สมมุติว่าตอนนี้คุณกำลังมีชีวิตที่ย่ำแย่ ตกอับ ลูกชายคนเดียวของคุณที่เกิดกับภรรยาซึ่งจากคุณไปด้วยการหย่าร้าง ก็กำลังจะเสื่อมศรัทธาที่เหลือน้อยนิดต่อพ่อบังเกิดเกล้า คุณต้องเปลี่ยนงานและที่พักอาศัยทุกๆ สามสัปดาห์คุณดูเหมือนว่าเป็นคนขี้แพ้ที่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง
แต่แล้ววันหนึ่ง โชคชะตาก็นำพาให้คุณได้รับงานเป็นผู้รักษาความปลอดภัยเวลากลางคืนในพิพิธภัณฑ์ที่กำลังจะไร้ซึ่งผู้เข้าชมแห่งหนึ่ง ตำแหน่งที่คล้ายจะต้อยต่ำในสายตาคนทั่วไป และท่ามกลางความเงียบเหงาอ้างว้างในค่ำคืนหนึ่ง จู่ๆ ทุกสิ่งที่ดูไร้ชีวิตในยามกลางวันที่พิพิธภัณฑ์ ก็กลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นโครงกระดูกไนโดเสาร์ รูปปั้นขี้ผึ้งมนุษย์ดึกดำบรรพ์ หุ่นจำลองตัวจิ๋วนักรบโรมันกับคาวบอย กระทั่งหุ่นขี้ผึ้งของประธานาธิบดี “เท้ดดี้ รูสเวล์” ของอเมริกา
คุณจะทำอย่างไร กับชีวิตตกอับที่เกือบจะหยุดนิ่ง แล้วต้องมาพบเรื่องแสนอัศจรรย์ที่น่าตกใจและปวดหัวขนาดนี้ ?
“เบน สติลเลอร์”มารับบทบาท “ลาร์ลี่ ดาร์ลี่” ซึ่งเป็นบทบาทเดิมๆ ที่เขาถนัดมาตลอด คนพ่ายแพ้ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่างในชีวิต หย่าร้าง มีลูกชายหนึ่งคนที่ต้องสลับกันเลี้ยงดูกับภรรยาเก่า แถมยังมีปัญหาทั้งเรื่องหน้าที่การงาน และที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนใหม่ ทุกๆ 3 สัปดาห์ ชีวิตของลาร์ลี่คล้ายกับว่าจะไม่มีอะไรดีสักอย่าง ในโลกแห่งความเป็นจริงที่เขาอาศัยอยู่ เขาคือไอ้ขี้แพ้คนหนึ่งเท่านั้น
แต่แล้วจู่ๆ เขาก็ๆได้มาพบกับความอัศจรรย์เมื่อเรื่องเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ที่เขาทำงานเป็นยามในกะกลางคืน เมื่อหุ่นต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์เกิดมีชีวิตขยับเขยื้อนเหมือนมีเลือดเนื้อประดุจดังสิ่งมีชีวิตจริงๆ ทุกประการ
โลกตอนกลางคืนในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เสมือนโลกแห่งจินตนาการที่เป็นบททดสอบ และพลิกชีวิตของลาร์ลี่ ให้กล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลว ไม่กลัวที่จะล้ม และที่สำคัญคือ กล้าเผชิญหน้ากับความจริง
“เบน สติลเลอร์”ในบท”ลาร์ลี่ ดาร์ลี่” ก็ดูเข้ากันดี เพราะถ้าไม่ใช่สติลเลอร์ก็มองไม่เห็นแล้วว่าในยุคนี้ใครจะมารับบทคนขี้แพ้ ล้มเหลว ที่ดำเนินชีวิตแย่ๆ ในแต่ละวันไปกับมุขที่เรียกว่า “ตลกร้าย” ส่วนดารารับเชิญคนอื่นๆ ก็ถือว่าช่วยสร้างสีสันได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะ”โรบิน วิลเลียม”ที่มารับบทเป็นหุ่นประธานาธิบดี”เท็ดดี้ รูสเวล์” ซึ่งมีมิติมากกว่าการเป็นหุ่นขี้ผึ้ง หรือกระทั่งการเป็นประธานาธิบดีธรรมดาๆ
จากประโยคของหุ่นขี้ผึ้งรูสเวล์ที่บอกกับลาร์ลี่ว่า “ตัวเขาเอง แท้จริงแล้วไม่ใช่ประธาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นเพียงหุ่นขี้ผึ้งธรรมดาๆ ตัวหนึ่งเท่านั้น” พร้อมกับปลุกปั่นให้ลาร์ลี่ลุกขึ้นสู้ และกล้าชนกับปัญหา ทำให้หุ่นขี้ผึ้งที่แสดงโดยวิลเลี่ยม มีพลังเกินกว่าหุ่นขี้ผึ้งธรรมดา
นอกจากนี้แล้ว ยังมี”โอเว่น วิลสัน”มาแสดงบทเป็นคาวบอย ล้อเลียนตัวเองในภาพยนตร์เรื่อง “Shanghai Noon” ที่แสดงร่วมกับเฉินหลงอีกด้วย
หนังมีมุขกัดล้อเลียนภาพยนตร์หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Jurassic Park , Shanghai Noon, Jumanji ฯลฯ เรียกได้ว่าถ้าใครช่างสังเกตสักหน่อย ก็น่าจะทันมุขและมีขำตามเบาๆ ไปได้บ้าง
จากหนังตัวอย่างที่มีฉากที่น่าสนใจ ประกอบกับพล๊อตของเรื่องที่น่าติดตาม แต่พอเอาเข้าจริงๆ “Night At The Museum” กลับกลายเป็นหนังแฟนตาซีสำหรับครอบครัวธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง ด้วยความที่เดินตามสูตรสำเร็จฮอลลีวู้ดแทบจะทุกย่างก้าว ตั้งแต่เรื่องราวของตัวเอกที่ไม่เอาไหน และกำลังจะสูญเสียอะไรบางอย่างไป ซึ่งจำต้องมีเรื่องราวอุปสรรคบางอย่างเข้ามาให้เขาพิสูจน์ตัวเอง จนสุดท้ายเขาก็ผ่านมันไปได้สำเร็จ พร้อมกับชีวิตแย่ๆ ของเขาก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
โดยแก่นของเรื่องทำนองนี้ จึงทำให้ความสนุกลุ้นในการติดตามชม ตกไปอยู่ที่การตามลุ้นดูฉากที่ใช้ CG ที่ผู้สร้างตั้งใจเนรมิตขึ้นมา ทั้งจากมุมมองแปลกใหม่ของทีมงาน ผู้เขียนบท(โรเบิร์ต เบ็น และโธมัส เลนน็อน) และจากความสามารถของคอมพิวเตอร์เอง ซึ่งทำให้ผู้ชมใจจดจ่อกับการปรากฏตัวของฉากน่าตื่นตาตื่นใจทั้งหลายไปเสียมากกว่าการมาตามลุ้นตามเชียร์พระเอก
แต่เอาเข้าจริง ฉาก CG ที่ว่าก็สร้างความตื่นตาตื่นใจได้เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น เพราะผู้ชมได้เห็นภาพต่างๆ มาจากตัวอย่างหนังพอสมควรแล้ว ประกอบกับการปรากฏเป็นหนที่สองของเหล่าหุ่นในพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นโครงกระดูกทีเร็กซ์ หุ่นจำลองคาวบอย เผ่านักรบโรมัน แท่นหินศิลายักษ์ ฯลฯ ก็คงไม่มีพลังความตื่นเต้นให้เราได้เท่าไรแล้ว ดังนั้นความสนใจผู้ชมจึงเริ่มเบนกลับมาที่เนื้อเรื่องทันที
และเมื่อเนื้อเรื่องจืดชืด ธรรมดา จึงทำให้ Night At The Museum ทำหน้าที่ได้เพียงภาพยนตร์โชว์ CG ที่มีมุขตลกร้ายสอดแทรกอยู่บ้าง ก็เท่านั้น
ใครชื่นชอบผู้กำกับอย่าง ชอว์น เลวี่ ที่เคยกำกับหนังตลกร้ายๆมาแล้วหลายเรื่อง และผู้ใดที่ชื่นชอบเบน สติลเลอร์ ,โรบิน วิลเลี่ยม หรือกระทั่งเป็นขาประจำของผู้อำนวยการสร้างอย่าง คริส โคลัมบัส ที่เคยฝากผลงานการกำกับ Harry Potter and the Sorcerer's Stone,Harry Potter and the Chamber of Secrets ฯลฯ มาแล้ว ก็ไม่น่าจะผิดหวังสักเท่าไรกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้านำบทภาพยนตร์กับ CG มาหักล้างกันก็ถือได้ว่าเสมอตัว
สิ่งหนึ่งที่จะสังเกตเห็นได้และนำมาเป็นเสมือนอุทธาหรณ์ในการดำเนินชีวิตได้บ้าง ก็คือการมองโลกในแง่ดี และไม่ยอมแพ้ของลาร์ลี่ เพราะถึงแม้เขาจะตกอับอาภัพ และคล้ายว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้างเขาขนาดไหน เขาก็ยังลุกขึ้นสู้ใหม่ทุกครั้ง(ถึงจะแอบมีอารมณ์เสีย และแอบมองโลกในแง่ร้ายบ้างนิดๆ ก็ตาม) ทั้งจากการเดินหน้าหางาน ทั้งๆ ที่เขารู้ดีว่าด้วยความสามารถอย่างเขาคงเป็นไปได้ยากมาก และจากการเผชิญหน้ากับเรื่องราวน่าปวดหัวในพิพิธภัณฑ์จนทำให้เขาเกือบจะถอนตัวออกมากลางคัน แต่ท้ายที่สุดแล้วลาร์ลี่ก็ยังคงเดินหน้า เผชิญอุปสรรคด้วยความหวังว่า “สักวันหนึ่ง จะต้องมีสิ่งดีดีเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา ดั่งเช่นปาฏิหาริย์ที่มีเกิดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้ว”
เพราะเขาตระหนักรู้ดีว่า ชีวิตที่ขาดไร้ซึ่งความหวัง ก็คงเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ผ่านกระบวนการสันดาปทางเคมีของร่างกายหายใจไปวันๆ ซึ่งมันน่าจะย่ำแย่ยิ่งกว่าบรรดาหุ่นขี้ผึ้งไร้ชีวิตในพิพิธภัณฑ์พวกนั้นเสียอีก