“อดีต ปัจจุบัน อนาคต และตัวผม ผมเข้ามาอยู่วงการนี้ ทั้งทีวี, วิทยุ, เพลง, หนังสือ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน ผมมองภาพตัวเองไม่เคยเปลี่ยนเลย ผมว่าผมเหมือนเดิมตลอดไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้น อีก 15 ปีข้างหน้า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ก็คงจะแก่กว่าเดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคงมีเฉพาะร่างกายอย่างเดียว คิดว่าทรรศนะและจิตใจคงเหมือนเดิม...”
นั่นคือความในใจท่อนสุดท้ายของการบันทึกความเป็นมาของชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของ มาโนช พุฒตาล ในหนังสือเล่มเท่าปกซีดีที่มีชื่อยาวเหยียดว่า ‘เด็กชอบดนตรี มาเป็นโฆษกทีวี แล้วก็.. มีโอกาสทำเพลงบ้างนิดๆ หน่อยๆ’ ซึ่งมาพร้อมกับซีดีซิงเกิล ‘ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย’ อันเป็นงานเพลงล่าสุดของเขา หลังจากที่หายหน้าหายตาไปกว่า 10 ปีเต็ม หลังจากโซโล่อัลบั้มชุดแรกที่ชื่อ ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ซึ่งออกมาในช่วงปี 2538
บทเพลงคำถามเชิงปรัชญา เป็นแนวทางในการเขียนเพลงของมาโนชที่โดดเด่นตั้งแต่เขาเริ่มผลิตงานออกสู่สาธารณชน เริ่มจากอัลบั้ม ‘ไตรภาค’ ซึ่งเปรียบเสมือนการแนะนำตัวเองถึงแก่นแกนความคิดและดนตรีที่มีมิติอันลุ่มลึกกว่าบทเพลงที่เสพเพื่อความบันเทิงธรรมดาๆ เพียงถ่ายเดียว
จุดเริ่มต้นจากงานเพลงในไตรภาคขยายเข้าสู่ความเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มซึ่งเป็นงานเดี่ยวหรือโซโล่อัลบั้มชุดแรกที่ชื่อ ‘ในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ทำให้ที่ทางและตัวตนของมาโนชในฐานะคนดนตรีและศิลปินที่ผลิตงานเพลงมาถมทับพื้นที่ซึ่งมีอยู่ดั้งเดิมก็คือ พิธีกรรายการทีวีซึ่งเป็นที่นิยมกันในหมู่คนฟังเพลงต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นแหล่งข้อมูลยังมีให้เสพดูกันน้อยมาก ‘เที่ยงวันอาทิตย์’ ทางช่อง 5 จึงเป็นขวัญใจของวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาในยุคนั้น นอกจากนี้มาโนชยังเป็นสัญลักษณ์ของนิตยสารดนตรีที่ชื่อ ‘บันเทิงคดี’ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เขายังเป็นเจ้าของค่ายเพลงอินดี้ชื่อ ไมล์สโตน ซึ่งถือเป็นการบุกเบิกดนตรีเฮฟวี เมทัลไทยให้แพร่ขยายในหมู่คนฟังเพลงด้วยอัลบั้มของวงดิ โอฬาร โปรเจ็คท์ รวมถึงการนำวงมาลีฮวนน่ามาสู่หูคนฟังเพลงในวงกว้าง
นั่นคือที่ทางซึ่งสร้างทำมา และสามารถอ่านอัตชีวประวัติโดยย่นย่อในหนังสือจำนวนร้อยกว่าหน้าที่แนบมากับซีดีในซิงเกิลใหม่ล่าสุด ซึ่งจะทำให้เข้าใจฐานความคิด วิธีคิดที่หล่อหลอมให้เกิดผู้ชายที่ชื่อ มาโนช พุฒตาล ในมิติที่ย้อนสู่รากเหง้าของครอบครัว ภูมิลำเนา การศึกษา และการเติบโตในแต่ละช่วงวัย
สำหรับงานเพลงที่ตัดเป็นซิงเกิลออกมาแค่เพลงเดียวแต่มี 2 เวอร์ชั่นก็คือ ‘ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย’ ยังแข็งแกร่งในเชิงชั้นของการเขียนเนื้อเพลงที่แฝงแง่มุมเชิงปรัชญาให้คนฟังได้ร่วมตีความและครุ่นคิด ถึง ‘สังขารและชีวิต’ ที่ดำเนินไปตามครรลองของความเสื่อมแห่งจิตใจและร่างกาย เวรกรรม-สัญญาที่ตามติดตัวประดุจเงาดำ โลกที่ย่ำแย่เลวร้ายนั้นเป็น ‘สุข’ ได้ด้วยการทำดี
แม้จะมีเนื้อหาที่แฝงความลึกซึ้งของการมองชีวิตที่เข้มข้นหนักแน่น แต่ไม่ใช่การเทศนาโวหารใดๆ ทั้งสิ้น ความเข้าใจและผ่านดนตรีไซเคเดลิคในยุคบุปผาชนหรือฮิปปี้ ทำให้มาโนชเขียนเพลงที่รับอิทธิพลทางความคิดในยุคนั้นอย่างเข้าถึง ใช้ดนตรีอะคูสติกแบบเรียบง่ายด้วยกีตาร์โปร่งและฮาร์โมนิก้าหรือเมาท์ออร์แกนที่เรียบง่ายมาเป็นพาหะในการนำเนื้อหาในตัวเพลงออกสู่ห้วงคำนึงของคนเสพฟัง เดินทางมุ่งดิ่งสู่การสำรวจตัวตนและทบทวนความเป็นไปรอบตัว มุ่งสู่ความงอกงามแห่งปัญญา
ความเรียบง่ายเนิบนิ่งแต่เปี่ยมด้วยความลึกซึ้งในวิธีคิดอันลึกล้ำในตัวเพลง หากฟังด้วยสมาธิก็สามารถทำให้คนฟังได้ล้างกากตะกรันที่ติดแน่นอยู่ในจิตใจไม่มากก็น้อย
‘ยุคสมัยที่ความสัมพันธ์ทางจริยธรรมที่เฉื่อยชาและอ่อนล้า ผสานกับความไร้มารยาทในสังคมอันแข็งกร้าว’ เป็นคำที่นิยามที่ลินน์ ทรัส เขียนไว้ในหนังสือ ‘Talk to the Hand’ ซึ่งสามารถไขสะท้อนภาพของสังคมร่วมสมัยในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างหมดจด และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั่วโลก การโหยหาความเป็นมนุษย์ ความดีงามในจิตใจ การชำระล้างความโสมมของตัวเองและเข้าใจมันผ่านบทเพลงของมาโนชนั้นก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่พอเยียวยาในจุดนั้นได้ในระดับหนึ่ง
ซิงเกิลเพลงและหนังสือในชุดนี้แม้จะมีอารมณ์ความรู้สึกที่มีความเป็นส่วนตัวอยู่สูง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันแสดงถึงอัตตาที่คับพองของคนสร้างงาน และการเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองกลับกลายเป็นการสื่อสารเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และมุ่งหาความงดงามของชีวิตจากสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่
การนั่งอ่านหนังสือที่เสมือนนั่งฟังคนเล่าเรื่อง พร้อมเปิดเพลงประกอบในการฟังเพื่อเปิดประตูหัวใจ เปิดดวงตาให้กว้างขวางขึ้นจากที่เป็นอยู่ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องเข้าสู่ในช่วงชีวิตที่เรียกว่า ‘ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ค้นหาตามความเข้าใจและภูมิรู้ของคนฟังแต่ละคนว่า จะค้นหาเจอหรือไม่
มาโนช พุฒตาล ได้แสดงถึงการทำเพลงที่แสดงอัตลักษณ์ในความงดงามของชีวิตผ่านความเลวร้ายที่กัดกร่อนอยู่ภายในเพื่อให้คนฟังได้เดินร่วมกันกับเขาอีกครั้งหนึ่งแล้ว
.....
paulheng2006@hotmail.com