xs
xsm
sm
md
lg

The Prize Winner of Defiance, Ohio : ด้วยสองมือแม่นี้ที่สร้างโลก

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ถ้านับรวม Far From Heaven และ The Hours เข้ามาด้วย, The Prize Winner of Defiance, Ohio ก็คงเป็นการปิดท้ายไตรภาค “แม่บ้านอมทุกข์ยุค 50” ของ จูลีแอนน์ มัวร์ ได้สมบูรณ์และยิ่งใหญ่พอดิบพอดี

โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์จากชิคาโก้ ซันไทม์ส ให้คำจำกัดความฝีมือของจูลีแอนน์ มัวร์ไว้อย่างกระชับชัดเจนว่า “Performance of Performance” หรือการแสดงออกแบบ 2 ชั้น ตัวละครของมัวร์ (โดยเฉพาะใน 3 เรื่องข้างต้น) มีความซับซ้อนทางอารมณ์สูง ในใจรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง แต่การแสดงออกภายนอกนั้นจะต้องเป็นไปในทางตรงข้าม

ผู้หญิงอเมริกันในยุค 50 ก็เป็นแบบนี้ พวกเธอถูกหล่อหลอมให้เป็นแม่บ้านชั้นยอด จัดการความวุ่นวายของงานบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย –ซึ่งก็สาหัสพอแล้ว- เธอยังต้องปิดล็อคความปรารถนาของตัวเอง ถวายตัวเป็นกลไกหนึ่งของชีวิตสามี เป็นเฟืองตัวที่ทำงานหนักที่สุด สกปรกที่สุด และถูกหยอดน้ำมันน้อยที่สุด ในครอบครัว

เคธี วิทเทเกอร์ ใน Far From Heaven เจอศึกรอบด้าน เธอเป็นแม่บ้านผู้เพียบพร้อมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทันทีที่พบว่าสามีเธอเป็นเกย์ ชีวิตของเคธีก็เคว้ง ครั้นจะแอบไปมีใจกับคนสวนผิวดำ ก็โดนสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงสำส่อน ไม่รักษาเกียรติของตนเองและครอบครัว

ลอร่า บราวน์ ใน The Hours นั้นหนักหนาสาหัสกว่า ทั้งๆ ที่ความขุ่นข้องของเธอถูกแสดงออกมาเป็นรูปธรรมน้อยกว่าของเคธี วิทเทเกอร์มาก แต่เธอก็อึดอัดกับสถานะของตัวเองไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกจองจำ เทียบกับตัวเวอร์จิเนีย วูล์ฟ แล้วเธออาจระทมกว่าเสียอีก อย่างน้อยๆ วูล์ฟก็หาทางออกด้วยความตายได้สมใจ แต่ลอร่าต้องทนกับความเจ็บปวดของเธอจนกระทั่งวัยชรา

เอเวอลีน ไรอัน บทบาทล่าสุดของจูลีแอนน์ มัวร์ ใน The Prize Winner of Defiance, Ohio ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนเท่า 2 ตัวละครข้างต้น ตัวหนังเองก็ผ่อนคลายกว่า ผู้กำกับ เจน แอนเดอร์สัน เล่าเรื่องด้วยลีลาอ่อนนุ่ม มีเสียงหัวเราะแห่งความสุขเจืออยู่บางๆ แอนเดอร์สันถ่ายทอดมันออกมาให้เป็นเรื่องอดีตอันงดงามชวนถวิลหา มากกว่าจะมุ่งวิพากษ์ถึงสิทธิสตรีอย่างจริงจัง

ตัวหนังนั้นสร้างจากงานเขียนเชิงอัตชีวประวัติของ เทอร์รี ไรอัน เธอเล่าถึงชีวิตช่วงวัยรุ่นในเมืองเดอฟิอานซ์อันลุ่มๆ ดอนๆ เพราะครอบครัวต้องประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ บ้านเธอมีอยู่ด้วยกัน 10 คนพี่น้อง มากพอดูสำหรับบ้านที่หัวหน้าครอบครัวเป็นแค่กรรมกรโรงงานขี้เมาคนหนึ่ง แต่เทอร์รีก็บอกว่า เธอกับพี่ๆ น้องๆ ผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้เพราะผู้หญิงเพียงคนเดียว –เอเวอลีน ไรอัน- แม่ของเธอ

หนังให้เอเวอลีนเป็นคนเล่าเรื่องเสียเอง เธอเป็นแม่บ้านชั้นยอดเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในละแวกเดียวกัน ลูกมากกว่าใครเขา ผัวก็ไม่เอาไหนที่สุด แต่เธอก็ยังรักษารอยยิ้มบนใบหน้าไว้ได้สม่ำเสมอ เอเวอลีนไม่เคยได้เงินจากสามี (วูดี ฮาร์เรลสัน) เป็นกอบกำ นอกจากค่านมและค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ โชคดีเหลือเกินที่ความสามารถด้านกาพย์กลอนของเธอ มาเป็นตัวช่วยสำคัญไม่ให้ชีวิตลำเค็ญจนเกินไป

ยุค 50 เป็นยุคการค้าเฟื่องฟู สินค้าหลากหลายชนิดแข่งกันออกวางตลาด และหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคคือการจัดการประกวดคำขวัญและคำโฆษณา เอเวอลีนเก่งเรื่องพวกนี้ เธอเรียนรู้ว่า แค่เชี่ยวชาญเรื่องภาษายังไม่พอ แต่ยังต้องทันเกมการตลาดด้วยว่า ประโยคแบบไหนถึงจะถูกใจเจ้าของสินค้า

ด้วยไหวพริบแบบนี้ เอเวอลีนเลยกลายเป็นผู้ผูกขาดรางวัลคำขวัญในตอนนั้น บ้านเธอจนมาก แต่ก็เป็นบ้านแรกๆ ที่มีทีวี มีตู้เย็น มีเครื่องซักผ้าใช้ เธอไม่ได้อยากได้ของเหล่านั้นสักเท่าไหร่ แต่นี่เป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาดให้กับลูกๆ ของเธอ มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่สุดที่เธอพอจะทำได้

ปัญหาหลักของเอเวอลีนอยู่ที่สามีของเธอ เคลลี ไรอันเป็นคนเหยาะแหยะ เรียกได้ว่าไม่เอาไหนเสียเลย งานการไม่เคยก้าวหน้าและพัฒนา ตัดสินใจอะไรไม่ได้ และไม่ค่อยรับผิดชอบ ที่แย่กว่านั้น พอเหล้าเข้าปากก็เริ่มอาละวาด

เอเวอลีนหาข้อแก้ต่างให้คนรักของเธอแบบไม่เคอะเขิน เธอบอกว่าเมื่อก่อนนั้นเธอมีอนาคตที่สดใสทีเดียวกับการเป็นพนักงานในบริษัทหนังสือพิมพ์ แต่ชีวิตของเธอก็หยุดลงในทันทีเมื่อเจอกับเคลลี ไรอัน หนุ่มรักสนุก รูปหล่อ และร้องเพลงได้ไพเราะจนชวนเคลิบเคลิ้ม

เธอบอกว่าไม่เสียดายที่ต้องมาลงเอยกับเขา “การใช้ชีวิตกับเคลลี คือการผจญภัยอีกแบบที่ฉันโหยหามาเสมอ” และใช่ว่าเคลลีจะเลวร้ายไปเสียหมด อย่างน้อยๆ เขาก็รักและเทิดทูนเธอคนเดียวเท่านั้น

เจน แอนเดอร์สันให้เอเวอลีนร้องไห้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นในหนังเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเธอต้องเจอกับปัญหาทุกๆ 10 นาที ฉากที่อธิบายตัวตนของเอเวอลีนได้ดีที่สุด มาจากสายตาของเทอร์รี ไรอันเอง มันเป็นตอนที่เทอร์รีต้องขับรถพาแม่ของเธอไปสังสรรค์กับกลุ่มแม่บ้านที่ต่างเมือง แต่รถบุโรทั่งของพ่อดันมาเสียกลางทาง

เทอร์รีโมโหเป็นฟืนเป็นไฟ แต่เอเวอลีนยังยิ้มอยู่ เทอร์รีโวยวายกับแม่ว่า มันน่าโมโหพ่อนัก ทำไมแม่ถึงไม่หงุดหงิดบ้าง เอเวอลีนตอบกลับมาว่า เธอไม่ได้ไปสังสรรค์ก็จริง แต่คิดในทางกลับกัน เธอก็ยังได้ใช้เวลาอยู่กับลูกสองต่อสอง ในทุกครั้งของความสูญเสีย โลกมันให้อะไรเราตอบแทนเสมอๆ เอเวอลีนย้ำว่าจะหงุดหงิดไปเพื่ออะไร สู้ใช้ปัจจุบันให้มันคุ้มค่าเสียดีกว่า

หนหนึ่งเคลลี เมาแล้วอาละวาดตามนิสัย และด่าทอเอเวอลีนเมียรักว่า “คุณรู้ไหม ปัญหาของคุณคืออะไร คุณโคตรมีความสุขมากเกินไป” เอเวอลีนหัวเราะแทนคำตอบของเธอ – เห็นแล้วน่าหงุดหงิด แต่ก็จริงของเธอ ว่าจะทุกข์ไปทำไม

ภาพของเอเวอลีน ไรอันในหนังดูยิ่งใหญ่และงดงาม เธอคล้ายกับนักบุญที่ไร้ที่ติ เสียสละ นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง ที่สำคัญคือไม่ถือโทษโกรธใครเกินจำเป็น เป็นแม่บ้านที่ควบคุมขอบเขตหน้าที่ของตนเองได้ดีเยี่ยม

ภาพที่มองย้อนกลับไป เอเวอลีนอาจดูโง่เง่าในบางครั้ง หรือในอีกมุมหนึ่งเอเวอลีนคือผู้ตกเป็นทาสของทุนนิยมอันฟูเฟื่องในอเมริกา แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเลยในความคิดของเทอร์รี ไรอัน แม่ของเธอไม่สนใจอะไรทั้งนั้น นอกจากว่า ลูกๆ ของเธอได้กินอิ่มก่อนเข้านอนหรือไม่ เมื่อลูกๆ ทั้ง 10 คนเติบโต และบินออกจากรังไปใช้ชีวิตของตนเองได้ นี่คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่กว่าเงินทองทั้งหมด

เอเวอลีน ไรอัน แตกต่างจากเคธี วิทเทเกอร์ และลอร่า บราวน์ ตรงที่ เราแทบไม่เห็นว่าเธอคิดถึงตนเอง (เหมือน 2 คนหลัง) เลย หนังเองก็ไม่ลากไปทางนั้น ชีวิตของเธอนั้นพลีให้กับคนอื่นๆ ไปหมดแล้ว และไม่คิดจะเรียกร้องอะไรด้วย

ถึงผู้หญิงจะไม่ได้ทำวีรกรรมอันหาญกล้าหรือต้องสละชีวิตในสนามรบ แต่พวกเธอควรได้รับการยกย่อง โดยเฉพาะกับหน้าที่ของการเป็นแม่นั้น มันเหนือกว่าวีรบุรุษใดๆ ทั้งปวง


กำลังโหลดความคิดเห็น