xs
xsm
sm
md
lg

สวด จม.ลูกโซ่โปรโมตหนัง "เขียนเป็นส่งตาย" ทำผวา!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารค่ายเอจีฯ ควงแขน "ป๋อง กพล" เข้าชี้แจงสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคกรณีถูกฟ้องร้องเรื่องจดหมายลูกโซ่โปรโมตภาพยนตร์เรื่อง "เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย" ยันไม่มีเจตนาทำให้ตกใจ แต่เป็นความผิดพลาดทางด้านการส่ง

กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกจนได้สำหรับวิธีการโปรโมตหนังในบ้านเรา ล่าสุดเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง "เดอะ เลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย" ของบริษัทเอจี เอนเตอร์เทนเม้นท์ กำกับโดย "ป๋อง กพล ทองพลับ" ที่ได้มีนักศึกษาส่วนหนึ่งเข้าร้องเรียนไปยังสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคภายหลังได้รับจดหมายลูกโซ่มีเนื้อหาใจความในลักษณะที่ว่าจดหมายฉบับที่ว่าเขียนมาจากเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าตนคงจะตายไปแล้วที่จดหมายฉบับนี้มาถึงมือผู้รับ และคนที่ได้รับจดหมายนี้จะต้องเขียนจดหมายส่งต่อไปอีกจำนวน 29 ฉบับ มิเช่นนั้นก็จะต้องจบชีวิตเช่นเดียวกับตน พร้อมกับลงท้ายเป็นรูปลายเส้นภาพแขวนคอและข้อความว่าแล้วเจอกันวันที่ 23 พ.ย.

เมื่อทำการตรวจสอบจึงพบว่าจดหมายเนื้อหาชวนน่ากลัวที่สร้างความไม่สบายใจให้กับผู้รับหลายต่อหลายคนดังกล่าวนั้นเป็นการทำขึ้นมาเพื่อโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย" ของค่ายเอจีฯ นั่นเอง

ทั้งนี้หลังจากการได้รับการร้องเรียน ในวันนี้(16)ทางผู้บริหารค่ายเอจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยนาย "สมศักดิ์ ทรงธรรมากุล" ประธานบริหาร พร้อมด้วยทนายความส่วนตัว และ "ป๋อง กพล ทองพลับ" ในฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจึงได้เข้าไปชี้แจงต่อนายนพปฎล เมฆเมฆา ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงสายที่ผ่านมา โดยบอกว่าจดหมายที่ว่านั้นถูกทำออกมาเพื่อเป็นการโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง "เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย" จำนวนทั้งสิ้น 2,000 ฉบับด้วยกัน เน้นไปที่กลุ่มนักเรียน - นักศึกษา และมิได้มีเจตนาที่จะสร้างความตกใจให้กับผู้รับแต่อย่างใด เนื่องจากจะมีการส่งโปสการ์ดบอกรายละเอียดแนบไปกับจดหมายที่ว่านี้ด้วยทว่าได้เกิดการผิดพลาดต่อการจัดส่งจึงทำให้โปสการ์ดไม่ได้ถูกส่งไปพร้อมกับจดหมายพร้อมกับกล่าวขอโทษในความผิดพลาดดังกล่าว

"จริงๆ แล้วข้อความในจดหมายนะครับ มันมีรายละเอียดระบุอยู่ตามเนื้อความนั้น ผมขอชี้แจงว่าจดหมายของบริษัทที่เราส่งไปนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้รับตกใจหรืออะไร จริงๆ เราต้องการเพียงแค่จะย้ำเตือนให้ผู้รับรู้สึกถึงเกี่ยวกับเรื่อง จดหมายลูกโซ่ ว่ามันเป็นเรื่องที่เราเคยมีประสบการณ์ร่วมกันในสังคม แม้กระทั่งปัจจุบันจดหมายลูกโซ่มันก็ยังคงมีอยู่นะครับ มันเหมือนกับเป็นการย้ำเตือนเท่านั้น และที่สำคัญตัวภาพยนตร์เรื่องนี้เอง โดยธีมของภาพยนตร์เอง มันก็เกี่ยวกับจดหมายลูกโซ่ เราก็เลยทำการตลาดโดยใช้จดหมายลูกโซ่ ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้คนรับรู้สึกตกใจเลยครับ"

"ซึ่งข้อความในจดหมายนั้น เป็นข้อความในลักษณะที่ว่า ผู้ส่งนั้นตัดพ้อกับตัวเอง รู้สึกน้อยใจตัวเองมากกว่า จะไปกล่าวโทษกับใคร หรือกล่าวว่าผู้รับ มันเป็นข้อความที่พูดถึงตัวเองมากกว่า ทีนี้ผมต้องขอโทษต่อผู้ที่ได้รับ ที่อาจจะทำให้เขาตกใจ หรือทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เราต้องขอโทษมา ณ. ที่นี้ด้วยนะครับ"

"จำนวนที่ส่งไปก็ประมาณ 2,000 ฉบับนะครับ กลุ่มเป้าหมายที่เราส่งไปก็จะเป็นกลุ่มนักศึกษา กับกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย เฉพาะในกรุงเทพฯ เรื่องชื่อที่อยู่เราเริ่มที่คนรู้จักใกล้ๆ ตัว ที่มีญาติพี่น้องที่รู้จักกันเพื่อนๆ ของทีมงาน คนรู้จัก เราก็เลือกมาจำนวน 30 ชื่อ 50 ชื่อแล้วก็ทยอยส่งไป เรื่องนี้เป็นส่วนการตลาดของทางบริษัทนะครับ เรื่องการสร้างก็เป็นหน้าที่ของคุณป๋อง กพลไป ส่วนเรื่องการตลาดนี่ ทางบริษัท เอ.จี ก็รับมาดูแลโดยตรง เราแยกส่วนการรับผิดชอบกัน"

ยืนยันเป็นเพราะขั้นตอนการส่งที่ผิดพลาดจึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา
"จริงๆ แล้ว เราไมได้ทำเรื่องของจดหมายลูกโซ่เพียงอย่างเดียว เรายังมีใบปิดของภาพยนตร์เรื่องนี้ และมีตัวอย่างในโรงภาพยนตร์ด้วย ซึ่งข้อความในนั้น กับในจดหมาย มันจะมีสัญลักษณ์รูปคนผูกคอ คือมันจะเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว และมีแบนเนอร์ที่ติดตามอาคาร ตามท้องถนนทั่วไปทั่วไป และสุดท้ายสำหรับผู้ที่ได้รับจดหมายลูกโซ่นั้น เราก็จะทำการส่งเป็นโปสการ์ด โปสการ์ดที่มีการโฆษณาอย่างชัดเจนว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ The Letter ซึ่งผู้ที่ได้รับโปสการ์ดนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์เวลาไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้"

"เพียงแต่ว่าขั้นตอนของการส่งนี้ เวลามันจะเหลื่อมล้ำกัน สองสามวัน ทำให้ผู้ที่ได้รับจดหมายนี้ แล้วอาจจะไม่ได้เห็นสื่ออื่นๆ อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป แต่ส่วนใหญ่ผมเข้าใจว่าน่าจะได้เห็นสื่อของเราในทางอื่นๆ นะครับ...คือการชี้แจงวันนี้ เป็นเหมือนการเข้ามาชี้แจงเบื้องต้น ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็จะรับเรื่องไว้ และเขาก็จะส่งเรื่องไปพิจารณาตามกระบวนการขั้นตอนต่อไปครับ ขั้นตอนต่อไปก็คงจะมีหนังสือเรียกเราไปชี้แจงเพิ่มเติมหลังจากที่ได้พิจารณาเบื้องต้นแล้ว"

อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เรื่องที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นการกระทำที่จงใจสร้างกระแสของผู้ผลิตหนังเองเพื่อให้เป็นข่าวขึ้นมาหรือเปล่า โดยที่ผ่านมาบริษัทเอจี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็เคยมีเรื่องในทำนองนี้แล้วขึ้นมาครั้งหนึ่งกรณีการผลิตภาพยนตร์ไทยเรื่อง "ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ" ในรูปแบบของวีซีดีซึ่งได้บรรจุระบบป้องกันการคัดลอกที่ชื่อว่า "SafeVCD 5.5" เข้าไปทว่ากลับไม่ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดและผลกระทบจากระบบดังกล่าวติดไปด้วย

ส่งผลให้บรรดาคนที่นำภาพยนตร์เรื่องชัตเตอร์ฯ ไปเปิดกับเครื่องเล่นคอมพิวเตอร์เกิดปัญหาขึ้นมา อาทิการทำงานที่ช้าลงขณะที่เครื่องเล่นของบางรายนั้นถึงกับเจ๊งไปเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น