กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อทางสำนักข่าวเอพีลงรายงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทย ขู่ว่าจะสั่งยกเลิกการแสดงมหาอุปรากรเรื่อง "อโยธยา" ของมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ที่ดัดแปลงเรื่องราวของ "รามเกียรติ์" ให้มาเป็นการแสดงละครโอเปร่าแบบร่วมสมัย ผลงานประพันธ์โดย สมเถา สุจริตกุล เนื่องจากในระหว่างซ้อมได้มีการแสดงฉากตัวละคร "ทศกัณฐ์" ตายบนเวที ซึ่งผิดธรรมเนียมทางการแสดงของไทย แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรียบร้อยแล้ว โดยได้เปิดทำการแสดงไปเรียบร้อยแล้ว 3 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเนื้อหาที่ทางสำนักข่าวเอพีรายงานนั้นมีใจความว่า อโยธยา การแสดงมหาอุปรากรร่วมสมัยที่ดัดแปลงมาจากเรื่องราวของรามเกียรติ์ ของมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ที่ประพันธ์โดย สมเถา สุจริตกุล ศิลปินชาวไทยวัย 53 ปี ซึ่งมีเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษ โดยทีมนักแสดงที่มีทั้งชาวไทย, รัสเซีย, อเมริกัน, ดัตช์, และจีน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสครองสิริราชสมบัติ 60 ปี
แต่ในโอเปร่าดังกล่าวแต่เดิมในช่วงซ้อมนั้น ได้มีฉากการตายของตัวละครทศกัณฐ์บนเวทีด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากกระทรวงวัฒนธรรมได้ไปเข้าพบกับสมเถา 2-3 วันก่อนการแสดง เพื่อแจ้งว่าจะปิดการแสดงดังกล่าว เพราะไม่ต้องการให้มีฉากการตายของทศกัณฐ์บนเวที เพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความอัปมงคล
เจ้าหน้าที่ที่สมเถาไม่ระบุชื่อกล่าวว่าการให้ทศกัณฐ์ตายบนเวทีเป็นสิ่งต้องห้ามในวัฒนธรรมของไทย ซึ่งจะนำมาซึ่งโชคร้าย โดยย้ำว่า "ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศนี้แล้วล่ะก็ งานแสดงนี้จะต้องรับผิดชอบ" จึงทำให้สมเถาและ Hans Nieuwenhuis เจ้าของเนเธอร์แลนด์ สตูดิโอ ตกลงที่จะตัดฉากดังกล่าวจากการแสดงในที่สุด ซึ่งผู้ชมก็จะไม่ได้เห็นการตายของทศกัณฐ์บนเวทีแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในวันต่อมาทางกระทรวงได้ร่างสัญญามาว่า "ภายใต้เงื่อนไขกล่าวว่า ไม่ว่าสิ่งใดที่การแสดงโอเปราไปกระทบกระเทือนต่อเอกลักษณ์ของชาติไทย พวกเขามีสิทธิ์ที่จะปิดการ แสดงได้โดยทันที" ซึ่งสมเถาก็ยินยอมตามนั้น แม้จะกล่าวว่าปัญหาทั้งหมด "ดูเหมือนจะถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของชาติไทย ซึ่งผมก็ไม่มั่นใจว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่ความพยายามในการควบคุมการแสดงศิลปะมันไม่ใช่อำนาจของกระทรวงวัฒนธรรม และโอเปร่านี้ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองเลยแม้แต่น้อย"
รวมทั้งยังกล่าวว่าการมากดดันผลงานของเขาครั้งนี้ กลับจะเป็นอันตรายต่อภาพลักษณ์ของไทยมากกว่า เพราะยิ่งจะเข้าทางต่างชาติที่มุ่งจะโจมตีท่าทีของรัฐบาลไทยชุดนี้อยู่แล้ว
โดยหลังจากที่ข่าวดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก ทางตัวแทนของมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ได้ชี้แจงถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า "ในระหว่างที่ซ้อมก็มีคนไปแจ้งว่ามีฉากทศกัณฐ์ตาย เขาก็เลยไม่ยอมให้เล่นโดยเขาให้เหตุผลว่า ทศกัณฐ์เปรียบเหมือนกษัตริย์ แล้วเราทำเรื่องถวายในหลวงก็ไม่ควรที่ฉากกษัตริย์ตายบนเวที ซึ่งการแสดงครั้งนี้เรามีสปอนเซอร์ร่วมกันทำหลายราย ส่วนกระทรวงวัฒนธรรมนี่เราขอให้เขามาร่วมกันเป็นเจ้าภาพเท่านั้นเอง"
ขณะที่ทาง อมรรัตน์ เทพกัมปนาท ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกมาชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวว่าทางหน่วยงานเป็นกังวลต่อเรื่องฉากการซ้อมที่มีฉากทศกัณฐ์ตายบนเวที แต่ไม่อยากจะออกข่าวในทีแรกเพราะไม่อยากให้เรื่องราวใหญ่โต
"คุณสมเถาเขามีสัญญาแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยมาหลายเรื่องแล้ว แต่เรื่องนี้มันมีปัญหาอยู่ที่การซ้อมที่มีการจำลองหัวใจทศกัณฐ์ใส่ในภาชนะที่มีน้ำแดง ที่ทำเสมือนว่าเป็นเลือด แล้วจะจับมาโยนทิ้งกลางเวทีพร้อมใช้พระขรรค์แทงซ้ำ จนทศกัณฐ์ตาย"
"ซึ่งตามปกติแล้วฉากอย่างนี้เขาไม่เล่นกัน เมื่อรู้ว่ามีฉากนี้ทำให้หลายฝ่ายไม่สบายใจอย่างมาก เพราะทั้งผู้ใหญ่อย่าง อาจารย์เสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร หรือ พระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์หลวง ต่างลงความเห็นเหมือนกันว่าเราไม่ควรทำยักษ์ล้มบนเวที เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นศิริมงคล แม้แต่คนไทยที่เป็นทีมแสดงของเขาก็คอมเมนต์มาว่าไม่สบายใจที่มีฉากอย่างนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก"
"ตอนแรกที่เราไปท้วง ทางทีมงานของเขายืนยันว่าจะเล่นให้ได้ ทางเราก็ได้แค่ขอร้องเขาว่าอย่าเล่น ขนาดทางอ.เสรียังบอกว่าเล่นแบบนี้มีแต่ฉิบหายกันหมด แล้วยิ่งเป็นการแสดงที่ถวายในหลวงด้วยมันคงไม่ดี"
"ตอนแรกที่จะขอเปลี่ยน เขาไม่ยอมเปลี่ยน เราก็เลยอ้างว่าในเมื่อสัญญาระบุว่า ถ้าการแสดงได้สร้างความรู้สึกที่ไม่ดี เราก็มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกสัญญาได้ แล้วคุณจะเอาการแสดงคอนเทมป์ของคุณไปแสดงที่ไหนก็ได้ที่เขาคิดว่าดี แต่สำหรับเวทีนี้คงไม่ได้ เพราะผู้หลักผู้ใหญ่เขาท้วงติงกันเยอะ"
"ในระหว่างที่กำลังต่อรองกันอยู่ ว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็น ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงซ้อมใหญ่กันแล้ว ตอนนั้นพอดีทางเจ้าหน้าที่ได้ไปเจอคุณแม่ของเขา คือคุณถ่ายเถา สุจริตกุล ที่เป็นรองประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ก็เลยพูดจากัน ปรากฏว่าคุณถ่ายเถาก็ไม่เห็นด้วย คุณแม่ของเขาก็เลยต่อว่าทั้งคุณสมเถาและฝรั่งผู้จัดลั่นโรงเลย ว่าเรื่องแบบนี้ห้ามเล่น คนไทยเขาถือ ถ้าอยากเล่นก็ไปเล่นที่อื่น อย่ามาเล่นที่ประเทศไทย แล้วสั่งให้ไปเปลี่ยนบท ซึ่งสุดท้ายเขาก็ยอมเซ็น ซึ่งทางเราไม่ได้บีบบังคับทางเขาเลย"
"อีกประเด็นที่เรากังวลก็คือ คำร้องบางอย่างที่เป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างสองแง่สองง่าม โดยเฉพาะท่านที่ถอดเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า "กลิ่นกายของนางสีดา เหมือนกลิ่นอวัยวะเพศของนางมณโฑ" ซึ่งเราก็คิดว่าไม่เหมาะ แม้จะขับร้องด้วยภาษาอังกฤษ"
"นอกจากนี้ยังมีกระแสอีกว่า ฝ่ายเขาต้องการให้เราออกมาทักท้วง เพื่อจะได้เป็นข่าวดังหน้าหนึ่ง เพื่อจะให้ต่างชาติลงข่าวว่าประเทศไทยแบนผลงานของเขา เราก็เลยคิดว่าจะไปเข้าทางของเขาทำไม เราก็เลยอยู่เฉยๆ"
"ในประเด็นนี้เราคิดว่า อะไรที่มันร่วมสมัยมันก็น่าจะปรับให้เข้ากันได้กับทุกฝ่าย แต่อะไรที่ร่วมสมัยแล้วทำร้ายจิตใจผู้อื่น เป็นที่ไหนเขาก็ไม่ยอมรับ คุณไปเรียนหนังสือหนังหาต่างประเทศมาแล้วลืมวัฒนธรรมไทยได้เหรอ ของเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องหัวโบราณ มันเป็นเหมือนกับขนบที่ผู้คนเขานับถือกันมานาน เหมือนฝรั่งที่ไม่ชอบเลข 13 อย่างนี้จะว่าเขางมงายไหม"
"ตามข่าวของเอพีที่ว่าเราไปขู่ว่าจะปิดการแสดงนั้น อย่างที่รู้ว่าคุณแม่ของเขาเป็นคนสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงฉากการแสดงเอง และถึงแม้คุณจะไม่เปลี่ยน คุณก็เอาไปแสดงที่อื่นก็ได้ ไม่มีใครห้าม ถ้าคิดว่าคอมเทมป์ของคุณดีพอ"
โดยทาง ถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้เป็นรองประธานมูลนิธิมหาอุปรากรกรุงเทพ ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการศึกษาโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อมุ่งหวังในการปลูกฝังความรู้แก่เยาวชน ได้เผยว่าเรื่องราวดังกล่าวมีประเด็นอยู่แค่นิดเดียว แล้วที่สื่อต่างประเทศเอาไปลงว่าเป็นความขัดแย้งใหญ่โตนั้นเป็นความเข้าใจผิดกันเท่านั้นเอง
"ตามธรรมเนียมไทยแล้ว เขากล่าวว่าจะไม่ให้ทศกัณฐ์ล้มหรือตายกลางเวที แน่นอนตรงนี้ในเมื่อมันเป็นขนมธรรมเนียม ตัวคนทำก็เป็นคนไทย คุณสมเถาก็เป็นคนไทย เรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้เอง"
"ตามธรรมเนียมในฉากนั้นทศกัณฐ์ต้องโซซัดโซเซไปเมืองลงกา จะไม่ตายบนเวที ซึ่งของเราก็ไม่ ของเราพอซวนเซใกล้จะตายก็มีคนประคองไปขึ้นรถไปส่งที่เมืองลงกา ไม่มีการล้มบนเวทีแต่อย่างใด และเราก็ไม่อยากมีปัญหาตรงนี้อยู่แล้วด้วย ดิฉันคิดว่าฝรั่งเข้าใจผิดกันไปเอง ไม่มีอะไรใหญ่โตหรอก"
"รอบปฐมทัศน์สมเด็จพระเทพฯก็เสร็จมาทอดพระเนตรด้วย พระองค์ก็ทรงโปรดอย่างมาก สมเถาก็ได้เข้าเฝ้าระหว่างพักด้วย ท่านก็ว่าสนุกดี เป็นมิติใหม่ เป็นมหาอุปรากรที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลย แต่อย่างไรเราก็ไม่คิดที่จะละเมิดกฎระเบียบของไทยเลย ดิฉันก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เคยเป็นภริยาเอกอักราชทูตไทยมาแล้ว สมเถาก็เป็นคนไทย"
เมื่อถามถึงประเด็นที่สำนักข่าวเอพีเอาไปลง "มันมีแค่ว่าให้เราระวังตรงนี้น่ะ มันมีตรงนี้ แล้วเราก็ไม่ทำ มันก็เท่านั้นเอง"
"โอเปราชุดนี้นับเป็นครั้งแรกที่นำรามเกียรติ์มาถ่ายทอดในแบบโอเปรา ซึ่งสมเถาก็ไม่ได้นำแค่เนื้อหาจากรามเกียรติ์ฉบับไทยมาถ่ายทอดเท่านั้น แต่ยังเอารามเกียรติ์จากอินเดียและอินโดนิเซียมาสอดแทรกเอาไว้ด้วย"
"โอเปราครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของนายหลวง ซึ่งเราได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลแล้วด้วย เราทำอย่างถูกต้องทุกอย่าง"
"รายได้จากการทำตรงนี้ต้องบอกเลยว่ามีแต่ขาดทุนมากกับขาดทุนน้อย เพราะเราไม่เหมือนเมืองนอกที่เขาจะมีการสนับสนุนมากมาย แต่ของเราไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย"
"งานโอเปราครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดิฉันดีใจมากๆ เพราะมีคนให้ความสนใจกันเยอะมากๆ แม้แต่นิตยสาร Opera Now นิตยสารเกี่ยวกับแวดวงโอเปร่าที่มีอิทธิพลที่สุดยังเอาเรื่องของเราไปลงหน้าปกเลย ซึ่งดิฉันภูใจมากๆ"
"ซึ่งความเชื่อแต่ก่อนคนมักจะคิดว่าโอเปร่าต้องปีนบันไดดู แต่จริงๆ แล้วละครร้องของไทยเราก็ต้องปีนบันไดดูเหมือนกัน ถ้าคนดูไม่มีพื้นความรู้มาก่อนก็คงไม่เข้าใจเหมือนกัน อีกอย่างโอเปร่ามันเป็นผลงานที่เป็นอมตะระดับโลก จึงเป็นจุดประสงค์ของเราว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ผลงานของเราไปถึงจุดนั้นบ้าง ซึ่งถ้าทำได้มันก็เป็นศักดิ์ศรีของคนไทย"