xs
xsm
sm
md
lg

Bridge to Terabithia...สิ่งที่แฮร์รี พ็อตเตอร์ลืมบอกกับคุณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...อดิศร สุขสมอรรถ

"จงเปิดใจให้กว้างเอาไว้ แล้วเราจะประหลาดใจกับสิ่งที่มันนำมา"

งานเขียนอย่างแฮร์รี พ็อตเตอร์เป็นเหมือนกับการปฎิวัติวงการวรรณกรรมเยาวชนทั้งปวง ด้วยการสร้างโลกแห่งจินตนาการอันใหญ่โตของเวทมนตร์จนกลายเป็นหนังสือที่มีแฟนๆ ชื่นชอบกันทั่วโลก

แต่กาลเวลาผ่านไป เมื่อแฮร์รีโตขึ้นเรื่อยๆ ทิศทางของเนื้อหาในเล่มหลังๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากวรรณกรรมเด็กที่มีจุดเด่นด้านการหักมุม ความซับซ้อนของมันมากขึ้นจนจุดเด่นด้านหลังจะมีมากกว่าการเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเข้าไปทุกที ซึ่งในฐานะนักอ่านผู้ใหญ่อย่างผมจะชอบมากๆ และหวังว่าหลังจากเสร็จงานเขียนสำหรับเด็กอย่างแฮร์รี พ็อตเตอร์ในเล่มที่ 7 ที่จะวางขายเร็วๆ นี้แล้ว เจ.เค.โรว์ลิง น่าจะประสบความสำเร็จในงานเขียนระดับ "ผู้ใหญ่" ได้เป็นอย่างดี

Bridge to Terabithia เมื่อเทียบกับแฮร์รี พ็อตเตอร์ในยุคปัจจุบันนั้นดูจะแตกต่างกันมาก เพราะมันไม่ใช่ผลงานที่จะทำให้เด็กนับล้านหันมาอ่านวรรณกรรมเหมือนกับเรื่องราวของพ่อมดน้อย แต่ใจความสำคัญของ Bridge to Terabithia นั้นเทียบได้กับหัวใจสำคัญของวรรณกรรมเยาวชนทุกเรื่องเลยทีเดียว

Bridge to Terabithia เป็นผลงานของนักเขียนอเมริกันแคเธอรีน แพ็ตเตอร์สัน เมื่อปี 1977 นับวันที่หนังออกฉายก็ 3 ทศวรรษพอดี ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์มาแล้วเมื่อปี 1985 แต่เป็นครั้งแรกที่ถูกสร้างสำหรับฉายในจอใหญ่

Terabithia อาจจะเป็นชื่อที่คุ้นหูของแฟนที่เป็นสาวกของ ซี. เอส. ลูอิส เพราะเสียงของมันไปพ้องกับชื่อเกาะ Terebinthia ในดินแดนนาร์เนีย ที่ถูกเอ่ยถึงทั้งในตอน Prince Caspian และ The Voyage of the Dawn Treader ซึ่งแพ็ตเตอร์สันเองกล่าวว่าทั้งเธอและลูอิสต่างก็ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อต้นไม้ Terebinth ในพระคัมภีร์ไบเบิลด้วยกันทั้งคู่

Bridge to Terabithia เป็นเรื่องราวของ เจซ คือเด็กผู้ชายที่เข้ากับใครไม่ได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน จนกระทั้งเขาได้มาเจอกับ เลสลี นักเรียนหญิงคนใหม่ของโรงเรียน แม้จะไม่ถูกชะตากันในตอนแรก แต่ไม่นานทั้งคู่ก็กลายเป็นเพื่อนรักกัน เลสลีชอบเล่าเรื่องราวมหัศจรรย์ ส่วนเจซชอบวาดรูป ซึ่งเขาไม่เคยบอกใครกระทั่งได้พบเธอ เลสลีเปิดโลกแห่งจินตนาการให้เจซ พวกเขาร่วมกันสร้าง “ทีราบิเธีย” อาณาจักรลับสุดมหัศจรรย์ที่ทั้งคู่เดินทางเข้าไปโดยการโหนเถาวัลย์ข้ามแม่น้ำใกล้บ้าน ที่นั่น พวกเขาตั้งตนเป็นผู้ครองดินแดน ต่อสู้กับจอมวายร้ายและสมุน และช่วยกันวางแผนรับมือพวกชอบรังแกที่โรงเรียน มิตรภาพที่มีต่อเลสลี่ทำให้เจซเปลี่ยนไปตลอดกาล

ในช่วงแรกหนังดำเนินเรื่องตามสูตรของหนังครอบครัวทั่วไป โดยมีเจซเป็นเด็กชายที่แสนจะทุกข์ยาก ที่บังเอิญได้มาเจอกับ เลสลี ที่เปรียบได้ดั่งนางฟ้าที่มาทำให้ชีวิตที่เส็งเคร็งของเขามีอะไรขึ้นมา

เจซซึ่งชอบถ่ายทอดจินตนาการด้วยการวาดรูปในสมุดพก แต่ถูกเลี้ยงดูโดยคุณพ่อที่พกความเป็นจริงของโลกใบนี้อยู่ในกระเป๋าเสมอ และพร้อมที่จะหยิบมันให้กับทุกคนที่เขารู้จัก โดยเฉพาะลูกชายช่างฝันแต่ไม่มั่นในตัวเองอย่างเจซ ที่เขาเป็นห่วงที่สุดว่าการเป็นคนช่างฝันของเขาจะมีปัญหาต่อการเผชิญหน้ากับความเป็นจริงต่างๆ ในโลก

แต่การได้พบกับเลสลีได้ทำให้เขามีกำลังใจในความฝันของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาได้รู้ว่ามันไม่มีความแตกต่างกันเลย กับการที่เลสลีจะสร้างเรื่องต่างๆ จากจินตนาการของเธอเองออกมาเล่าเป็นตุเป็นตะ เพราะตอนที่เขาเขียนรูปต่างๆ ลงไปในสมุดพก เขาก็ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านั้นมาก่อนเหมือนกัน มีเพียงจินตนาการเท่านั้นที่พาเขาไป

สิ่งที่ทำให้ช่วงแรกของหนังที่เรื่อยๆ มีความน่าสนใจมากขึ้นก็คือการแสดงของ 2 หนูน้อยอย่าง โจช ฮัชเชอร์สัน ในบท เจซ และ แอนนา โซเฟีย ร็อบบ์ ในบท เลซลี อย่างปฎิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะแอนนา โซเฟียที่หลายคนคงจำเธอได้จากบทสาวน้อยจอมวายร้ายใน Charlie and the Chocolate Factory ที่เธอเล่นได้อย่างน่าหมั่นใส แต่ความน่ารักของเธอดูจะเหมาะกับบทเลสลีด้วยเหมือนกัน

ดูสองคนนี้แล้วทำให้คิดถึงหนังไทยน่ารักแต่คลาสสิกอย่างปุกปุยที่ออกฉายเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนจริงๆ

และใครจะเชื่อว่า หนังสือที่เกี่ยวกับการเล่าเรื่องตามจินตนาการของเด็กเรื่องนี้จะติดอันกับที่ 9 ของหนังสือ 100 เล่มที่ได้รับการต่อต้านมากที่สุดในรอบปี 1990-2000 จากสถาบัน American Library Association เพราะเนื้อหาที่พาดพิงถึงความเชื่อทางด้านศาสนาที่มีอยู่ในหนังสือ ซึ่งในฉบับภาพยนตร์ก็รวมอยู่ด้วยเช่นกัน หากแต่การออกมาวิพากษ์ทางศาสนาครั้งนี้ที่พูดโดยสาวน้อยอย่างเลสลีไม่ได้มีผลต่อการออกมาต่อต้านอย่างใด เช่นเดียวกับวิธีการที่นิยมมากในหนังฮอลลีวูดในการมอบความคิดอันสวนทางต่อความเชื่อของคนส่วนใหญ่แก่ตัวละครที่เป็นตัวโกงของเรื่องเป็นผู้ถ่ายทอด ก็มักจะไม่มีคนออกมาโต้แย้ง(อาจเป็นเพราะเป็นคำพูดของคนเลว) จึงทำให้มันดูไม่รบกวนใจผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย แทนที่จะออกมาจากปากของตัวละครที่เป็นตัวเอก(หรือเป็นผู้ใหญ่) รวมทั้งแนวคิดอันเป็นกบฎดังกล่าวก็ยังได้รับการเผยแพร่ออกไปตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ (เช่นเดียวกับกรณีฉบับภาพยนตร์ของ Da Vinci Code ที่คำพูดที่ขัดแย้งต่อความเชื่อถูกโยนไปให้เป็นหน้าที่ของเซอร์ลี ทิบบิงแทนทั้งหมด ทั้งๆ ที่ฉบับหนังสือแลงดอนกับทิบลิงแทบจะเป็นลูกคู่กันทีเดียว)

ตัวหนังดำเนินมาเรื่อยๆ จนคนดูรู้สึกผ่อนคลายกับเนื้อเรื่องที่ดำเนินไปตามจินตนาการของตัวละครเด็กทั้งสอง ก่อนที่จะถูกกระชากอารมณ์ด้วยจุดหักเหของหนัง ที่เปลี่ยนจากหนังครอบครัวดูสบายๆ เรื่องหนึ่งเป็นหนังดรามาที่ทรงพลังและน่าจดจำไปเลย

สำหรับเรื่องของ CGI นั้นถ้าใครจะมาดูจากเรื่องนี้อาจจะผิดหวัง เพราะมันไม่ได้มีมากเหมือนกับที่หน้าหนังเอามาให้ดู แต่มันมีเท่าที่จำเป็นต่อการเล่าเรื่อง และทำได้อย่างสมบูรณ์ ต่างจากหนังที่เข้าโรงช่วงเดียวกันอย่าง 300 ที่โชว์ CGI ขั้นสุดยอด แต่ขาดการเล่าเรื่องที่คู่ควรกับเทคนิคดังกล่าวไปอย่างน่าเสียดาย (แต่แฟนหนังสงครามยุคโบราณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง)

และแม้ Bridge to Terabithia จะเป็นหนังที่เหมาะกับผู้ปกครองที่จะใช้มันเป็นสิ่งปลูกฝังจินตนาการให้กับเด็กๆ แต่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงที่หนังเรื่องนี้ต้องการสื่อถึงก็คือตัวผู้ใหญ่นั้นเอง

เพราะการเป็นผู้ใหญ่ทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคมากมายในชีวิต ซึ่งเป็นอาจจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นที่เราจะใช้เป็นที่หลบหนีความฝันของเราเอง

แต่คงไม่ผิดถ้าเราจะใช้ช่วงเวลาเล็กๆ กลับไปยังดินแดนที่แสนวิเศษของเราอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะเติมพลังในชีวิตในการต่อสู้กับความเป็นจริงที่โหดร้ายของโลกต่อไป

และถ้าเชือกที่ใช้พาคุณข้ามไปสู่อีกฝั่งของความฝันมันเล็กเกินไปแล้วล่ะก็ อย่าให้น้ำหนักตัวของคุณมาเป็นอุปสรรค จงหาหนทางอื่นที่จะนำคุณไปสู่ดินแดนแห่งนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น