xs
xsm
sm
md
lg

STAY : ฝันใดเล่าจะมาเยือน

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


งานสองชิ้นก่อนหน้านี้ของผู้กำกับ มาร์ก ฟอสเตอร์ อยู่ในความสนใจของนักวิจารณ์มาโดยตลอด Monster’s Ball นั้นส่งให้ฮัลลี แบร์รี ได้รับรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก ส่วน Finding Neverland ก็ไปได้ไกลถึง 5 เรื่องสุดท้ายของภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเวทีเดียวกัน

แต่ทั้งสองเรื่องนั้นก็เป็นหนังที่ “เล่าเรื่อง” ธรรมดาๆ มาร์ก ฟอสเตอร์ อาจต้องการเล่นอะไรมากกว่านั้น และมันก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนใน Stay งานชิ้นใหม่ของเขา

Stay ไม่ได้เล่าเรื่องตามธรรมเนียมนิยม และดูเหมือนจะไม่แคร์ด้วยว่า คนดูจะตามเก็บรายละเอียดได้ทันหรือไม่ โครงเรื่องคร่าวๆ นั้นพอจะมี แต่ฟอสเตอร์ก็จะไม่ให้คนดูได้รับรู้เลยว่า “ตกลงแล้วเรื่องมันเป็นไงมาไง” จนกระทั่งตอนจบ

พล็อตถูกปรุงแต่งและบิดเบือนด้วยเทคนิค เกือบๆ จะเข้าขั้นยุ่งเหยิงด้วยซ้ำไป แต่เหตุผลรองรับของการเลือกวิธีการแบบนี้ก็มีอยู่ ฟอสเตอร์กำลังถ่ายทอดกระแสสำนึกของใครคนหนึ่งที่อ่อนล้าเต็มทีในการพยายามเกาะเกี่ยวกับตรรกะความเป็นจริง หนังเลยเหมือนฝันร้ายซ้ำซาก หรืออาการหลอนแบบที่เรียกว่า “เดจาวู” ตลอดทั้งเรื่อง

นักดูหนังที่เคยผ่านตางานของ อแลง ร็อบ-กริลเญต์ คนทำหนังชาวฝรั่งเศส (Eden and After) หรืองานของเดวิด ลินช์ (Twin Peaks, Mulholland Dr.) คงรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ของใหม่ แต่ฟอสเตอร์ก็ทำให้งานศิลปะที่ศิลปินชั้นครูเคยทำมาก่อนแล้ว – เกิดความใหม่ขึ้นมา

Stay หนักหน่วงกว่าในแง่เทคนิค เล่าเรื่องกระชับฉับไว ไม่เอื่อยเฉื่อยอ้อยสร้อย เรียกได้ว่า กระหน่ำคนดูด้วยเครื่องหมายคำถามอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่งานที่กลมกล่อม บางคนอาจรู้สึกว่ามันดู “ล้น” เกินไป แต่ผมก็รู้สึกดีที่ได้รู้ว่า ฮอลลีวูดก็ยอมเสียเงินไปกับหนังที่ดูอย่างไรก็ไม่ทำเงินแบบนี้บ้างในบางครั้ง

พล็อตคร่าวๆ นั้นวนเวียนอยู่ที่ แซม ฟอสเตอร์ (ยวน แม็กเกรเกอร์) จิตแพทย์นายหนึ่งที่รับคนไข้มาจากเพื่อนที่ขอลาป่วย คนไข้รายนี้เป็นเด็กหนุ่มท่าทางแปลกๆ ที่ชื่อ เฮนรี่ เลแธม (ไรอัน กอสลิง) เขาพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหนหนึ่งด้วยการเผารถของตนเอง และบอกกับแซมว่า เขากำลังรอคอยความพยายามหนที่สอง ที่จะเกิดขึ้นในวันเกิดครบรอบ 21 ปีที่จะถึงในไม่กี่วันนี้ เฮนรี่ให้เหตุผลว่า ชีวิตของเขาเจ็บปวดเกินกว่าจะทนอยู่ เขาโทษตัวเองว่าอุบัติเหตุที่ทำให้พ่อแม่ตายนั้น เกิดจากน้ำมือของเขาเอง

สิ่งที่แซมต้องทำคือหยุดการกระทำนี้ของคนไข้ให้ได้ แต่แล้วเฮนรี่ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และในฐานะจิตแพทย์ เขาก็ออกตามหา

ระหว่างการเดินทางของแซม หนังมีรายละเอียดที่ชวนฉงนโปรยปรายอยู่เป็นระยะๆ แซมนั่งแท็กซี่ไปถึงบ้านของเฮนรี่ ได้คุยกับแม่ของเด็กหนุ่ม ก่อนจะมารู้ตัวและนึกได้อีกทีว่า แม่ของเฮนรี่ตายไปแล้วด้วยอุบัติเหตุ และอีกครั้งหนึ่ง แซมเดินทางไปหาอาเธน่า (เอลิซาเบธ รีสเซอร์) –หญิงสาวที่เฮนรี่บอกว่าเขากำลังจะขอเธอแต่งงาน- แต่คำตอบที่ได้รับก็คือ อาเธน่าเคยคุยกับเฮนรี่แค่ 2-3 ครั้งเท่านั้นเอง ในตอนที่อีกฝ่ายเข้ามากินกาแฟในร้านที่เธอทำงานอยู่

ที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงกว่านั้น ไลล่า (นาโอมิ วัตต์ส) แฟนสาวของแซม เคยเผลอเรียกเขาว่า “เฮนรี่” และแซมก็มั่นใจว่าเขาไม่ได้หูฝาดแน่ๆ ยังไม่นับบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อหน้าแซมจนชวนให้ขนลุก และไม่มีคำอธิบายหลังจากนั้น

แน่นอนว่าผมเขียนไปอย่างนี้อาจไม่เท่ากับได้เห็นภาพจริงๆ ซึ่งมาร์ก ฟอสเตอร์เองก็ดูจะเพลิดเพลินมากทีเดียวกับงานในส่วนนั้น พูดกันให้เห็นภาพ ก็คือ เขาสมมติตัวเองให้เหมือนกับเด็กอนุบาลที่ละเลงสีเล่นตามใจชอบในชั่วโมงเรียนศิลปะ

ฟอสเตอร์ทำลายระบบการเล่าเรื่องทุกอย่าง เพื่อให้คนดูรู้สึก “เป็นอื่น” กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นตรงหน้า ตั้งแต่การรื้อระบบการวางมุมกล้อง Axis Line ที่ทำเอาสับสนว่า การสนทนาที่เกิดขึ้นฝ่ายใดอยู่ตำแหน่งไหน และประโยคไหนใครเป็นคนพูดกันแน่

การเชื่อมต่อเหตุการณ์หลายครั้งกระทำโดยไม่คำนึงถึงเวลาและสถานที่ ความต่อเนื่องสะดุดและเรียกได้ว่า “รวน” ไปหมด บางอย่างที่ควรจะเกิดขึ้นในอนาคต กลับเผยให้คนดูได้เห็นก่อน แล้วค่อยมาฉายซ้ำอีกที จนหาตรรกะอะไรมาอธิบายไม่ได้ - ไม่ต่างกับการถูกหมัดหนักๆ ซัดเข้าจนเบลอ

การออกแบบงานสร้างก็ยิ่งโดดเด่นกว่า มันถูกบิดเบือนให้ดูเกินจริง อาคารบ้านเรือน (โดยเฉพาะบันได) ถูกมุมกล้องบิดจนเบี้ยวไม่เหลือเค้าเดิมอีก ไหนจะสีสันอันฉูดฉาดที่ใส่เข้ามาเพื่อแทนความหมายที่หลากหลาย

ผมพยายามไม่เปิดเผยเนื้อเรื่อง เพราะคิดว่าถ้าได้ดูเอง คงจะสนุกมากกว่า และถึงแม้จะ มาร์ก ฟอสเตอร์ จะ ”หนักมือ” ไปถึงเพียงนั้น หนังก็ยังน่าติดตาม และพอมันดำเนินมาถึงซีเควนซ์ที่เฉลยทุกสิ่ง อะไรๆ ก็ไม่ได้ยากเกินเข้าใจ

เดวิด เบนิออฟ คนเขียนบทได้ให้ “คำใบ้” อยู่บ้างเหมือนกัน ในหลายๆ ฉาก ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ไลล่า เล่านิทานตลกๆ ให้กับแซมฟังเรื่องของพระราชาที่ออกล่ากวางในป่า

ในขณะเดียวกับที่พระราชาออกล่ากวางนั้น นายพรานคนหนึ่งก็ถือปืนออกล่ากวางอยู่ด้วยเหมือนกัน เมื่อทั้งคู่เดินมาเจอะกัน พระราชาก็เล็งปืนไปที่ฝ่ายตรงข้ามทันที มหาดเล็กท้วงติงว่านั่นไม่ใช่กวาง นายพรานเห็นท่าไม่ดีก็ตะโกนสำทับอีกว่า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่กวาง แต่ก็ไม่มีประโยชน์ พระราชาทรงเหนี่ยวไกเสียแล้ว เพราะได้ยินอีกฝ่ายพูดว่า “ข้านี่แหละกวาง”

แซมครุ่นคิดว่าตัวเองนั้นคงเหมือนนายพราน แต่ไลล่าบอกว่า มันเป็นแค่โจ๊ก แต่ถ้าแซมจะเป็นตัว
ละครสักตัวในนิทานเรื่องนี้ เขาก็คงจะเป็นกวาง ???

อีกฉากหนึ่งที่จะว่าไป มันเป็นแค่เรื่องผ่านเลยก็ได้ คือตอนที่แซมไปพบอาเธน่ากำลังซ้อมละครอยู่ เธอกำลังร่ายบทเป็นเจ้าชายแฮมเล็ต ซึ่งกำลังคุยกับโรเซนแครนต์ ทหารคนสนิท

ไม่ค่อยเกี่ยวกันนัก แต่มันทำให้ผมนึกไปถึงบทอีกตอนหนึ่งของ Hamlet ซึ่งเข้ากับหนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี มันเป็นช่วงที่แฮมเล็ตได้พูดวรรคทองของเขาอย่าง To be or not to be แล้ว - - ต่อจากนั้นเขาก็รำพึงรำพันต่อ

To die -to sleep- To sleep? Perchance, to dream. Ay, there's the rub, for in that sleep of Death what dreams may come. (ถ้าการตายคือการหลับ และการหลับจะต้องฝัน โอ้ อุปสรรค การหลับอันเป็นนิรันดร์นั้น ฝันใดเล่าจะมาเยือน)

หนังเรื่อง What Dreams May Come ที่นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ เคยมาฉายบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน และฝันหลังความตายของเขาก็ดูโรแมนติกมาก แต่ใน Stay นั้นตรงกันข้าม – ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง




กำลังโหลดความคิดเห็น