xs
xsm
sm
md
lg

ยังไงก็รัก : อาหารมื้อเช้าที่เราละเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"สำหรับผมแล้ว เง็กก็เหมือนอาหารเช้า ที่เรารู้ทั้งรู้ว่ามันมีประโยชน์ แต่เราก็ละเลยที่จะกินมัน"คำพูดของย้ง ที่กล่าวถึงศรีภรรยาซึ่งอยู่กินกันมาร่วมๆ 7 ปี สรุปเรื่องราวของตัวเองและความเป็นไปทั้งหมดเกือบๆ 2 ชั่วโมงในหนังได้ดี เรื่องราวธรรมดาสามัญที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เรื่องของการลดทอนความสำคัญของอาหารมื้อเช้า แล้วพยายามสรรหาอาหารมื้อค่ำเลิศรส ทั้งๆ ที่สำนึกรู้อยู่เต็มอกว่า มื้อเช้านั้นสำคัญที่สุดในชีวิต

"ยังไงก็รัก" หรือชื่อภาษาอังกฤษ " 7 Days To Leave My Wife" เป็นภาพยนตร์ไทยที่ลงโรงฉายในช่วงที่กระแสภาพยนตร์ไทยไปโฟกัสอยู่ที่ตลกเถื่อนถ่อยเกลื่อนกลาดด้วยคำหยาบ, ผี, กระเทย (และที่รวมทั้งผีและกระเทยไว้ในเรื่องเดียวกัน)ในขณะที่คนดูหนังไทยเริ่มที่จะชาชินเจียนเอียนอ้วกกับภาพยนตร์ไทยที่กำลังลงโรงฉายในขณะนี้อยู่นั้น ผู้กำกับหน้าใหม่ในวงการภาพยนตร์ (แต่หน้าเก่าจากการผลิตรายการโทรทัศน์มากมาย อาทิ มิติลี้ลับ,คู่ขาปาท่องโก๋ ,เซียนโอเกะ) อย่าง ต่อพงศ์ ตันกำแหง ก็ส่ง "ยังไงก็รัก" มาเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ยังไม่สิ้นศรัทธาต่อหนังไทย

ด้วยความที่เป็นหนังตลกที่ว่าด้วย เรื่องราวธรรมดาสามัญ ซึ่งเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของทุกคนในสังคมได้ เรื่องราวความรักของฝ่ายหนึ่งซึ่งเริ่มต้นที่ร้อย แล้วค่อยๆ ลดลง กับอีกฝ่ายซึ่งเพิ่มขึ้นมาจากศูนย์ ความรักลักษณะสวนทางที่หลายต่อหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์กันมาบ้าง สำหรับหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชาย ซึ่งคนเขียนบท อย่าง วิฑูร ตั้งธนาพงศ์, วรายุ วนาธรรม ร่วมด้วยตัวผู้กำกับอย่าง ต่อพงศ์เอง ต่างก็หยิบจับประเด็นนี้มาบรรเลงถ่ายทอดให้ผู้ชมหัวเราะไปกับเรื่องจริงในสังคมได้อย่างละมุนละม่อม น่าติดตาม

เรื่องเริ่มที่ชายหนุ่มหน้าเหมือนเต้าหู้ค้างคืนอย่าง"ย้ง" ซึ่งแทบจะไม่มีความโดดเด่นหรือสลักสำคัญอะไรเลยในสังคม เขาคือพนักงานขายที่ทำยอดให้กับบริษัทได้ไม่ดี ฐานะทางบ้านปานกลาง เป็นหนุ่มออฟฟิศหาเช้ากินค่ำธรรมดา ได้ตัดสินใจแต่งงานร่วมหอลงโรงกับ"เง็ก"สาวชาวจีนผู้ซึ่งยอมตกลงแต่งงานกับหนุ่มซึ่งตนไม่ได้รักใคร่ชอบพอตั้งแต่แรก แต่เนื่องจากผู้เป็นพ่อได้ทำการสัญญาเอาไว้ การแต่งงานชนิดปริปากไม่ได้จึงเกิดขึ้น ท่ามกลางความกระดี้กระด้าดีใจของย้ง ฝ่ายชาย ที่จะได้เง็ก มาครอบครองจนตัวสั่น

นั้นคือจุดเริ่มต้นของความรักเต็มร้อยของ "ย้ง"ในวันแต่งงานที่แผ่ซ่านไปทั่ว ผิดกับปริมาณความรักของ "เง็ก" ที่ยังไม่ปรากฏขึ้นมาให้เห็นแม้เพียงเงา ใครเล่าจะตระหนักว่าอีกไม่กี่กาลต่อมา ตำแหน่งที่นั่งของชาย-หญิงคู่นี้จะสลับสับกัน

เมื่อเวลาผ่านไป จากหญิงสาวสวยหมวยใส ย่อมเปลี่ยนแปรไปตามกาล จากสาวน้อยไร้เดียงสา เง็กก็กลายเป็นซิ้มแก่ๆ ยืนเกาก้นผัดกับข้าวให้สามีกิน พูดจาโผงผางโวยวาย ทำอะไรขัดหูขัดตา ผู้เป็นสามีอย่างย้งไปหมด และจะไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ย้งได้ไปมีสัมพันธ์ลับกับ"พิม" หญิงสาวสวยเอ็กเซ็กส์ ที่มีหนุ่มๆ ทั้งออฟฟิศหมายปอง ซึ่งในส่วนนี้หนังไม่ได้อธิบายว่าทำไมหนุ่มหน้าเต้าหู้อย่างย้ง จึงคว้าหัวใจสาวพิมไปครอบครองได้ แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้กำกับจะรู้ไต๋ว่าต้องมีคนสงสัย จึงได้ให้สาวพิมเอ่ยประโยคที่ว่า "บางทีความรักมันก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้หรอกนะ" ขึ้นมาตอนท้ายๆ ของเรื่อง เป็นการปิดประตูคำถามของผู้ชมทั้งหลายไปโดยปริยาย

และจากความรักที่มากกว่าหนึ่งนี้เอง ทำให้เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้น เมื่อพิมมีหนุ่มนักธุรกิจรูปหล่ออย่าง "เฮียหลี"มาติดพัน และเอ่ยปากขอเธอแต่งงานด้วย โดยมีเวลา 7 วัน ก่อนที่จะเริ่มงาน ในขณะที่ ย้งเริ่มรู้สึกถึงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในตัวพิม เกิดความหึงหวงอยากครอบครองไว้เพียงผู้เดียว ย้งเอ่ยปากห้ามเธอไปแต่งงานกับเฮียหลี แต่ตัวพิมที่อยากมีชีวิตคู่ที่สมหวัง กลับตอกย้งหน้าหงายว่า "ถ้าภายใน 7 วันเขาไม่เลิกกับเมียอย่างจริงจัง เราก็เลิกกัน" และเธอก็จะไปแต่งงานกับหนุ่มนักธุรกิจคนนั้นอย่างแน่นอน นั่นเท่ากับว่า ย้งมีเวลาเพียง 7 วันในการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต

ซึ่งย้งตัดสินใจที่จะเลิกทานอาหารเช้า ย้งจะเลิกกับเมียที่อยู่ด้วยกันมา 7 ปี ภายในเวลา 7 วัน

คนเขียนบทและผู้กำกับ นำเรื่องราวง่ายๆ ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ มาขยายความ ปรุงแต่งให้มีความเป็นหนังได้ดี เรื่องราวทั้งหมดที่ถ้าเกิดขึ้นกับใครจริงๆ ก็คงนั่งขำ นั่งหัวเราะไม่ออก (อย่างที่เรานั่งหัวเราะกัน) แน่ๆ และด้วยความที่เป็นเรื่องราวใกล้ตัว สัมผัสได้นี่เอง ที่ทำให้ "ยังไงก็รัก" ครอบครองพื้นที่ในใจของผู้ชมได้อย่างง่ายดาย แทบทุกฉาก ทุกเหตุการณ์ก็น่าจะมีผู้ที่เคยประสบ ทั้งกับตัวและกับคนรอบข้างกันบ้าง สักฉาก สองฉาก (หรือบางคนก็เกือบทั้งเรื่อง)

ในระหว่างที่หนังดำเนินไป ผู้ชมจะตามลุ้น ตามเชียร์ ตัวละครในเรื่องได้อย่างออกรสออกชาติ(แล้วแต่ว่าในชีวิตจริงใครจะยืนอยู่ฝ่ายใด ก็มักเชียร์ฝ่ายนั้น) และอินตามได้โดยง่าย นั่นคือเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ นอกจากตัวบทแล้ว นักแสดงที่ขอชื่นชมว่าเล่นดีมากๆ คือ "กิ๊ก สุวัจนี ไชยมุสิก" ซึ่งแม้ว่านี่จะเป็นการประเดิมการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอ แต่เธอก็ตีบทแตกกระจุย กิ๊กสามารถเป็น "เง็ก"สาวจีนวัยกลางคน ที่ดูเป็นซิ้มแก่ๆ ขี้โวยวาย และน่ารำคาญ(สำหรับสามี)ได้จริง และถึงแม้ว่าเง็กจะดูน่ารำคาญ ขี้บ่น เสียงดัง และมีรูปลักษณ์ที่ชวนให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศขนาดไหน แต่เราก็ยังหลงรักและเอาใจช่วยเง็กทุกครั้งที่ปรากฏบนหน้าจอ เพราะลึกๆ แล้วตัวละครอย่างเง็ก ที่แสดงความรักที่มีต่อสามีอย่างซื่อๆ ก็มีความน่ารัก น่าเอ็นดูอยู่มากทีเดียว

ส่วนตัวเอกฝ่ายชาย ที่แสดงโดย "ไก่ สมพล ปิยะพงศ์สิริ" ก็สามารถเคลื่อนไหว นึกคิดในร่าง"ย้ง"ได้ดี แต่เนื่องจากเป็นบทที่ไม่ค่อยฉีกไปจากตัวไก่ สมพล ที่เราคุ้นตากับการแสดงออกในลักษณะนี้ของไก่มาพอสมควรแล้ว อีกทั้งบทก็ไม่ได้ส่งและชัดเจนที่จะให้ไก่แสดงอารมณ์ใดใดมากมาย (แถมในเรื่องยังคล้ายว่าย้งเป็นตัวร้ายกลายๆ อีกด้วย) จึงทำให้การสวมหน้ากาก"ย้ง"ของไก่ ในเรื่องนี้ถือได้ว่าเสมอตัวเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่อยากจะขอฝากไปถึงบรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์ไทยทั้งหลาย คือ ตัวละครของ "สมเล็ก ศักดิกุล" ซึ่งในระยะสองสามปีให้หลัง ดูคล้ายว่าจะเห็นโผล่ปรากฏอยู่แทบทุกเรื่อง ทั้งที่สำคัญต่อเรื่องและไม่สำคัญ อย่างในเรื่องนี้ตัวละคร "เล้ง"ของพี่สมเล็ก ถือได้ว่าสำคัญต่อเรื่องมาก แต่เนื่องจากดูคล้ายว่าในภาพยนตร์ไทย ถ้ามีตัวละครลักษณะเป็นจิ๊กโก๋ๆ กวนอวัยวะเบื้องล่าง คอยเรียกเสียงฮาแบบนักเลงๆ เช่นนี้ ต้องเรียกใช้บริการพี่เล็กตลอด นั่นเท่ากับว่า วงการหนังไทยผูกขาดบทนี้ให้พี่เล็ก เป็นการฆ่าวงการและฆ่าพี่เล็กทางอ้อมด้วย เพราะต่อไปนี้ไม่ว่าหนังเรื่องใดจะสร้างตัวละครลักษณะนี้จะต้องเรียกหาพี่เล็ก และในทางกลับกัน ถ้าพี่เล็กอยากทำงาน อยากแสดงหนัง เพื่อหาเงินไปจุนเจือครอบครัว ก็จะต้องมาคอยนั่งอ่านแต่บทแบบนี้ จนทำให้ฝีมือการแสดงของแกไม่ได้พัฒนาไปโดยปริยายเสียแล้ว

สำหรับตัวละครอื่นๆ อย่าง"พิม"(เบญจวรรณ อาร์ตเนอร์) ก็ถือว่าแสดงได้ปานกลาง เพราะจากรูปลักษณ์ภายนอก ทั้งรูปร่าง และสายตาของเธอเหมาะกับการเป็นพิมมาก ส่วนฝีมือก็ถือว่าใช้ได้สำหรับการเป็นนักแสดงหน้าใหม่ นอกจากนี้ นักแสดงรับเชิญ อย่าง อาจารย์จตุพล, โซเฟีย ลา, สายัณ ดอกสะเดา ฯลฯ ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว เพราะปรากฏตัวแต่ละฉากก็เรียกเสียงหัวเราะแทบจะขโมยซีนนักแสดงนำที่ร่วมฉากไปได้พอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องยกเครดิตให้กับครูแอ๋ว อรชุมา ยุทธวงศ์ ที่ทำหน้าที่กำกับแอ็คติ้งให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเต็มๆ

โดยรวม"ยังไงก็รัก" เป็นภาพยนตร์ดูสนุก และสะท้อนเรื่องราวใกล้ตัวที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วม อารมณ์มวลรวมของหนังไม่ถึงกับเป็นชีวิตจริงในสังคมร้อยเปอร์เซ็นต์ ดั่งจะเห็นได้จากแอ๊คติ้งในบางฉากของนักแสดงที่ผู้กำกับตั้งใจให้ออกมาเป็นในลักษณะโอเว่อร์ แอ็คติ้ง ยิ่งมาผสานเข้ากับการใช้ CG ในบางฉากด้วยแล้ว หนังเรื่องนี้จึงผ่อนคลายและเอนเอียงไปในทางการ์ตูนมากกว่าการเป็นละครหลังข่าว เพลงประกอบจงใจขายที่ได้ บอย ตรัย ภูมิรัตน มาทำให้ก็ติดหูและเปิดได้เหมาะกับสถานการณ์ดี เรียกอารมณ์ความรู้สึกผู้ชมที่อ่อนไหวให้น้ำตาคลอไปได้คนละแหมะ สองแหมะ

เสียดายเล็กๆ ตอนช่วงท้ายเรื่อง เนื่องจากหนังได้ปูและลากเรื่องมาได้น่าติดตาม แต่กลับจนแบบที่คนดูคาดเดาได้ และส่งเสริมให้ย้ง มีลักษณะคล้ายตัวร้ายเข้าไปใหญ่ เนื่องด้วยเหตุผลและความรู้สึกในสามัญสำนึกของย้งกับบทสรุปเช่นนั้น จึงอาจทำให้ผู้ชมหลายคนผิดหวังในตัวย้งเล็กๆ

เมื่อหนังจบ ก็ทำให้ได้กลับมาทบทวนว่า ครั้งสุดท้ายที่เราทานอาหารเช้าอย่างตั้งอก ตั้งใจ และมีความสุขกับมันนั้นคือเมื่อไร จะโทษเวลาที่รีบเร่ง โทษระบบการย่อยของกระเพาะที่ไม่พร่ำเตือน หรือโทษวัตรปฏิบัติของสังคมแวดล้อมที่มักละเลยมื้อเช้า หรือนิสัยสันดานลึกที่เกิดแก่เราเองกันแน่ เพราะเมื่อหันมาทบทวนกันจริงๆ จังๆ แล้ว อาหารมื้อเช้าที่เราทราบกันดีว่าสำคัญ ก็แทบจะไม่ได้ผ่านลงลำคอเรามาเป็นเวลานานแล้ว ที่มีไหลผ่านไปก็เป็นการลำเลียงผ่านอย่างเสียมิได้ ไม่เคยสลักสำคัญหรือตั้งใจเช่นมื้ออื่น แล้วเราก็มักใช้เวลาแทบทั้งวันสูญไปกับการนั่งคิดว่า "มื้อเย็นนี้เราจะกินอะไร"

บางครั้ง บางหน เราน่าจะลองถามตัวเองใหม่ว่า วันนี้เราใส่ใจคนรักที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดดีพอหรือยัง ก่อนที่จะไปแบ่งปันความรัก ดูแลใครที่ไกลห่างตัวเราออกไป ถามตัวเองว่า ในห้วงเวลาที่เราเดินทางไปโอบกอด เพรียกหาคนที่อยู่ห่างไกลนั้น คนใกล้ชิดซึ่งกำลังนั่งคอยการกลับมาของเราอยู่ที่บ้านกำลังร่ำไห้เนื่องด้วยความห่วงเราอยู่หรือเปล่า?








กำลังโหลดความคิดเห็น