xs
xsm
sm
md
lg

ภาษาไทย so sad.../เรื่องจากจอ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยความที่อยากได้สร้อยห้อยคอขึ้นมาชนิดต้องซื้อให้ได้ในตอนนั้นนั่นเองที่เป็นเหตุให้สองเท้าของผมต้องรีบก้าวออกจากออฟฟิศไปยังบริเวณถนนข้าวสารที่ไม่ไกลมากนัก

หลังใช้เวลาเลือกอยู่ 2 - 3 นาที ผมก็หยิบสร้อย(สายทำจากหนังสีดำเส้นเล็กๆ ห้อยกะลามะพร้าวทรงกลม เขียนลาย หยิน-หยาง) ชูขึ้นมาถามราคาแม่ค้า

"ราคาคนไทยกันเอง 80 บาท..." เสียงแม่ค้าวัยไม่เกิน 20 บอก

หยิบแบงค์ 100 บาท ส่งให้ ก่อนจะรับเงินทอนพร้อมสินค้าแล้วเดินออกจากแผงลอยดังกล่าว

ยังไม่ทันจะเกิน 20 เมตร สายตาก็เหลือบไปเห็นแผงลอยอีกหนึ่งแผง(ที่เดินผ่านไปโดยไม่ได้สังเกตในตอนแรก)ขายสร้อยชนิดเดียวกันกับที่เพิ่งจะซื้อมา มีป้ายติดราคาไว้ว่า

1 = 25 ฿

5 = 100 ฿

สมองประมวลผลอยู่พักหนึ่ง ความรู้สึกที่เคยคิดว่าได้สิทธิ์พิเศษ(ในเรื่องราคา)ด้วยความเป็นคนเจ้าของพื้นที่จากประโยคของแม่ค้าที่บอกว่า "ราคาคนไทยกันเอง" ก็หายวับไปทันที

รูปแบบเดียวกัน วัสดุเดียวกัน ลายเดียวกัน ร้านหนึ่งขาย(ราคาคนไทยเส้นละ) 80 บาท ในขณะที่อีกร้านนึงติดราคาขายให้ชาวต่างชาติรู้ในราคา 25 บาท

ด้วยความเจ็บใจในความไร้ประสบการณ์ของตนเองผมก็เลยซื้อมาซะอีก 1 เส้น(ลายพระอาทิตย์) แล้วก็เป็นเส้นที่ใส่อยู่ในตอนนี้

เขียนมาเล่าสู่กันฟังนอกจากเจตนาบ่นเพื่อระบายความรู้สึกแล้ว ก็อยากจะบอกเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลในเรื่องของราคาขั้นพื้นฐาน เผื่อว่าใครมีโอกาสได้มาเดินแถวๆ นี้แล้วเกิดนึกอยากจะซื้อสร้อยในลักษณะที่ว่านี้ขึ้นมา

จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นไคนไทยที่ต้องมาเจ็บใจเพราะคนไทยด้วยกันเองอย่างผม
.....
มาว่ากันที่เรื่องที่อยากจะเขียนเล่าสู่กันฟังในวันนี้


วันจันทร์ที่ 8 พ.ค.มีข่าวจากหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ไซต์ ไทยโพสต์ พาดหัวว่า...จวก 'เวทีทอง' ภาษาไทยอ่อน พร้อมคำโปรย..."เวทีทอง" ผู้ปกครองสับเละ ช่วงทายภาพทำลายภาษาไทย คำพ้องเสียง คำเหมือน มั่วไปหมด พิธีกรคู่ใหม่มัวแต่เก๊กเป็นเด็กแนว ทั้งที่เป็นเกมเกี่ยวกับภาษาไทย แต่ไม่มีการย้ำให้เด็กเข้าใจว่าเป็นคำที่ออกเสียงเหมือนกัน หวั่นเด็กรุ่นใหม่เข้าใจภาษาสับสน ด้านกลุ่มเฝ้าระวังฯ รับลูกเตรียมร่อนหนังสือขอความร่วมมือด่วน

ตามเนื้อหาของข่าวระบุว่าได้รับเสียงร้องเรียนมาจากผู้ปกครองที่มีอาชีพครูคนหนึ่งว่า ได้นั่งดูรายการดังกล่าวทางช่อง 5 ในช่วงที่มีการทายภาพปริศนา ซึ่งบางคำหรือบางประโยคนั้นเป็นคำพ้องเสียง คือออกเสียงเหมือนกันแต่ความหมายและการเขียนการสะกดนั้นไม่เหมือนกัน ทว่าพิธีกรเองกลับไม่อธิบายกระทั่งมีแนวโน้มที่อาจจะทำให้เด็กๆ รวมทั้งเยาวชนส่วนใหญ่ที่ติดตามรายการดังกล่าวนำไปใช้ผิดๆ ได้

"ได้ลองดูและลองสังเกตมาแล้วหลายสัปดาห์ รายการจะมีทุกวันเสาร์ โดยเฉพาะช่วงภาพปริศนา ส่วนตัวเมื่อก่อนชอบรายการนี้มาก เนื่องจากเป็นรายการที่เกี่ยวกับภาษาไทย ช่วยส่งเสริมภาษาไทย โดยเฉพาะตอนที่คุณหม่ำและคุณกิ๊กเป็นพิธีกร ทั้งคู่จะสนุกสนาน และไม่ลืมย้ำให้เด็กๆ เข้าใจถึงคำพ้องเสียงจากช่วงภาพปริศนา บอกว่าคำที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หมายความว่าอะไร"

"แต่พอมาเปลี่ยนพิธีกร ซึ่งช่วงหลังๆ นี้ลองสังเกตดู ทั้งคู่ก็จำไม่ได้ว่าชื่ออะไร รู้แต่เป็นดาราวัยรุ่น เอาแต่แต่งตัวแบบเด็กแนว ทำท่าเก๊กวัยรุ่น ซึ่งตรงนี้แรกๆ มองว่าอาจจะเปลี่ยนแนวรายการใหม่ แต่ทำไมกลับไม่มีการสอดแทรกสาระเลย โดยเฉพาะคำพ้องเสียงที่เป็นส่วนหนึ่งของเกม" เป็นประโยคคำพูดของผู้ปกครอวคนดังกล่าว

ฟังดูเหมือนเรื่องมาก ฟังดูเหมือนกับครูแก่ๆ ที่ชอบขี้บ่นคนหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวผมเองค่อนข้างจะเห็นด้วยทีเดียว

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่มีให้เลือกเสพกันมากมายเช่นนี้ แน่นอนว่าเมื่อเกิดของใหม่ขึ้นย่อมต้องมีการปะทะกับของที่มีอยู่เดิมๆ อย่าง "รุนแรง" และ "รวดเร็ว" ซึ่งต้องปรบมือให้ดังๆ กับการที่ทางทีมงานของบริษัทเวิร์ค พอยท์ เจ้าของรายการ "เวทีทอง" ในความพยายามที่จะหยิบเอาความ "ร่วมสมัย" ดึงให้เด็กและเยาวชนเกิดความสนใจที่อยากจะเรียนรู้ - ปลูกฝัง หรืออย่างน้อยๆ ก็กันไม่ให้ลืมในเรื่องของภาษาตลอดจนสิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็น "ของของบ้านเรา" โดยไม่ให้รู้สึกว่าเชย

ให้รวมไปถึงรายการอื่นๆ ของบริษัทนี้ด้วยเช่นกัน

แต่ทำไปทำมาเอาเข้าจริงๆ กับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันอาจจะสายไปแล้วก็ได้ครับกับความพยายามดังกล่าว

ไม่ได้เก่งภาษาไทยอะไรมากมายหรอกครับ (ส่วนภาษาอังกฤษนี่ไม่ต้องถามถึงหลีกได้เป็นหลีกเลี่ยงได้เป็นเลี่ยง) แต่ผมสังเกตว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เขียนหนังสือด้วยภาษาไทยแท้ๆ แต่กลับอ่านไม่รู้เรื่องเอาซะเลย แถมในหลายครั้งยังผิดแบบไม่น่าให้อภัย คือไม่ได้(เขียนคำ)ผิดเพราะความพลั้งเผลอ หรือตกหล่น แต่เป็นการเขียนผิดเพราะเข้าใจในความหมายผิดๆ นี่บ่อยมาก

ในเวลาเดียวกันการกลายพันธุ์ของภาษาก็ยิ่งมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเทอร์เน็ตที่เราจะเห็นกันบ่อยๆ อาทิพิมพ์คำว่า อังกิด(อังกฤษ), เวน(เวร), เกียด(เกลียด), เด๋ว(เดี๋ยว), ทามมาย(ทำไม), อาราย(อะไร), เทอ(เธอ), จิง(จริง), มะมี(ไม่มี) ฯลฯ รวมไปถึงคำถามกวนๆ ประเภทที่ว่า งูกฉกอะไรเหม็น? คำตอบคืองูฉกกะปรก(งูสกปรก), ฉลามอะไรเตะบอลได้ คำตอบคือฉลามศุภชลาศัย(สนามศุภชลาศัย) และอีกมากมาย

คำเหล่านี้แน่นอนครับว่าน่าชื่นชมในแง่ของความคิดพยายามหาสิ่งใหม่ๆ ที่เหมาะกับวัยของตนเอง ทว่าก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงทีเดียวที่มีเด็กหลายคนซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะการ "จดจำ" หรือเป็นเพราะความ "คุ้นเคย" กันแน่ที่ทำให้พวกเขานำเอาคำเหล่านี้ไปใช้ ไปพูดในที่ๆ ไม่ควรจะใช้

ไม่ต้องไปหาอื่นไกล เอากันง่ายๆ ลองเปิดดูรายการทีวีประเภทรายการเพลงหรือรายการที่มีวัยรุ่นทั้งหลายทำหน้าที่พิธีกรดูก็ได้

นอกเหนือไปจากการไม่เหลียวแลภาษาบ้านตัวเองแล้ว ดูเหมือนว่าเด็กรุ่นใหม่หลายคนยังให้ค่าต่อภาษาอื่นๆ จนน่าน้อยใจ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะความเคยชินที่ร่ำเรียนมาสูง หรือเป็นเพราะคิดว่าใช้คำอังกฤษพวกนี้แล้วจะทำให้ตนเองดูโก้เก๋ทันสมัยกันแน่

กรณีแรกก็ยังพอทน แต่ถ้าเป็นกรณีหลังก็น่าเศร้าเพราะมันโยงใยไปถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งเรื่องของการรับเอาวัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่ดูจะไม่เหมาะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ที่บ้านเราเป็นอยู่สักเท่าไหร่กระทั่งส่งผลให้ยิ่งนับวัน ดูเหมือนว่าตัวของตัวเราเองนั่นแหละที่กัดกลืนความเป็นตัวเราเองให้หมดไปทุกทีๆ

กรณีของภาษาต่างด้าวนี้ถ้าใช้กันแบบกลางๆ พอประมาณแบบไม่น่าเกลียดหรือเป็นคำที่เข้าใจกันอยู่แล้วก็ยังพอทำเนา (คงไม่ถึงขนาดที่จะต้องประชดประชัน เรียก "ซอฟท์แวร์" ว่าละมุนภัณฑ์ ในทำนองนี้) แต่ไอ้ที่ดัดจริตพูดไทยคำอังกฤษคำ พูดภาษาไทยสำเนียงอังกฤษแปร่งๆ, ทำบัตรเชิญที่มีแต่ภาษาอังกฤษล้วนๆ ทั้งๆ ที่เห็นคนที่ไปร่วมงานก็คนไทยหัวดำผิวเหลืองกันทั้งนั้น

รวมถึงชื่อรายการทีวีทั้งหลาย กระทั่งชื่อวงดนตรีเองก็ตามลองดูเถอะกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ผมมั่นใจว่าเป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ทั้งๆ ที่ก็ทำดูกันเอง ทำฟังกันเองไม่ได้โกอินตงอินเตอร์อะไรกับเขาเลย

จำได้ว่าเคยมีคนหยิบเอาเรื่องนี้โดยยกตัวอย่างมาจากชื่อวงดนตรี ชื่ออัลบั้ม ที่เข้าประกวดในงานประกาศผลทางด้านงานดนตรีบนเวที "แฟต อวอร์ด" ขึ้นมาเขียนไปแล้ว ปีนี้ผมมีตัวอย่าง(เล็กๆ น้อยๆ)มาให้ดูกันอีกครั้ง เป็นรางวัลเพลงดีที่ลงตัวทั้งอัลบั้ม(Album of the year)มอบให้โปรดิวเซอร์และศิลปิน พิจารณาเฉพาะอัลบั้มที่วางแผงครั้งแรกในปี 2548 ที่มีมีศิลปินเข้าชิงรางวัลดังนี้
- อัลบั้ม 20 Guns Pointing in your face ศิลปิน Goose โปรดิวเซอร์ Goose
- อัลบั้ม Appetizer ศิลปิน Save da last piece โปรดิวเซอร์ มณเฑียร แก้วกำเนิด
- อัลบั้ม Believe ศิลปิน Bodyslam โปรดิวเซอร์ พูนศักดิ์ จตุระบูล
- อัลบั้ม Enjoy yourself ศิลปิน T-Bone โปรดิวเซอร์ T-Bone
- อัลบั้ม Love Bite ศิลปิน Futon โปรดิวเซอร์ Futon
- อัลบั้ม Vanilla ศิลปิน Flure โปรดิวเซอร์ Flure

เป็นธรรมดาครับ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ทุกๆ สิ่งอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน และเป็นธรรมดาที่เรามักจะไม่ค่อยมองเห็นค่าความดีหรือความสวยงามๆ ในสิ่งที่เรามีอยู่จนกระทั่งถึงวันที่เริ่มรู้สึกได้ว่าสูญเสียมันไป

แต่บางที เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ณ เวลานั้นๆ มันก็อดที่จะรู้สึก so sad ไม่ได้เหมือนกันนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น