หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนของคืนวันที่ 7 มีนาคม 2550 เป็นต้นไป บ้านเราก็จะไม่มีสถานีโทรทัศน์ที่ชื่อว่า "ไอทีวี" อีกต่อไป ตามมติของทางรัฐบาลที่ออกมา อันเป็นบทสรุปจากรณีจากข้อพิพาทกันระหว่าง สปน. และบริษัทไอทีวี จำกัดมหาชน ที่มีมาตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
......
กว่าจะถึงวัน "จอมืด"
จุดเริ่มต้นของมูลเหตุกรณีพิพาทกันระหว่างไอทีวีกับทาง สปน.กระทั่งนำมาซึ่งการยกเลิกสัมปทานในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2547 ระหว่างที่ไอทีวีบริหารงานโดยกลุ่มบริษัท ชินคอร์ป ที่ได้ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานและขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท
โดยอ้างว่าเอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า (ช่อง 3 สัมปทาน 30 ปี (2533-2563) 3,207 ล้านบาท ปีละ 107 ล้านบาท / ช่อง 7 สัมปทาน 25 ปี (2541-2566) 4,670 ล้านบาท ปีละ 187 ล้านบาท / ช่อง 5 และ โมเดิร์นไนน์ ทีวี ไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน เนื่องจากเจ้าของคลื่นความถี่ดำเนินการออกอากาศเอง)
ทางคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดลดค่าสัมปทานให้สถานีฯ ลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้ง อนุญาตให้สถานีฯ แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 รวมถึงให้รัฐฯ จ่ายค่าชดเชยแก่บริษัทฯ เป็นเงิน 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาทางสปน.ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดออกมา ส่งผลให้ สถานีฯ ต้องจ่ายค่าสัมปทาน ปีละ 1,000 ล้านบาท เช่นเดิม และ ต้องปรับสัดส่วน รายการข่าวและสาระ ต่อรายการบันเทิง กลับไปเป็น ร้อยละ 70 ต่อ 30
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ ที่ไม่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี โดยคิดเป็นรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่ เริ่มมีการปรับผังรายการ รวมระยะเวลา 2 ปี เป็นค่าปรับทั้งสิ้น ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท
ในขณะนั้นเองรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีความพยายามที่จะเข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วยการแต่งตั้งให้นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาดูแล ทว่ายังมิได้จะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้เกิดการปฏิวัติในเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาเสียก่อน
ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืน ตามคำตัดสินของศาลปกครองกลาง กระทั่ง 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมีมติออกมาว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่ายได้ภายในวันที่ 6 มีนาคม ก็จะให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีบอกเลิกสัมปทานกับไอทีวีและนำมาซึ่งการปิดไอทีวีในที่สุด
..........
"ชินคอร์ป" จุดเริ่มต้นของปัญหา
ก่อนหน้าที่จะมีการปิดสถานีโทรทัศน์ไอทีวีในครั้งนี้ ย้อนกลับไปครั้งหนึ่งภายใต้การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของ บ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) ของตระกูล "ชินวัตร" และ "ดามาพงศ์" ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ไอทีวีก็เคยเผชิญกับอุปสรรคครั้งใหญ่มาแล้ว
เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อเรียกขานว่า "กบฏไอทีวี"
จุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นมาจากกรณีการออกมาของนักข่าวกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านการเข้ามาของกลุ่มชินคอร์ป หลังจากมีข่าวกลุ่มทุนนี้จะเข้ามาถือหุ้นในไอทีวีที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ว่านำโดย "จิระ ห้องสำเริง" บรรณาธิการบริหารขณะนั้น เป็นหัวหอกคัดค้าน
แต่เดือนพฤศจิกายน 2543 กลุ่มชินคอร์ปก็ได้เข้ามาถือหุ้นไอทีวีจนได้ท่ามกลางการต่อต้านอย่างหนักจากพนักงานฝ่ายข่าว เพราะไม่พอใจที่ถูกผู้บริหารตัวแทนจากชินฯ แทรกแซง ห้ามไม่ให้ทำข่าวที่มีผลด้านลบต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นตัวเก็งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
โดยเฉพาะเรื่อง "ซุกหุ้น" และปัญหาที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม 2544
การเข้าแทรกแซงของฝ่ายผู้บริหารมีทั้งการสั่งเปลี่ยนตัวนักข่าวที่ไปยิงคำถามแทงใจ พ.ต.ท.ทักษิณ เรื่องการโอนหุ้น มีการสั่งไม่ให้ออกอากาศข่าวเรื่องสนามกอล์ฟ มีความพยายามเข้ามากำหนดและชี้นำประเด็นในฝ่ายข่าวมากขึ้น สั่งห้ามผู้ประกาศข่าวในรายการสายตรงไอทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ลงข่าวเรื่องการโอนหุ้น และที่ดินสนามกอล์ฟ
ยังมีเหตุการณ์ที่ผู้บริหารชินคอร์ป สั่งเรียกรถโอวีกลับสถานีขณะกำลังจะไปทำข่าวปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคไทยรักไทยได้รับอภิสิทธิ์เช่ารถโอวีของบริษัทไอทีวี เพื่อถ่ายทอดการปราศรัยของพรรคไทยรักไทยหลายครั้ง โดยไม่มีหนังสือหรือบันทึกถึงฝ่ายข่าวแม้แต่ครั้งเดียว
การออกมาแถลงการณ์ขอให้ยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าวทำให้กลุ่มนักข่าวไอทีวีที่ว่าถูกสอบสวน กระทั่งเกิดการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาและจัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ก่อนที่พวกเขาจะถูกกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ" และถูกเลิกจ้างในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 จำนวน 23 คน
กลุ่มแรก จำนวน 8 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าไปร่วมแถลงข่าวต่อสาธารณชนทำให้บริษัทเสื่อมเสีย และกลุ่มหลังเป็นกรรมการสหภาพจำนวน 15 คน ด้วยสาเหตุว่าบริษัทมีนโยบายปรับลดพนักงานเพราะประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง
ต่อมากลุ่มนักข่าวจำนวน 21 คน (มี 2 คนไม่ยื่นฟ้อง) ได้นำเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ฟ้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และเมื่อ ครส. มีคำสั่งให้บริษัทไอทีวีรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงาน แต่บริษัทกลับปฏิเสธ กลุ่ม “กบฏไอทีวี” จึงได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน
ปี พ.ศ. 2546 ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ ฝ่ายโจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี และให้บริษัทรับพนักงานกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างชดเชยด้วย ขณะเดียวกันทางบริษัทไอทีวีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาทว่าศาลฎีกาก็ได้พิพากษายืนตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ทำให้กลุ่ม “กบฏไอทีวี” เป็นฝ่ายชนะคดีในที่สุด
โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ปรากฏชื่อของคนข่าว 2 คนคือ "กิตติ สิงหาปัด" และ "สุภาพ คลี่ขจาย" ซึ่งทั้งสองในระยะแรกๆ ก็ออกมาแสดงการคัดค้านร่วมกับกลุ่มกบฎ แต่ต่อมาก็ยอมกลับใจที่จะทำงานให้กับเจ้าของทุนกลุ่มใหม่ต่อไป
..........
ยุค "ทักษิณ" ยุคอหังการ์ของไอทีวี
นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2546 ไอทีวีในห้วงระยะเวลาเดียวกันกับการบริหารงานโดยรัฐบาลของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" (2) สถานีโทรทัศน์ช่องนี้ถือว่ามีความอู้ฟู่เป็นที่สุด
เฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่กลุ่ม ชินคอร์ป ได้นำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 กับการเข้ามาของ "ต๋อย ไตรภพ ลิมปพัทธ์" และ "บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)" ในปี 2546 โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกครั้ง เป็น 7,800 ล้านบาท และออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรเป็นการเฉพาะ ให้กับพันธมิตรทั้งสองโดยเฉพาะ
การเข้ามาของ "ต๋อย ไตรภพ" สร้างความคึกคักให้กับไอทีวีเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขค่าหุ้นที่เคยถีบตัวขึ้นไปสูงถึงหุ้นละ 30 บาท การปรับเปลี่ยนผังรายการ การดึงคนใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนช่อง 3 อย่าง เอิ๊ก พรหมพร, ฮาร์ท สุทธิพงษ์, จ๊อบ นิธิ, บริษัทลักส์ ของ วิลลี่ แมคอินทอช , นิลาวัลย์ ทองไล้ แห่งช่อง 7, ยงยุทธ มัยลาภ จากช่อง 5 ฯลฯ
ช่วงนั้นใครๆ ก็มองเห็นแต่อนาคตที่สดใสที่ไอทีวี
"เมื่อตอนที่ผมปรับข่าวภาคค่ำมาเป็น 18.00 น. เขาก็พูดกันทั้งประเทศว่าเร็วเกินไป แต่หลังจากนั้นหนึ่งเดือน ช่อง 3 ก็ปรับข่าวมาที่ 17.00 น. ช่อง 7 ปรับ 17.45 น. ก็ชัดเจนว่าตรงนี้เราเป็นผู้นำ เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะมีใครมาลอกเลียนแบบเรา เราก็ไม่ว่าอะไร แต่อยากจะบอกว่า ยังไงก็ช่วยบอกด้วยละกันว่า เลียนแบบไอทีวีมา แต่ความจริงแล้วไม่ต้องบอกก็ได้เพราะคนดูเค้าก็รู้เค้าก็เห็นเอง" ต๋อย เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อครั้งปรับเปลี่ยนผังรายการข่าวภาคเช้า ช่วง 10 สิงหาคม พ.ศ. 2547
ก่อนที่เจ้าตัวจะโอ่ถึงการทำงานของตนเองอีกครั้งในช่วงธันวาคม พ.ศ. 2547 ว่า...
"8 - 9 เดือนที่ทำงานมาเรตติ้งจากที่อยู่อันดับ 5-6 ปัจจุบันเราอยู่ในอันดับ 3 ถือว่าดีขึ้นมากน่าพอใจ ความเป็นอยู่ของสถานี ความรับรู้ของผู้คนต่อสถานีดีขึ้นมากไม่ว่าทั้งข่าวและบันเทิงเปลี่ยนไปเลย ผมเคยพูดไปแล้วว่าไอทีวีมีลู่วิ่งของตัวเองและมาถึงวันนี้เราก็ไปถูกทางแล้ว"
จวบจนการที่เจ้าตัวและบริษัทกันตนาออกมายืนยันไม่ตัดสินใจซื้อหุ้นไอทีวีนั่นเองที่ทำให้มีการหยิบยกเอาเรื่องของการปั่นหุ้นขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกเท่านั้นที่ไอทีวีได้แสดงความอหังการ์ด้วยการทำงานออกรายงานข่าวในทิศทางที่ทางตรงกันข้ามและดิสเครดิตฝ่ายที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวพ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอด เพราะแม้กระทั่งภายหลังการเข้ามาปฏิวัติของคณะคมช.แล้วก็ตามทางไอทีวีก็ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อสัตย์ ทั้งกระแนะกระแหน ลดความน่าเชื่อถือ แสดงท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับทางฝ่ายรัฐบาลและคมช.มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
..........
"Dream Chaser" ผู้โชคร้าย!
กำลังจะกลายเป็นรายการทีวีที่ติดโผเป็นรายการที่มีอายุสั้นที่สุดไปแล้วสำหรับ "Dream Chaser" รายการในรูปแบบของเรียลิตี้ โชว์ ของ “สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์" กับการเดินทางรอบโลกด้วยการขี่จักรยานยนต์ไปพร้อมกับการทำกิจกรรมแขกรับเชิญ ที่มีกำหนดออกอากาศทุกๆ วันอังคาร เวลา 5 ทุ่มตรงเริ่มตอนแรกในวันที่ 6 มีนาคมนี้หากไอทีวีจะต้องปิดสถานีจริงๆ ตามมติครม.ที่ออกมา
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ผลิตรายการอย่างสุกี้ เจ้าตัวเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าหากไม่มีช่องออกจริงๆ โดยส่วนตัวเชื่อว่าก็น่าจะแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้อย่างแน่นอน เพราะทุกปัญหาย่อมมีทางออกของมันเอง
"ในมุมมองของผม ผมจะไม่ไปเครียดกับสิ่งที่ผมคอนโทรลไม่ได้ หน้าที่ของผมคือการทำรายการให้ดีที่สุด ทำอย่าไรให้สปอนเซอร์แฮปปี้ คือวางแผนในส่วนของเราเท่านั้น อะไรที่มันเป็นส่วนของทางสถานีของไอทีวีผมจะไม่ไปยุ่งตรงนั้น"
"ผมก็ต้องแก้ปัญหาตรงจุดนั้นของผม ถ้าถึงตอนนั้นไอทีวีไม่มีแล้ว ปัญหาหลักก็คือผมก็ต้องไปหาทางแก้ แต่จากประสบการณ์ผมตั้งแต่ผมเริ่มทำงานมา ทุกอย่างมีคำตอบหมด มันไม่มีวันที่จะจนมุมหรือทำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าจะให้ผมตอบตรงๆ ผมยังไม่อยากตอบอะไรตรงนี้ เพราะว่ามันยังไม่เป็นถึงจุดนั้น และตอนนี้ผมก็ยังไม่อยากที่จะพูดอะไรออกไปครับ"
..........
จุดกำเนิดไอทีวี
แนวคิดการก่อตั้งสถานีไอทีวีนั้นได้เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน จากความต้องการจะมีสื่อเสรีฯ ขึ้นมาช่องหนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่าในเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อโทรทัศน์ จำนวน 5 ช่อง ในขณะนั้น คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ช่อง 11 มิได้รายงานข่าวเหตุการณ์นองเลือดตามความเป็นจริงสักเท่าไหร่
จากนั้นสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) โดย นายมีชัย วีระไวทยะ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล ได้เปิดให้มีการประมูลสัมปทาน สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ ด้วยเงื่อนไขของผู้รับสัมปทานว่าจะต้องมีผู้ถือหุ้น 10 ราย แต่ละรายต้องมีสัดส่วนหุ้นที่เท่ากัน พร้อมกับแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เพื่อป้องกันการผูกขาด และมีสัดส่วนเนื้อหา รายการข่าวและสาระ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 และ รายการบันเทิง ไม่เกินร้อยละ 30
ผลการประมูลในปี 2538 สรุปว่า กลุ่มบริษัท สยามทีวีแอนด์คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับอนุมัติ ให้เป็นผู้ดำเนินงานบริหารสถานีฯ เป็นเวลา 30 ปี (สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568) ค่าสัมปทาน 25,200 ล้านบาท จากราคากลาง 10,000 ล้านบาทพร้อมกับตั้งชื่อสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (สถานีฯ)
ไอทีวีเริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 จากการดูแลเนื้อหาโดยคนข่าวจากเครือเนชั่นฯ และได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมากกระทั่งถือได้ว่าเป็นสถานีข่าวอย่างแท้จริง
ต่อมาในสมัย รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้มีการแก้ไขข้อกำหนดใหม่ ประกอบกับการเกิด วิกฤติเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ จึงขาดทุนอย่างหนักทางธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงติดต่อให้กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ป) เข้ามาถือหุ้นแทน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544
และตั้งแต่นั้นมาเรื่องวุ่นๆ ก็เกิดขึ้นทันทีพร้อมๆ กับการทำงานที่เปลี่ยนไปกลายเป็น "ไอทีวี" ที่มุ่งไปถึงเรื่องของผลกำไรเป็นที่ตั้ง มีเรื่องของกบฏไอทีวี มีเรื่องของการขอแก้ไขสัญญา - การขอลดค่าสัมปทานที่ทำให้รัฐฯ ต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงจะได้ทั้งในแง่ของเงินทองและสติปัญญาของประชาชนผู้รับสาร
23 มกราคม พ.ศ. 2549 ตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ได้ประกาศขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดให้กับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ทำให้ไอทีวีต้องตกไปเป็นของต่างชาติในทันที ซึ่งในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในความเป็นทรัพยากรสมบัติของชาติไทยที่ต้องตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้กอบโกยหาผลประโยชน์ ทว่าในช่วงเวลานั้นกลับไม่มีผู้บริหารหรือแม้แต่พนักงานของไอทีวีสักคนเดียวออกมาแสดงอาการคัดค้านแต่อย่างใด
ทั้งๆ ที่นี่คือการครอบงำสื่อฯ อย่างหนึ่ง
ขณะเดียวกันไอทีวีเองก็กลับพยายามไปดึงเอาประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วมในการเรียกร้องกดดันไปยังรัฐบาลอยู่ตลอดเวลาในเรื่องของการจ่ายเงินค่าสัมปทานและค่าปรับต่างๆ ที่มีจำนวนสูงเฉียดๆ แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ศาลเองได้ตตัดสินแล้วว่าเป็นผลมาจากการที่ไอทีวีเองที่ทำผิดสัญญา