ข่าวงานสร้าง Memoirs of a Geisha ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องตลอด 3 - 4 ปีมานี้ สตีเวน สปีลเบิร์กให้ข่าวในตอนแรกว่าจะลงมากำกับเสียเอง พร้อมๆ กับดาราดังในฝั่งเอเชียหลายคนเริ่มตบเท้าเข้าออดิชั่นกันเป็นระยะๆ
ฝรั่งต่างชาติคงตื่นเต้นไม่น้อยในการนำ Memoirs of a Geisha มาทำเป็นหนัง นิยายของอาร์เธอร์ โกลเดน เรื่องนี้ติดอันดับนิยายขายดีอยู่หลายเดือนทีเดียว คอลัมน์รีวิวหนังสือในสื่อต่างๆ ประโคมกันว่า นี่เป็นนิยายร่วมสมัยที่ลุ่มลึกและยอดเยี่ยมมากเรื่องหนึ่ง
ผมอ่านนิยายไปได้ครึ่งเรื่องก็เกือบจะเชื่ออย่างนั้น แต่พอได้อ่านจบจริงๆ ก็รู้สึกว่า ออกจะเป็นการยกยอที่เกินไปสักหน่อย
จริงอยู่ที่ว่าหนังสือโดดเด่นมากทีเดียวในการร้อยเรียงรายละเอียดที่ไม่มีใครเคยรับรู้เกี่ยวกับ “เกอิชา” ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างสละสลวย อีกทั้งลักษณะการเล่าเรื่องด้วยการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 - ซึ่งส่งผลให้นิยายสามารถอธิบายความรู้สึกของตัวละครเอกได้หมดเปลือก - ก็ทำได้งดงามกินใจ แต่ปัญหาของงานเขียนชิ้นนี้อยู่ที่พล็อตมันค่อนข้างหวือหวา โลดโผน ตัวละครบางตัวก็แบน ขาดมิติ เหตุการณ์หลายช่วงหลายตอนเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญและอยู่นอกเหนือความเป็นไปได้บ่อยจนเกินไป ผมรู้สึกว่าอาร์เธอร์ โกลเดนใช้แรงส่วนเกินเยอะไปสักนิดในการผลักเรื่องให้เดินไปข้างหน้า
แม้ไม่ค่อยอยากจะนำไปเปรียบเทียบ แต่ผมก็อดนึกถึงนิยายเรื่อง เมืองหิมะ (Snow Country) ของ ยาสึนาริ คาวาบาตะ ขึ้นมาไม่ได้ เรื่องหลังนี้ไม่มีพล็อตที่ชัดเจนอะไร ตัวละครเกอิชาในเรื่องก็ไม่ได้มีบทบาทที่หนักแน่นมากมายนัก แต่กลับให้ผลในทางตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง
ก็คงเป็นเหมือนกับที่โกลเดนให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเองอยู่ครั้งหนึ่งว่า คนต่างชาติมักตื่นเต้นกับเกอิชา เพราะเข้าใจว่าเธอเป็นโสเภณี ซึ่งหญิงขายบริการชาวเอเชียและบ่อน้ำร้อน ก็ดูจะเป็น “แฟนซี” ของฝรั่งผมทองมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว - โกลเดนก็อาจคาดไม่ถึงว่าหนังสือของตัวเองก็เกือบจะอยู่ในข่าย Private-Sex-Fancy ของเขาเองอยู่เหมือนกัน
เนื้อเรื่องของ Memoirs of a Geisha เล่าเรื่องราวของเด็กหญิงคนนึ่งนามว่า ชิโยะ เธอเกิดที่โยโรอิโดะ หมู่บ้านชาวประมงที่แร้นแค้น แล้วก็ถูกพ่อขายไปอยู่กับสำนักเกอิชาตั้งแต่ยังเด็ก แรกทีเดียวสาวน้อยของเราไม่ใคร่จะเต็มใจนัก เพราะการอยู่ในบ้านหลังใหม่เธอต้องต่อสู้กับอะไรมากมาย แต่ไม่นานนัก ชิโยะก็กลายมาเป็นเกอิชาที่โด่งดังที่สุดในย่านกิออน
โครงเรื่องคร่าวๆ ที่อาร์เธอร์ โกลเดนวางไว้เป็น “สูตรซินเดอเรลลา” อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ด้วยฝีมือทางวรรณศิลป์ของเขา ก็ทำให้พล็อตซึ่งได้ชื่อว่าโบราณและเก่าแก่ที่สุด ดูน่าสนใจขึ้นมา
ฉบับภาพยนตร์ที่จะเข้าฉายบ้านเราในสุดสัปดาห์นี้กำกับโดย ร็อบ มาร์แชลล์ (Chicago) ไม่ใช่สปีลเบิร์กอย่างที่หลายคนหวังไว้ตอนแรก ผมยอบรับว่าเข้าไปดูด้วยใจเป็นกลางมากที่สุด ไม่ตั้งเป้าหมายไว้สูงส่งหรือไม่ได้ปรามาสไว้ล่วงหน้า และหลังจากดูหนังจบ ผมก็ชอบหนังเรื่องนี้ในระดับกลางๆ กล่าวคือ มันมีส่วนที่ดีอยู่ และก็มีความไม่เอาไหนปนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
หนังเดินเรื่องเร็วไปสักหน่อย คล้ายกับว่าตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรื่อง เพราะเกรงว่าเวลาจะหมดเสียก่อน จนเกือบจะกลายเป็นฮาวทูเกี่ยวกับเกอิชาอยู่รอมร่อ เหตุการณ์สำคัญๆ ใหญ่ๆ เท่านั้นที่ถูกยกมาไว้ในหนัง และเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันพอเป็นพิธี น่าเสียดายที่รายละเอียดยิบๆ ย่อยๆ ที่มีในหนังสือขาดหายไปเกือบหมด
บทภาพยนตร์โดย โรบิน สวิคอร์ด เป็นแบบนี้อยู่หลายตอนด้วยกัน หลายซีเควนซ์ในเรื่องจึงมีแต่แอ็กชั่นหนักๆ ไม่มีช่วงของการทอดเวลา เพื่อปล่อยอารมณ์หรือเว้นช่วงให้คนดูได้ซึมซับความรู้สึกของตัวละครอย่างเต็มที่
การละรายละเอียดยังส่งผลถึงภาพรวมทางความเชื่อและทัศนคติของคนญี่ปุ่นให้บิดเบือนไปไม่น้อยด้วย ยกตัวอย่างตอนที่ชิโยะหนีออกมาจากโอกิยะ เพื่อไปหาพี่สาวแท้ๆ ของตนเองซึ่งถูกขายให้กับซ่องโทรมๆ แห่งหนึ่ง
เด็กสาวชักชวนพี่ให้หนีไปด้วยกันเดี๋ยวนี้ และอีกฝ่ายก็เห็นด้วย แต่ขอนัดวันหนีเป็นวันรุ่งขึ้น ชิโยะ (รวมถึงคนดู) ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องเป็นวันรุ่งขึ้น รู้ทั้งรู้ว่า เธอคงจะไม่มีโอกาสหนีออกมาจากโอกิยะได้อีกแล้ว
ในหนังสือบอกไว้ชัดเจนว่า ที่ซัทสึบอกน้องสาวให้มาวันพรุ่ง เนื่องจากเธอตรวจปฏิทินดวงชะตาแล้วพบว่ามันเป็นวันที่เธอมีโชคในการเดินทาง แต่ก็ไม่ได้ดูเผื่อน้องสาวตัวเองด้วยว่า มันเป็นโอกาสที่เหมาะหรือไม่
ชีวิตของชิโยะอีกหลายตอนที่ต้องพึ่งพาปฏิทินดวงชะตา รวมถึงการจะเริ่มต้นทำอะไรอีกนับไม่ถ้วน ที่อาศัยโชคลางเป็นตัวกำหนด อันดูเป็นแนวคิดที่ไม่สมเหตุสมผลนักในสายตาคนตะวันตก แต่มันก็เป็นความเชื่อแบบท้องถิ่นที่คนนอกไม่มีวันเข้าใจ
ทั้งหมดนั้นยังเกี่ยวโยงถึงความเชื่อมั่นแบบโง่ๆ ของนางเอกด้วย ที่เธอเฝ้าฝันว่าการภาวนาถึงรักแรก จะทำให้เธอสมหวังในที่สุด หนังไม่ได้ให้น้ำหนักในส่วนนี้เท่าที่ควรจะเป็น จุดคลี่คลายของอุปสรรครักระหว่างชิโยะและท่านประธาน (พระเอกของเรื่อง) จึงดูหลักลอย ห้วน - ไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย
และด้วยความที่เรื่องมันกระชับสั้นไปเสียหมดนี่เอง จึงไม่มีช่วงใดในหนังเลยที่สามารถดึงคนดูให้มีอารมณ์ร่วมด้วยอย่างจริงๆ จังๆ
จางจืออี ได้โอกาสดีที่สุดหนหนึ่งในชีวิตการแสดงของเธอ แต่ด้วยเหตุที่ความรู้สึกนึกคิดสำคัญๆ ส่วนใหญ่ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงบรรยาย (ที่ชิโยะในวัยชราเป็นคนเล่าเรื่อง) เสียเกือบหมดแล้ว จางจึงไม่มีช่องว่างเหลือให้กับการแสดงออกในทางลึกเท่าใดนัก ดูเหมือนงานหนักของเธอไปอยู่ที่การออกท่าทางร่ายรำเสียมากกว่า
คนที่โดดเด่นคงเดากันได้ว่าเป็น กงลี่ ในบท ฮัตสึโมโมะ เกอิชาคู่ปรับของนางเอก เดิมตัวละครตัวนี้ ในหนังสือนั้นร้ายกาจกว่าในหนังมากนัก หนำซ้ำโกลเดนก็ไม่ได้ให้ปูมหลังอะไรที่ชัดเจนกับเธอสักเท่าไหร่ เรารู้ว่าฮัตสึโมโมะเป็นคนขี้อิจฉา และยอมไม่ได้ถ้าหากใครจะมาเด่นกว่า แม้คนๆ นั้นจะเป็นน้องสาวของตัวเอง
กงลี่ทำให้ตัวละครตัวนี้เริ่มมีมิติขึ้นมาบ้าง เธอมีความรัก แต่ด้วยหน้าที่การงานก็ไม่สามารถสมหวังในรักได้ เธออยากเป็นที่หนึ่ง แต่โชคชะตาก็กลั่นแกล้งให้เธอมีอุปสรรค สายตาที่กงลี่สื่ออกมา มีความเจ็บปวดรวดร้าวแฝงอยู่ในนั้นตลอดเวลา ฉากสุดท้ายที่คนดูได้เห็นเธอ คือตอนที่เธอเผาโอกิยะให้มอดไหม้เป็นจุณ เธอหันมามองชิโยะครั้งสุดท้ายราวกับเป็นผู้ชนะ แต่ในดวงตานั้นกลับแหลกลาญหมดรูปด้วยความพ่ายแพ้
ผมไม่รู้ว่าจะมีคนสนุกกับหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน เพราะโดยส่วนตัวของผม ส่วนที่ดีที่สุดในนิยายแทบไม่หลงเหลืออยู่เลยในฉบับภาพยนตร์ เครดิตของร็อบ มาร์แชลล์ที่เคยทำไว้ใน Chicago คงต้องไปกอบกู้คืนจากงานชิ้นต่อไป
ถึงอย่างนั้นคนที่ตั้งใจไปดูการแสดงดีๆ ก็น่าจะเพลิดเพลินไปกับหนังได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงดนตรีประกอบในหนังโดย จอห์น วิลเลียมส์นั้นก็ยอดเยี่ยมทีเดียว
ปกติผมไม่ชอบงานที่ดูอนุรักษ์นิยมแบบวิลเลียมส์นัก แต่ก็รู้สึกว่าเขาทำได้ดีทุกครั้ง เมื่อได้โจทย์ที่แตกต่างออกไปจากแนวทางเดิมๆ - และ Memoirs of a Geisha ก็เป็นงานที่ดีมากของเขา