xs
xsm
sm
md
lg

Paris, je t’aime : รัก...กับการหาคำนิยาม

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


เป็นเรื่องยากแสนสาหัสอยู่เหมือนกันสำหรับผู้อำนวยการสร้างหนังจากฝั่งยุโรป ในการหาเงินทุนและการคิดผลกำไรกับงานที่ตนเองทำไป - ให้ได้เป็นกอบเป็นกำหรืออย่างน้อยๆ ก็พอจะเลี้ยงตัวเองต่อไปได้

ช่วงเวลารุ่งโรจน์ของการเป็นผู้อำนวยการสร้างผู้ยิ่งใหญ่จากยุโรปอย่าง ดิโน เดอ ลอเรนติส หรือ คาร์โล ปอนติ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว (อันที่จริง ทั้งสองคนที่กล่าวมาก็ได้เขยิบมาทำหนังให้กับสตูดิโอฮอลลีวูดในภายหลัง) ทุกวันนี้การเรี่ยไรหาทุนจากเทศกาลหนังและการเข้าหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ กลายเป็นภารกิจหลักๆ ของผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ที่ไม่ต้องการทำหนังที่ขึ้นตรงกับสตูดิโอแบบที่อเมริกาทำ

ที่กล่าวมาเพื่อที่จะวกมาพูดถึง เอมมานูเอล เบนบิไฮ และ โคลดี ออสซาร์ ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์หนังที่ไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังอะไร แต่ด้วยความเป็นคนรักหนัง ทั้งสองจึงพยายามผลักดันโปรเจกต์ที่ “ขายยาก” ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

ดูรายชื่อหนังที่เบนบิไฮดูแล ขอสารภาพว่าผมไม่รู้จักเลย ส่วนออสซาร์นั้น เธอเคยผลักดันงานของผู้กำกับ ฌอง-ปิแอร์ เฌอเนต์ และมาร์ก กาโรอย่าง The City of Lost Children และเคยโปรดิวซ์หนังดังของฌอง-ฌากส์ บีนีกซ์ เรื่อง Betty Blue มาก่อน

Paris, je t’aime เป็นโครงการหนังสั้นรวมผู้กำกับจากทั่วโลกของเบนบิไฮและออสซาร์ เสร็จออกฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีก่อน สร้างความคึกคักพอสมควร เพราะหนังใช้ดาราราว 50 ชีวิต และผู้กำกับขาประจำเทศกาลหนังถึง 22 คน

นอกจากจะเป็นไฮไลต์สำคัญของเมืองคานส์ปีก่อน Paris, je t’aime ยังช่วยในแง่การ “ส่งเสริมการขาย” ให้กับหนังเทศกาลเพิ่มมากขึ้น อีกนัยหนึ่ง มันคือการโชว์ฝีมือผู้กำกับ (หรือ Show Reel) ให้ทั้งกับนายหน้าค้าหนังและผู้อำนวยการสร้างรายอื่นๆ ได้ชม

โจทย์ของ Paris, je t’aime กำหนดไว้อย่างง่ายๆ ตามชื่อเรื่องที่ตั้งเอาไว้ (หมายถึง ปารีส, ฉันรักเธอ) หนังสั้นทุกเรื่องต้องถ่ายทำในมุมใดมุมหนึ่งของปารีส และจะต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก

หนังสั้นแต่ละเรื่องความยาวราวๆ 5 นาที เมื่อจบหนึ่งเรื่องจะถูกคั่นด้วยภาพของปารีสในอารมณ์แตกต่างกันออกไป โดยเอมมานูเอล เบนบิไฮจะเป็นคนถ่ายในส่วนเสริมนี้ จากนั้นก็ไปตัดต่อและร้อยเรื่องของแต่ละคนเข้าด้วยกัน

พล็อตเรื่องไม่ได้ซับซ้อน ส่วนใหญ่เป็นมุมมองความรัก และห้วงอารมณ์ประทับใจแตกต่างกันออกไป ถ้าจะสรุปให้ง่ายขึ้น มันเหมือนกับการออกคำสั่งให้ผู้กำกับแต่ละคนเล่าถึงนิยามความรักด้วยตรรกะของตัวเอง

ผู้กำกับที่มาร่วมงานนี้ มีตั้งแต่ประเภทรู้จักกันดีอย่าง พี่น้องโคเอน (Fargo), กัส แวง ซองต์ (Good Will Hunting), อเล็กซานเดอร์ เพย์น (Sideways), เวส คราเวน (Scream), วอลเตอร์ ซัลเลส (The Motorcycle Diaries) หรือผู้กำกับหนังเทศกาลจ๋า อย่าง โอลิวิเยร์ อัสซายาส, โนบุฮิโระ ซูวะ, ทอม ทิกแวร์ แม้แต่ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ตากล้องชื่อดังก็มาร่วมทำหนังสั้นด้วย 1 เรื่อง

คุณภาพโดยรวมก็คละกันไป มีแบบที่ดีมากๆ และดีตามมาตรฐาน โชคดีที่ไม่มีหนังเรื่องไหนออกมาแย่จนน่าอาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้กำกับแต่ละคนซื่อสัตย์กับแนวทางของตัวเองเป็นอย่างมาก หนังเรื่องหนึ่งถ้าลองผู้กำกับได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริงแล้ว มันไม่มีทางออกมาแย่เด็ดขาด

ตัวอย่างของคนที่ซื่อสัตย์กับตัวเองอย่างถึงที่สุด ต้องยกให้วินเซนโซ นาตาลี ผู้กำกับจาก Cube เขามาทำในชื่อตอน Quartier de la Madeleine โดยสร้างให้บรรยากาศปารีสเป็นหนังแวมไพร์ขาวดำน่าสะพรึงกลัวและแสนราคาถูก ความลึกซึ้งอาจจะเทียบคนอื่นๆ ที่ขนาบข้างอยู่ไม่ได้เลย แต่กลิ่นและอารมณ์นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นปารีสและความรักในมุมมองของเขา

กัส แวง ซองต์ เป็นผู้กำกับที่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ และหนังหลายเรื่องมักข้องแวะกับเด็กหนุ่ม ความใสบริสุทธิ์ และมลทินที่แปดเปื้อน ในตอน Le Marais ของเขา ก็เป็นตัวเขามากเหลือเกิน มันสั้น ง่ายและหวาน

มันเป็นเรื่องของล่ามหนุ่มคนหนึ่ง (หนุ่มฮันนิบอลคนใหม่ – กัสปาร์ อุลลิเอล์) ที่พยายามเกี้ยวเด็กหนุ่มอีกคน (เอเลียส แม็กคอนเนลล์) ตามประสาคนเจ้าชู้ หว่านล้อมด้วยคำพูดคำจาต่างๆ นานา สารพัดจะนึกได้ในช่วงเวลาอันสั้น แน่นอนว่าเราไม่มีโอกาสได้เห็นความเป็นไปหลังจากนี้ แต่ช่วงเวลาที่เลือกมา มันเป็นการเริ่มต้นของความรักและความสัมพันธ์ที่มักเต็มไปด้วยความเสี่ยงและเรื่องน่าตื่นเต้น

อัลฟองโซ กัวรอง (Harry Potter 3) ถ่ายหนังสั้นของตัวเองเพียงเทคเดียว เป็นลองเทคการพูดคุยของพ่อ (นิก โนลตี) และลูกสาว (ลูดิวีน ซาจนีเยร์) ที่คล้ายว่าจะต้องเถียงกันอยู่ตลอดเวลา กัวรองจับภาพทั้งสองตัวละครในระยะไกล และให้พ่อพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงไม่เอาไหน คนดูเลยพาลจะหงุดหงิดตามลูกสาวไปด้วย เพราะเราไม่สามารถเข้าใจตัวพ่อได้เลย

โนบุฮิโระ ซูวะ เป็นคนทำหนังชาวญี่ปุ่นที่ทำหนังได้นิ่งและชวนง่วงเหงาหาวนอนมากคนหนึ่ง แต่สำหรับหนังสั้นของเขาไม่เป็นอย่างนั้นเลย มันสามารถทำให้คนดูรู้สึกเศร้าและเจ็บปวดได้ทันที ทั้งๆ ที่หนังใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

จูเลียต บินอช มารับบทแม่ผู้สูญเสียลูกชายไปและยังไม่สามารถก้าวผ่านการอาลัยอาวรณ์ได้ จนกระทั่งการปรากฏตัวของคาวบอยหนุ่ม ฮีโร่ที่ลูกชายเฝ้าฝันถึงตลอดเวลา ซูวะใช้ชื่อตอนว่า Place des Victoires อันหมายถึงอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภาพของโรแมนติกฮีโร่สมบูรณ์แบบของเด็กผู้ชาย

ตอนที่ดีมากคือตอนของอเล็กซานเดอร์ เพย์น เขายังเป็นตัวเองอยู่ด้วยการถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่ “ไม่ได้เป็นใครสักคน” แต่เป็นคนธรรมดาๆ กระเดียดไปทางขี้แพ้และไม่ค่อยได้สมปรารถนากับใครเขา บทบรรยายความรู้สึกของหญิงอ้วนวัยทองที่มาเที่ยวปารีสเป็นครั้งแรก (และอาจจะเป็นครั้งเดียว) พร้อมกับการสรุปรวบยอด แสดงให้เห็นฝีมือการเขียนบทของเพย์นอย่างแท้จริง และเห็นได้ชัดว่าเขาเป็นทรัพยากรอันมีค่าที่หาไม่ได้ง่ายนักในวงการหนังอเมริกัน

ตอนที่ดีที่สุดในความเห็นของผมเป็นตอนของ โอลิวิเยร์ อัสซายาส ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาเป็นคนปารีสโดยกำเนิด อัสซายาสเลยไม่ได้ห่วงหน้าพะวงหลังว่าตนเองจะต้องจับภาพมุมไหนเป็นพิเศษ อันที่จริงมันเหมือนเป็นสิ่งปกติและคุ้นชินของเขาอยู่แล้ว

ทั้งการตัดต่อ การเคลื่อนกล้องเป็นสไตล์อัสซายาสแบบที่นักดูหนังคุ้นเคยกัน และพล็อตเรื่องก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก เรามักรู้สึกอย่างนี้กับหนังของเขา แต่ลงท้ายก็มักจะได้อารมณ์บางอย่างตกค้างอยู่เสมอ

โดยรวม Paris, je t’aime ออกมาเป็นหนัง “รวมมิตร” (Anthology) ที่สนุก หลากหลายและลงตัว มีงานของผู้กำกับดังๆ อีกหลายคนที่ดีๆ อีกมากซึ่งผมไม่มีเนื้อที่พอจะกล่าวถึง มันถือเป็นความสำเร็จของโปรดิวเซอร์จากยุโรปที่พยายามชุบชีวิตหนังและคนทำหนัง ที่ไม่จำเป็นต้องกลืนไปกับการค้าในกระแสหลัก

ดูแล้วอาจจะเก็บอะไรได้ไม่หมด แต่พอจะพูดได้ว่ารู้สึกถึง “ความรัก” ที่หนังต้องการจะบอกจริงๆ
...
เรื่องโดย - ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี
กำลังโหลดความคิดเห็น