xs
xsm
sm
md
lg

‘Have A Nice Day’ เมื่อ Bon Jovi ยกธงรบ (1)/พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีเรื่องราวมากมายบนเส้นทางดนตรีสายร็อก โดยเฉพาะในห้วงทศวรรษที่ 80 เป็นความทรงจำของจิ๊กโก๋ขาร็อกที่มีมาดหล่อ ผมยาวสวยนุ่มสยาย เสื้อหนัง กางเกงยีนส์หรือหนังทรงเดฟรัดรูปโชว์ส่วนสัด สวมรองเท้าบูต พร้อมเครื่องประดับ สร้อยคอ กำไล แหวน แต่พองาม

งานเพลงที่เน้นหนักไปที่เพาเวอร์ บัดลาด (Power Ballad) กรีดเสียดแทงใจให้อ่อนระทวยในความเข้มแข็งมีความไพเราะอันแสนหวาน สามารเกาะกุมจิตใจของเหล่าพลพรรคพันธุ์ร็อกหนุ่มเหี้ยมสาวห้าวได้ถนัดใจ

แนวดนตรีป็อปเมทัล และแฮร์เมทัล ที่เชื่อมต่อกับนิวเวฟ ออฟ บริติช เฮฟวีเมทัล เป็นดนตรีที่ขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ความคลั่งไคล้ที่ผลักดันให้งานเพลงของวงดนตรีสายพันธุ์นี้เข้าสู่กระแสหลักในหมู่คนคนฟังเพลงในวงกว้าง

ยิ่งชักนานดนตรีเหล่านี้ก็กลายเป็นแฟชั่นที่เหิมเห่อ เข้าสู่วงวัฏของความเสื่อม และแตกดับ อันเป็นสัจธรรมที่ไม่มีใครหลีกพ้น

เศษซากของความทรงจำที่เหลืออยู่ก็ยังสถิตแน่นอยู่ในใจของวัยรุ่นที่เติบโตขึ้นมาในยุคนั้น เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านเลย ดนตรีป็อปเมทัลก็ยังเดินทางอย่างเงียบๆ ของมันเอง

บอง โจวี (Bon Jovi) วงดนตรีจากนิวเจอร์ซี เป็นวงอเมริกัน ป็อปเมทัล ที่อยู่ยงคงกระพันมากที่สุด ผ่านวันเวลาที่ไม่หนักหนาสาหักสากรรจ์เท่าไหร่นัก เพราะพวกเขาสามารถรักษาระดับของฐานแฟนเพลงไม่ไหววูบหายไปอย่างทันตาเห็น แม้จะมีการแตกตัวแยกย้ายกันไปทำงานเดี่ยวของตัวเอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสมาชิกในวงก็น้อยมาก ไม่ได้สร้างความเสื่อมในลักษณะขาลงได้มากนัก

ปัจจุบัน สมาชิกของวงบอง โจวี ประกอบด้วย นักร้องนำ จอน บอง โจวี (Jon Bon Jovi), คีย์บอร์ด เดวิด ไบรอัน (David Bryan), กีตาร์ ริชี แซมโบร่า (Richie Sambora), กลองและเพอร์คัสชัน ทิโก ทอร์เรส (Tico Torres) และฮิว แมคโดนัลด์ (Hugh Mcdonald) ซึ่งหน้าตาทั้งหมดก็บ่งบอกวันวัยที่ผ่านมาอยู่พอสมควร แม้จะมีการปรับภาพลักษณ์ด้วยผมเผ้าที่สั้นขึ้นก็ตาม

อัลบั้มชุดใหม่ล่าสุดของบอง โจวี เป็นรูปเขียนเส้นง่ายๆ เพียง 6 เส้น เป็นรูปสัญลักษณ์เด็กกำลังยิ้มบนพื้นสีแสด ซึ่งคงวางเพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออัลบั้มที่ใช้ว่า ‘Have A Nice Day’

การได้ยินท่วงทำนองผ่านหูของบทเพลงเปิดอัลบั้ม ‘Have A Nice Day’ ก็คิดปรามาสอยู่ในใจว่า บอง โจวี คงไม่ไปไหนกันอีกแล้ว ได้แต่เล่นดนตรีในสไตล์ขโยกของเพาเวอร์ คอร์ดที่หนักหน่วง มีท่อนแยกท่อนฮุกหมุนวนเพื่อให้ติดหู ไม่มีความแตกต่างกับเพลงฮิตในอัลบั้มอื่นๆ จังหวะจะโคนแบบคุ้นชินเดิมที่เป็นพิมพ์นิยมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

แต่ความคิดดังกล่าวต้องกลับพลิกผันทันที...

เมื่อฟังเพลงหมดทั้งอัลบั้ม 12 บทเพลง รวมกับเพลงแถมหรือโบนัส แทร็กอีก 1 เพลง ก็พลันบรรลุถึงอารมณ์ถวิลหาเมื่อครั้งบอง โจวี รุ่งเรืองสูงสุด เพราะพวกเขามีลีลาในการเขียนเพลง และทำดนตรีในแบบป็อปเมทัล และเพาเวอร์ บัลลาด ได้เยี่ยมยอด รวมถึงวิธีคิดในการเขียนเพลงแบบของวงแฮร์เมทัลได้สะท้อนออกมาอย่างเต็มที่

เสน่ห์ของเพลงในแบบแฮร์เมทัล ที่ผูกโยงคาบเกี่ยวอยู่กับป็อปเมทัลนั้น มีลักษณะของการยืนหยัดอยู่กับอุดมคติที่งดงามอยู่ไม่น้อย ทั้งเชิงความรักและชีวิต มีความคมคายที่ไม่ลึกซึ้งนัก แต่ทำให้คนรับสารถูกแทรกซึมโดยทันที นี่คือการเขียนเพลงเพื่อคนฟังในวงกว้างอย่างแท้จริง

จุดยืนที่สำคัญซึ่งแสดงออกมาชัดเจนของวงดนตรีบอง โจวี ก็คือบทเพลง ‘Last man Standing’ ถือเป็นการปะทะของคนดนตรีในความเป็นจริงที่ร่วมสมัยอยู่ในปัจจุบัน กับดนตรีป็อปเมทัลของพวกเขาที่บ่งชี้ถึงความจริงจังในฝีมือดนตรี ลงไปถึงจิตวิญญาณ ซึ่งแน่นอนวงบอง โจวีก็ต้องคิดเอาเอง ในฐานะของปรัชญาของชาวร็อก ที่ว่า ‘ร็อก เนเวอร์ ดาย’

ในทางของคนดนตรีและคนฟังเพลงรุ่นใหม่ ก็คงรับไม่ได้สำหรับการมาชำแรกแทรกเข้ามาตีค่าพวกเขาอย่างนั้น ดังในท่อนเนื้อร้องที่เขียนว่า

‘So keep your pseudo-punk, hip-hop, pop-rock junk
And Your digital downloads (เก็บพังค์เก๊ที่เสแสร้ง, ฮิป-ฮอป,ป็อปร็อกขยะ และดิจิตอล ดาวน์โหลดเอาไว้)

Here’s the last man standing (นี่คือคนสุดท้ายที่ยังคงอยู่)
Step right up, here’s the real thing (ก้าวไปในสิ่งที่ถูกต้อง นี่คือสิ่งที่จริงแท้)

The last chance of a lifetime (โอกาสสุดท้ายในชั่วชีวิต)

Come and see, hear, feel… the real thing’ (เข้ามาดู ฟัง ร่วมรู้สึก...ถึงสิ่งที่จริงแท้)

หากบอกว่า บอง โจวี กำลังชักธงรบเปิดศึกผ่านเพลงนี้ โดยพยายามบอกกับวงการเพลงว่า ของแท้นั้นอยู่ตรงไหน ไม่ใช่พวกที่โผล่สลอนหน้าดาษดื่นอยู่ในวงการดนตรีอยู่ในขณะนี้ ก็คงไม่ผิดหรือเกินความจริงไปนัก

เข้มข้นมากสำหรับการเข้ามาปะทะโดยวางท่วงท่าของวงดนตรีที่เล่นกันแบบจริงจัง ใช้มันสมอง ทักษะฝีมือในการทำงานดนตรี และทำเพลงกันออกมาด้วยตัวเอง และประกาศว่า ดนตรีที่จริงแท้ก็คือ พวกเขาเองที่ยังยืนอยู่ในวงการนี้

จากบทเพลงนี้ก็แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของยุคสมัยที่แปรผันเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า แรงเสียดทานของแฟชั่นดนตรีในแต่ละยุค วงบอง โจวี สามารถฝ่าก้าวข้ามมาได้อย่างสวยงามพอสมควร ไม่ว่าในยุคกรันจ์ และซีแอตเติล ซาวนด์ครองเมือง ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟโผล่มาเป็นดอกเห็ด แต่วงดนตรีเหล่านั้นต่างก็มาแล้วก็หายไป แต่วงบอง โจวี ก็ยังอยู่ รวมถึงมีการสร้างงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ในยุคนี้ที่ดนตรีฮิป-ฮอป และเออร์บัน แบล็ก มิวสิก (Urban Black Music) ครองอันดับเพลงฮิตอยู่ในชาร์ตเพลง บอง โจวี ก็ยังคงอยู่ ไม่ยอมโรยราลงไปทั้งในตลาดเพลงอเมริกา และตลาดเพลงโลก ยังคงความเป็นเต้ยในอารีนา ร็อก ที่ตรึงคนดูในสเตเดียมหรือสนามกีฬาใหญ่ๆ ไว้ไม่เสื่อมคลาย แม้แต่อันดับในชาร์ตเพลงพวกเขาก็ทำอันดับได้อย่างไม่อายศิลปินในยุคนี้

หากจะบอกว่า วงบอง โจวี ก็คืออัตตาอันคับพองของ จอน บอง โจวี ก็คงไม่ผิด วิธีคิดของเขาในงานเพลงทั้งหมดในอัลบั้มชุด ‘Have A Nice Day’ ก็เปรียบเสมือนการย้อนกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่ของดนตรีในรูปแบบตัวเองในทศวรรษที่ 80 รวมถึงแสดงความเป็นขาใหญ่ที่สามารถชี้นำ และบอกเล่าถึงวิธีคิด มุมมองของคนที่เติบโตในยุคนั้นให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

ความเป็นป็อปเมทัลพิมพ์นิยมที่เกริกก้องบันลือไกล มีหลายเรื่องที่จะขยายความได้ในหลายบทเพลง ถึงวิธีการเขียนเพลง และดนตรีที่มีรูปแบบเฉพาะตัว แม้บางครั้งจะฟังเฝือหูไปบ้าง แต่พลังของการสร้างสรรค์ของพวกเขายังแน่นแฟ้น และมีอะไรให้น่าค้นหาไม่มากก็น้อยในแต่ละอัลบั้ม

‘Have A nice Day’ เป็นอัลบั้มเพลงร็อกที่ดีชุดหนึ่ง เพราะอะไรคงต้องมาว่ากัน
..................
paulheng_2000@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น