ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้รับเสียงชื่นชมจากนักดูหนังฝั่งตะวันตกมากทีเดียว ตอนที่หนังการ์ตูนเรื่อง Princess Mononoke (1997) ออกฉายในระดับนานาชาติ ตัวหนังสร้างความประหลาดใจแก่ผู้ชมมหาศาล ไม่มีใครคิดว่าหนังการ์ตูนที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะสร้างออกมาเพื่อความบันเทิง –และเน้นไปที่เด็กๆ- จะเต็มไปด้วยพลัง และพูดถึงประเด็นที่ใหญ่โตได้ถึงเพียงนี้
Princess Mononoke บอกคนดูเรื่องความผูกพันของมนุษย์และธรรมชาติ ด้วยกลวิธีที่ลึกซึ้งคมคาย มิยาซากิสื่อถึงปรัชญาตะวันออกที่ฝรั่งมังค่าคิดไม่ถึงหรือกระทั่งไม่เคยจะคิดไปได้ ทุกคนตื่นเต้นกับการค้นพบนี้ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ฮายาโอะ มิยาซากิ สร้างชื่อให้ตัวเองมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ที่ญี่ปุ่นบ้านเกิดของเขา
เขามาตอกย้ำความสำเร็จนอกบ้านเกิดอีกครั้งหนึ่งกับ Spirited Away (2001) แอนิเมชั่นที่คว้ารางวัลหมีทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินได้ และยังไปไกลถึงขั้นออสการ์ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยม
ผมไม่น่าจะต้องเสียเวลาอธิบายว่า ฮายาโอะ มิยาซากิ และสตูดิโอจิบลิของเขานั้นมีความสำคัญขนาดไหน นักดูหนังที่ได้เคยผ่านสายตากับงานของจิบลิน่าจะทราบได้ด้วยตัวเองว่า เพราะเหตุใด คนญี่ปุ่นถึงยกย่องให้จิบลิเป็นสถาบันอนิเมะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ตอนทำ Spirited Away เสร็จ มิยาซากิ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะวางมือเสียที ผลงานกำกับจำนวน 15 ชิ้นนั้นมากเกินพอแล้ว และด้วยวัย 60 ปี เขาน่าจะเปิดโอกาสให้คนทำงานหน้าใหม่ๆ ขึ้นมาแสดงฝีมือกันบ้าง
แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่ามิยาซากิพูดปด หลังจากนั้นเขาก็มีงานชิ้นใหม่ออกมาชื่อ Howl’s Moving Castle แล้วหลังจากนี้ก็มีข่าวว่า งานชิ้นใหม่อีกชิ้นของเขาก็เดินหน้าไปเกือบเสร็จแล้วด้วย
เทียบกับงานชิ้นก่อนๆ อย่าง Princess Mononoke และ Spirited Away แล้ว Howl’s Moving Castle ตกเป็นรองทุกอย่าง เสียงวิจารณ์ออกมาในระดับกลางๆ คนดูส่วนใหญ่ค่อนข้างผิดหวัง บ้างบอกว่าหนังหย่อนความบันเทิงเกินไป ในขณะที่เนื้อหาสาระ ก็ไม่มีอะไรหลักแหลม ชวนให้ฉุกคิดเท่า
ผมดูแล้ว ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างไรก็ดี Howl’s Moving Castle ก็ไม่ใช่หนังที่เลวจนถึงขั้นดูไม่ได้ ตรงข้าม หนังสร้างความหฤหรรษ์ให้มากพอสมควร เพียงแต่เมื่อคุณได้ดูงานขั้นสุดยอดอย่าง Princess Mononoke และ Spirited Away แล้ว คุณก็ย่อมคาดหวัง “สิ่งที่ดีกว่า” เป็นธรรมดา และ “สิ่งที่ดีพอกัน” ก็จะถูกเขี่ยไปอยู่ในตำแหน่ง “สิ่งที่แย่กว่า” ไปในทันที
ปัญหาสำคัญของ How’s Moving Castle น่าจะอยู่ตรงพล็อตเรื่องที่ขมวดปมไว้ซับซ้อน มิยาซากิดัดแปลงจากนิยายของ ไดอานา วินน์ โจนส์ ที่ไม่ได้มีโครงเรื่องแค่ชั้นเดียว หนังมีพล็อตย่อยที่ดำเนินไปควบคู่กัน อีกทั้งปมของตัวละครแต่ละตัว ก็ถูกปกปิดไว้อย่างแน่นหนา จนคนดูคาดเดาและคลำทางไม่ถูก
นิยายของโจนส์ พูดถึงโลกแห่งเวทมนต์ ที่มีตรรกะบางอย่างยากต่อการทำความเข้าใจ พันธะผูกพันระหว่างตัวละครและคำสาปก็ไม่ได้ถูกอธิบายแบบหมดจด คนดูจึงเหมือนต้องใช้ความพยายามอยู่เหมือนกัน ที่จะต้องตามเรื่องให้ทัน
เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในดินแดนสมมติ มิยาซากิปรุงแต่งโลกในหนังให้คล้ายๆ กับโลกของนิทานกริมม์ แต่ในดินแดนแห่งนี้คุกรุ่นด้วยกองทัพและสงคราม นอกจากนั้นมันยังเป็นโลกที่เวทมนต์ถูกใช้อย่างเสรีอีกด้วย
ตัวละครเอกของเรื่องเป็นเด็กสาวชื่อ โซฟี เธอมีชีวิตธรรมดาๆ ในร้านขายหมวกซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว แต่แล้ววันหนึ่ง โซฟีก็ถูกแม่มดร้ายตนหนึ่งสาปให้กลายเป็นหญิงชรา เธอจำต้องออกจากบ้าน และระหกระเหิน ไปอย่างไร้จุดหมาย กระทั่งได้มาเจอกับปราสาทเดินได้หลังหนึ่ง
ปราสาทรูปร่างประหลาดหลังนี้มีพ่อมดเอาแต่ใจชื่อ เฮาล์ เป็นเจ้าของ และโซฟีก็จำใจอยู่ที่นี่ เพราะปิศาจไฟตนหนึ่งในปราสาท สัญญาไว้ว่า ถ้าหากเธอช่วยให้มันหลุดพ้นจากคำสาปที่เฮาล์ทำเอาไว้ มันก็จะแก้คำสาปให้เธอเป็นการตอบแทน
ในช่วงแรกคนดูแทบไม่ได้รับการปูพื้นใดๆ เกี่ยวกับตัวละครเลย จนเมื่อทุกคนมาอยู่รวมกัน เราจึงสามารถสังเกตเห็นอะไรทีละน้อยๆ โซฟี นั้นเป็นสาวเรียบร้อย ไม่ได้มีชีวิตหรือความคิดที่โลดโผน ครั้งหนึ่งเธอบอกกับเฮาล์ว่า เธอไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนสวยอะไรเลย และนอกจากทำงานบ้านแล้ว เธอก็ไม่มีคุณค่าอะไรอื่น
เฮาล์เองก็เป็นคนที่ปิดงำความลับอะไรอยู่กับตัวเองไม่น้อย เกินกว่าครึ่งคงเป็นความรู้สึกผิดต่ออะไรบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เขาเลยแสร้งทำอารมณ์ดี และร่าเริง ไม่ยอมบอกกับโซฟีตรงๆ ว่า เขาคิดอะไรอยู่
มองในแง่นี้ ตัวละครเอกใน Howl’s Moving Castle มีความซับซ้อนมากทีเดียว แน่นอน เกินกว่าหนังแอนิเมชั่นปกติที่ส่วนใหญ่มักจะเป็น Typed Character ที่มีบุคลิกลักษณะเพียงด้านเดียว
ลงท้ายแล้ว หนังก็ดำเนินสู่บทสรุปไม่ต่างไปจากงานชิ้นก่อนๆ ของมิยาซากิ คือ การต่อสู้มักสิ้นสุดลงพร้อมๆ กับที่ตัวละครได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญยิ่ง
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ตัวละครเอกในหนังของเขาเป็น เด็กผู้หญิง และเด็กผู้หญิงในหนังของมิยาซากิ เป็นเด็กประเภทที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต จากเด็กเป็นเด็กสาว หรือจากเด็กสาวโตเป็นผู้ใหญ่
สิ่งที่อยู่ควบคู่กับเด็กผู้หญิงเสมอๆ คงจะหนีไม่พ้นจินตนาการเพ้อฝัน การได้ผจญภัยในดินแดนลี้ลับ และได้พบกับเจ้าชายรูปงามผู้ต้องคำสาป แล้วเธอก็จะเป็นบุคคลเพียงผู้เดียวที่จะถอนคำสาปนั้น – ถือเป็นฝันยอดฮิตของสาวๆ
ผมเดาเอาว่าผู้หญิงน่าจะชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย เพราะองค์ประกอบของความเป็นเทพนิยายเพ้อฝันมีอยู่เต็มที่ และผู้ใหญ่ก็น่าจะชอบหนังเรื่องนี้มากกว่าเด็ก เพราะบางช่วงบางตอนมันก็เรียกร้องวุฒิภาวะบางอย่างจากคนดูอยู่เหมือนกัน
แต่ที่น่าจะได้ใจคนดูทุกเพศทุกวัย คงจะเป็นการเนรมิตฉากมหัศจรรย์ต่างๆ ให้ออกมาทั้งสวยงาม และแปลกตาไปพร้อมๆ กัน ทีมงานจิบลิยังคงใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปริมาณที่น้อยนะครับ ที่เห็นส่วนใหญ่คือภาพที่วาดจากมือล้วนๆ มันเป็นความเรียบง่าย ธรรมดาและสมบูรณ์ลงตัว
อันนี้ต้องชมว่า เหมือนไม่ได้พยายามทำอะไรเลย แต่ก็ทำเกินฝรั่งไปเยอะทีเดียว