xs
xsm
sm
md
lg

Nice Hat! : เมื่อ “หมวก” ขอเป็นตัวเอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำหรับภาพยนตร์หรือละครทั่วๆ ไปที่เราดูกันอยู่ทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วจะมีตัวเองตามท้องเรื่องเป็น “คน” ที่จะเป็นผู้ที่คอยดำเนินเรื่อง เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของเนื้อหา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ชวนติดตาม หรือน่าเบื่อมากเพียงใด แต่ในปัจจุบันเริ่มมีภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่จะนำสิ่งของที่ตามปกติแล้วจะอยู่นิ่งๆ เฉย และเป็นเพียงแค่ของประกอบฉาก กลับกลายให้มาเป็นตัวเดินเรื่องได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

“หมวก” เป็นเครื่องแต่งกายอย่างหนึ่ง ที่ตามธรรมดาแล้วบรรดาผู้กำกับจะเลือกเป็นตัวช่วยให้พระเอก หรือนางเอก ดูดีขึ้น แต่สำหรับ “เดวิด บริสบิน” นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ชาวแคนาดากลับเลือกให้มาเป็นตัวเอก ในการเล่าประวัติศาสตร์ของกัมพูชาตั้งแต่ยังเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในแถบสุวรรณภูมิ จนมาถึงยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัวภายในเวลาเพียงแค่ 85 นาที

Nice Hat! 5 Enigmas in the Life of Cambodia เป็นการนำเรื่องของหมวก ในแต่ละยุคของคนกัมพูชา มาเล่าเรื่องการดำเนินชีวิตของชาวเขมร ว่ามีความเป็นอยู่ในแต่สมัยอย่างไร และในยุคนั้น หมวกมีความสำคัญกับชีวิตอย่างไร

เปิดเรื่องมาตั้งแต่เรื่องเล่าในกัมพูชาที่พูดถึงความเฉลียวฉลาดของเด็กเลี้ยงควาย กับกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ที่มีความเกี่ยวพันกับหมวก และตามมาด้วยความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาถึงพระพุทธรูปแบบต่างๆ ว่าทำไมแล้วพระพุทธรูปแบบดั้งเดิม ทำไมถึงไม่มีเครื่องสวม อย่างในปัจจุบัน รวมถึงเรื่องที่พระก็จะไม่สวมสิ่งใดไว้บนหัวเช่นกัน

Nice Hat! ยังทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับปราสาทนครวัด 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกได้ดียิ่งขึ้น เกี่ยวกับการอธิบายความแตกต่างของกองทัพจีน และกองทัพกัมพูชา โดยใช้หมวกเป็นคำอธิบายของเรื่องราวต่างๆ ของลวดลายบนกำแพง

สารคดีเรื่องนี้นับได้ว่ามีการผูกเรื่อง และค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงที่ฝรั่งเศสเข้าปกครองกัมพูชา บริสบินได้เล่าถึงความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างผู้ปกครองที่จะสวมหมวกปีกแบบตะวันตก ขณะที่ชาวบ้านตาดำๆ ต้องสวมหมวกที่ทำจากใบลาน

ขณะที่ในยุคเขมรแดง ซึ่งเป็นช่วงที่กัมพูชาอยู่ในช่วงที่ตกต่ำที่สุด มีการกวาดล้างผู้คนออกจากเมืองไปใช้แรงงานในชานเมือง วัฒนธรรมการแต่งตัวทุกอย่างถูกทำลายสิ้น ส่วนหมวกนั้น จะมีให้เห็นแค่เพียง 2 อย่างคือหมวกแบบเขมรแดง หรือประชาชนก็อาจจะใช้หมวกใบลาน เท่านั้น

นอกจากนี้หนังยังพาเราไปเรียนรู้วัฒนธรรมเกี่ยวกับหมวกของเขมรแดง ซึ่งริทธี ปานห์ผู้กับภาพยนตร์ชื่อดังชาวกัมพูชา ได้เล่าว่าหากไปเห็นรูปเขมรแดงใส่หมวกแสดงว่าเป็นการถ่ายรูปทำทะเบียน หรือติดบัตร แต่ถ้าหากรูปใดไม่มีหมวกสวมอยู่ แสดงว่าเป็นไปถ่ายรูปก่อนจะถูกสังหาร

ในยุคที่เขมรตกต่ำที่สุด ประชาชนบางส่วนได้ใช้ผ้ากราม้า ซึ่งเป็นผ้าแถบกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวประมาณเมตรครึ่ง ใช้เป็นอุปกรณ์บังแดดแทนหมวก หรือบางทีเป็นผ้าเช็ดหน้า และใช้นุ่งก็ยังได้ ส่วนในวันพระหรืองานบุญคนเขมรก็จะใช้ผ้านี้ในการคาดคล้ายสไบเพื่อไปร่วมพิธี ทำให้ในปัจจุบันผ้าเหล่านี้ยังมีความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย และกลายมาเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของกัมพูชา

สาเหตุที่ บริสบินนำหมวกมาเป็นตัวเอกของเรื่อง เนื่องจากครั้งหนึ่งที่เขามีโอกาสเดินทางไปยังกัมพูชา และต้องประหลาดใจว่าคนที่นี่สวมหมวกกันมากเหลือเกิน และเมื่อค้นคว้าดูแล้ว หมวกเป็นสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตคนกัมพูชามาช้านาน จึงตัดสินใจนำหมวกให้มาเป็นตัวเดินเรื่อง

ผู้กำกับชาวแคนาดารายนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ไม่ใช่เป็นเพราะคนเอเชียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับหัว ซึ่งในความจริงแล้วคนไทย หรือเพื่อนบ้านของกัมพูชาก็ยังไม่นิยมสวมหมวกเท่าใดนัก แต่แท้ที่จริงแล้วในกัมพูชาไม่ค่อยจะมีที่ร่มให้ผู้คนได้พักพิง อันเป็นผลมาจากในช่วงสงคราม และผู้คนเองก็ยังนิยมใช้จักรยานยนต์ จึงต้องหาอุปกรณ์บางอย่างในการป้องกันแดด

ในเรื่องนี้ยังมีการนำเพลงที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งมาประกอบ ซึ่งเพลงดังกล่าวเป็นการบอกเล่าประวัติในช่วงสงครามของกัมพูชาในรูปแบบฮิปฮอป ที่ฟังแล้ว ช่วยให้จำและเข้าใจเรื่องราวกัมพูชาได้ง่ายขึ้น ฟังๆ ไปแล้วก็คล้ายกับหนังไทยเรื่องหนึ่งที่แสดงโดยอำพล ลำพูน และได้นำเพลงมาประกอบการอธิบายทวีปยุโรปว่า “ยุโรป เหนือก็ติดน้ำ ใต้ก็ติดน้ำ ทิศตะวันออกติดเอเชีย”

สำหรับเพลงประกอบ Nice Hat! นี้ บริสบินเล่าว่าเพื่อชาวกัมพูชา ที่ไปอาศัยอยู่ในลองบีช ของสหรัฐฯ และอยากจะเล่าประวัติของกัมพูชาให้กับคนทั่วโลกได้รับรู้ จึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมา และบริสบินไปได้ยินโดยบังเอิญ ระหว่างกำลังทำหนัง จึงเรื่องนำมาประกอบในเรื่องทันที

ผู้กำกับชาวแคนาดาเล่าว่าเขาต้องการให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้นำเข้าไปฉายในกัมพูชา เพราะคนกัมพูชาเองยังไม่ค่อยเข้าใจประวัติศาสตร์ของตัวเองเท่าใดนัก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากทางรัฐบาลกัมพูชา

ส่วนคนไทยที่พลาดการชมภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ 2006 ก็คงต้องอดใจรออีกซักนิด เพราะบริสบินบอกว่าจะจัดทำเป็นซีดีหรือดีวีดีจำหน่าย และต้องบอกไว้ตรงนี้เลยว่าคอหนังไม่น่าจะพลาดด้วยประการทั้งปวง
กำลังโหลดความคิดเห็น