xs
xsm
sm
md
lg

U-Carmen e-Khayelitsha : เธอสวย...ทุกนาทีที่เคยสัมผัส

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


นับตั้งแต่ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ ฉายหนังของ มิคาเอล ฮาเนเก เรื่อง Hidden เมื่อปลายปีก่อน ก็เห็นจะมีแต่หนังแอฟริกาใต้เรื่อง U-Carmen e-Khayelitsha (ซึ่งกำลังจะลงโรงฉายในสัปดาห์หน้า) นี่เอง ที่ส่วนตัวผมเองรู้สึกว่า มันสร้างอารมณ์ตื่นเต้นและประหลาดใจได้ในระดับเท่าๆ กัน

พูดให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ การได้มีโอกาสชม U-Carmen บนจอใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในประสบการณ์การดูหนังอันดีเยี่ยมครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว ผมไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ และเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน

คงต้องเตือนกันก่อนว่า มันไม่ใช่หนังที่ดูสนุกและระทึกใจแบบชวนให้เลือดสูบฉีดแรงทุก 2 วินาที (กรณีนี้ขอแนะนำ Final Destination นะครับ) แต่เชื่อแน่ว่า ทันทีที่ออกมาจากโรง คุณอาจจะต้องรู้สึกหงุดหงิด อึดอัด อยากระบายกับใครสักคน – ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้ก็ตาม

U-Carmen นั้นเป็นหนังที่มีเนื้อเรื่องแบบเดียวกับนิยายชื่อดังของ พรอสแพร์ เมริมี (1803-1870) ซึ่งคนทั่วๆ ไปคงรู้จัก Carmen ในฐานะอุปรากรลำดับต้นๆ ผลงานของ ฌอร์จส์ บิเซต์ (1838-1875) มากกว่า ทำนองเพลงหลายเพลงของโอเปร่าเรื่องนี้ก็คุ้นหูทีเดียว (เพราะถูกนำไปใช้ประกอบหนังบ้าง โฆษณาบ้าง บางเพลงนั้นถูกนำไปใส่เนื้อเป็นเพลงประจำสถาบันก็มี)

พล็อตเรื่องเดิมนั้นว่าด้วย สาวยิปซีนางหนึ่งนามว่า คาร์เมน ซึ่งสวยงามหยาดเยิ้ม แม้เธอจะเป็นเพียงสาวโรงงานฐานะต่ำต้อย แต่ไม่ว่าชายใดได้เห็นและสบตากับเธอ ก็เป็นต้องตกหลุมกันรักทุกคน และดูเหมือนคาร์เมนก็สนุกสนานกับการบริหารเสน่ห์ของตัวเองด้วย

เรื่องมายุ่งก็ตอนที่คาร์เมนดันไปมีเรื่องกับสาวโรงงานอีกคนหนึ่ง ตามนิสัยเลือดร้อนเอาแต่ใจของเธอเอง และต้องถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อรับโทษผิด แต่เพราะรู้ตัวดีว่าตนเองมีอาวุธที่สามารถทำให้ชายทุกคนมาสยบแทบเท้า คาร์เมนจึงจัดการยั่วยัว ดอน โฮเซ่ นายทหารหนุ่มผู้มาควบคุมตัวเธอจนอีกฝ่ายหลงรัก แล้วยอมปล่อยเธอเป็นอิสระ และหนีไปกับเธอ

แต่แล้วบทสรุปก็ไม่ต่างไปจากนิยายโศกนาฏกรรม คาร์เมนต้องเจอกับปัญหาเพราะความงามและนิสัยใจง่ายของเธอเอง หลังจากชักชวนดอน โฮเซ่ มาเข้าร่วมในซ่องโจรได้แล้ว เธอก็ตีตัวออกห่างเขา และไปซบอกชายอื่น จุดจบของคาร์เมนจึงหนีไม่พ้นความตาย น่าเศร้าเหลือเกินที่ความตายนั้นมาจากน้ำมือของคนที่เธอเคยรักและรักเธอ

ว่ากันว่าในตอนแรกนั้นนิยายเรื่องนี้ของเมริมีไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งคงมาจากการที่ตัวละครเอกเป็นสาวยิปซี –ต่ำต้อยและไม่มีสกุลรุนชาติ อีกทั้งการปลิดชีวิตกันในตอนท้ายเรื่อง (ที่ให้ผู้ชายเป็นฝ่ายลงมือ) ก็สร้างความขุ่นเคืองแก่คนอ่านไม่น้อย

Carmen ประสบกับชะตากรรมคล้ายๆ กันเมื่อ ฌอร์จส์ บิเซต์ นำมาดัดแปลงเป็นละครโอเปรา บิเซต์เป็นนักแต่งเพลงที่ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างจริงจังกับการประพันธ์เพลงซิมโฟนี เขาจึงลองมาเขียนโอเปราดูและ Carmen คืองานชิ้นนั้น ตอนแรกที่เปิดแสดง ไม่มีใครชื่นชอบและสนใจ ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นบิเซต์ก็เสียชีวิต ไม่ทันได้ลิ้มรสความสำเร็จกับผลงานของตัวเอง เพราะทันทีที่ Carmen ถูกนำไปแสดงยังกรุงเวียนนา มันก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม และ Carmen ก็ยังคงเปิดแสดงอยู่จนถึงทุกวันนี้ (ก็นับเป็นเวลากว่า 100 ปีมาแล้ว)

U-Carmen โดยผู้กำกับ มาร์ก ดอร์นฟอร์ด เมย์ คงพล็อตเดิมไว้ แต่เปลี่ยนฉากหลังให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือ ฉากหลังเกิดขึ้นในแอฟริกา และตัวละครในเรื่องเป็นชาวแอฟริกันพื้นเมืองทั้งหมด ไม่มีการปรุงแต่งใดๆ อย่างอื่นเพิ่มเติม มันแทบจะเป็นหนังในแนวทางสมจริง (Realistic) ที่หาความงดงามไม่เจอเลย

แต่สิ่งที่น่ามหัศจรรย์กว่านั้นคือการที่ดอร์นฟอร์ด เมย์ทำให้ U-Carmen เป็นหนังกึ่งโอเปรา เขานำทำนองของบิเซต์มาใส่เนื้อร้องใหม่หมด เป็นภาษาเซาซา - ภาษาที่การออกเสียงแปลกทีเดียวครับ บางคำต้องมีการเดาะลิ้นเต๊าะๆ จนนึกสงสัยว่า ภาษาแบบนี้จะมาทำให้เป็นบทเพลงที่ไพเราะได้อย่างไร

เพลงทั้งหมดที่แปลงมายังคงความหมายเดิมไว้ครบถ้วน หนำซ้ำเรื่องที่ไม่น่าเชื่อก็คือ ภาษาที่ผมบอกว่าจะทำให้มันเสนาะหูน่าฟังได้อย่างไรนั้น แทบไม่เป็นอุปสรรคเลย ตรงข้าม หลายฉากมันตรึงอารมณ์จนไม่มีเวลาใจลอยไปสนใจอย่างอื่น

แต่อุปสรรคใหญ่หรือกระดูกก้อนโตที่อาจจะค้างอยู่ในคอ ระหว่างนั่งดู จนบางคนอาจไม่สามารถพาตัวเองไปกับหนังได้เต็มที่คือ ความไม่โสภาและน่าอภิรมย์เลยของฉากกับตัวแสดง

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า รายละเอียดในส่วนนั้นดูสมจริงมากๆ ตัวละครในหนังเลยเป็นคนพื้นเมืองที่แทบไม่มีความสวยงามอยู่เลย คาร์เมน ในเวอร์ชั่นนี้อาจจะเป็นคาร์เมนที่ไม่สวยที่สุด บางคนอาจถึงขั้นโกรธแค้นว่า แค่คำว่า “ไม่สวย” คงไม่เพียงพอต่อการบรรยายคุณลักษณะของเธอ และอาจต้องใช้คำที่รุนแรงกว่านั้น

พอลีน มอเลฟาเน ผู้รับบทนางเอกของเรื่องนั้นร่างกายมหึมาเท่าควีน ลาติฟาห์ แต่หน้าตาน้องๆ ไมเคิล คลาร์ก ดันแคน ฉากที่เธอวิ่งหนีตำรวจนั้น ทำให้ผมอดนึกถึงชาคิลล์ โอนีลไม่ได้

ผมคิดในตอนแรกว่า สักพักหนังคงทำให้คนดูรู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นคนสวยได้เอง หมายถึง ดูไปเรื่อยๆ เราก็คงจะทำเป็นลืมๆ รูปร่างหน้าตาของเธอไปได้ แต่กระทั่งจบเรื่อง ผมก็ไม่เคยได้รู้สึกอย่างนั้น

เดี๋ยวจะหาว่าใจร้ายกับเธอจนเกินไป พอลีน มอเลฟาเน (เธอเป็นเมียของผู้กำกับนะครับ) ก็มีดีอยู่เหมือนกัน - ไม่น้อยเลยด้วย เธอร้องเพลงในหนังเองทั้งหมด (ไพเราะกินใจเหลือเกินครับ แม้จะฟังไม่เข้าใจก็ตาม) นอกจากนั้นเธอยังเป็นคนเขียนเนื้อเพลงเองด้วย

ส่วนที่น่าชื่นชมอีกอย่างคือ แม้องค์ประกอบหลายๆ ส่วนจะดูกระจอกงอกง่อยก็ตาม แต่มอเลฟาเนก็ถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครออกมาได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉากดราม่าเกือบทุกฉากไม่ได้ออกมาเคอะเขินหรือชวนให้คิดว่านี่เป็นมือสมัครเล่น ดูแล้วตัดสินได้อย่างไม่ซับซ้อนเลยว่า นี่คืองานของมืออาชีพ

โดยเฉพาะในช่วงท้าย ที่ตัวคาร์เมนรับรู้ถึงความผิดพลาดของตัวเอง และยอมจำนนต่อโชคชะตา มอเลฟาเนแสดงให้เห็นว่า ตัวเธอแทบไม่เหลือความหยิ่งผยองแบบตอนต้นเรื่องอีกแล้ว

มาร์ก ดอร์นฟอร์ด เมย์ คงพยายามทดลองอะไรบางอย่างอยู่ อย่างน้อยๆ มันก็ก่อให้เกิดคำถามในใจของคนดูว่า เราตัดสินความงดงามด้วยมาตรฐานอะไร และอีกประการหนึ่งที่สำคัญมาก คือการทดสอบว่า เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง เมื่อถูกนำไปถ่ายทอดในบริบทอีกแบบหนึ่ง คุณค่ารวมถึงอรรถรสของมันจะยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

อย่างที่บอกไปนะครับว่า U-Carmen อาจไม่ถูกใจใครหลายคน เพราะปัญหาเรื่องรูปลักษณ์เป็นสำคัญ แต่มันก็เป็นงานที่น่าทดลอง ไปดูเถอะครับ ถือเสียว่าเหมือนกับการซื้อตั๋วเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์ Ripley’s Believe It or Not! ก็แล้วกัน



กำลังโหลดความคิดเห็น