เพราะการเริ่มต้นด้วยความที่ดูเหมือนจะมี "อุดมการณ์ - อุดมคติ" ซึ่งไปถูกรสนิยมของคนหลายคน เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกหากการทำงานเพลงของ "แอ๊ด ยืนยง โอภากุล" ในช่วงหลังๆ จึงถูกวิพาษ์วิจารณ์ไปในทิศทางที่เป็นลบอยู่ตลอดเวลา อันเนื่องมาจากจะดูเหมือนว่าตัวของเขานั้นจะค่อยๆ ทำให้ความเป็น "คาราบาว" ที่เคยเข้มข้นจางลงไปเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรม รสนิยม เรื่อยไปจนถึงธุระกิจส่วนตัวที่ค่อนข้างจะขัดแย้งกันเองอย่างหนักต่อคำบอกเล่าที่ผ่านมาออกมาทางเนื้อหาของบทเพลงที่เขาขีดเขียน โดยเฉพาะเมื่อมองไปถึงแนวทางและความหมายและคำจำกัดของความเป็น "ดนตรีเพื่อชีวิต" ของคนส่วนใหญ่ที่เจ้าตัวใช้ทำมาหากินซึ่งค่อนข้างจะแยกจากกันลำบากระหว่างวิถีของตัวตนที่แท้จริงกับแนวทางของผลงานที่ถูกรังสรรค์ออกมา
จะบอกว่าเป็นความโชคร้ายอย่างหนึ่งของเหล่านักดนตรีในแขนงนี้เสียทีเดียวก็คงจะว่าได้ ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างไร หากมองกันไปถึงการแปรเปลี่ยนของกับการ "ปรับตัว" ที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อปาก เพื่อท้อง และเพื่อการดำรงอยู่
แต่ที่มันน่าสนใจก็คือ ดูเหมือนว่าผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของ "คาราบาว" คนนี้จะไม่ต้องการเพียงแค่การ "อยู่ได้" เท่านั้น หากแต่เขาต้องการ "ได้อยู่" อย่างสุขสบายซึ่งโชคร้ายก็คือรสนิยมในการใช้ชีวิตที่ว่าของเขาในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่มันเกินเลยไปจากคำว่าพอเพียง - เพียงพอไปสู่ระดับขั้นของความเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างไรที่จะมีผู้คนที่เคยศรัทธาต่อตัวตนของเขาในสังคมลุกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยในเจตนาของงานแต่ละชิ้นที่เขาทำออกมา ว่าจุดมุ่งหมายของมันคืออะไร หาเงิน, สร้างสรรค์ - จรรโลง - ตอบแทนสังคม, สร้างความสนุก - คืนกำไรให้แฟนเพลง, เป็นสินค้า, เป็นงานศิลปะ ฯลฯ
รวมไปถึงความสงสัยต่อการให้คุณค่าและความเอาใจใส่ต่องานแต่ละชิ้นที่ทำออกมาอันเป็นพื้นฐานซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อกับงานในเชิงพาณิชศิลป์ที่หลอกล่อหากินเอากับอารมณ์ - ความรู้สึกและรสนิยมของผู้คนในสังคมเช่นนี้
"ยืนยง ตั้งวงเล่า" เป็นผลงานล่าสุดของ "แอ๊ด คาราบาว" (ชิ้นที่ 2 ที่เจ้าตัวทำร่วมกับค่ายอาร์เอสฯ) ถือเป็นการต่อยอดมาจากชุด "หนุ่มบาว สาวปาน" ที่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
ทันทีที่วางแผงออกมาดูเหมือนว่าอัลบั้มชุดนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และถามหาถึงความรับผิดชอบกับสังคมต่อผู้เป็นเจ้าของงานขึ้นมาทันทีในเรื่องของความ "เหมาะสม" ในห้วงเวลาที่ภาครัฐฯ เองกำลังรณรงค์ในเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมไปถึงหลักทางจารีตและคำสอนทางพุทธศาสนา กระทั่งมีผลให้มิวสิกวิดีโอเพลง "ราชันย์ฝันสลาย" ต้องถูกแบน
แต่หากมองไปเฉพาะตัวเนื้องาน โดยไม่ ยึดถึงงานที่ผ่านๆ มา ของความเป็น "คาราบาว" ต้องบอกว่าอัลบั้ม "ยืนยง ตั้งวงเล่า" นั้นเป็นงานที่ไม่ได้โจ๊ะเฮเอาฮาที่ไร้เสียซึ่งสาระไปซะเลยทีเดียว
เรียกว่ามีปรัชญา(เล็กๆ)แฝงอยู่ในวงเรื่องเล่าของวงเหล้านี้ให้ขบคิดอยู่เหมือนกัน ไล่ไปตั้งแต่เพลงจังหวะสนุกๆ เนื้อหาฮาๆ อย่าง "ราชันย์ฝันสลาย" ผลงานการเขียนของ "สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา" ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วจาก "หนุ่มบาว สาวปาน" ว่าเขาคนนี้คือหนึ่งในแฟนคาราบาวตัวจริง เพลงนี้ใครที่ชอบสามช่าฟังแล้วต้องลุกเต้นแน่, "ขี้เมากะเพราแตะ" บรรยายบรรยากาศในวงเหล้าเสียจนเห็นได้อย่างเด่นชัดแถมยังมีเรื่องของสิทธิสตรีเข้ามาอีกต่างหาก, ส่วน "คนเหงาเดือนหงาย" นี่ก็ชวนเหงาทีเดียว, "ม่วนจังตังค์อยู่ครบ" ฟังผิวเผินนี่มันสไตล์ของน้าหมู(พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ)ชัดๆ ขณะที่ "ทีวีกับขี้เมา" เพลงนี้แนะให้รัฐบาลที่กำลังรณรงค์เรื่องการห้ามโฆษณาเหล้าต้องฟังดีๆ ส่วนที่ลุกขึ้นมาส่ายเอวได้อย่างสนุกแน่อีกเพลงก็คือ "แมวขโมยสามช่า" ในแทร็ก(ร้อง)สุดท้าย
แถมด้วย 3 แทร็กคาราโอเกะเอาไว้ให้หยิบคว้าไมค์ขึ้นมาร้องกันเพลินๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า 2 - 3 อัลบั้มในระยะหลังๆ ของหัวเรือคาราบาวคนนี้ค่อนข้างที่จะออกไปในแนวทำนองในที่เป็น "ความสุขส่วนตัว" ของเขามากกว่าจะเป็นการบอกเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ชีวิต สภาพสังคมแบบหนักๆ หรือการเขียนเพลงตามหนังสือพิมพ์ประเภทข่าวรายวันที่เจ้าตัวถนัด ซึ่งคงจะเป็นเรื่องที่ยากเหลือเกินที่จะไปตัดสินว่าระหว่างตัวตนที่แท้จริงของเขาหรือสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของสังคมไทย อะไรกันแน่ที่เปลี่ยนแปลงไป?
ถึงแม้ว่า "ยืนยง ตั้งวงเล่า" จะไม่ใช่งานที่ก่อให้เกิดสาระเท่าใดนักในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ทั่วไป แต่การจะสรุปว่านี่คืองานชิ้นเลวที่มีแต่โทษก็ดูจะเป็นเรื่องที่โหดร้ายเกินไปสักนิด
จริงอยู่ที่ว่า เหล้าไม่ใช่ของที่ดีการดื่มเหล้าไม่มีประโยชน์ แต่ทั้งนี้การเป็นคนขี้เมาก็ใช่ว่าจะต้องเป็นคนเลวเสียเมื่อไหร่?