หากต้องการเห็นภาพวิญญาณนักสู้และความเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่น นอกเหนือจากรายการเกมโชว์ยอดนิยมอย่าง ทีวีแชมเปี้ยน แล้ว การอ่านการ์ตูนของอาดาจิ มิทซึรุ ก็อาจทดแทนได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ตามประวัติแล้ว ก่อนจะมาเป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง มิทซึรุต้องฝ่าอุปสรรคนานัปการ และผ่านโมงยามแห่งความเปลี่ยวเหงาที่คนรอบข้างไม่มีวันเข้าใจ เขาเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน กระเสือกกระสนจนจบการศึกษาจากวิทยาลัยพาณิชย์ แต่กลับกระโจนเข้าสู่อาชีพนักเขียนการ์ตูนรายสัปดาห์ในนิตยสาร (ในปี 1970) ค้นหาตัวเองอยู่นานกว่าจะหาที่ทางอันเหมาะเจาะและไต่เต้าไปยังจุดที่ได้รับการนับถือ
อย่างที่หลายๆ คนทราบกัน – งานของมิทซึรุไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ ทั้งลายเส้นและพล็อตของการ์ตูนแต่ละเรื่องไม่ซับซ้อน ออกจะเรียบง่าย จนโดนค่อนขอดว่าวาดกี่เรื่องๆ ก็ออกมาเหมือนกันหมด กว่าร้อยละ 90 นั้นเกี่ยวข้องกับกีฬา ความรักของวัยรุ่น และความรู้สึกอ้างว้างของช่วงวัยที่เจ็บปวด แต่ก็งดงาม แก่นเรื่องสำคัญที่มิทซึรุเน้นย้ำอยู่เสมอ อยู่ตรง “ไม่มีอะไรที่อยู่นอกเหนือความพยายาม“
งานของอาดาจิ มิทซึรุที่โด่งดังมากที่สุดคือ TOUCH เรื่องราวของเด็กหนุ่มฝาแฝด ความรักกับหญิงสาวคนเดียวกัน และกีฬาเบสบอล อีกเล่มที่ได้เสียงตอบรับในระดับพอๆ กันคือ H2 โดยที่โครงเรื่องไม่ได้ต่างกันมากนัก
ในบรรดางานที่ออกตีพิมพ์ ROUGH อาจเทียบความโด่งดังกับ 2 เรื่องนั้นไม่ได้ หากแต่มันกลับถ่ายทอดและอธิบายถึงภาวะ “18 ฝน 18 หนาว” ของวัยรุ่นได้ชัดเจน ลึกซึ้งและกินใจ
ฉบับภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปีที่แล้ว (และกำลังจะเข้าฉายในบ้านเรา) โดยผู้กำกับ เคนทาโร โอตานิ (Nana) ไม่ลืมที่จะบอกความหมายของชื่อเรื่อง Rough (อันหมายถึง หยาบ, สาก, ไม่ละเอียด) ผ่านปากตัวละครคุณป้าผู้ดูแลหอพักนักกีฬา
แกเล่าถึงลูกสาวของแกที่วันๆ เอาแต่นั่งวาดรูป และกว่าจะสำเร็จได้แต่ละครั้ง ก็ต้องลงเส้นร่างหยาบๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก่อนที่จะแน่ใจแล้วลงเส้นจริงเป็นครั้งสุดท้าย
ชีวิตวัยรุ่นก็เป็นอย่างนี้ มันยุ่งเหยิงวุ่นวายเหมือนเส้นร่างนับร้อยเส้น และไม่น่ามองในสายตาของคนอื่น (กระทั่งตัวเอง) แต่นี่เองคือกระบวนการสำคัญของชีวิต เพราะหากไม่ได้ลงเส้นร่างเสียก่อนแล้ว ลายเส้นจะงดงามคมกริบไม่ได้เลย
มันเป็นการเปรียบเปรยที่ให้ภาพชัดเจน และมันก็มีความน่ารักไม่มีพิษมีภัยแบบอาดาจิ มิทซึรุแท้ๆ
ตัวหนังนั้นยังคงโครงเรื่องเดิมไว้ทั้งหมด แต่มีการรวบรัดเหตุการณ์และปรับแปลงตัวละครสมทบเสียใหม่ - เคอิสุเกะ (หนุ่มหล่อ ฮายามิ โมโกมิจิ จากซีรีส์ Brother Beat) นักว่ายน้ำหนุ่มอนาคตไกล และ อามิ (มาวามิ นากาซาวะ สาวเจ้าน้ำตาจาก Crying out Love, In the Center of the World) นักกระโดดน้ำหญิง พระเอกและนางเอกที่เหม็นขี้หน้ากันตั้งแต่แรก เพราะครอบครัวเคยทะเลาะกันเมื่อสมัยคุณปู่
ความขัดแย้ง (ที่ดูน้ำเน่า) ยังไม่หมดแค่นั้น เมื่อเคอิสุเกะเกิดความรู้สึกหวั่นไหวกับอามิขึ้นมา เขาก็ได้รู้ว่าหญิงสาวมีชายอื่นอยู่ข้างกายเสียแล้ว หนำซ้ำคนคนนั้นยังเป็นนักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของสถิติระดับประเทศ – คู่แข่งอันดับ 1 ของเขา
แต่ความขัดแย้งที่น่าสนใจที่สุดอยู่ภายในจิตใจของเคอิสุเกะเอง เขาก็เหมือนกับพระเอกในการ์ตูนญี่ปุ่นทั่วๆ ไป เลือกที่จะเก็บงำความรู้สึกมากกว่าจะแสดงออกมา หรือในอีกความหมายหนึ่ง เขาไม่กล้าที่จะเสี่ยงกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกีฬาหรือความรัก
ฉากที่เจ็บปวดมากฉากหนึ่ง เป็นตอนที่พระเอกโดนเพื่อนสนิทท้าให้กระโดดจากดาดฟ้าโรงเรียนลงมายังพื้นด้านล่าง แต่เขาปฏิเสธ (“ฉันเบื่อแกจริงๆ แกไม่เคยแสดงความรู้สึกออกมาเลย ว่าแกเสียใจ ดีใจ หรือเศร้าแค่ไหน ชาตินี้แกคงไม่มีทางเป็นผู้ชนะได้หรอก”)
แต่ตัวละครที่น่าสนใจที่สุดในหนังไม่ใช่ตัวละครเอก กลับเป็นนักกระโดดน้ำสาวผู้หยิ่งผยอง และแอบมีใจให้กับพระเอกอยู่ลับๆ เธอเป็นตัวอิจฉาที่ถ้าได้มาอยู่ในละครบ้านเราคงมีเรื่องตบตีกันวุ่นวาย แต่หนังวางจังหวะและพื้นที่ไว้ให้เธออย่างพอๆ ดี เธอกล้าที่จะบอกรักพระเอก และก็กล้าที่จะเกลียดนางเอกอย่างออกนอกหน้าอย่างสมเหตุสมผล (ในความคิดของเธอ)
Rough ของเคนทาโร โอตานิ ไม่ได้ออกมาเหมือน Nana งานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงและสร้างมาจากการ์ตูนเหมือนกัน อย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ Nana สนุกและพาอารมณ์คนดูได้ล่องลอยไปไกลมากกว่า ในขณะที่ Rough ไปอย่างช้าๆ และเกือบๆ จะล้มเหลวในการดึงดูดคนดู
ในความเห็นส่วนตัวของผม สิ่งที่อาดาจิ มิทซึรุทำได้ดีมาก คือการเล่าเรื่องด้วยภาพอย่างแท้จริง คำบรรยายหรือกระทั่งบทสนทนามีน้อย แอ็กชั่นในหน้ากระดาษอาจดูราบเรียบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในจินตนาการของคนอ่านกลับท่วมท้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดหัวฉากแต่ละฉากด้วยภาพทิวทัศน์ง่ายๆ อย่างถนนรนแคม ต้นไม้ที่ปลิวไสว ใบไม้ที่ลู่ลมและร่วงลงบนทางเท้าที่เหมือนจะร้างผู้คน ฤดูร้อนจากลายเส้นปากกาของมิทซึรุนั้นดูเศร้าเคล้าความสดใสไปพร้อมๆ กัน
การนำไสตล์ของมิทซึรุมาใช้ในหนังอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องนัก อย่างน้อยๆ กรณีตัวอย่างของ Rough ก็บอกได้เป็นอย่างดี หลายๆ ฉากทำให้คนดูรู้สึกว่ามันดูเยิ่นเย้อเกินไป วางท่ามากเกินไป และที่สำคัญ มุกตลกที่อาจได้ผลกับการ์ตูน แต่ในหนังมันไม่ลื่น แม้หนังจะพยายามรวบรัดตัวละครกับเหตุการณ์ให้สั้นและแคบลงแล้วก็ตาม
ผลโดยรวมๆ คือ Rough เนือยไปสักหน่อย ทั้งๆ ที่มันควรจะดูกระชุ่มกระชวยมากกว่านี้
ฉากที่ดีที่สุดของหนังเป็นฉากจบเรื่อง มันสั้น ง่าย กระชับ และไม่ยืดยาวเกินจำเป็น จนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามันเป็นแบบนี้ทั้งเรื่อง Rough อาจจะได้ใจคนดูไปอีกเท่าตัว
ตอนจบนั้นไม่มีอะไรหวือหวา แน่นอนว่ามันต้องเป็นฉากการแข่งขันว่ายน้ำของพระเอกและคู่แข่งคนสำคัญ เขาเกือบๆ จะได้รู้อยู่แล้วว่า นางเอกคิดอย่างไรกับเขา แต่อุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ก็ผ่านมาทำให้เขามุ่งมั่นกับการแข่งขันอย่างเต็มที่
แล้วก็อย่างที่เดากันได้ว่า เคอิสุเกะทำตามที่ตั้งใจได้สำเร็จ แต่โดยที่ไม่รู้ว่า - นอกจากเด็กหนุ่มจะชนะการแข่งขันกับชนะใจตัวเองแล้ว มันยังเป็นวินาทีที่ชนะใจหญิงสาวที่เขาหมายปองอย่างเป็นเอกฉันท์