ถือเป็นงานที่เปรี้ยงปร้างอีกหนึ่งอัลบั้มของค่ายห้องเล็ก Smallroom ที่ได้โปรดิวเซอร์มากฝีมืออย่าง "เจ เจตมนตร์ มละโยธา" หรือ"เจ เพนกวินวิลล่า" มาดูแลควบคุมการผลิตให้อย่างใกล้ชิด ฉะนั้นด้วยเอกลักษณ์ความเป็นดนตรีอารมณ์ดีของตัวเพนกวิน วิลล่าเอง ผสานกับความเป็นตัวตนของคนทำบทเพลงร่าเริงของสี่หนุ่ม "ดิม หรินทร์ สุธรรมจรัส, รัฐ พิฆาตไพรี, จั๊มพ์ ธนบดี ธีรพงศ์ภักดีและตง เอกชัย โชติรุ่งโรจน์" ในนาม Tattoo Colour เองด้วยแล้ว งานของ Tattoo Colour ในอัลบั้ม Hong Ser (ที่ผวนมาจาก Her Song แปลตรงตัวว่า เพลงของเธอ) จึงกลายเป็นเพลงฟังอารมณ์ดี ดนตรีเต้นรำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว
จะว่าไปแล้วตั้งแต่หน้าปกของซีดี ไล่เรียงไปถึงตัวแผ่นซีดีเอง ตลอดจนเสียงดนตรีที่ส่งออกมาเมื่อวางแผ่นใส่ลงไปในเครื่องเล่นแล้วนั้น ทั้งหลายทั้งปวงก็ล้วนบ่งบอกถึงความอารมณ์ดีของสี่หนุ่มได้เป็นอย่างดี มาดการวางท่าสบายๆ ที่บอกเล่าเป็นเรื่องราวในการถ่ายรูปใส่หน้าปก ตลอดถึงสีสันที่พวกเขาเลือกหยิบมาใส่ ก็น่าจะบ่งบอกถึงสิ่งที่จะได้ยินได้ฟังกันบ้างไม่มากก็น้อย
แทร็คที่หยิบมาโปรโมทอย่าง"ฝากที"นั้น โดดเด่นติดหูมากในด้านของทำนองที่เป็นจังหวะเต้นรำสนุกสนาน และยังมีเสน่ห์แฝงเรื่องเนื้อร้องที่แปลกและแตกต่างเอาไว้เล็กๆ อีกด้วย
นับตั้งแต่แผ่นซีดีเริ่มหมุนเล่น บทเพลงแรกที่ชื่อ"อากาศร้อนๆ"ไล่เรียงมาถึงเพลงที่สี่อย่าง"ฝากที"นั้น อารมณ์คนฟังจะถูกชักนำลากจูงไปให้เข้าใจว่า Tattoo Colour คือวงดนตรีอารมณ์ดี ฟังสบาย ที่มีจังหวะจะโคนเอียงเอนไปทางด้านการเต้นรำ ผสมผสานกับเสียงเอฟเฟคกีตาร์ฟังสบาย ไลน์กลองสวยงาม และเสียงร้องของดิมที่แอบใส่เสียงลมหายใจลงไปเบาๆ ในบางท่อน ทั้งหลายทั้งปวงล้วนผสมผสานก่อกลั่นเป็นงานที่มีจังหวะพอให้ขยับโยกตัวได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพลงช้าๆ อย่าง”ฟ้า” ก็ตามที
เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในบทเพลงเปิดอัลบั้มตั้งแต่แทร็คแรกไปจนถึงแทร๊คที่สี่นั้น คือเรื่องราวเนื้อร้อง ที่แปลกและแตกต่างจากบทเพลงรักในท้องตลาดไปอย่างชัดเจน
แต่ทว่า หลังจาก"ฝากที"จบลง เสมือนว่าภาคของเพลงใน Hong Ser ได้ถูกแบ่งแยกออกมาเป็นครั่งแรกกับครึ่งหลังอย่างชัดเจน เพราะความสนุกสนานต่อเนื่อง ได้ถูกเบรคพักด้วยบทเพลงช้า ที่บางเพลงอาจใช้คำว่าเฉื่อยชา ไร้รสชาติ ได้เลยทีเดียว รสชาติจัดจ้านของบทเพลงที่เปิดมาในตอนต้นขาดหายไปเสียเฉยๆ หลายเพลงในภาคหลัง กลายเป็นเพลงรักธรรมดา ที่ส่งผ่านกีตาร์โปร่งเบาสบาย และเสียงร้องประสานที่ไพเราะในระดับหนึ่ง จากความไม่กดดันของนักดนตรีและผู้ผลิตเอง แต่นั่นก็ทำให้อารมณ์ของผู้ฟังสะดุดหลุดหายไปพอสมควร
ฉะนั้นจึงทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าบทเพลงของ Tattoo Colour ในอัลบั้ม Hong Ser ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่เชื่อว่ามีหลายคนที่เลือกเพลงในอัลบั้มชุดนี้ฟังในลักษณะที่ไม่ได้ตั้งใจฟังตั้งแต่เพลงแรกแล้วปล่อยให้แผ่นซีดีเล่นเรื่อยขับกล่อมไปจนถึงเพลงสุดท้ายด้วยตัวของมันเอง
แต่เป็นลักษณะของการหยิบ"บางเพลง"ขึ้นมาฟังในวาระที่แตกต่างกันตามประสงค์ของผู้ฟังเองมากกว่า
ไม่ใช่ว่าบทเพลงข้างท้ายจะไม่ไพเราะ แต่เป็นเพราะว่าความรู้สึกของผู้ฟังที่ถูกปรุงแต่งมากลายๆ ว่าบทเพลงของ Tattoo Colour จะเป็นเพลงเต้นรำ มีจังหวะ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพลงช้า แต่น่าจะมีความหนักแน่นของจังหวะมากกว่าที่ "Like"หรือ"กลัว"เป็นอยู่ จะว่าไปแล้วจุดผิดพลาดเล็กๆ ของ Hong Ser น่าจะอยู่ที่การวางผังของเพลงในอัลบั้ม ถ้ามีการสลับบทเพลงโดยการกระจายเพลงที่มีจังหวะแตกต่างออกไป น่าจะทำให้มวลรวมของอัลบั้มชุดนี้ลงตัวมากขึ้น
ยิ่งเมื่อมีเพลง"เกาะร้าง ห่างรัก" เข้ามาปิดท้ายด้วยแล้ว ยิ่งทำให้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้ฟังกระโดดไปกระโดดมาอย่างแจ่มชัดมาก แต่เพลงโดยรวมของ Tattoo Colour ในอัลบั้ม Hong Ser นี้ ก็นับว่าเป็นพื้นฐานเพลงป็อบสนุกสนานที่ฟังสบายๆ อัลบั้มหนึ่ง และการทำงานร่วมกันของสี่หนุ่ม Tattoo Colour กับเจ เจตมนต์ ก็ถือว่าเข้าท่าเข้าทางกันดีทีเดียว เพราะพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของทั้งนักดนตรี และตัวโปรดิวเซอร์ที่ใกล้เคียงกันนั่นเอง
ถ้าเปรียบเทียบ Hong Ser ของ Tattoo Colour เป็นรอยสัก ก็นับว่าเป็นลายสักที่สวยคม และมีเส้นสีฉูดฉาดน่าสนใจ แต่มีการจัดวางลวดลายที่ผิดที่ผิดทางไปสักนิด จึงทำให้ภาพรวมๆ ทั่วทั้งร่างออกมาดูขัดหูขัดตาไปบ้าง และถ้าวงการดนตรีนอกกระแสยังไม่ล้มหายตายจากไปก่อนวัยอันควร เชื่อว่า Tattoo Colour จะกลับมาพร้อมอัลบั้มสองที่ลงตัวและชัดเจนทั้งลวดลายและการจัดวางมากขึ้นกว่านี้ได้แน่นอน