xs
xsm
sm
md
lg

I’m a Cyborg, But That’s OK + Copying Beethoven ความรักของคนวิกลจริต

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


แฟนๆ ของ เรน อาจจะรู้สึกตะลึงเล็กน้อยหากพกพาความคาดหวังว่า I’m a Cyborg, But That’s OK – หนังเรื่องแรกของซูเปอร์สตาร์หนุ่มชาวเกาหลีคนนี้ จะออกมาในแนวทางเดียวกับที่เคยมอบความประทับใจมากมายจากภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ Full House อันโด่งดัง

มองอย่างผิวเผิน หนังเรื่องนี้ดูจะไม่ใกล้เคียง Full House เลย จนอาจพาลจะทำให้คนดูตั้งแง่และไม่เข้าใจเนื้อแท้ของมัน - ซึ่งต้องบอกกันตรงๆ ว่า มันเป็นหนังที่ท้าทายและเปี่ยมคุณค่ากว่าหนังรักเกาหลีทั่วๆ ไป

อีกด้านหนึ่ง แฟนๆ ของผู้กำกับ พักชานวุก (ที่คงมีไม่น้อยในบ้านเรา) ซึ่งเคยยกย่องและบูชาเขาจากงานชิ้นเก่าๆ อย่าง Sympathy for Mr. Vengeance, Oldboy และก่อนหน้านี้ Sympathy for Lady Vengeance (ที่เจ้าตัวบอกเองว่าจะเป็นการปิดม่านหนังที่ว่าด้วย “การล้างแค้น” อย่างสมบูรณ์ และสำหรับ I’m a Cyborg, But That’s OK จะเป็นหนังที่พูดถึง “ความรัก” ในทัศนะของตนเอง) ก็คงจะต้องประหลาดใจ

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า I’m a Cyborg, But That’s OK ไม่ได้ร้อยเรียงเรื่องราวและอารมณ์ตามขนบนิยมของหนังรักเกาหลีที่เราได้ดูกัน เห็นได้ชัดสุดในอย่างแรกก็คือ พล็อตเรื่องที่เหมือนจะง่าย แต่จริงๆ แล้ว กลับไม่มีการเผยปมสำคัญ ไม่มีตรรกะที่ชัดเจนไว้รองรับ รวมทั้งไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนองตอบความปรารถนาแก่คนดู

ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ คือ ยองกุน (อิมซูจอง) หญิงสาวที่คิดว่าตัวเองเป็นหุ่นไซบอร์ก และถูกโยนเข้าโรงพยาบาลบ้า หลังจากที่พยายามชาร์ตแบตเตอรีตัวเองด้วยการยัดสายไฟเข้าไปในเส้นเลือด เธอมีภารกิจบางอย่างนั่นคือการช่วยชีวิตคุณยายกลับมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หญิงชราถูกจับตัวส่งโรงพยาบาลบ้าเช่นเดียวกัน เพราะไม่ยอมกินอะไรนอกจากหัวไชเท้า

ที่โรงพยาบาล ยองกุนได้เจอกับพวกสติแตกมากมาย แต่ในบรรดาทั้งหมด คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเธอ คือ อิลซุน (เรน) เด็กหนุ่มที่ชอบขโมยความบกพร่อง (หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว) ของคนบ้าคนอื่นมาไว้กับตัวเอง

หนังบอกเล่าที่มาสั้นๆ ของอิลซุนไว้อย่างเศร้าๆ เด็กหนุ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะหายตัวไปจากโลกนี้ (นั่นคงมาจากการถูกทอดทิ้งและได้รับการเมินเฉยจากคนรอบข้าง) เขาจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเอง “รู้สึก” ว่า ตนยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่การแปรงฟันตลอดเวลา เลยไปจนถึงการขโมยของเพื่อต้องการให้มีคนตามไล่จับ (นัยว่าเพื่อให้คนหันมาสนใจเขา)

ปูมหลังของยองกุนดูเจ็บปวดไม่แพ้กัน เธอเข้าใจมาตั้งนานแล้วว่าตนเองเป็นหุ่นยนต์ อาศัยอยู่กับยายที่สติไม่ดี รวมถึงแม่ที่อาจจะเข้าข่าย “บ้า” กว่าใคร ปมสำคัญเพียงอย่างเดียวคือเด็กสาวตั้งใจซ่อมวิทยุเพื่อเปิดฟังรายการที่ยายโปรดปราน หวังว่าสักวันหนึ่งยายที่รักจะกลับมา แต่ทำเท่าไรก็ไม่เกิดผลลัพธ์ หนหนึ่งเธอเปรยคำพูดถึงตัวเองที่ดูอ้างว้างเหลือเกินว่า “ฉันเป็นไซบอร์ก ที่ไม่มีคู่มือการใช้งานติดมาด้วย”

ในหนังมีการพูดถึงบาป 7 ประการผ่านทางรายการวิทยุและหนังสือนิทานที่ติดตัวยองกุนมา แต่มันไม่ใช่บาป 7 ประการที่เราๆ คุ้นเคยกัน มันแทบจะตรงข้ามทั้งหมด บาปทั้ง 7 เป็นตัวยับยั้งการแก้แค้นที่ถ้าหากยองกุนไม่กำจัดไปให้หมดแล้ว เธอจะไม่สามารถช่วยยายกลับมาได้

ใจความโดยรวมของบาปที่หนังพูดถึงนั้นคือ “การเห็นอกเห็นใจ” (Sympathy) ซึ่งพักชานวุกมักจับมาวางเคียงคู่กับ “การล้างแค้น” (Vengeance) เสมอๆ ในหนังของเขา ที่ผ่านๆ มามักเน้นในส่วนหลัง แต่ใน I’m a Cyborg, But That’s OK เป็นการมองในแง่งามของความเห็นอกเห็นใจอย่างเต็มที่

ใน Sympathy for Lady Vengeance หนังเรื่องก่อนของเขา (หนังออกดีวีดีในบ้านเราแล้ว) เปิดเนื้อที่ส่วนปลายเรื่องให้กับการตั้งคำถามถึงการคาดโทษประหารชีวิตอย่างเต็มที่ ด้วยการให้เหยื่อทั้งหมดมานั่งประชุมกันว่าควรจะจัดการกับเจ้าฆาตกรใจบาปอย่างไรดี

ใน I’m a Cyborg, But That’s OK ยองกุนได้ล้างแค้นอย่างเมามันถึง 2 ครั้ง แต่สิ่งที่เธอหวังนั้น (คือคุณยายจะกลับมา) สุดท้ายก็ไม่เป็นจริง

ถึงจะเต็มไปด้วยองค์ประกอบทางด้านภาพและงานสร้างที่หลุดโลกอย่างหนักมือ แต่บทสรุปรวบยอดท้ายสุดของ I’m a Cyborg, But That’s OK คือการพูดถึงการเปิดใจเพื่อเว้นที่ให้กับความรักและการเยียวยา หลังจากฝุ่นควันและความเจ็บปวดได้ผ่านพ้น ยองกุนก็ได้เห็นว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น เธอยังมีอิลซุนยืนเคียงข้าง และสิ่งหนึ่งที่อิลซุนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน –ไม่ว่าเขาจะเข้าใจมันหรือไม่ก็ตามที- คือ การทำให้ตัวเองรู้สึกว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ได้มาด้วยการขโมย แต่มันคือการหยิบยื่นให้ผู้อื่นด้วยความรัก

ฉากสุดท้ายเป็นฉากที่ทั้งสองคนนอนกอดกันท่ามกลางภูมิทัศน์โล่งกว้าง เงียบสงบ ไม่มีอะไรมาบดบังทัศนียภาพเหมือนตอนอยู่ในโรงพยาบาล มันเป็นตอนจบที่ดูหลุดและเพ้อเจ้อกว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เราได้ดูกันมา แต่ก็ค้านไม่ได้เช่นกันว่า นี่เป็นภาพที่สวยจับใจเหลือเกิน

Copying Beethoven หนังของผู้กำกับหญิงชาวโปแลนด์ แอกเนียสก้า ฮอลแลนด์ เชื่อมโยงกับ I’m a Cyborg, But That’s OK อย่างแกนๆ แต่สิ่งที่หนังทั้ง 2 เรื่องพูด ทำให้ผมอดนำมาเอ่ยถึงคู่กันไม่ได้ Copying Beethoven กำลังจะลงโรงฉายในบ้านเรา และมันก็เป็นหนังที่งดงามไม่แพ้กัน

หนังเล่าถึง อันนา โฮลต์ซ (ดิออน ครูเกอร์) นักเรียนดนตรีสาวสวยที่เข้ามารับงานเป็นคนลอกสำเนาให้กับ ลุดวิก ฟาน บีโธเฟน (เอ็ด แฮร์ริส) ในช่วงสุดท้ายของชีวิต - ที่อาการหูหนวกของบีโธเฟนรุมเร้าอย่างหนัก และกำลังคร่ำเคร่งกับการเขียนเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ผลงานที่เจ้าตัวหวังว่าจะทิ้งท้ายก่อนตาย

บีโธเฟนในหนังนั้นเป็นพวกเจ้าอารมณ์ และสติหมิ่นเหม่จะตกลงเหวได้ทุกเมื่อ ทุกคนรังเกียจเขาแม้กระทั่งหลานชายสุดที่รักของตัวเอง อันนาจึงต้องทนกับระดับความเพ้อคลั่งที่ไม่คงที่ของเขาตลอดเวลาที่ทำงานด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ผมชอบหนังเรื่อง Immortal Beloved (1994, เบอร์นาร์ด โรส) มาก หนังเล่าเรื่องการไขปริศนาว่าใครกันคือหญิงที่บีโธเฟนถือเป็น “รักอันอมตะ” แต่กับ Copying Beethoven มันไม่เหมือนกัน ถึงสุดท้ายแล้ว ผู้หญิงจะมีส่วนเป็นแรงบันดาลใจต่องานประพันธ์ของเขา แต่หนังทั้ง 2 เรื่องเล่าถึงผู้หญิงคนละคน

ผู้หญิงคนนั้นใน Immortal Beloved (หรือก็คือ แม่ของคาร์ล หลานชายที่เขาถ่ายเทความคาดหวังลงไปเต็มที่) เป็นความผูกพันแบบทั้งรักทั้งเกลียด เป็นหญิงเดียวที่ฝากรอยจำไว้ในหัวใจลึกเท่าลึก แต่กับ อันนา โฮลต์ซ (ตัวละครที่หนังสมมติขึ้น) เธอคือแรงบันดาลใจในคืนวันที่เปลี่ยวเหงา เธอมองบีโธเฟนไม่เหมือนกับคนอื่นๆ แต่ได้ก้าวผ่านกำแพงหนาทึบที่หลายคนมองว่าเขาคือคนบ้า แล้วได้พบกับเนื้อแท้อันเปราะบาง

แอกเนียสก้า ฮอลแลนด์ เป็นคนทำหนังที่ไม่ได้มีลายเซ็นชัดเจน แต่เธอก็มักจะเล่าเรื่องได้ดีตามแต่ละบริบทที่เธอจัดการอยู่ สำหรับ Copying Beethoven เธอดึงอารมณ์ฉากการแสดงคอนเสิร์ตให้อยู่ในจุดสูงสุด (ทั้งที่มันอยู่กลางเรื่อง) และปล่อยให้ฉากสำคัญในช่วงท้ายออกมาราบเรียบ ไม่เร้าอารมณ์คนดูจนเกินไปนัก

ฉากจบของหนังทำให้ผมนึกถึง I’m a Cyborg, But That’s OK มากที่สุด หลังจากที่ตลอดทั้งเรื่อง หนังถ่ายทำอยู่ในห้องหับแคบๆ และมีวัตถุต่างๆ มาเป็นโฟร์กราวนด์รกรุงรัง - คนดูจะได้เห็นอันนา โฮลต์ซ เดินเข้าไปในป่า เข้าหาธรรมชาติอย่างเงียบๆ ภาพเปิดโล่งเต็มที่ หญิงสาวกลายเป็นผู้สืบทอดวิญญาณของศิลปินเอกอย่างสมบูรณ์ และลบคำว่า “บ้า” ออกไปจากหัวใจจนหมดสิ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น