พอล คากามี ประธานาธิบดีของประเทศรวันดา ในทวีปแอฟริกา ได้ออกมากล่าวตำหนิถึงเนื้อหาในเรื่อง Hotel Rwanda หนังระดับเข้าชิงออสการ์เมื่อปีที่แล้ว ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการช่วยเหลือชาวรวันดากว่าพันคนของ "พอล รูเซซาบากินา" ผู้จัดการของโรงแรมที่อยู่ใจกลางการนองเลือด ให้รอดพ้นจากวิกฤตการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 ว่าเป็นเรื่องที่ฮอลลีวูดพยายามจะบิดเบือนประวัติศาสตร์ของชาติตนอย่างแท้จริง
เดิมทีนั้น Hotel Rwanda ผลงานปี 2004 ของผู้เขียน/ผู้กำกับเทอร์รี จอร์จ ได้จับประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศรวันดา ที่เกิดจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติของคนในประเทศ ที่มีชนเผ่าฮูตูเป็นคนกลุ่มใหญ่และชาวทุสซีเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ โดยการสังหารหมู่ที่ดำเนินไปกว่า 100 ร้อยวันครั้งนี้ได้ทำให้ชนชาวรวันดาต้องสูญเสียชีวิตไปถึง 8 แสนคนเลยทีเดียว
โดยตัวเอกในเรื่องดังกล่าวที่รับบทโดยนักแสดงชื่อดังอย่าง ดอน ซีเดิล ในบทบาทของ พอล รูเซซาบากินา ผู้จัดการของโรงแรมสุดหรูมิลล์คอลลินส์ที่ตั้งอยู่ใจกลางคิกาลี เมืองหลวงของรวันดา โดยเขาได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่และความสามารถทั้งหมดที่มีของเขาในการให้ที่พักในโรงแรมและช่วยชีวิตชาวทุสซีที่กำลังถูกไล่ล่ากว่า 1,200 คนให้รอดพ้นมหันตภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชนชาติแอฟริกาครั้งนี้ไปได้
ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนั้น ผู้นำของประเทศรวันดาคนปัจจุบันนั้นออกมาแย้งว่าไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะภาพลักษณ์การเป็นวีรบุรุษของรูเซซาบากินานั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาอย่างเลื่อนลอย
"รูเซซาบากินาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการรอดชีวิตของผู้คนเหล่านั้น เขาบังเอิญไปอยู่ที่นั่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ และการที่เขารอดมาได้ก็เพราะเขาไม่ได้เป็นผู้ที่ถูกหมายหัวในการไล่ล่าครั้งนั้น" คากามี กล่าวต่อนักข่าวรอยเตอร์ในวอชิงตัน ในระหว่างกำหนดการณ์เยือนสหรัฐ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
ผู้นำรวันดาคนปัจจุบันซึ่งเป็นชาวทุสซีได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า การที่ผู้คนในโรงแรมสามารถรอดชีวิตมาได้นั้นก็เพราะองค์การสหประชาชาติได้ใช้สถานที่แห่งนั้นในการดำเนินงาน ร่วมทั้งมันยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของกลุ่มนักฆ่าในตอนนั้นที่เห็นว่าควรจะเหลือที่ซักแห่งในเมืองคิกาลีให้เอาได้นั่งดื่มเบียร์คลายเครียดหลังจากไปตระเวณฆ่าคนมาแล้วทั้งวัน และยังใช้เป็นที่หารือในการเลือกเหยื่อที่จะสังหารในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย
และอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นที่มาในการรอดชีวิตของผู้บริสุทธิ์กว่า 1,200 ชีวิตในวันนั้นก็มาจากการที่เขาซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้นำกลุ่มปฏิวัติของรัฐบาล ได้ทำการเสนอข้อตกลงในการไว้ชีวิตต่อรัฐบาลเผด็จการกระหายเลือดในตอนนั้น เพื่อแลกกับชีวิตทหารชาวฮูตูที่ฝ่ายเขาจับเป็นเชลยอยู่ด้วยนั่นเอง
ด้วยความบิดเบือนของเนื้อหาอย่างมาก ซึ่งแม้แต่ผู้รอดชีวิตชาวรวันดาจากเหตุการณ์สยดสยองครั้งใหญ่แห่งทศวรรษก็ยังแสดงความไม่พอใจที่ฮอลลีวูดบิดเบือนเรื่องราวถึงขนาดนี้ จนผู้นำประเทศอย่างคากามีต้องลุกมากล่าวว่า "ใครบางคนต้องการจะเขียนประวัติศาสตร์ของชนชาติเราให้ผิดเพี้ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเรายอมรับไม่ได้"
หลังจากได้รับการแทรกแซงเพื่อเข้ามากอบกู้สถานการณ์จากบรรดานานาชาติ การฆ่าล้างเผาพันธุ์ของผู้คนในชาติรวันดาก็สิ้นสุดลง เมื่อในที่สุดคากามีได้นำกองกำลังกู้ชาติจากประเทศอูกันด้าเคลื่อนทัพมายึดอำนาจได้เป็นผลสำเร็จ
แม้จะถูกผู้นำของประเทศตัวเองออกมาดิสเครดิตขนาดนี้ แต่รูเซซาบากินาก็เคยได้รับเกียรติอย่างสูงจากวีรกรรมในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติในครั้งนั้น เมื่อได้รับมอบเหรียญ Presidential Medal of Freedom เพื่อเชิดชูเกียรติในการต่อสู่เพื่อเสรีภาพไปเมื่อปีก่อน
อย่างไรก็ดี รูเซซาบากินากล่าวว่าทุกวันนี้ประเทศรวันดาของเขาก็ยังไม่ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความเลวร้ายมาได้ไกลซักเท่าไหร่ เมื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอำนาจรัฐที่ใช้ต่อพรรคการเมืองคู่แข่งด้วยความมิชอบที่เป็นอยู่อย่างรุนแรงในทุกวันนี้ด้วยเช่นกัน