xs
xsm
sm
md
lg

Summer Time Machine Blues : เราจะข้ามเวลามาพบกัน!?

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ในปี 1985 โรเบิร์ต เซเมกคิส กับ บ็อบ เกล (มีสตีเวน สปีลเบิร์กด้วยอีกแรง) ช่วยกันทำให้หนังชุด Back to the Future กลายเป็นหนังไตรภาคที่ว่าด้วยการเดินทางข้ามเวลาที่โด่งดังที่สุด ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ ผู้รับบท มาร์ตี แม็กฟลาย พระเอกของเรื่อง ก็กลายสถานะจากดาราทีวีมาเป็นซูเปอร์สตาร์ค่าตัวแพงในชั่วข้ามคืน

ปัจจัยที่ทำให้เรื่องราวของเด็กหนุ่มกับศาสตราจารย์สติเฟื่องกลายเป็นหนังทำเงินมหาศาล เกิดจากการถึงพร้อมในแง่ของเทคนิคและเนื้อหา จินตนาการที่ว่าด้วยการเดินทางย้อนไปในอดีตและข้ามไปสู่อนาคต เป็นความฝันเฟื่องลมๆ แล้งๆ ของมนุษย์ และการได้เห็นตัวละครเหาะเหินทะยานฟ้าก็เป็นสิ่งน่าตื่นเต้น สรุปอย่างง่ายๆ นั้น คือตัวหนังตั้งใจสนองความคาดหวังของคนดูโดยสมบูรณ์

ความคิดเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเวลา มีมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 แต่ก็ไม่ได้รับความสนอกสนใจ จนกระทั่งมาถึงช่วงปฎิวัติอุตสาหกรรมและการก้าวย่างสู่ศตวรรษที่ 20 งานที่โด่งดังที่สุด ที่บอกเล่าในประเด็นนี้คือนิยายของเอช จี เวลล์เรื่อง The Time Machine (ตีพิมพ์ในปี 1895) และก่อนหน้านี้หลายสิบปี นิยายของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ เรื่อง A Christmas Carol ก็คล้ายๆ จะทำให้มิสเตอร์สครูจ (ตัวเอกของเรื่อง) ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต

เราจะเดินทางข้ามเวลากันไปเพื่ออะไร? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยพอๆ กับปริศนาที่ว่า เราจะเดินทางข้ามเวลาได้อย่างไร? มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนพยายามอธิบายเรื่องจักรวาลคู่ขนาน ซึ่งเป็นสมมติฐานในการศึกษาเรื่องเวลา

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวถึงเส้นเวลาในอวกาศที่โค้งงอ และมันอาจมีความเป็นไปได้ถึงการเดินทางผ่านรูหนอน ทั้งคาร์ล เซแกนและสตีเฟน ฮอว์กิงต่างก็บอกว่า วันหนึ่งมนุษย์จะสามารถสร้างไทม์แมชชีนอย่างที่เอช จี เวลล์ว่าไว้ แต่คงเป็นในอนาคตอันไกลโพ้น

หนังข้ามเวลาจากฮอลลีวูดส่วนใหญ่ (ไม่ว่ามันจะทำเงินหรือไม่ก็ตาม) มักอุปโลกน์ให้การเดินทางนั้นมีวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ ถ้าไม่อึกทึกครึกโครม ก็ต้องเกี่ยวพันกับความปลอดภัยของมนุษยชาติ หนังอย่าง The Terminator, Planet of the Apes ที่คว่ำไปเมื่อเร็วๆ นี้อย่าง The Time Machine, Timeline, A Sound of Thunder หรือกระทั่งอย่าง Back to the Future ก็อยู่ในข่ายเดียวกัน

ในโลกที่โหยหาวีรบุรุษอย่างอเมริกา มักคิดอะไรใหญ่โต และอาสาเป็นผู้ดูแลความเรียบร้อยให้กับจักรวาลด้วยความหาญกล้าและน่ายกย่อง การเดินทางข้ามเวลาของฮอลลีวูดจึงดูมีเหตุผลอันควรสำหรับหน้าที่ของมัน

ผมค่อนข้างแปลกใจและประหลาดใจเหลือเกินหลังจากดูหนังตลกจากญี่ปุ่นเรื่อง Summer Time Machine Blues จบลง มันพูดถึงการเดินทางข้ามกาลเวลา แต่ไม่ใช่อะไรแบบที่เคยเห็นๆ กันแน่ๆ มันกระเดียดจะเป็นเรื่องปัญญาอ่อนด้วยซ้ำไป แต่เป็นความไร้ปัญญาแบบที่คนฉลาดเท่านั้นที่จะคิดออกมาได้

หนังเรื่องนี้กำกับโดย คัตสึยูกิ โมโตฮิโระ (สร้างชื่อมาจากหนังชุด Bayside Shakedown) และเขียนบทโดย มาโกโตะ อูเอดะ ดัดแปลงจากบทละครของเขาเอง ลีลาการเล่าเรื่องรวมๆ แล้วชวนให้นึกถึงอารมณ์ขันในการ์ตูนญี่ปุ่น บ้าบอปนน่ารัก และการวางปมเรื่องก็แพรวพราวอย่างเหลือเชื่อ

เปิดเรื่องขึ้นในหน้าร้อน เด็กหนุ่มมหาลัยจำนวน 5 คนซึ่งอยู่ชมรมไซไฟ (Science Fiction หรือนิยายวิทยาศาสตร์) กำลังเล่นเบสบอลอย่างสนุกสนาน และมีสองสาวจากชมรมโฟโต้ตามถ่ายรูปพวกเขา ทั้ง 7 คนง่วนอยู่กับกิจกรรมยามว่างโดยไม่เอะใจว่า มีใครบางคนกำลังแอบมองดูพวกเขาอยู่?

เล่นเบสบอลเสร็จก็ไปอาบน้ำ อาบน้ำแล้วก็มานั่งแกร่วแช่แอร์อยู่ในชมรม - ไม่กี่นาทีข้างหน้าคนดูก็จะได้ทราบว่า เด็กเวรกลุ่มนี้ไม่เคยอ่านนิยายไซไฟสักเล่มเดียว แต่เข้ามาอยู่ในชมรมเพราะต้องการห้องพักที่กว้างขวาง และขับไล่ชมรมโฟโต้ (ซึ่งมีสมาชิกแค่ 2 คน) ไปอยู่ห้องเล็กแทน

เหตุการณ์โอละพ่อเริ่มต้นขึ้นมาจาก 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกนั้นเกิดจากความประมาทของทุกคนที่ทำให้รีโมทของเครื่องปรับอากาศบุโรทั่งเสียและใช้การไม่ได้ และเรื่องที่สอง มีเด็กหนุ่มบ๊องๆ คนหนึ่งอ้างว่าเดินทางมาจากอนาคตด้วยเครื่องไทม์แมชชีนหน้าตาประหลาด

ทุกคนตื่นเต้นกับไทม์แมชชีนเครื่องนี้กันมาก ทีแรกก็คิดอยากจะเดินทางไปโน่นไปนี่ แต่แล้ว ทุกคนก็ลงความเห็นว่า ควรจะเดินทางกลับไปในอดีตเพื่อยับยั้งไม่ให้รีโมทแอร์พังเพราะความสะเพร่า ถึงอย่างนั้น อะไรๆ ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เด็กพวกนี้กลับเล่นสนุกอย่างเลยเถิด และผูกเรื่องวุ่นต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

Summer Time Machine Blues ไม่ได้พาคนดูเดินทางไปไหนไกลมากกว่าวันนี้และเมื่อวานนี้ (มีอยู่หนเดียวที่ตัวละครเผลอเดินทางไปเมื่อร้อยปีก่อน และเป็นสาเหตุของมุกตลกสุดฮามุกหนึ่งในเรื่อง) แต่การเดินทางไปมาในช่วงเวลา 48 ชั่วโมงนั้น คนเขียนบทได้โยงเรื่องให้พันกันและแก้ปมได้อย่างสนุกสนาน

การกำหนดให้ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกเจ้าปัญหา (น่าปวดหัว) แตกต่างกัน ช่วยให้เหตุการณ์วุ่นวายและบานปลาย บทวางข้อแม้ของแต่ละตัวละครอย่างพอดิบพอดี รวมถึงการหาอุปสรรคที่พอเหมาะพอเจาะ ที่จะลากเรื่องไปยังบทสรุป มันเป็นงานที่น่าศึกษาอย่างยิ่งสำหรับการเขียนบท

ที่น่าสนใจกว่านั้น ถึงที่สุดแล้วการเดินทางข้ามเวลาหนนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายกู้โลก หรือเต็มไปด้วยสเปเชียล เอฟเฟกต์วูบวาบ (ไทม์แมชชีนในหนังมีลักษณะเหมือนรถซาเล้งมีปีก) แต่เป็นการตามหารีโมทแค่อันเดียวของกลุ่มเด็กหนุ่มที่ค่อนข้างไร้สติ และมันไม่มีช่วงเวลาของ “เมื่อฤดูร้อนปีนั้นได้ผ่านพ้น ชีวิตของฉันก็ไม่เหมือนเดิมอีก”

ตัวละครทั้งหมดไม่มีใครเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะยกเว้นก็แต่ ทาคูมะ (เออิตะ) พระเอกของเรื่องที่รู้สึกว่าตนเองจะไม่ยอมให้โอกาสในการจีบหญิงสาวที่หมายปองหลุดมือไปเป็นอันขาด

หลังจากอัดเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่งมาตลอดทั้งเรื่อง หนังจบลงด้วยอะไรที่มันนุ่มนวลในเวลาย่ำค่ำ และแสงแดดสีทองส่องเข้ามาฉาบในห้องชมรมดูสบายตา เราอาจจะเดินทางข้ามเวลาได้จริงในสักวัน แต่ความงดงามของช่วงเวลาหนึ่งๆ มีได้แค่หนเดียวเท่านั้น และเราฉกฉวยไว้ไม่ได้

Summer Time Machine Blues เป็นหนังวัยรุ่นตลกปัญญาอ่อนที่เปี่ยมเสน่ห์ อีกทั้งยังแม่นยำชาญฉลาด ซึ่งหาไม่ได้บ่อยนักในหนังประเภทนี้.



กำลังโหลดความคิดเห็น