xs
xsm
sm
md
lg

UNITED 93 : ในนาทีที่เต็มไปด้วยคำถาม?

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


คนอเมริกันคงจะจำกันได้ดีว่า ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ตอนที่ได้ข่าวว่าเครื่องบินโดยสาร 2 ลำพุ่งเข้าชนอาคารเวิร์ลด์เทรด จนพังทลายลงมาในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 อย่าว่าแต่คนอเมริกัน –ซึ่งเป็นผู้รับเคราะห์โดยตรง- เลย ขนาดตัวผมเอง ก็ยังจำได้ว่า ตอนได้ข่าวนั้น ผมทำอะไร อยู่ที่ไหน และคงรู้สึกไม่ต่างกับอีกหลายล้านคนทั่วโลก

คืนนั้นผมอยู่ที่ออฟฟิศ พี่คนหนึ่งโทรมาบอกว่าให้เปิดทีวีโดยด่วน สำทับมาด้วยว่า นี่อาจเป็นวินาศภัยที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่สหรัฐอเมริกาเคยประสบ เมื่อภาพบนจอปรากฏ ผมก็หยุดงานทุกอย่างที่กำลังทำอยู่

2 – 3 วันหลังจากนั้นผมได้เจอกับนักข่าวชาวอังกฤษคนหนึ่ง และพูดคุยกันถึงเรื่องนี้ เขาบอกว่า ยังไม่ทราบว่าตกลงแล้วเรื่องมันเป็นอย่างไรมาอย่างไร แต่ส่วนตัวก็รู้สึกสะใจดี

ตัวผมนั้นขมวดคิ้ว...สะใจเรื่องอะไรกัน นั่นมันชีวิตคนไม่ใช่หรือ เขาบอกว่าใช่ แง่หนึ่งเขาก็เสียใจกับโศกนาฏกรรมแบบนี้ แต่เขานั้นรู้สึกว่า อเมริกานั้นเอาแต่ได้มานาน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลิ้มรสความสูญเสียเสียบ้าง

จนปัญญาจะถกเถียงกันต่อ เพราะเมื่อเวลาผ่านเลยไป ฝุ่นคละคลุ้งที่จางหายก็เผยให้เห็นแง่มุมหลากหลาย อันนำมาซึ่งเหตุการณ์น่าสลดในครั้งนั้น แน่นอนว่า ต้นเหตุจริงๆ มาจากอเมริกาเอง ชาติมหาอำนาจที่วางตัวเป็นใหญ่ คอยยุ่งย่ามและเข้าไปเบียดเบียนผลประโยชน์จากชาติต่างๆ ไม่รู้ตัวและไม่พยายามสนใจว่า คนอื่นๆ จะได้รับผลกรรมที่ตนก่อไว้อย่างไรบ้าง

แต่การกระทำของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงก็ก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกเหมือนกันว่า การใช้กลวิธีหนามยอกต้องเอาหนามบ่งนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วหรือ และถึงที่สุดแล้ว ข้อยุติแบบพบกันครึ่งทางนั้นอยู่ตรงไหน

ท่าทีของฮอลลีวูดต่อโศกนาฏกรรม 9/11 นั้นชัดเจนทีเดียวในหนังหลายเรื่อง หนังออสการ์ปีล่าสุด Crash แสดงให้เห็นว่าคนอเมริกันโหยหาความปรองดองกันอย่างรุนแรง หรือย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น การคว้าออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ A Beautiful Mind นั้นไม่ต่างอะไรกับการทำนุบำรุงจิตใจที่บอบช้ำแสนสาหัส

สรุปแล้วผลผลิตจากฮอลลีวูด มีด้านที่ชัดเจนอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือการหวาดกลัวภัยคุกคามที่มองไม่เห็น (War of the Worlds) และสองคือการปลอบประโลมด้วยการมองโลกในแง่ดี (ช่วงท้ายของ War of the Worlds น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีอีกเหมือนกัน)

แต่ถ้าอยากได้แง่มุมอื่นๆ คงต้องหาจากกลุ่มคนทำหนังอิสระ อย่างไมเคิล มัวร์ กับ Fahrenheit 9/11 นั้นชัดเจนว่าเต็มไปด้วยอคติต่อประธานาธิบดีบุช หรือในหนังชุด 11'09''01 - September 11 ซึ่งรวมหนังสั้นผู้กำกับ 11 คน ก็คงได้อะไรๆ ที่แตกต่างออกไป

ปีนี้มีหนังเกี่ยวกับโศกนาฏกรรม 9/11 ออกฉาย 2 เรื่อง ทั้งคู่จัดจำหน่ายโดยสตูดิโอฮอลลีวูด เรื่องแรกนั้นฉายไปแล้วคือ United 93 และเรื่องที่สองเป็นงานของโอลิเวอร์ สโตนเรื่อง World Trade Center

ผมคงไม่กล่าวถึงงานของสโตนในตอนนี้ เพราะหนังยังไม่ลงโรงฉาย แต่ United 93 ของผู้กำกับ พอล กรีนกราส นั้นกำลังฉายอย่างเงียบๆ ในบ้านเรา ด้วยปริมาณคนดูจำนวนน้อยนิด คงเชื้อเชิญให้หนังถูกถอดไปจากโปรแกรมได้ไม่ยาก นับว่าน่าเสียดายทีเดียว เมื่อนึกถึงว่า มันเป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของปีนี้

United 93 เป็นชื่อของเที่ยวบินที่ 93 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ หนึ่งในเครื่องบินโดยสารที่ถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้าไปยึดกลางอากาศ เป้าหมายของมันคือพุ่งเข้าชนทำเนียบขาว แต่สุดท้ายแล้ว มันกลับไปตกในพื้นที่โล่งแถบเพนซิลวาเนีย

จากหลักฐานทั้งที่ได้จากกล่องดำ และปากคำญาติๆ ของผู้เสียชีวิต ซึ่งเล่ามาว่าได้คุยโทรศัพท์กับคนที่ตนเองรักก่อนที่พวกเขาจะตายจากไป – พบว่า ผู้โดยสารเกือบทั้งลำมีการขัดขืน และต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เครื่องบินตกคลาดเคลื่อนไปจากเป้าที่หมายไว้

จะมองว่าคนเหล่านั้นเป็นฮีโรก็ได้ (ซึ่งคนอเมริกันคงสถาปนาไปกันเองเรียบร้อยแล้ว) แต่พอล กรีนกราส ไม่ได้จงใจให้หนังมีน้ำเสียงออกมาในทำนองนั้นอย่างชัดเจน United 93 คล้ายกับหนังที่ชวนให้ระลึกถึง และสงบนิ่งไปกับความสูญเสียมากกว่า

เห็นได้ชัดก็คือ หลังจากเหตุการณ์ในหนังจบลง มันแทบไม่มีอารมณ์ฮึกเหิมลอยกรุ่นอยู่เลย แต่กลับทิ้งไว้เพียงความว่างเปล่า เงียบงัน และหัวใจก็เหมือนถูกแผ้วถางเสียราบคาบ

ที่โดดเด่นมากที่สุด United 93 ไม่มีการตัดสินว่าใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ไม่ยอมให้คนดูเกิดความผูกพันกับตัวละครตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป ไม่มีการเหน็บแนมเสียดสีว่าระบบการจัดการนั้นล้มเหลวหรือไม่ ทุกอย่างเป็นชุดเหตุการณ์ที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว ไม่มีความลับอันใหม่ใดๆ ถูกเปิดออกเพื่อสร้างความตื่นเต้น และแน่นอน มันก็ไม่มีความหวังลมๆ แล้งๆ อันใดยื่นให้กับคนดูด้วย

หนังเลยคล้ายกับการขับลำนำอย่างห้วนๆ ไม่มีการเจือทัศนคติหรือความน่าสมเพชเวทนาลงไปอย่างเกินเลย กรีนกราสดึงคนดูและหนังไปสู่ “ความจริง” ให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

เทคนิคการเล่าเรื่องเป็นไปตามที่กรีนกราสถนัด และเคยทำมาไว้อย่างดีเยี่ยมในงานที่คว้ารางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังเบอร์ลินของเขาเรื่อง Bloody Sunday (ปี 2002) หนังเรื่องนั้นเขาเล่าถึงการสังหารหมู่ชาวไอริชของกองทัพอังกฤษ ในการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการคืนอำนาจ และกลายเป็นประวัติศาสตร์นองเลือดในปี 1972

กลวิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวเริ่มต้นพื้นๆ ด้วยการใช้กล้องแฮนด์เฮลด์ จับภาพที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แสงเงานั้นปรุงแต่งแต่น้อย เกินกว่าครึ่งดูดิบและหยาบ ตัวละครมากหน้าหลายตามีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์อย่างยุ่งเหยิง ไม่ต่างกับการจำลองภาพข่าวที่ดูเหมือนจริง

ผมคิดว่าใน United 93 มีการใช้เทคนิคเพื่อเล่นกับอารมณ์ของคนดู ชัดเจนเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ตอนแรกคือจังหวะการเข้าชนตึกเวิร์ลด์เทรดของเครื่องบินลำที่สอง และอีกตอนหนึ่งคือจังหวะการเลือกจบเรื่อง พ้นไปจากนี้ หนังเลือกที่จะวางตัวเองไว้ในแนวราบอย่างเงียบๆ

ฉากหลังของหนังแบ่งได้เป็น 2 ส่วนกว้างๆ คือบนไฟลท์ที่ 93 และตามหน่วยควบคุมจราจรทางอากาศทั้งของเอกชนและกองทัพ แต่ทุกคนที่อยู่ในทั้ง 2 สถานที่ ต่างก็รู้สึกในอย่างเดียวกัน พวกเขาทำอะไรไม่ถูก และต้องการคำอธิบาย

อย่างที่ย้ำไปในตอนต้นว่า United 93 ไม่มีคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น มันพยายามจะเป็นกระจกพื้นเรียบที่สะท้อนความเป็นจริงออกมาโดยไม่ยอมให้แสงหักเห บิดเบือนหรือบิดเบี้ยว ความจริงที่ปรากฏจึงทั้งน่าเศร้า และก็น่าสะพรึงกลัวไปพร้อมๆ กัน

หนังไม่มีความกระจ่างใดๆ ให้กับตัวละครเลยว่าลงท้ายแล้วมันเกิดอะไรขึ้น และท่านประธานาธิบดีมีแผนตั้งรับอย่างไร ตัวละครตัวหนึ่งถึงกับถามขึ้นมาว่า แอร์ฟอร์ซวัน บินไปไหน แล้วตกลงจะต้องยิงสกัดเครื่องบินที่ถูกจี้หรือเปล่า?

เช่นกัน หลังจากเหตุหนนั้น ความคลุมเครือยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในการกระทำของท่านประธานาธิบดี ตกลงแล้วกองทัพบุกอิรักเพื่ออะไร ซัดดัมมีส่วนเกี่ยวข้องจริงหรือ และ อุสมา บิน ลาเดน ผู้ร้ายที่ท่านประธานาธิบดีกล่าวหา มุดหัวอยู่ที่ไหน

ความจริงเหล่านี้ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม


กำลังโหลดความคิดเห็น