โคลิค เด็กเห็นผี และ แก๊งชะนีกับอีแอบ เป็นหนังไทย 2 เรื่องที่ถูกวางโปรแกรมให้มาแบ่งโรงฉายกันในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เรื่องแรกนั้นเป็นผลงานของผู้กำกับหน้าใหม่ พัชนนท์ ธรรมจิรา ส่วนเรื่องหลังกำกับโดย ยงยุทธ ทองกองทุน ซึ่งไม่ใช่หน้าใหม่แล้ว เขาทำหนังมาแล้ว 3 เรื่อง ได้แก่ สตรีเหล็กทั้ง 2 ภาคและหนังตลกเรื่อง แจ๋ว
พิจารณาอย่างผ่านๆ ทั้งสองเรื่องมีแนวโน้มที่จะโดนคอหนังสบประมาทด้วยกันทั้งคู่ โคลิค นั้นฉายทีเซอร์ที่ชวนแหวะให้เห็นเด็กทารกกำลังแหย่มือลงไปในเครื่องปั่น แล้วมือของเด็กน้อยก็เละไม่เหลือชิ้นดี คนที่ขวัญอ่อนหรือรู้สึกว่ามันรุนแรงเกินไป คงรู้สึกต่อต้าน
ส่วนแก๊งชะนีกับอีแอบนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นโปรเจกต์ที่ทำขึ้นเพื่อเกาะกระแสความดังของพิธีกรสาวๆ จากช่อง 3 โดยเฉพาะ แต่ก็นั่นแหละ ถึงคนจะรักสาวๆ เหล่านี้มากแค่ไหน ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าพวกเธอจัดรายการได้หนวกหูน่ารำคาญ ยิ่งมีหนังที่จงใจขายพวกเธอขนาดนี้ ก็พาลพาโลให้หมั่นไส้หรือออกมาโจมตีกระแนะกระแหน ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดูตัวหนังกันเลย
โคลิคเป็นหนังผี และนอกจากประเด็นเรื่องชื่อโรค (โรคโคลิค คืออาการร้องไห้แบบไม่ทราบสาเหตุของเด็กอายุ 1-3 เดือน) หนังก็ไม่มีอะไรใหม่อีก เหตุการณ์ยุ่งเหยิงวุ่นวายนั้น เกิดจากแรงอาฆาตของวิญญาณเจ้ากรรมนายเวร ที่เด็กน้อยบังเอิญได้เคยกระทำไว้เมื่อชาติที่แล้ว
ท่ามกลางเนื้อหาแบบเดิมๆ แต่ผู้กำกับ พัชนนท์ ก็นำเสนออะไรบางอย่างที่น่าสนใจไว้เหมือนกัน อย่างแรกสุด คือ เขาให้ผีปรากฏตัวน้อยมาก และเห็นความพยายามว่าต้องการจะเลี้ยงคนดูด้วยบรรยากาศอึมครึมมืดทึบตลอดเวลา ฉากบ้านของตัวละครเอก ภายในนั้นดูอึดอัด กระจกที่ติดอยู่รอบตัวบ้าน (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) มันสร้างความ “ไม่ปลอดภัย” ให้กับคนดูและตัวละครพอสมควร นั่งดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกเหมือนกับหายใจไม่ค่อยสะดวก
ในส่วนของนักแสดงหลัก 3 คน ได้แก่ พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์, วิทยา วสุไกรไพศาล และกุณฑีรา สัตตบงกช ช่วยหนังได้มากทีเดียว ทั้งหมดให้การแสดงอันเป็นธรรมชาติ ไม่ล้น และก็ไม่เสแสร้ง ช่วงต้นเรื่องที่ยังไม่มีเรื่องผีมาสร้างความขัดแย้ง หนังเลยกลายเป็นดราม่าเกี่ยวกับชีวิตคู่ของหนุ่มสาวไปเลย ผมยังแอบคิดเล่นๆ เลยว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่มีผี แต่ถ้าผู้กำกับเอาความไม่ลงรอยกันของพระ-นางมาขยายให้ยาวจนจบเรื่อง หนังคงดูสนุกและน่าสนใจกว่าที่เป็นอยู่
โคลิค พลาดอย่างมหันต์จุดเดียวเท่านั้นตรงการออกแบบเสียงประกอบ ดนตรีนั้นดูราคาถูกไปหน่อย ฟังดูขัดหู มันลดทอนความเข้มข้นให้ลดลงจนน่าเสียดาย รวมถึงเสียงเด็กร้องไห้ที่ผู้กำกับไม่ได้จับมาเน้นย้ำ หรือขยายให้มันโดดเด่นเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่หนังเรื่องนี้ มีเสียงร้องของเด็กเป็นจุดเริ่มต้น
ผมค่อนข้างพอใจกับโคลิค แม้พล็อตจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่มันก็ดูจริงจังและมีเหตุผลกว่าหนังดราม่า 2 เรื่องก่อนหน้านี้ของค่ายสหมงคล ฟิล์ม คือ เพลงสุดท้าย กับ มอ.๘ (บางคนอาจบอกว่าทันทีที่ มอ.๘ ออกฉาย หนังอะไรก็เป็นหนังดีและมีเหตุผลได้ทั้งนั้น)
พูดถึง มอ.๘ แล้ว ก็ต้องมาพูดถึงแก๊งชะนีกับอีแอบบ้าง, พัชรศรี เบญจมาศ และ มีสุข แจ้งมีสุข 2 พิธีกรสาวชื่อดังเคยเป็นจุดขายสำคัญของหนังครู-นักเรียนเรื่องนั้น แต่พวกเธอลงตัวกว่าแยะในแก๊งชะนีฯ - ดูปลอมน้อยกว่า และชวนให้ตกหลุมรักมากกว่า
เรื่องของแก๊งเพื่อนสาว 5 คน ที่ 1 ในนั้นกำลังจะแต่งงานกับคนที่เพื่อนๆ สงสัยกันว่าจะมีอาการเบี่ยงเบนทางเพศหรือเปล่า เป็นพล็อตที่ทำให้สนุกได้ไม่ยาก โชคดีที่คนเขียนบทวางเรื่องมาดี แถมใส่รายละเอียดต่างๆ นานาให้ไหลลื่นไปในทำนองเดียวกัน
โชคดีอีกอย่างหนึ่งที่ ทั้ง 5 สาว (นอกจาก 2 คนแรกที่กล่าวไป ยังมี อรปรียา หุ่นศาสตร์, พิมลวรรณ ศุภยางค์ และกุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์) เข้าขากันได้ในทุกสถานการณ์ จังหวะการรับส่งบทสนทนาดูเป็นกันเอง ไม่เก้อเขิน หรือมีบ้างก็น้อยเต็มทน ส่งผลให้หนังดูเพลินได้ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
บทสมทบของ ไมเคิล เชาวนาศัย และ บทรับเชิญของ โอปอล์ – ปาณิสรา พิมพ์ปรุ สร้างความครื้นเครงได้ไม่เสียชื่อและราคา คนแรกแค่มาดบวกกับการออกเสียงก็กินขาดแล้ว ส่วนคนหลังนั้นอย่างที่ทราบกัน พลังคริปโตไนต์ที่ไหนก็หยุดเธอไว้ไม่ได้
น่าเสียดายอยู่หน่อยตรงที่การขยายความเรื่องผู้ชายของเพื่อนแต่ละคน ถูกให้น้ำหนักไม่เท่ากัน ผู้ชายของนิ่ม (อรปรียา) และของเจ๊ฝ้าย (พิมลวรรณ) ดูเบาไปเมื่อเทียบกับคนอื่น ทั้งๆ ที่มันเป็นส่วนที่จะช่วยได้มากในการดึงเอาความอ่อนไหวจากใจคนดู
งานสร้างมีปัญหาตรงที่ มันไม่ประณีตเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับมาตรฐานของบริษัทผู้สร้างที่เคยทำหนังโปรดักชั่นเนี้ยบๆ อย่าง มหา’ลัยเหมืองแร่ จะเป็นเพราะต้องเร่งถ่ายทำให้เสร็จตามกำหนดหรืออะไรก็ไม่ทราบ สิ่งที่ขัดมากที่สุดเป็นเสียงพากย์ของพระเอกที่ลอยและโดดจากคนอื่นจนสังเกตได้
เทียบกับ แจ๋ว งานก่อนหน้านี้ของยงยุทธแล้ว ผมชอบแก๊งชะนีฯ มากกว่าเยอะ สิ่งที่ผมคิดว่าแจ๋วขาดไปคือ “หัวจิตหัวใจ” มันรกและล้นไปด้วยมุกตลกที่เอะอะ ซึ่งกับแก๊งชะนีฯ ไม่ได้ประสบกับปัญหานั้น มุกตลกอยู่ในข่ายที่โครงเรื่องขีดไว้ อีกทั้งช่วงท้ายๆ หนังยังผ่อนอารมณ์ตัวเองด้วย ความรู้สึกเบาๆ แต่ก็น่าประทับใจ
ประเด็นเรื่องเกย์ถ่ายทอดออกมาอย่างเพลย์เซฟและมองโลกในแง่ดีไปบ้าง ถ้ามองในแง่ความเป็นจริงแล้ว จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่จะยอมรับ ให้อภัย และทำใจได้กับเรื่องแบบนี้ หนังฉลาดตรงที่ไม่ไปเน้นจุดนั้น แต่เฉไปให้ความสำคัญกับการ “ค้นพบตัวเอง” มากกว่า
โดยรวมแล้วเป็นหนังที่สร้างความบันเทิงในระดับน่าพอใจทั้งสองเรื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องบอกก่อนว่า ควรจะทิ้งอคติไว้กับบ้าน ก่อนเดินทางมาโรงหนัง