xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้องนิยาย "นิเวศน์" เรื่อง "หางเครื่อง" ไม่ได้ลอก "ไฟพระจันทร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปิดฉากคดีนิยายดัง "หางเครื่อง" ที่ "นิเวศน์ กันไทยราษฎร์" ถูกฟ้องว่าลอกมาจาก "ไฟพระจันทร์" ของสินี หลังสู้กันเกือบ 5 ปี ศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่ได้ลอก ยกฟ้องตามคำตัดสินของศาลทรัพย์สินทางปัญญา ฝ่ายจำเลยกำลังพิจารณาอาจจะฟ้องกลับ

จบกันเสียทีสำหรับคดีความฟ้องร้องกันระหว่าง "สินี เต็มสงสัย" ที่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง "นิเวศน์ กันไทยราษฏร์" ผู้เขียนนิยายเรื่อง "หางเครื่อง" ว่านิยายเรื่องดังกล่าวลอกเลียนเรื่อง "ไฟพระจันทร์" ที่ตนเองเป็นผู้เขียน เมื่อล่าสุดศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ยกฟ้องคำร้องดังกล่าว

คดีนี้เป็นความนานเกือบ 5 ปี โดยนางสินี ยื่นฟ้องนายนิเวศน์ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เรียกค่าเสียหาย 540,000 บาท พร้อมให้การว่า เค้าโครงเรื่อง "หางเครื่อง" ของนายนิเวศน์ ทั้งการดำเนินเรื่อง ตัวละครหลัก และรายละเอียดหลายส่วนเหมือนกับเรื่อง "ไฟพระจันทร์" ของตน จะต่างกันแต่เพียงชื่อตัวละคร และรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

เรื่อง "ไฟพระจันทร์" ได้รับการพิมพ์เผยแพร่ เป็นครั้งแรก ประมาณกลางปี 2525 ในนิตยสาร "เรื่องจริง" โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ หลังจากนั้นนางสินีได้นำมารวมเล่มพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพบิดาของตนเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2527ขณะนวนิยายที่เรื่อง "หางเครื่อง" ของนายนิเวศน์ พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2530

ด้านนักเขียนดังที่เป็นจำเลยให้การว่า เคยเขียนนิยายเรื่อง "นักร้องอย่างหล่อน" ตีพิมพ์ในนิตยสาร ภาพยนตร์บันเทิง รายสัปดาห์ ตั้งแต่ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2523 ถึงฉบับวันที่ 21 เมษายน 2524 ใช้นามปากกา แพรว พจนีย์ โดยได้แรงบันดาลใจจากการต่อสู้ชีวิตของนักร้องชื่อ "ดวงดาว มนต์ดารา" หรือชื่อจริง นางวาสนา ศิลปดนตรี นักร้องนำวง "กาสะลอง" ที่ตนเคยเป็นพิธีกรและนักร้องของวง

ต่อมาในปี 2528 ได้นำเรื่อง ”นักร้องอย่างหล่อน” มาปรับปรุง แก้ไข และเปลี่ยนชื่อเป็น "เดือนประดับฟ้า" แล้วส่งไปรอตีพิมพ์ ในนิตยสาร ขวัญเรือน แต่ยังไม่ทันได้พิมพ์ บริษัทกันตนาวิดีโอก็ซื้อเรื่องไปทำเป็นละครทางช่อง 5 โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "หางเครื่อง" ตนจึงถอนเรื่องจากขวัญเรือนมาพิมพ์รวมเล่ม เผยแพร่ครั้งแรกชื่อ "หางเครื่อง" ในปี 2530 พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2537 และครั้งที่ 3 ปี 2544

ในการต่อสู้คดี นายนิเวศน์ได้นำ "ดวงดาว มนต์ดารา" มาเบิกความเป็นพยาน รวมทั้ง นักวิชาการด้านวรรณกรรม คือ ร.ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธ์ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล, ชมัยภร แสงกระจ่าง และ ถาวร สุวรรณ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์

โดยพยานทุกปากให้การตรงกันว่า นวนิยายทั้ง 2 เรื่อง มีแก่นเรื่องเดียวกันก็จริง คือการสู้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่อ่านแล้วเห็นได้ว่าต่างคนต่างเขียน ไม่มีส่วนใดที่แสดงว่าเลียนแบบ หรือคัดลอกดัดแปลง

ส่วนนางสินี ไม่ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมมาเป็นพยาน มาสนับสนุนความเห็นของตนแต่อย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ทางศาลชั้นต้น ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 เจ้าตัวจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อไปยังศาลฎีกา ก่อนที่ศาลฎีกาจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ภายหลังจากรับทราบผลดังกล่าว "นิเวศน์" ซึ่งนั่งเก้าอี้เป็นอุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเปิดเผยถึงความรู้สึกว่า ตลอดชีวิตการเป็นนักเขียน ไม่เคยคิดลอกเรื่องหรือดัดแปลงเรื่องของใคร เพราะมีสติปัญญาที่จะเขียนเอง และมีหิริโอตตัปปะมากพอที่จะไม่ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา จึงเสียใจมากที่ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีให้เป็นที่เสื่อมเสียชื่อเสียง ส่วนเรื่องการฟ้องร้องกลับนั้นตนเองกำลังพิจารณาอยู่

"ขอบคุณเพื่อนนักเขียนหลายคนที่ให้กำลังใจ และแนะนำให้ฟ้องกลับเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งผมกำลังพิจารณาอยู่เพราะคุณสินี เต็มสงสัย ทำให้ผมเสื่อมเสียชื่อเสียง เสียโอกาสในหลายอย่างครับ..."
กำลังโหลดความคิดเห็น