จากปากคำของแพทริเซีย บอสเวิร์ธ – ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ ดิแอน อารบัส (1923-1971) ในชื่อ Diane Arbus: A Biography - เธอให้ความเห็นว่าการที่อาร์บัสกลายเป็นผู้พลิกโฉมหน้าวงการภาพถ่ายอเมริกันนั้น ไม่ได้อยู่ที่งานฝีมืออันช่ำชองหรือประณีต แต่มันอยู่ตรงหัวจิตหัวใจที่เธอให้กับภาพแต่ละภาพ
หลายคนคงทราบว่างานของดิแอน อาร์บัสไม่ใช่ภาพแฟชั่นหรือหน้าโฆษณาทางนิตยสารอันสวยหรู กลับกัน – ภาพของเธอเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำมือธรรมชาติ เธอถ่ายคนแคระ คนพิการ ฝาแฝด พวกตัวประหลาดทั้งหลายแหล่ และภาพนู้ดที่ปราศจากความเย้ายวนโดยสิ้นเชิง
บอสเวิร์ธกล่าวว่า ความยิ่งใหญ่ของอาร์บัสอยู่ตรงที่ “เธอปรับกระบวนคิดของคนทั่วไปเสียใหม่หมด ว่าอะไรคือความปกติ อะไรคือความผิดปกติ”
ตามข้อมูลแล้ว อาร์บัสเป็นเด็กสาวที่เกิดในครอบครัวมีฐานะ ชีวิตสุขสบายอย่างราบเรียบ เธอแต่งงานกับช่างภาพหนุ่ม เปิดสตูดิโอเล็กๆ รับงานถ่ายภาพโฆษณาสินค้ามีชื่อเสียงพอสมควร ถ้าความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษสักคนหนึ่งจะมาจากการถูกหล่อหลอมโดยสิ่งแวดล้อม ดิแอน อาร์บัสคงเป็นข้อยกเว้น ในความเห็นของบอสเวิร์ธคือ “สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดของเธอ มันน่าสนใจมากกว่าชีวิตธรรมดาๆ ของเธอเสียอีก”
Fur: An Imaginary Portrait of Diane Arbus หนังซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือของแพทริเซีย บอสเวิร์ธ จึงแตกต่างกับหนังว่าด้วยประวัติชีวิตคนดังที่เราได้ดูกัน ทั้งบอสเวิร์ธและผู้กำกับ สตีเวน เชนเบิร์ก (Secretary) ไม่สนใจเรื่องปกติธรรมดาจำพวกอุปสรรคหรือเส้นกราฟที่ขึ้นๆ ลงๆ ของชีวิตอีกต่อไป พวกเขาทำตัวเป็นอาร์บัสเสียเอง คือ เลือกทำอะไรที่แปลกพิสดารกว่านั้น
จริงอย่างที่ชื่อหนังได้ออกตัวไว้ตั้งแต่ต้น นี่คือเรื่องราวของดิแอน อาร์บัสในแบบฉบับ “ภาพเหมือนบุคคลในจินตนาการ” มันไม่ได้เป็นภาพเหมือนแบบสมจริง หรือแบบที่คนอื่นๆ เห็น
เชนเบิร์ก และ เอริน เครสสิดา วิลสัน (ผู้เขียนบท) วางกรอบเรื่องไว้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ แห่งความเปลี่ยนแปลงในตัวอาร์บัส (ซึ่งมีแนวโน้มว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ) ขณะนั้นเธอยังเป็นลูกมือให้กับสามี และรู้สึกคับใจที่ตัวเองมาได้ไกลที่สุดในตำแหน่งผู้ช่วยของใครสักคนหนึ่ง – ที่ดูจะไม่มีความสำคัญ
ตอนที่ถูกแขกในงานเลี้ยงถามว่าเธอมีหน้าที่อะไรบ้างในสตูดิโอ ดิแอน (นิโคล คิดแมน) สาธยายงานจุกจิกเล็กน้อยพร้อมๆ กับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ราวกับถูกตีล้อมให้จนมุมอยู่ในห้องปิดตายที่เธอไม่ได้ปรารถนามาตั้งแต่แรก
ไม่มีใครบอกได้ว่า เธอรู้สึกอย่างไรกับสถานะที่เป็นอยู่ แม้แต่ตัวเธอเองก็ยังไม่แน่ใจนัก อธิบายจากการแสดงออก เธอยังคงรักสามีรักครอบครัว เธออาจต้องการเวลาพัก หรือทำความรู้จักตัวเองให้มากกว่านี้
คำตอบมาพร้อมกับไลโอเนล (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) ชายแปลกหน้าที่ย้ายมาอยู่อพาร์ตเมนต์ชั้นบนในอาคารเดียวกัน โดยรูปลักษณ์ภายนอกของเขาซึ่งปกปิดไว้ด้วยอาภรณ์มิดชิด เชื้อเชิญให้ดิแอนเข้าไปหาด้วยความใคร่รู้
ข้างหลังประตูบานนั้นอาจเป็นแค่ห้องพักธรรมดาๆ ของชายหนุ่มคนหนึ่ง แต่สำหรับดิแอน การตัดสินใจก้าวผ่านเขตแดนลึกลับ มันเหมือนกันการปลดปล่อยโซ่ตรวนที่พันธนาการตัวเธอมาช้านาน
คนดูทราบไปพร้อมกับดิแอนว่า ไลโอเนลไม่ใช่คนปกติธรรมดา เขามีขนปกคลุมเต็มตัวดูน่ารังเกียจ และเมื่อมองลึกไปในจิตใจ ดิแอนก็ได้พบกับเรื่องน่ามหัศจรรย์ของชายคนนี้อีกมายมาย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่พัฒนาไปทีละน้อย ในขณะเดียวกัน ระหว่างดิแอนกับครอบครัวของเธอ ก็เกิดระยะห่างมากขึ้นทุกที
เชนเบิร์กโยนรายละเอียดสำคัญๆ ในแง่การบอกเล่าชีวประวัติออกไปเกือบหมด หนังเกือบๆ จะเล่าเรื่องภาวะทางจิตใจของหญิงสาวผู้หนึ่งล้วนๆ ด้วยรูปแบบที่ดูเหนือจริง ทั้งการถ่ายภาพ เครื่องแต่งกาย ฉาก หรือกระทั่งดวงตาของนิโคล คิดแมน ก็ดูฉงนฉงายแบบไร้คำอธิบาย
ตอนเปิดเรื่องเราได้เห็นดิแอน (ภายหลังที่เธอจากครอบครัว) เดินทางเข้าไปขอถ่ายรูปในนิคมผู้นิยมเปลือยกาย เธอยังสวมเสื้อผ้ามิดชิด หนังมาจบลงในสถานที่เดียวกัน (หลังจากย้อนไปเล่าในช่วงเปลี่ยนแปลงของชีวิตเธอจนจบ) ดิแอนเปลือยกายเดินทอดน่องอยู่บนสนามหญ้า ทั้งตัวมีเพียงกล้องถ่ายรูปคล้องคอแค่ตัวเดียว
ความกล้าหาญของดิแอน อาร์บัสคือการปลดเปลื้องสิ่งปกคลุมภายนอกออกจากเนื้อแท้ของเธอเอง ชื่อเรื่อง Fur นั้นอาจประหวัดไปถึงขนสัตว์ซึ่งพ่อเธอนำออกขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน หรืออาจจะหมายถึงขนบนตัวของไลโอเนลที่เป็นปราการแน่นหนาในการเข้าหาสังคม
Fur: An Imaginary Portrait of Diane Arbus คงดูไม่สนุกเหมือนกับหนังชีวประวัติอย่าง Ray หรือ Walk the Line เพราะวิธีการนำเสนอคนละอย่างกัน สิ่งที่ทำให้ผมชอบ Fur ก็คือ มันเป็นหนังที่แคร์ตัวละครมากกว่าจะแคร์คนดู รวมทั้งไม่พยายามประนีประนอมให้มันเป็นหนังที่ดูสนุกมากกว่าจะทำให้หนังบรรลุเป้าหมายของมันเอง
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเต็มตื้นหลังจากดูจบ เพราะคนอย่างดิแอน อาร์บัส ทำให้ผมนึกไปถึง แวร์เนอร์ แฮร์โซก – คนทำหนังรุ่นใหญ่ชาวเยอรมัน เจ้าของหนังเรื่อง Grizzly Man ซึ่งเข้ามาฉายบ้านเราเมื่อราว 2-3 เดือนก่อน
แฮร์โซกน่าจะเป็นผู้กำกับหนังที่พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มาแล้วเกือบทุกชนิด (เขาอาจจะบ้าพลังกว่าสตีฟ เออร์วินสัก 10 เท่า) ตัวละครเอกในหนังของเขาเป็นพวกแปลกแยกสมบูรณ์แบบ เข้ากับใครไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ต้องพบกับจุดจบที่เงียบเหงา
แฮร์โซกเคยทำหนังที่มีอารมณ์ใกล้เคียงกับภาพถ่ายของดิแอน อาร์บัส อยู่หลายเรื่อง (คือเน้นไปที่ตัวประหลาดจริงๆ) อย่าง Even Dwarfs Started Small (1970, เล่าเรื่องคนแคระจอมซ่า), Land of Silence and Darkness (1971, สารคดีว่าด้วยหญิงชราผู้พิการซ้ำซ้อน ทั้งหูหนวกและตาบอด), Invincible (2001, ชายที่มีพลังราวช้างสาร) หรือกระทั่งหนังบ้าบิ่นหลายเรื่องที่นำแสดงโดย เคล้า คินสกี้นั่นก็ใช่
ทั้งหมดนั้น แฮร์โซกไม่ได้ทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวละครในหนังเป็นตัวประหลาด (หรืออาจจะมีก็น้อยเต็มทน) และไม่แม้แต่จะทำให้คนดูเกิดความรู้สึกสงสารหรือสมเพช มันเป็นการมองมนุษย์อย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน และมองด้วยสายตาอันอาทร
ใครก็ได้บอกผมทีว่า โลกเราเหลือคนแบบนี้อยู่อีกกี่คน?