xs
xsm
sm
md
lg

"โบราณแมน : ติ๊ก ชิโร่" เชย(โคตร)แต่คลาสสิก/พอลเฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การกลับมาออกงานอัลบั้มใหม่ของคนดนตรีที่เคยขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพในยุคเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว เป็นเรื่องที่อยู่ในความสุ่มเสี่ยงเอาการอยู่ เพราะปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อหนุน และบริบททางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากแล้ว

โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างวัยของกลุ่มคนฟังเพลงรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาด้วยดนตรีที่แปรเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง มาตรวัดของความเท่ความทันสมัยของวัฒนธรรมป็อปเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่ยอมหยุด รวมถึงนักร้องนักดนตรีรุ่นใหม่ก็พยายามที่จะใช้การประยุกต์ดัดแปลงเอาอิทธิพลดนตรีในยุคก่อนมาปรับสภาพใหม่ให้ทันสมัยเพื่อเหมาะสมกับยุคของตัวเอง ในแง่ของความเป็นเรโทร (Retro) ด้วย ทำให้พื้นที่ของคนดนตรีรุ่นก่อนจึงถูกบีบลงให้คับแคบไปโดยปริยาย

รวมถึงคนฟังเพลงที่เคยเป็นวัยรุ่นในยุคก่อนได้เติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่หมกมุ่นอยู่กับการทำงานหาเงินผ่อนบ้านผ่อนรถ มีครอบครัวมีลูกเต้าให้รับผิดชอบ จนแทบไม่มีเวลาจะได้เสพความบันเทิงหรือติดตามงานของนักร้องนักดนตรีที่ตัวเองชอบอีกต่อไป หากจะเสพฟังก็เป็นในอารมณ์ที่ถวิลหาความรู้สึกแต่หนหลังเสียมากกว่า หยิบอัลบั้มหรือบทเพลงเก่าๆ ที่เคยชอบและตราตรึงมารำลึกความหลังเสียมากกว่าที่จะเปิดรับให้บทเพลงหรือดนตรีใหม่ๆ เข้ามา

บทเพลงและดนตรีจึงเป็นแฟชั่นที่บ่งชี้ถึงยุคสมัยอย่างแท้จริง

หากย้อนทวนอดีตของ "ติ๊ก ชิโร่" ก็จะพบภาพของคนดนตรีอย่างแท้จริง เรียกว่าฝีมือในการตีกลองของเขานั้น อยู่ในอันดับแถวหน้าของเมืองไทยอย่างแน่นอน แม้ยุคปัจจุบันนี้ก็ตาม

เขาเป็นผลผลิตจากโคราชที่ซึมซาบเอากระแสของการเข้ามาของดนตรีฮาร์ดร็อกตะวันตกในปลายยุคสงครามเวียดนาม แคมป์จีไอ ทหารอเมริกันที่โคราชเป็นแหล่งบ่มเพาะทักษะทางดนตรีและแรงบันดาลใจ การเข้าสู่วงการดนตรีในฐานะมือกลองและถูกยอมรับในฝีมือ

การเป็นมือปืนรับจ้างในห้องบันทึกเสียง และเป็นมือกลองให้กับคอนเสิร์ตปึ๊กกก...! ของเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่อินดอร์ สเตเดี้ยมหัวหมาก ซึ่งกลายเป็นที่กล่าวขานถึงมาตรฐานของฝีมือของทีมดนตรีที่เล่นแสดงสดในคอนเสิร์ตได้เด็ดขาดสุดยอดที่สุดเท่าที่เคยมีมา

การมาร่วมทีมกับวงพลอย ซึ่งเป็นการวมเอาเศษส่วนที่กระจัดระจายของนักดนตรีฝีมือเข้ามาไว้ด้วยกัน ผนวกกับภาพลักษณ์วัยรุ่นของนักร้องนำ "วสุ แสงสิงห์แก้ว" หรือ "จิ๊บ" ทำให้มีชื่อเสียงในระดับสูงในหมู่คนฟังเพลงวัยรุ่น แต่ก็มีอายุการใช้งานสั้นๆ

หลังจากนั้นเขาก็ออกมาบินเดี่ยว ขับเน้นชื่อ ติ๊ก ชิโร่ พ้นจากมือกลอง สู่ภาพหลักใหม่ในฐานะโซโล่อาร์ติสท์หรือศิลปินเดี่ยว ประสบความสำเร็จในตลาดเพลงป็อปไทยอยู่ในระดับสูงทีเดียว ด้วยการทำงานเพลงในสไตล์ป็อปแดนซ์, ป็อปร็อก และป็อปบัลลาด ในแบบที่ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการเขียนเนื้อร้อง และวิธีการ และเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ผลพวงของผลงานที่สร้างทำในอดีต วันเวลาของติ๊ก ชิโร่ หรือศิริศักดิ์ นันทเสนนั้น การันตีถึงตัวตนของเขาได้ชัดแจ่ม การได้รับรางวัลสีสัน อวอร์ดส์ โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม อัลบั้ม 'เต็มเหนี่ยว' ครั้งที่ 5 ปี 2535, ศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม อัลบั้ม 'ยินดีต้อนรับ' ครั้งที่ 6 ปี 2536 แม้จะเงียบหายไปยาวนาน ไปทำงานด้านการแสดงหันไปร้องคัฟเวอร์เพลงลูกทุ่งอยู่ช่วงหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำให้เขาเสียศูนย์ในเชิงชั้นของความเป็นคนดนตรีแต่อย่างใด

ภาพลักษณ์ในสมัยเก่าก่อนยังจำหลักแน่นอยู่ในความทรงจำของคอเพลง

การกลับมาออกอัลบั้มอีกครั้งของ ติ๊ก ชิโร่ จึงเป็นความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ในเชิงการเอาตัวเองแทรกท่ามกลางดนตรีในปัจจุบันได้อย่างไร?

อัลบั้ม ‘โบราณแมน’ ซึ่งเป็นงานชุดใหม่ที่มีด้วยกัน 11 บทเพลง แม้ไม่สามารถสร้างความตะลึงงันและสั่นไหวเป็นระลอกคลื่นที่กว้างขวางได้ แต่ก็เป็นของดีที่มีอยู่ในวงการเพลงไทยในช่วงนี้

โบราณ มีความหมายว่า มีในกาลก่อน, เป็นของเก่า ชื่องานอัลบั้มนี้ก็เป็นการวางตำแหน่งของตัวเองไว้อย่างถูกต้องที่สุด ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของติ๊ก ชิโร่ นั้นมีความมั่นคงชัดเจนในแนวทางดนตรีที่เขาถนัด โดยได้รับอิทธิพลจากดนตรีป็อปแดนซ์, อิเล็กทรอนิกส์-ป็อป และป็อปร็อก ในยุคทศวรรษที่ 80 ของตะวันตกมาอย่างเต็มที่

‘โบราณแมน’ ก็ยังยึดถือแนวทางดั้งเดิมของตัวเองไว้อย่างครบถ้วน ไม้ตายที่ดึงออกมาใช้ได้ชะงัดก็คือบทเพลงป็อปบัลลาดฟูมฟายหวานเศร้าของเขา ในงานชุดนี้ก็มีบทเพลง ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’, ‘รักไม่สาย’ และหมื่นคำหวาน’ ที่ยังคงบุคลิกความอกหักในแบบติ๊ก ชิโร่ที่ไม่เหมือนใครเอาไว้

ส่วนบทเพลงอื่นๆ ก็วางไว้ในทางถนัดรูปแบบของบทป็อปแดนซ์ กับอิเล็กทรอนิกส์ป็อปไว้อย่างลงตัว มีเพียงเพลง ‘ก้ม’ ที่ปรับประยุกต์เอากรูฟของเสียงรุ่นใหม่แบบฮิป-ฮอปมาใช้ได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

‘โบราณแมน’ ซึ่งเป็นบทเพลงที่ใช้มาเป็นชื่ออัลบั้มด้วย ทริคหรือกลเม็ดการเชิญนักร้องอย่าง ตู้-ดิเรก อมาตยกุล, เอดเวิร์ด เวนโซ่, ออดี้, แอนดี้ ดราก้อนไฟว์ ก็ถือว่าเป็นการผสมผสานที่เข้าท่า โดยเฉพาะการได้เสียงของนักร้องสาว ฉัตราลักษณ์ ช่วงโชติ มาร่วมร้องและประสานเสียง ทำให้มิติของการร้องและดนตรีในเพลงนี้หนักแน่นมีน้ำหนักที่แปลกหู โดดเด่นด้วยซาวด์แบบป็อปแดนซ์ของยุคทศวรรษที่ 80 เป็นอย่างมาก

เพลงอื่นๆ ก็อยู่ในข่ายนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า รายละเอียดทางดนตรีของติ๊ก ชิโร่นั้น ค่อนข้างที่จะคิดมากและมีการเสริมเพิ่มเสียงต่างๆ เข้ามาสร้างสีสันได้อย่างจัดจ้าน ทำให้ฟังสนุกและไม่เฝือหู

ลักษณะเฉพาะในเสียงร้อง และการร้องเพลงของเขานั้น หาตัวจับวางยากในการที่จะหาใครมาเลียนแบบได้ โดยธรรมชาติติ๊ก ชิโร่ ไม่ใช่คนที่มีเสียงร้องที่ดึงดูดคนฟังแบบนักร้องในสายป็อปทั่วไป แต่เขาสามารถหาจุดเด่นจากเสียงแหลมสูง ลากให้เสียงสั่นกระเส่าขึ้นนาสิก ในเพลงเร็วก็มีการกรีดเสียงสร้างความมันและคึกคักให้กับอารมณ์เพลง ส่วนเพลงช้าแนวบัลลาดก็ครวญครางลากหลบเสียงให้เศร้าร้าวไปข้างในได้แบบไม่เหมือนใคร

เสน่ห์ที่ไม่สร่างซา และไม่มีใครกล้าเลียนแบบก็คือ การเขียนเพลงในแบบติ๊ก ชิโร่ ที่มีเนื้อหาของเพลงไม่อวดภูมิของการใช้ภาษาและคำที่คมคายมากนัก แต่ใช้จริตแบบตรงๆ ในความเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนของคำพ้องที่สื่อถึงสัญลักษณ์มาผูกโยงกับเรื่องราวความรัก ซึ่งฟังแล้วก็อดขำไม่ได้ แต่เป็นการอมยิ้มแบบคิดได้ไง...กล้าใช้ด้วยเหรอ อาทิ เพลง ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ แค่เนื้อร้องตอนขึ้นต้นก็โดนแล้ว

“ฟ้ายังมีหม่น ฝนยังมีวันแล้ง สลากยังมีกินแบ่ง แต่หากจะแบ่งใจนี้ไม่มีทาง

น้ำมันยังมีหมด รถยังมีวันล้าง แต่หากจะให้ล้างใจ หมดจนลืมเธอไปไม่มีทาง....”


ค่อนข้างจะเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีใครกล้าคิดมาเขียนอย่าง ติ๊ก ชิโร่ อย่างเป็นแน่แท้ หลายๆ เพลงจะใช้ทางคำที่เปรียบเทียบแบบง่ายๆ อย่างนี้

ต้องบอกว่า งานเพลงและดนตรีของติ๊ก ชิโร่นั้น ‘เชยบรมโคตร’ แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกลับมานั้นก็คือ เป็นความเท่และเก๋แบบแปลกๆ สามารถใช้ศัพท์แสงของคนในยุคนี้ว่า ‘บ้านบ้าน’ ได้เต็มปากเต็มคำ ความดูดีในภาพลักษณ์และบทเพลงของเขาก็คือ แนวทางดนตรี ความซื่อสัตย์กับวิธีคิดและความรู้สึกของตัวเองในการทำงานเพลงออกมา โดยไม่เสแสร้ง ทำให้มวลรวมของบทเพลงออกมาดูดี และฟังสนุกอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้จะมีอัตลักษณ์ของเพลงที่มีความเป็นส่วนตัวอยู่สูง คุณภาพของงานเพลงและดนตรีอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ก็คิดว่าน่าจะเหนื่อยหนักในการที่จะเข้าไปครองครอบอยู่ในหัวใจคนฟังรุ่นใหม่ ส่วนแฟนเก่าแฟนแก่ที่ติดตามงานของติ๊ก ชิโร่ กันมาคงยิ้มออก และชอบงานอัลบั้ม ‘โบราณแมน’ กันแน่นอน

..........
Music Guide
The Days of Pry Anthology / ปฐมพร ปฐมพร

งานรวมเพลงในยุคหลังสุดของคนนอกแห่งวงการเพลงไทย สัญชาตญาณดิบของการสร้างสรรค์บทเพลงที่สะท้อนห้วงลึกภายในผ่านดนตรีร็อกอันยาวนานของเขา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาคือ ของแท้ ไม่ประนีประนอมกับตลาดเพลง นำเสนอความรู้สึกนึกคิดที่จริงแท้ของความคิดผ่านศิลปะดนตรีออกมา เป็นการคัดสรรบทเพลงทั้ง 11 เพลงที่ไม่ดิบกร้าวมากนัก เปี่ยมไปด้วยความละเมียดละมุนที่แฝงเร้นอยู่อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะบทเพลง ‘ก่อน’ อันโด่งดังของโมเดิร์น ด็อก ที่เขาเป็นคนเขียนและนำมาร้องเองอีกในสไตล์ของตัวเอง

..........
Psychedelic Jazz & Funky Grooves / รวมศิลปิน
ชื่ออัลบั้มก็บ่งบอกอยู่ทนโท่ว่าเป็นแนวเพลงและดนตรีแบบไหน งานดนตรีในแบบผิวสีที่มีการโชว์ฝีมือและทักษะทางดนตรีที่อยู่ในระดับที่สูงของค่ายชีสนั้น ได้รับความเชื่อถือและยอมรับมายาวนาน การคัดสรรบทเพลงมาถึง 17 เพลง เพื่อให้เห็นกลุ่มก้อนของดนตรีไซเคเดลิค แจ๊ซ และฟังค์กี้ จากปี 1968-1975 จากหลากศิลปิน น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งในการเสพอรรถรสดนตรีที่แปลกออกไป ซึ่งเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงและลีลาของดนตรีที่แพรวพราว

..........
Wildflower / Sheryl Crow
หญิงสาวนักร้อง / นักเขียนเพลง ชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จสูงอย่างมากคนหนึ่งของวงการเพลง วัดได้จากการกวาดรางวัลแกรมมี่ในหลายๆ ปีที่ผ่านมาจากอัลบั้มต่างๆ ของเธอ แม้ล่าสุดจะมีข่าวรักขมกับแลนซ์ อาร์มสตรอง ราชานักถีบจักรยานของตูร์ เดอ ฟรองซ์ 7 สมัยก็ตาม งานชุดนี้ออกมาก่อนรักขม อารมณ์เพลงในแบบอเมริกันป็อปร็อก ที่ไม่ร้อนแรง มีความผ่อนคลายเอิบอิ่มของการรำพึงรำพันของคนที่มองโลกด้วยสายตาเปี่ยมสุข

..........
Flo'Ology / Floetry
อัลบั้มชุดที่ 2 ของดูโอสาวผิวสีที่มาในสไตล์นีโอ-โซล เสียงร้องของทั้งคู่อบอุ่นไพเราะ ดนตรีดูดีด้วยส่วนผสมของฟังกี้, ฮิพ-ฮอพ และเออร์บัน ในสัดส่วนที่เหมาะสม มีอารมณ์ที่เปล่งขับของความเป็นริธึ่มแอนด์บลูส์ลงตัว 11 บทเพลงที่เรียงร้อยไปอย่างเรียบเรื่อย มีกระตุกจังหวะและอารมณ์เป็นห้วงๆ คนชอบอารมณ์เพลงทันสมัยของดนตรีแอฟริกัน-อเมริกันแบบคนเมืองคงชื่นชอบ
..........
paulheng2006@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น