Thank You for Smoking เป็นผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องยาวชิ้นแรกของ เจสัน ไรต์แมน (ลูกชาย อีแวน ไรต์แมน ผู้กำกับ Ghostbusters 1 และ 2) หนังดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ คริสโตเฟอร์ บักลีย์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1994
ศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ นิก เนย์เลอร์ ล็อบบี้ยิสต์หนุ่มประจำ ‘สถาบันศึกษาด้านยาสูบ’ ซึ่งก่อตั้งโดยนายทุนยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมบุหรี่ มีเป้าหมายในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาหลักฐานมายืนยันแก่สังคมว่า ‘บุหรี่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างที่เข้าใจ’ โดยเฉพาะ
นิก เนย์เลอร์เป็นหน่วยกล้าตายของสถาบันแห่งนี้ เขาขึ้นสารพัดเวทีเผชิญหน้ากับสารพัดกลุ่มสารพัดองค์กรที่ต่อต้านการสูบบุหรี่ แทบทุกครั้งการถกเถียงเป็นไปอย่างเผ็ดร้อน แต่ทุกครั้งนิกก็เอาตัวรอดมาได้ หนำซ้ำเขายังมีกลเม็ดเด็ดพรายในการหักหน้าและ ‘หักล้างความปรารถนาดี’ ของฝ่ายตรงข้ามจนอยู่หมัด
เนื้อหาทั้งหมดของหนังก็คือการเล่าถึงชีวิตโกลาหลของนิกในการรับมือกลุ่มต่อต้านต่างๆ โดยมีคู่ปรับคนสำคัญคือ วุฒิสมาชิก ออร์โทแลน ฟินิสแตร์ ซึ่งชูประเด็นการต่อต้านบุหรี่หัวชนฝา และขณะนั้นกำลังผลักดันอย่างแข็งขันให้รัฐบาลออกกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิตบุหรี่ทุกรายต้องติดสัญลักษณ์ ‘หัวกะโหลกไขว้’ บนซองบุหรี่
จุดเด่นประการแรกสุดของ Thank You for Smoking ก็คือ มันเป็นหนังที่สนุกและตลกอย่างยิ่ง หนังเต็มไปด้วยอารมณ์ขันร้ายกาจแสบสันต์มากมาย เช่น ตอนหนึ่ง นิกได้รับเชิญไปพูดที่ชั้นเรียนของลูกชายในหัวข้อ ‘ผู้ปกครองของฉันทำงานอะไร?’ และทันทีที่นิกแนะนำตัวว่า เขาเป็นตัวแทนบริษัทบุหรี่ ก็มีปฏิกิริยาตอบสนองทันควันจากแม่หนูน้อยหน้าตาน่ารักคนหนึ่งว่า “แม่บอกว่าบุหรี่ฆ่าคนตาย” นิกได้ยินดังนั้นก็ถามหนูน้อยกลับอย่างไม่รอช้า “แม่หนูเป็นหมอเหรอไงจ๊ะ?”
หรืออีกตอนซึ่งอยู่ในฉากเปิดเรื่อง นิกได้รับเชิญไปร่วมรายการทอล์กโชว์ชื่อดัง บนเวที เขาต้องเผชิญหน้ากับองค์กรต่อต้านการสูบบุหรี่หลายกลุ่ม แถมวันนั้นทางรายการยังมีแขกรับเชิญพิเศษคนหนึ่ง นั่นก็คือ เด็กหนุ่มวัย 15 ซึ่งอนาคตที่ควรจะสดใสมีอันต้องพลิกผันดับวูบ หลังจากที่หมอตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งขั้นร้ายแรงอันเป็นผลพวงจากการริสูบบุหรี่ตั้งแต่ยังเด็ก
ยังไม่ทันที่การพูดคุยจะดำเนินไปได้เท่าไหร่ นิกก็ฉวยโอกาสแก้ต่างล่วงหน้าให้บริษัทของตน “ทำไมคุณถึงคิดว่าเราอยากจะทำให้เด็กหนุ่มคนนี้ตาย? พูดตรงๆ เราได้รับความเสียหายจากการตายของเขานะ เพราะมันเท่ากับว่าเรากำลังจะเสียลูกค้าไปอีกคน ฉะนั้น สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของเราก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กหนุ่มคนนี้มีชีวิตอยู่ และยังสูบบุหรี่ต่อไปต่างหากเล่า”
พ้นจากอารมณ์ขันและความสนุกสนานบันเทิง สิ่งที่ดีที่สุดของหนังเรื่องนี้ก็คือ ‘ทัศนคติ’ ที่มีต่อประเด็นเผ็ดร้อนของสังคมอย่างเรื่องการสูบบุหรี่
‘บุหรี่เป็นพิษภัยต่อสุขภาพอย่างไร?’ ‘ควันบุหรี่ลามปามทำร้ายคนรอบข้างมากแค่ไหน?’ ‘ในบุหรี่แต่ละมวนมีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายบรรจุอยู่กี่ร้อยกี่พันชนิด?’ เหล่านี้เป็นโทษภัยของบุหรี่ที่เราต่างได้รับการพร่ำบอกมาเป็นเวลานานไม่น่าจะน้อยกว่า 2 ทศวรรษ
ทว่าดูเหมือนจะเป็นไม่กี่ปีหลังนี้เอง ที่การทำสงครามต่อต้านบุหรี่ชักหนักข้อ แผ่นป้ายคำเตือนต่างๆ ปรากฏหราทั่วทุกหัวระแหง การบ่มเพาะทัศนคติให้คนทั่วไปประณามรังเกียจการสูบบุหรี่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง และหนักเข้า ก็ลุกลามเลยเถิดจนทำให้คนเกิดความรู้สึกทางลบทางร้ายต่อผู้สูบบุหรี่ ราวกับว่าพวกเขาเป็นไอ้วายร้ายตัวเอ้ของสังคมอย่างไรอย่างนั้น
Thank You for Smoking ไม่ละเลยที่จะนำเสนอโทษภัยของบุหรี่ ในหนังมีการกล่าวย้ำอยู่หลายครั้งว่า สินค้าประเภทนี้คร่าชีวิตผู้คนถึง 1,200 คนต่อวัน (นี่คือตัวเลขในหนัง ของจริงเป็นอย่างไรดิฉันไม่ทราบ) ซึ่งเป็นสถิติที่ทำให้สินค้ากลุ่มมารสังคมอื่นๆ อย่างเหล้าและปืน ยังต้องยอมศิโรราปโดยไม่ต้องเสียเวลามาคิดแข่ง
นอกจากนั้น หนังยังแสดงให้เห็นเล่ห์กลแพรวพราวของกลุ่มผู้ผลิตบุหรี่ที่พยายามจะเพิ่มยอดขายสินค้าของตนด้วยวิธีการสารพัด นับตั้งแต่การทุ่มเงินกว้านซื้อตัวนักวิทยาศาสตร์หัวกะทิมาเป็นพวกพ้อง (เพื่อพิสูจน์ว่า ‘บุหรี่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ ดังที่ได้เล่าไว้) การหว่านเงินรณรงค์ให้ผู้คนงดสูบบุหรี่เพียงเพื่อหวังสร้างภาพพจน์ให้องค์กรของตน (และจะส่งผลต่อเนื่องให้คนรู้สึกว่า พ่อค้าบุหรี่นั้นช่างเป็นมิตร) การใช้เงินฟาดหัวหมายปิดปากผู้เคราะห์ร้ายที่ประสบปัญหาสุขภาพจากบุหรี่ ตลอดจนการอัดเงินซื้อโฆษณาแฝงในสื่อภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม หากสมาชิกกลุ่มต่อต้านบุหรี่ท่านใด กำลังคิดจะเอื้อมมือไขว่คว้าหนังเรื่องนี้ไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือรณรงค์ของกลุ่ม ขอความกรุณาหยุดความคิดดังกล่าวเสียก่อน
เพราะตัวเจสัน ไรต์แมน ผู้กำกับ บอกไว้ชัดแทบจะทุกครั้งของการให้สัมภาษณ์ว่า Thank You for Smoking ไม่ใช่หนังที่ ‘ต่อต้าน’ หรือ ‘สนับสนุน’ การสูบบุหรี่ แต่ประเด็นสำคัญที่เขาอยากจะบอกผู้ชมก็คือ บุหรี่นั้นเป็นอันตรายร้ายแรงจริง ทว่าท้ายที่สุด แต่ละบุคคลก็ควรมีสิทธิ์และเสรีภาพในการ ‘เลือก’ ว่าจะสูบมันหรือไม่
และในความเป็นจริง แม้ว่าด้านหนึ่งหนังจะแสดงให้ผู้ชมเห็นถึงโทษทัณฑ์ต่างๆ ของบุหรี่ดังที่ได้กล่าวมา แต่ในอีกด้าน หนังก็ตั้งคำถามชวนคิดในมุมกลับเหมือนกันว่า แล้วสารพัดกลยุทธ์ สารพัดมาตรการ ที่กลุ่มต่อต้านบุหรี่ปฏิบัติกันนั้น ที่จริงแล้วเกินเลยไปไหม? ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่?
ในหนังปรากฏเหตุการณ์อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ ที่แสดงให้เห็นความเกินเลยและความไม่ชอบธรรมที่ฝ่ายต่อต้านบุหรี่นำมาใช้ในสงครามครั้งนี้
เหตุการณ์แรกเป็นการกระทำต่อกลุ่มคนในแวดวงบุหรี่โดยตรง นั่นก็คือ การที่นิก เนย์เลอร์ ถูกลักพาตัวไปทำร้ายเพื่อให้ได้รับบทเรียนสาสมเจ็บแสบ และเพื่อข่มขู่พวกพ้องของเขาให้ตระหนักถึงบทลงโทษที่จะได้รับ หากยังคงผลิตสินค้าสู่ท้องตลาดต่อไปไม่เลิก
อีกเหตุการณ์หนึ่ง เป็นการกระทำต่อสาธารณชนโดยรวม เมื่อท่านวุฒิสมาชิก ออร์โทแลน ฟินิสแตร์ ผู้เรืองปัญญา ออกมาตรการเซนเซอร์หนังดะ ไม่ว่าจะเป็นหนังขึ้นทำเนียบคลาสสิกสูงส่งสักแค่ไหน เป้าหมายคือการลบผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภทออกจากหนังเหล่านั้น โดยไม่สนใจกันอีกแล้วว่า การกระทำเช่นนั้น จะส่งผลเสียหายต่อคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์ใดๆ บ้างหรือไม่
หากพิจารณาแต่เพียง ‘เป้าหมาย’ แต่เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่า ฝ่ายต่อต้านบุหรี่ซึ่งมีความมุ่งหวังจะกำจัดภัยคุกคามสุขภาพประชาชน ย่อมสมควรได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนอย่างสุดหัวใจ
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเหตุการณ์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น ก็ชวนให้ตั้งคำถามเหมือนกันว่า “หากมีเป้าหมายที่ดีเป็นตัวตั้งเสียแล้ว จะใช้วิธีการ ‘อย่างไรก็ได้’ โดยไม่ต้องสนใจกันอีกแล้วว่า จะคุกคามสิทธิ์เสรีภาพของใครและอย่างไร ดูถูกสติปัญญากันมากแค่ไหน และกระทบกระเทือนสิ่งใดบ้าง”
...อย่างนั้นหรือ?