ทั้ง แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า ของ ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ และ เก๋า..เก๋า ของ วิทยา ทองอยู่ยง เป็นหนังตลก 2 เรื่องที่ลงโรงฉายไล่เลี่ยกัน แล้วก็คงจะลาโปรแกรมไปพร้อมๆ กันในเร็ววันนี้ หลังจากผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่
ทั้งสองเรื่องเป็นหนังตลกประมาณเรื่องที่ 10 ของปี ซึ่งอาจคิดเป็นสัดส่วนต่อหนังไทยที่ฉายทั้งหมดได้ร้อยละ 40, ในแง่ของรายได้นั้น แสบสนิทฯ อาจเก็บไปได้มากกว่า แต่เก๋า...เก๋าก็ไม่ได้เจ็บตัวมากมายอะไร
ในฐานะคนดูหนังไทยแล้ว ผมคิดว่าการที่คนไทยได้ชม (หรือมีตัวเลือกให้ชม) หนังตลกที่เฉลี่ยออกฉายมากกว่า 1 ใน 3 ส่วนนั้น ค่อนข้างจะเป็นการดูถูกเหยียดหยามจนเกินไป รวมถึงคนทำหนังก็ไม่พยายามท้าทายหรือกระทั่งแนะนำสิ่งใหม่ๆ ให้กับคนดูหนังอันถือเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการเลย
ผมไม่ได้พูดแล้วมองตัวเองในฐานะนักวิจารณ์ (ถ้าหากเป็นอย่างนั้น คงจะเรียกร้องอะไรมากกว่านี้) ที่สำคัญคือผมไม่ได้ขอให้คนทำหนังผลิตงานที่ท้าทายสติปัญญาของผู้ชม เพราะเพียงแค่การท้าทายคนดูในแง่ “อารมณ์” ก็หาได้เพียงแค่หยิบมือ
คนไทยคงเป็นชนเผ่าที่นิยมชมชอบอารมณ์ขันมากที่สุดในโลก เรามีตลกคาเฟ่กว่า 100 ชีวิต รายการโทรทัศน์ของเรา (ไม่ว่าจะอยู่ในเรต ท น ด ฉ) เกือบครึ่งเป็นการรายการเบาสมองเพื่อความบันเทิง ถึงเราจะไม่ได้ปฏิเสธเรื่องซีเรียสจริงจัง แต่เราก็ไม่พยายามขวนขวายที่จะหามาใส่ตัวเอง
อารมณ์ขันของบ้านเราเป็นแบบแผนง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แค่ใครสักคนโดนถาดตีหัวเราก็ฮากันครืนแล้ว ตลกของไทยเข้าขั้นสิ่งที่เรียกว่า Farce (ไร้สติและเอะอะมะเทิ่ง) อย่างเต็มที่ เราชอบเห็นคนอื่นเจ็บตัว ชอบเห็นคนพิกลพิการ ชอบคนที่ผิดเพศ และผิดปกติ เรามักจะหัวเราะไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หัวเราะไปกับคนที่โง่กว่า และต่ำต้อยกว่าเรา
ข้อนี้เป็นความจริงที่เถียงไม่ได้ ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์เราถูกกระตุ้นให้หัวเราะกับความผิดปกติต่างๆ นานา และหนังตลกคลาสสิกของชาร์ลี แชปลินก็เป็นอย่างนี้ ละครหรือหนังคอมเมดีมุ่งหวังให้ผู้ชมหันมาสำรวจข้อบกพร่องของตนเอง (คือหัวเราะแต่เขา อิเหนาอย่าดันเป็นเสียเอง)
น่าเสียดายที่บ้านเราไม่ค่อยนิยมตลกเสียดสี ซึ่งคนไทยอาจจะคิดว่ามันยากหรือเยิ่นเย้อกันเกินไป การจะด่าใครสักคน คนไทยอาจไม่อยากประวิงเวลา แต่ชอบขุดคำหยาบมาฟาดใส่กันมากกว่า (และมันสนุกกว่า) สังเกตได้ว่า ถ้าใครสักคนในหนังตลกของไทยได้พูดคำว่า ไอ้*** ไอ้*** ขึ้นมาแล้วละก็ เป็นอันขำจนต้องนอนกลิ้งเลยทีเดียว (ผมก็ด้วย)
ที่พูดไปเรื่อยข้างบน ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า ทั้งแสบสนิทฯ และเก๋า..เก๋า ก็ไม่แคล้วเป็นหนังตลกที่ตกในหมวดข้างต้น มุกตลกส่วนใหญ่เป็นตลกชั้นเดียว ไม่ซับซ้อนซ่อนความ ล้มเหลวบ้างสำเร็จบ้าง เหมือนใช้ปืนเอ็ม 16 รัวยิงเป้าบินไปเรื่อย มีทั้งโดนและพลาด
แสบสนิทฯ มีตัวชูโรง -นอกเหนือจาก แดน ดีทูบี- คือนักแสดงตลก 4 คน ได้แก่ จตุรงค์ มกจ๊ก, จิ้ม ชวนชื่น, ค่อม ชวนชื่น และ โก๊ะตี๋ อารามบอย ส่วนบทหนังนั้นเป็นหน้าที่ของ พิง ลำพระเพลิง มือเขียนบท (โดยเฉพาะหนังหรือละครตลก) ชื่อดังของบ้านเรา
เนื้อเรื่องนั้นผูกขึ้นอย่างง่ายๆ ไอ้สนิทเด็กหนุ่มเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวใฝ่ฝันอยากเป็นนักมวย แม้ขึ้นชกทีไรจะคว่ำลงมาทุกที เขาหมายปองหญิงสาวคนหนึ่ง แต่พ่อของสาวเจ้าก็รังเกียจนักมวยเหลือเกิน ภารกิจพิชิตดอกฟ้าของพระเอกก็เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับภารกิจการพิสูจน์ตัวเอง ตามสไตล์ของพิง ลำพระเพลิงที่จะต้องมี พระเอกไม่เอาไหน นางเอกผู้แสนดี และมือที่สามผู้เพียบพร้อม
โครงเรื่องที่ไม่ได้วางไว้ซับซ้อน เอื้อต่อการใส่มุกตลกแบบไร้เหตุผลมากมาย ตั้งแต่การที่พรรคพวกพยายามพาสนิทไปหาของขลัง ทั้งการสัก การไปหาตะกรุดในบ้านผีสิง หรือการขึ้นชกแบบไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราว
แม้จะทราบดีว่า แสบสนิทฯ เป็นหนังตลกบ้าๆ บอๆ ที่ทำขึ้นเพื่อหวังผลอะไร แต่ต้องขอชมผู้กำกับที่วางสัดส่วนของนักแสดงสมทบทั้ง 4 คนได้เหมาะสม ถ้าถามว่าหนังไร้สติมากหรือเปล่า ผมคงต้องบอกว่ามาก และถ้าถามอีกว่าแล้วตกลงหนังตลกไหม ก็คงต้องตอบอีกว่า มันตลกมากเช่นกัน
คนที่โดดเด่นกว่าใครในเรื่องเห็นจะเป็น โก๊ะตี๋ อารามบอย เขาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็นนักแสดงตลกที่เก่งนั้นทำยาก และการเล่นให้ขำนั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ โก๊ะตี๋ไม่ได้ตายไปจากจอ แม้กระทั่งฉากที่เขาไม่ได้มีบทพูดเลย การแสดงปฏิกิริยาราวกับว่า “เชื่อ” ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ นั่นคือเสียงหัวเราะ ยิ่งโก๊ะตี๋จริงจังไปกับเรื่องงี่เง่ามากแค่ไหน คนดูก็จะตลกมากเท่านั้น
ลำพังตัวหนังนั้นอาจจะได้คะแนนเสมอตัว แต่โก๊ะตี๋ทำให้ราคาของหนังดีดตัวสูงขึ้นไปกว่าเดิม ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกว่านักแสดงตลกคนอื่นๆ ก็จัดการกับจังหวะการรับส่งได้ทรงประสิทธิภาพพอกัน
เทียบทางมวยกันก่อนขึ้นชกแล้ว เก๋า..เก๋า โดย จีทีเอช นั้นอาจจะดูเก๋ากว่าตามชื่อเรื่อง และเกรดอาจจะค่อนไปทางที่สูงกว่า กล่าวคือ หนังของจีทีเอชส่วนใหญ่มุ่งหวังคนดูในระดับกลาง ในขณะที่แสบสนิทฯ ตั้งใจกับตลาดล่างเต็มที่
พล็อตเรื่องของเก๋า...เก๋านั้นดูมีอะไรมากกว่า มันเป็นเรื่องของวงดนตรีจอมกร่างกลุ่มหนึ่งในปี 2512 ที่ดันเจอกับไมโครโฟนย้อนเวลาพามายังปี 2549 และพบว่าพวกเขาไม่ได้เป็นวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่อย่างที่คิด เช่นเดียวกับแสบสนิทฯ นอกจากพวกเขาจะมีภารกิจในการเดินทางกลับไปยังที่ที่เคยมาแล้ว ภารกิจนี้ยังเป็นการพิสูจน์ตนเองและการยอมรับความเป็นจริง
ถ้ามองในส่วนของการคลี่คลายในตอนจบ เก๋า..เก๋า ทำได้ดีกว่า ดูมีเนื้อมีหนัง และเห็นได้ชัดว่าตั้งใจที่จะเร้าอารมณ์คนดูให้เกิดความซาบซึ้ง
แม้โครงสร้างของบทจะถูกร้อยเรียงมาอย่างเป็นระเบียบกว่า ตัวละครสมทบดูหลากหลายกว่าเยอะ งานสร้างดูเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า แต่เห็นได้ชัดว่าปัญหาใหญ่ๆ ของเก๋า..เก๋า คือการที่มันไม่ได้สร้างเสียงหัวเราะเท่าที่มันตั้งท่าไว้ว่าจะเป็น
ผมพยายามตัดความสมเหตุสมผลของเนื้อเรื่องออกไป (โดยเฉพาะข้อสงสัยที่ว่าทำไมต๋อยจึงนำเอาไมโครโฟนกิ๊กก๊อกอันนั้นขึ้นมาร้องบนเวทีคอนเสิร์ต) แต่รอยด่างของหนังอยู่ที่การรับส่งของกลุ่มตัวละครหลักดูจืดชืด (มียุทธนา ธุวประดิษฐ์ ในบท น็อต เพียงคนเดียวที่สอบผ่าน) และบางครั้งก็ก่อให้เกิดช่องว่างของเสียงหัวเราะกับคนดูยาวนานเกินไป
จะโทษใครไม่ได้เลยนอกจากทั้งบทและการกำกับ หนังตลกถ้าบทสนทนาไม่มีจังหวะแบบ “ตึ่งโป๊ะ” เสียแล้วก็หมดกัน ยิ่งถ้าคุมจังหวะการแสดงของนักแสดงไม่ได้ ก็ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก
เก๋า..เก๋า อาจเป็นงานที่น่าผิดหวังที่สุดจากฝีมือของ 365 ฟิล์มส์ ที่สร้างชื่อมาจาก แฟนฉัน เพราะไม่สามารถดึงเอาอารมณ์ของคนดูออกมาได้เท่าที่ควร แต่ในความล้มเหลวนั้น ผมรู้สึกของผมเองว่า ยังคงมีจุดที่น่าชื่นชมและพอจะคาดหวังได้อีก
ตลอดเวลาผมคิดว่า กลุ่ม 365 ทำหนังดี แต่เพลย์เซฟจนเกินไป ดีตามแบบแผน ดีตามตำราว่าไว้ เคร่งครัดและเนี้ยบมากไปหน่อย ยกตัวอย่างเช่น เด็กหอ งานที่ดีที่สุดของกลุ่ม มันประณีตจนน่าอึดอัด
ในความเห็นของผม หนังที่ดีคือหนังที่ผ่อนคลาย และมีชีวิตเป็นของตัวมันเอง คนทำหนังจำเป็นต้องโยนคำว่า “กำไร-ขาดทุน” หรือ “หนังดี-หนังห่วย” ออกไป และปล่อยให้หนังไหลไปตามจังหวะหัวใจของมันเอง
เก๋า..เก๋า ไม่ใช่หนังที่ทำตามอย่างอุดมคติประหลาดๆ ของผม แต่หลายๆ ฉากเห็นได้ชัดว่า มีการ “ปล่อยไหล” โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยควบคุม ไม่มีการใช้ดอลลี่และไม่วางกล้องนิ่งจนพร่ำเพรื่อ ไม่แคร์เรื่องภาพหรือองค์ประกอบภาพว่าจะต้องสมบูรณ์ มันเกือบๆ จะมีชีวิตแล้ว...แต่มันก็แค่เกือบๆ
ขอยืนยันว่า 3 – 4 ย่อหน้าท้ายๆ นี้ผมไม่ได้พูดในฐานะนักวิจารณ์ แต่เป็นแค่คนดูคนหนึ่งที่อยากท้าทายให้คนทำหนังสร้างงานออกมาท้าทายคนดูบ้างแค่นั้นเอง