แฟนๆ ชื่นชอบยังรวมไปถึงผลงานอย่าง The Last Samurai, Star Wars: The Empire Strikes Back และ Black Hawk Down

10 ฉากสงครามยอดเยี่ยมในโลกภาพยนตร์

อันดับที่ 1
Apocalypse Now 1979
ฉากเฮลิคอปเตอร์จู่โจมหมู่บ้าน
ผลงานของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

"ฉันชอบกลิ่นนาปาล์มตอนเช้าๆ มันกลิ่นเหมือนชัยชนะ" เป็นคำกล่าวของพันโทวิลเลียม คิลกอร์ ที่รับบทโดยโรเบิร์ต ดูวัล ผู้ที่นำฝูงบินเฮลิคอปเตอร์นับสิบๆ ลำถล่มหมู่บ้านชาวเวียดนามในระหว่างสงครามของสหรัฐฯกับกองทัพเวียดกง ซึ่งคำสั่งสังหารชาวบ้านตาดำๆ ทั้งหมดเนื่องจากกองทัพภายใต้การนำของเขา (ที่ปลุกใจด้วยการเปิดเพลง Ride of the Valkyries ของวากเนอร์) ต้องการแค่ที่เหมาะๆ ในการเล่นวินเซิร์ฟเพื่อผ่อนคลายหลังจากการรบอันตึงเครียดนั่นเอง ซึ่งไม่มีฉากใดในภาพยนตร์เรื่องไหนที่จะจับอารมณ์โง่เขลา, บ้าคลั่ง และความไร้ค่าของชีวิตมนุษย์จากสงครามเวียดนามได้ดีไปกว่านี้

อันดับที่ 2
Saving Private Ryan 1998
การยึดหาดโอมาฮา
ผลงานของ สตีเฟน สปิลเบิร์ก

แค่ฉากเปิดตัวของผลงานเรื่องเยี่ยมของสปิลเบิร์กเรื่องนี้ก็ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่อยู่ในอาการช็อคไปตามๆ กัน โดยเฉพาะผู้ชมที่เป็นชาวอเมริกันคงจะไม่มีสิ่งใดเหนี่ยวนำย้ำเตือนพวกเขาให้นึกถึงวีรชนที่พลีชีพเพื่อชาติในสมรภูมินอร์มังดีเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ชัดเจนเท่านี้ ทั้งเทคนิคในการถ่ายทำด้วยกล้องแฮนดีแคมที่สั่นไหวให้อารมณ์ดิบเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง, การเล่นกับโทนสีแบบ desaturated color รวมถึงการบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มทหารที่ถูกส่งไปต่อสู้ในสภาพที่ไม่ต่างจากเป้านิ่งของข้าศึกที่อยู่ในชัยภูมิที่เหนือกว่า ทั้งหมดรวมกันเป็นผลงานที่สะท้อนความรู้สึกสะอิดสะเอียนต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนของมนุษย์ ที่หนังสงครามเรื่องไหนก็เทียบชั้นไม่ได้

อันดับที่ 3
The Lord of the Rings: The Two Towers 2002
เฮล์ม'ส ดีพ
ผลงานของ ปีเตอร์ แจ็คสัน

กองทัพอันมหาศาลของพ่อมดขาวซารูมาน นำโดยอสูรกายอูรุกไฮที่โจมตีอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อทำลายป้อมปราการของมนุษย์ที่เชื่อว่าไม่มีวันพังทลายให้แหลกลาญ ผลงานของปีเตอร์ แจ็คสันเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของกองทัพชาวบ้าน 300 คนที่เผชิญหน้าต่อกองทัพออร์คนับหมื่นตน ขณะที่ผู้หญิงและเด็กต่างต้องต่อสู้กับความหวาดกลัวในคืนที่พายุฝนกระหน่ำไม่หยุดทั้งคืน ที่นับเป็นผลงานการสร้างฉากสงครามที่โดดเด่นที่สุดในไตรภาคหนังแหวนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเรื่องนี้ แถมฉากจบที่แสนจะสะใจเมื่อพ่อมดแกนดัล์ฟมาช่วยกู้สถานการณ์ได้ทันเวลา (ยังไม่นับฉากที่เลโกลัสยิงธนูบนสเก็ตบอร์ดอย่างสุดเท่ด้วย)

อันดับที่ 4
The Lord of the Rings: Return of the King 2003
ทุ่งเพเลนนอร์
ผลงานของ ปีเตอร์ แจ็คสัน

เหล่าออร์คน่ากลัวขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ, ช้างยักษ์โอลิฟอนท์ก็ดูน่าเกรงขามอย่างยิ่ง, ความสยองของอสูรกายเวหานาซกูลแทบจะทำให้คุณเอากล่องป็อปคอร์นปิดหน้าทีเดียว ก่อนจะพบกับฉากอันน่าประทับใจในการกู้ศักดิ์ศรีคืนของกษัตริย์เธโอเดนและไพร่พลแห่งโรฮัน วีรกรรมของเอโอวีนก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้ยอดอัศวินคนใด การผสมผสานทั้ง CGI ที่แสนพิสดาร, เสียงประกอบและงานสร้างที่ยิ่งใหญ่ทำเอาแฟนหนังอึ้งมานักต่อนัก จนได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานที่เป็นต้นแบบการสร้างภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งปวง ก่อนที่จะตกม้าตายกันในฉากถัดมา (ชมรายละเอียดข้างล่าง)

อันดับที่ 5
A Bridge Too Far 1977
ฉากการกระโดดร่ม
ผลงานของ ริชาร์ด แอตเทนเบอโรว์

เล่าถึงปฏิบัติการณ์ Operation Market Garden หรือภารกิจปลดปล่อยฮอลแลนด์ของฝ่ายพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพฝ่ายพันธมิตรนับพันต้องถูกส่งไปปฏิบัติการข้างหลังแนวรบของฝ่ายอักษะในฉากการกระโดดร่มที่ตระการตายิ่ง ต่อด้วยฉากไคลแม็กซ์การรบอันดุเดือนของเหล่าทหารและรถถังเหนือสะพานในสมรภูมิอาร์นเฮม โดยผลงานของแอตเทนเบอโรว์เรื่องนี้ยังเป็นการรวมนักแสดงชายที่ยอดเยี่ยมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ด้วย (แอนโธนี ฮ็อปกินส์, ลอเรนซ์ โอลิเวียร์, ฌอน คอนเนอรี, เดิร์ค โบการ์ด, ไรอัน โอ'นีล และโรเบิร์ต เรดฟอร์ด) กับผลงานยอดเยี่ยมโดยไม่ต้องง้อเทคนิค CGI ใดๆ ทั้งสิ้น

อันดับที่ 6
Tora! Tora! Tora! 1970
การจู่โจมเพิร์ล ฮาร์เบอร์
ผลงานของ ริชาร์ด ไฟลส์เชอร์, คินจิ ฟูกาซากู, โตชิโอะ มาซูดะ

ในโลกนี้มีหนังที่ถ่ายทอดเรื่องราวในเหตุการณ์ถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของกองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อย่างดีเยี่ยมอยู่ 2 เรื่อง และไม่มีเรื่องไหนถูกตั้งชื่อว่าเพิร์ล ฮาร์เบอร์ (ชมรายละเอียดข้างล่าง) ถ้า From Here to Eternity สามารถจับอารมณ์ดรามาของมนุษย์ระหว่างเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เปี่ยมชั้นเชิงแล้วละก็ Tora! Tora! Tora! ก็ทำหน้าที่ในการบอกเล่าความกล้าหาญในความเสียสละอย่างไม่มีสิ้นสุดของเหล่าทหารชาวญี่ปุ่นได้อย่างถึงแก่น ด้วยทุนสร้าง 25 ล้านเหรียญซึ่งถือว่ามโหฬารมากๆ ในยุคนั้น ผ่านมุมมองของผู้กำกับ 3 คน(1 อเมริกัน 2 ญี่ปุ่น) ถือเป็นต้นแบบแห่งมหากาพย์ภาพยนตร์อย่างแท้จริง

อันดับที่ 7
Zulu 1964
สมรภูมิแห่งรูค'ส ดริฟท์
ผลงานของ ไซ เอนด์ฟีลด์

การถ่ายทอดเรื่องราวในสมรภูมิรูค'ส ดริฟท์ระหว่างทหารอังกฤษเพียงหยิบมือและชาวพื้นเมืองซูลูนับพันเมื่อปี 1879 ซึ่งนับเป็นฉากที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับหนังหลายเรื่องตั้งแต่เฮล์ม'ส ดีพของปีเตอร์ แจ็คสัน จนถึง Starship Troopers ของพอล เวอร์โฮเวน ฉากการรับมือของทหารอังกฤษ 150 คนต่อกองทัพชาวซูลูที่ถลาลงมาจากเขาอย่างไม่หยุดหย่อนทำให้ผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้องมาแล้ว

อันดับที่ 8
Starship Troopers 1997
สมรภูมิแห่งเคลนดาธู กับ สมรภูมิบนดาวเคราะห์ P
ผลงานของ พอล เวอร์โฮเวน

ในฉากที่เคลนดาธูเราจะได้เห็นกองทัพของมนุษย์นับแสนถูกสับ ฉีก และบดขยี้โดยเหล่าแมลงยักษ์นับชั่วโมง หลังจากนั้นเราจะตามริโกไปสู่ดาวเคราะห์ P ที่ซึ่งกองทัพไม่สมประกอบของเขาถูกส่งกลับมาให้เป็นเหยื่อล่อให้กับแมลงยักษ์ Arachnids นับพัน ก่อนที่หนังจะหักมุมถึงเบื้องหลังความชั่วร้ายของกองทัพแมลงยักษ์ดังกล่าว เป็นหนังแอ็คชั้นเกรดบีที่ชาญฉลาดในการเล่าเรื่องเรื่องหนึ่ง

อันดับที่ 9
Braveheart 1995
สมรภูมิแห่งสเติร์ลลิง
ผลงานของ เมล กิ๊บสัน

เมล กิ๊บสันในเรื่องนี้รับบทเป็นวิลเลียม วอลเลซ ผู้นำกองทัพของชาวสก็อตที่ต่อสู้เยี่ยงกวีนักรบเพื่อกอบกู้เอกราชจากประเทศอังกฤษที่กดขี่พวกเขามาอย่างยาวนาน แม้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือทุ่งสเติร์ลลิงแทบจะไม่ใช่สิ่งที่เชื่อถือได้ตามหลักวิชาการทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องยอมรับโดยดุษฎีว่าเป็นฉากที่น่าดูชมมากๆ และถ้าหากออสการ์มีรางวัลสำหรับการพูดปลุกใจยอดเยี่ยมแล้วละก็ กิ๊บสันคงต้องคว้ารางวัลนี้ไปอย่างไร้คู่แข่ง "พวกเขาอาจจะพรากชีวิตจากเราไป แต่มันไม่มีวันพรากอิสรภาพจากเราไปได้!"

อันดับที่ 10
Gladiator 2000
สมรภูมิในเยอรมันเนีย
ผลงานของ ริดลีย์ สก็อต

นับว่าคลาสสิกมากๆ ที่เลือกเปิดฉากหนังด้วยฉากการสู้รบระหว่างกองทัพโรมันกับชาวบาร์บาเรียนผู้น่าหวาดหวั่นภายในป่าที่เปียกชื้นลื่นโคลน ผลงานของรัสเซล โครว์เรื่องนี้เป็นการปลุกกระแสหนังสงครามยุคโบราณให้กลับมาโลดแล่นบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง พร้อมกับการมาถึงของยุคดิจิตอลในการสร้างฉากสงครามอันโดดเด่น

******************************************

และฉากสงครามยอดแย่ในโลกภาพยนตร์

Star Wars: Return of the Jedi 1983
สมรภูมิแห่งอนดอร์
ผลงานของ ริชาร์ด มาร์แควนด์

กองทัพมืออาชีพที่พรั่งพร้อมของจักรวรรดิ ที่หนุนหลังโดนด้านมืดของพลังอันแข็งแกร่ง ที่มีกองทัพที่พร้อมรบอันประกอบไปด้วย หุ่นพิฆาต Scout Walkers, สปีดเดอร์ ไบค์ และปืนลำแสงเต็มกำลัง กลับถูกโค่นล้มโดยอีว็อค จอมปุกปุยที่มีหินและท่อนไม้เป็นอาวุธ ที่ชนะสบายๆ โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากฮัน โซโลแม้แต่น้อย เชื่อเขาเลย

Star Wars: The Phantom Menace 1999
สมรภูมิแห่งนาบู
ผลงานของ จอร์จ ลูคัส

การต่อสู้กับกองทัพดรอยด์อันน่าหวั่นกลัว ทำให้นึกถึงบรรยากาศในเพลงของวง Pink Floyd ในยุค The Wall ได้อย่างดี ทั้งการการผนึกกำลังของกลุ่มเสรีชนอันน้อยนิดเพื่อต่อสู้กับการถูกข่มเหง, การดวลกันด้วยดาบเลเซอร์อย่างตระการตา แต่ปัญหาก็คือนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับความจริงที่ว่ามันเป็นหนังที่มีจุดจบที่ไม่ยุติธรรมที่สุดของวงการ โดยเฉพาะการตายของไควกอน จิน แต่กลับปล่อยให้ตัวน่ารำคาญและไร้ประโยชน์อย่าง จาร์ จาร์ บิง อยู่รอดหน้าตาเฉย ชีวิตมันไม่ควรเป็นอย่างนี้เลย

King Arthur 2004
สมรภูมิแห่งบาดอน ฮิล
ผลงานของ อังตวน ฟูควา

เป็นหนังสงครามดาดๆ ที่แม้แต่แฟนพันธุ์แท้ของบรักไฮเมอร์ยังต้องส่ายหน้า โดยเฉพาะเคียรา ไนท์ลีย์ที่มารบพุ่งในสนามรบด้วยชุดหนังบิกินี?, รับมือกับชนเผาแซกซอนทั้งเผ่า?, ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงที่หนาวเหน็บที่สุดของฤดูหนาว? แค่คิดก็ผิดแล้ว

The Lord of the Rings: Return of the King 2003
ทุ่งเพเลนนอร์
ผลงานของ ปีเตอร์ แจ็คสัน

...และแล้วการต่อสู้ยืนหยัดของชนเผ่ากอนดอร์มาข้ามวันข้ามคืน และการเสียสละอย่างไม่เสียดายเลือดเนื้อของรักรบโรฮันตลอดช่วงเช้าแห่งการนองเลือด ก็หมดความหมายลงไปในทันที เมื่อกองทัพวิญญาณปรากฏตัวออกมาจัดการเรื่องต่างๆ ที่ยืดเยื้อกันมานานให้จบลงอย่างรวดเร็ว ทีหลังช่วยมาให้มันเร็วกว่านี้หน่อยได้ไหม เป็นการเลี่ยงปัญหาทั้งหมดด้วยบทสรุปเอาแบบดื้อๆ จริงๆ

Dune 1984
สมรภูมิแห่งอาร์ราคิส
ผลงานของ เดวิด ลินช์

มันน่าตลกเสียมากกว่า กับการเห็นไคล์ แม็คลาคแลน พยามยามขี่หนอนทะเลทรายยักษ์ที่ดูยังไงก็เหมือนสายเครื่องดูดฝุ่น ในการนำนักรบฟรีเมนของเขาไปรบกับกองทัพแห่งซาร์ดูการ์ กับผลงานที่พยายามจะเทียบชั้นกับ Star Wars แต่ล้มเหลวแบบไม่เป็นท่า อย่างไรเสียฉากจุดจบของบารอน ฮาร์คโคเนนก็สะใจจริงๆ

Pearl Harbor 2001
การจู่โจมเพิร์ล ฮาร์เบอร์
ผลงานของ ไมเคิล เบย์

งานสร้างสุดเวอร์ครั้งนี้พยายามจะเปลี่ยนโศกนาฏกรรมแห่งเพิร์ล ฮาร์เบอร์ให้เป็นเรื่องราวรักสามเส้าอย่างละครน้ำเน่าซะอย่างนั้น และที่แย่ยิ่งกว่าคือเบน อัฟเฟล็กกลับรอดชีวิตหน้าตาเฉยในตอนจบซะอีก

****************************************
ในโลกนี้มีหนังสงครามอยู่ 2 แบบ หนึ่งคือแบบเชิดชูวีรบุรุษ หรือการถ่ายทอดสงครามในอุดมคติ อีกแบบคือหนังที่สะท้อนผลกระทบที่มีต่อร่างกายและจิตใจที่เกิดจากผลของสงคราม หรือการถ่ายทอดสงครามในมุมมองความเป็นจริง ขณะที่หนังสงครามประเภทแรกถูกสร้างขึ้นเพื่อสนอง Guilty Pleasures หรืออารมณ์เมามันส์ของผู้ชมเป็นหลัก แต่ผลงานที่หยิบเอาความเลวร้ายที่เกิดจากสงครามมาสร้างเป็นหนังทั้งหลายล้วนเป็นเจตนาของผู้สร้างที่ต้องการย้ำเตือนถึงความผิดพลาดในอดีตของมนุษย์ที่เอากำลังเข้าแก้ปัญหา เพียงเพื่อจะทำให้ปัญหานั้นฝังลึกลงไปมากกว่าเดิม แม้ผลงานหลายเรื่องที่เป็นบทเรียนชั้นดีจะถูกสร้างมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม แต่ปัจจุบันสันติภาพอย่างแท้จริงของมนุษยชาติยังเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น