xs
xsm
sm
md
lg

Elizabethtown : ถ้าโลกนี้ไม่มีผู้หญิง

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ผมเป็นคนหนึ่งที่หลังจากได้ดู Jerry Maguire แล้วรู้สึกไม่คล้อยตามสิ่งที่ตัวละครทำลงไปสักเท่าไหร่ ตอนนั้นผมคิดว่าระหว่างผู้ชายและผู้หญิงควรจะเทน้ำหนักการให้และรับ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ไม่ควรจะเอนไปทางใดทางหนึ่ง กล่าวคือ ผมไม่ชอบที่ตัวเจอร์รี เอาแต่เรียกร้องโน่นนี่จากแฟนสาว หนำซ้ำอีกฝ่ายยังรับบทบาท “ผู้ให้” โดยไม่ขออะไรกลับคืนมา

แต่พอยิ่งนานๆ ไป ผมเองกลับรู้สึกว่า สิ่งที่ผู้กำกับคาเมรอน โครว์พูดนั้น มีเค้าความจริงอยู่ไม่น้อย ธรรมชาติของผู้ชาย ต้องการแรงสนับสนุนจากผู้หญิงจริงๆ ในเกือบทุกๆ เรื่อง ฟังคล้ายกับเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว แต่ก็เถียงไม่ได้ว่า ก็ผู้ชายมันเป็นอย่างนี้

ผมเคยนึกแม้กระทั่งว่าโครว์เห็นผู้หญิง (โดยพาะนางเอกใน Jerry Maguire) เป็นแค่กลไกหนึ่งที่จะทำให้ฝ่ายชายประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองหวังไว้ มานึกดูอีกที มันตรงกันข้ามกันเลย โครว์ยกย่องตัวละครหญิงของเขามาก (ในงานทุกชิ้น) พวกเธอไม่มีบทบาทในฉากหน้าก็จริง แต่เธอก็เป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ใครสักคนหนึ่งทำอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่

คงเหมือนกับที่เพลงของเบตต์ มิดเลอร์ ได้ว่าไว้ คนที่เป็น Wind beneath My Wings นั้นสมควรได้รับการยกย่องที่สุด การเป็นลมใต้อุ้งปีกให้คนที่เรารักได้บินไปไกลเท่าที่เขาต้องการ มันเป็นการเสียสละอันมหาศาล ประโยคที่เจอร์รีบอกกับโดโรธี ผู้หญิงของเขาว่า “You complete me” คงไม่ใช่แค่ประโยคยี้ๆ ที่พูดขึ้นมาเล่นๆ แต่คงมีความหมายกับผู้ชายอย่างเขามากทีเดียว

ตัวละครหญิงในหนังของคาเมรอน โครว์ มักมีลักษณะแบบที่ว่านี้อย่างชัดเจน พวกเธออาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวีรกรรมของเรื่องแบบจริงจัง แต่อยู่ในส่วนของพลังขับเคลื่อนที่ขาดไม่ได้เสียมากกว่า สำหรับงานชิ้นใหม่อย่าง Elizabethtown นี่ก็ใช่อีกเหมือนกัน

พล็อตนั้นเกี่ยวข้องกับ ดรูว เบย์เลอร์ (ออร์แลนโด บลูม) ชายหนุ่มที่อนาคตกำลังจะก้าวไปได้สวยกับอาชีพนักออกแบบรองเท้า แต่ไปพลาดอีท่าไหนไม่ทราบ ทำบริษัทขาดทุนราวๆ 1 พันล้าน ดรูวนึกไม่ออกว่ากรณีนี้ควรจะต้องใช้คำว่าล้มแหลวแบบไหนดี ระหว่าง Failure หรือ Fiasco แล้วก็เหมาเอาว่าคงจะเป็นอย่างหลัง ที่หมายถึงการล้มคะมำแบบหมดรูป อันนำมาซึ่งความหายนะกระจายเป็นวงกว้าง

ระหว่างที่กำลังเตรียมตัวฆ่าตัวตาย ดรูวได้รับโทรศัพท์จากที่บ้านว่า พ่อของเขาเสียชีวิตแล้วขณะเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองเอลิซเบธทาวน์ น้องสาวนั้นต้องจัดการภาระที่บ้านมากมาย ส่วนแม่ก็สติแตกจนทำอะไรไม่ถูก เลยกลายเป็นหน้าที่บังคับของดรูวที่จะต้องไปจัดการเรื่องงานศพล่วงหน้าก่อน เพียงลำพัง

ขณะนั่งอยู่บนเครื่องบินพร้อมๆ กับใจที่ขุ่นมัว ดรูวได้เจอกับพนักงานต้อนรับบนเครื่องที่มาชวนคุยอย่างออกรส เธอแนะนำตัวว่าชื่อ แคลร์ (เคียสเตน ดันส์ต) และบอกกับเขาว่า เธอมีความสามารถพิเศษในการทายนิสัยคนจากชื่อ มันอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นแค่เรื่องโม้ๆ ก็ได้ แต่เราก็เห็นว่าแคลร์ช่างสังเกตกับอะไรเล็กๆ น้อยๆ เธอคงไม่ใช่เป็นคนที่คร่ำเคร่งกับชีวิตนัก ปล่อยมันไปสบายๆ และหัวเราะให้กับเรื่องไม่เป็นเรื่องเสียมากกว่า

ไม่ใช่เฉพาะกับแคลร์ ที่เป็นเหมือน “คนอีกแบบ” ที่ดรูว ไม่เคยได้พบได้เจอ ชายหนุ่มพบว่าพ่อบังเกิดเกล้าของตัวเองก็เป็นคนที่น่าทำความรู้จักด้วยไม่น้อย เสียแต่ว่ามันสายเกินไปแล้วสำหรับเวลานี้

มีหลายเรื่องเลยที่ดรูววางแผนไว้ว่าอยากจะทำ แต่การมุ่งมั่นก้าวไปหาความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก็แย่งเอาเวลาและอะไรต่อมิอะไรไปเสียหมด เขาเป็นเหมือนนักพนันที่ทุ่มเงินจนหมดหน้าตัก พอพ่ายแพ้ แม้แต่เงินจะจ่ายค่ารถกลับบ้านก็ยังไม่มี

ตอนที่ดรูวยังเด็กๆ พ่อกับเขาเคยฝันถึงการขับรถข้ามประเทศด้วยกัน ดรูวลืมไปแล้วถ้าแคลร์ไม่พูดสะกิดเรื่องนี้ขึ้นมา เขาลืมอะไรอีกหลายๆ เรื่อง และพบว่า ตัวเองหมกมุ่นกับความล้มเหลวมากจนเกินไป ทั้งๆ ที่ยังมีอะไรรอบข้างให้น่ามองอีกมาก

พ่อเคยบอกว่าอุปสรรคเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ ก็จะมีเรื่องโน้นเข้ามา พระเจ้าไม่เคยปล่อยให้ชีวิตว่างเว้นจากเครื่องกีดขวาง ประเด็นคือในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าชีวิตเป็นแบบนี้ จะทำให้มันแย่ลงกว่าเดิมทำไมกัน

พ่อกับแคลร์น่าจะเป็นคนคล้ายๆ กัน และยังช่วยดันให้ดรูวลอยหลุดพ้นจากพื้นที่สีดำ ที่เขาเป็นคนขีดขึ้นมาเอง ตัวละครเอกของโครว์ยังเป็นผู้ชายแบบเดิม ผู้ชายที่บ้างาน และบางทีก็ลืมที่จะใช้ชีวิต

ถ้าเทียบกับงานชิ้นก่อนๆ โดยเฉพาะที่เด่นมากๆ อย่าง Say Anything, Jerry Maguire หรือ Almost Famous งานชิ้นล่าสุดของเขายังคงเล่าเรื่องได้ลื่นไหลเหมือนเดิม ผิดกันแค่ว่า บทบรรยายของตัวละครอย่างดรูว มีอยู่เยอะและล้นจนเกินไป มันทำให้ไม่มีส่วนที่มีพลังกระแทกคนดูแบบเน้นๆ

อย่างไรก็ดี ผมยังรู้สึกชอบและเพลิดเพลินมากทีเดียว มันเป็นหนังที่เหมาะกับพวกมนุษยนิยม รื่นรมย์กับการใช้ชีวิต ที่สำคัญกว่าทั้งหมด เคียสเตน ดันส์ต เป็นผู้หญิงที่มีเสน่ห์และน่ารักมาก คนดูไม่มีทางสงสัยเลยว่า คนที่ท้อแท้กับชีวิตแล้วอย่างดรูว จู่ๆ จะกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างไร เพราะดันส์ตลบทุกข้อสงสัยไปหมดแล้ว

หนังของคาเมรอน โครว์ยังคงใช้เพลงเป็นตัวหล่อเลี้ยงอารมณ์คนดูเช่นเคย เนื่องจากตัวผู้กำกับเคยเป็นนักวิจารณ์เพลงมาก่อน ผมไม่รู้จะสาธยายออกมาอย่างไร โครว์และแนนซี วิลสัน (ผู้ดูแลดนตรีในหนังเรื่องนี้) เก่งกาจในการคัดเพลงมาใส่ไว้ในหนังมาก

เท่าที่นึกออก ผมชอบเพลง English Girls Approximately ของไรอัน อดัมส์ โครว์ใช้มันในช่วงท้ายเรื่อง ตอนที่ดรูวกำลังจะไปหานางเอกตัวจริงของเขา เสียดายที่ในหนังเปิดเพลงนี้ไม่จบ เพราะวรรคท้ายๆ ของเพลง อดัมส์เขียนถึงผู้หญิงได้ง่ายและซึ้งมาก

ท่อนนั้นมีอยู่ว่า Just three words, my love…You mean everything / You mean everything / You mean everything.



กำลังโหลดความคิดเห็น