xs
xsm
sm
md
lg

‘Rolling’ การกลิ้งหมุนที่มีอัตราฝืดของ 4 gotten/พอล เฮง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยต่อของกาลเวลามักจะมีตะเข็บ รวมถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่แนบสนิทซ้อนอยู่เสมอ การเดินทางของกลุ่มคนทางดนตรีจากสถานะหนึ่งหรือจากที่หนึ่งย่อมจะหาจุดที่กลมกลืนกันก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

การหลุดจากร่มเงาของการวางรูปแบบต่างๆ ในการทำงานเพลงที่เคยยอมจำนน มาสู่ความเป็นตัวของตัวเอง บางครั้งก็เป็นหนทางที่ลำบากยากเย็น แม้จะมีฝีมือหรือทักษะทางดนตรีที่เพียบพร้อมเพียงใดก็ตาม

โฟร์กอตเทน (4 gotten) ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน คือ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล (ร้องนำ), ชวิน จิตรสมบูรณ์ (กีตาร์-ร้องนำ), รุ่งโรจน์ ผลหว้า (เบส) และเทรุ มุรายาม่า (กลอง)

ถ้าจะเรียกพวกเขาทั้งหมดที่มารวมตัวกันว่า เป็นวงดนตรีร็อคซูเปอร์กรุ๊ปรุ่นใหม่ของเมืองไทย ก็น่าจะหยวนๆ กันไปได้

เพราะแค่ ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ยอมที่จะหลุดซีนจากศิลปินเดี่ยว ละลายตัวเองเป็นหนึ่งในสมาชิกของวง ก็ถือว่า เป็นความกล้า ฉายภาพให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานดนตรีในแนวทางที่ตัวเองเชื่อ และต้องการ

ชวิน จิตรสมบูรณ์ ก็ถือเป็นมือกีตาร์รุ่นใหม่ที่โดดเด่นน่าจับตามอง พยายามที่จะหลุดออกมาเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงรุ่งโรจน์ ผลหว้า มือเบสที่เก๋าประสบการณ์ เคยอยู่กับเฮฟวี่ มด และวายน็อท เซเว่น รวมถึงการทำงานเบื้องหลังที่โชกโชน ส่วนอีกคนเป็นนักดนตรีชาวญี่ปุ่น เทรุ มุรายาม่า มือกลองที่เคยทำงานกับทีมอาร์พีจี เป็นการข้ามมาร่วมงานที่ไม่มีเชื้อชาติมาขีดคั่น

เมื่อเช็คจากปูมหลัง โฟร์ก็อตเทน เป็นวงดนตรีร็อกที่น่าสนใจเป็นอย่างสูง รวมถึงการรอคอย และตั้งความคาดหวังไว้อย่างมาก กับงานที่คาดว่าจะมีการโชว์กึ๋นทางดนตรี สร้างสรรค์บทเพลงที่ไม่ธรรมดาหรือดาษดื่นแบบทั่วๆ ไปทีมีอยู่แล้วในตลาดเพลงไทยร่วมสมัย

อัลบั้ม ‘โรลลิ่ง’ (Rolling) เป็นอัลบั้มชุดแรกของพวกเขา ว่าไปแล้วก็ถือว่า เป็นงานที่มีคุณภาพที่ดีชุดหนึ่งในช่วงเวลานี้ แม้องค์ประกอบทั้งหมดหรือภาพรวมของทั้งอัลบั้มยังไม่มีความสมบูรณ์แบบถึงที่สุดก็ตาม โดยวัดได้จากรูปรอยของความเพียรพยายามในตัวของบทเพลงต่างๆ มวลสารของดนตรีที่มุ่งหาความสมดุลของเชิงชั้นทางดนตรี และเหลี่ยมมุมทางการตลาด

ถือว่า ยังเป็นยาขมของวงโฟร์ก็อตเทนอยู่เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับวงดนตรีอื่นๆ อีกมากมายที่พยายามจะหาตำแหน่งที่เหมาะสมตรงนี้ให้ได้

ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดในงานชุดนี้ก็คือ บางเพลงก็ดีจนใจหาย ส่วนบางเพลงก็เอาใจตลาดเสียเหลือเกิน แต่สิ่งหนึ่งที่คงอยู่ก็คือ เชิงชั้นทางดนตรีร็อกที่เปี่ยมด้วยฝีมือ การเรียบเรียงดนตรี และการประสานเสียงที่ทุกชิ้นดนตรีได้โชว์ทักษะที่ยอดเยี่ยมออกมา

สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดในอัลบั้มชุดนี้ก็คือ เสียงร้องของปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ที่ผิดฟอร์มไปเลยทีเดียว เสียงของเขาล้วนจมหายไปกับดนตรี ไม่สามารส่งขับพลังที่เคยแสดงให้เห็นตอนทำงานเดี่ยวของตัวเอง เพราะที่จริงแล้ว ปีเตอร์ เป็นคนที่มีแก้วเสียงก้อง เนื้อเสียงหนาทุ้ม น้ำเสียงที่ขับเปล่งออกมาแน่น เหมาะสำหรับการร้องเพลงร็อกอย่างมาก แต่ไม่น่าเชื่อเขาฟอร์มตกเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะบทเพลง ‘พันธุ์ซ่า’ ที่ตอบโจทย์ของผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นมอเตอร์ไซด์ยี่ห้อดัง มีพลังทางดนตรีที่เข้มข้นในแต่ละส่วนอยู่แล้ว พอมีเสียงร้องเข้ามาก็ทอนพลังลงไปทันที ในการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงร้องที่ไม่กระชากพลังออกมาได้เต็มที่ ทั้งที่เค้นออกมาหมดพอสมควรแล้ว

ถ้าจะให้สันนิษฐานจากสมมติฐานจากเพลงที่มีอยู่ 8 เพลงในอัลบั้ม ต้องบอกเลยว่า การเขียนเนื้อร้องยังไม่เข้าปาก คำยังไม่ลงตัวกับธรรมชาติ และทางการร้องของปีเตอร์ คอร์ป อย่างแน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับตอนที่อยู่กับที่เดิม ซึ่งทำงานเดี่ยวออกมา ทีมเขียนเนื้อร้องค่อนข้างที่จะเข้าใจในลักษณะการใช้คำเพื่อที่จะให้ปีเตอร์ปล่อยและถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงของเขาได้เต็มที่กว่า

อีกเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่า วงระดับโฟร์ก็อตเทนไม่น่าจะทำงานเพลงที่มีกลิ่นอายและแนวทางของวงนู เมทัล ต่างประเทศที่รับอิทธิพลมาจะดีกว่ามาก ปล่อยให้วงเด็กๆ เขาทำกันไปให้เกร่อเป็นเรื่องของเขาไป บทเพลง ‘And I Know’ ใช้รูปแบบและสูตรการทำงานเพลงของวง Evanesence กับวง Linkin Park มาผสมกัน โดยเพลงนี้ก็ใช้คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วย แม้จะทำได้ดีมีมาตรฐาน แต่ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะเป็นเพลงที่หลุดโทนออกไปจากอัลบั้ม แต่ถ้าบอกว่า ตอบโจทย์เพื่อขายเด็กหรือคนฟังรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับซาวด์ดนตรีแบบนู เมทัล แล้วทำไมต้องเขียนเนื้อร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วย…

อีกเพลงที่เป็นเพลงภาษาอังกฤษ ‘Plastique’ กลับเป็นเพลงร็อกที่ดีมาก มีความลงตัวในการเขียนถ้อยคำวนซ้ำ แต่กินความหมายได้ดี ดนตรีเป็นร็อกที่แพรวพราวโชว์ฝีมือกันเด่นชัด ถ้าจะบอกว่าเป็นแนว อดัลท์ อัลเทอร์เนทีฟ ป็อปร็อก (Adult Alternative Pop/Rock) ซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มคนฟังที่อยู่ในวัยทำงานแต่ยังสามารถฟังเพลงร็อกแบบวัยรุ่นอยู่ ก็หมายถึงคนในวัยรุ่น 30 ปีขึ้นไปที่เติบโตมาในเจเนอเรชั่น X ยุคทศวรรษที่ 90

ซึ่งบทเพลงอื่นๆ ของโฟร์ก็อตเทนก็อยู่ในเกณฑ์นี้

โดยเฉพาะบทเพลง ‘วีณาแกว่งไกว’ ถือว่าเป็นงานผลิตซ้ำที่ทำได้ยอดเยี่ยมเพลงหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งจะเห็นถึงความเจนจัดของการทำงานดนตรีที่สามารถถอดเอาวิญญาณของบทเพลงที่อิงอยู่กับปรัชญาทางศาสนาพุทธออกมาในบรรยากาศ และอารมณ์ของเพลงได้อย่างดีเยี่ยม สามารถสร้างความหลอนเวิ้งว้างที่เจือลอยอยู่ในดนตรีร็อกที่หนักแน่นได้อย่างลงตัวที่สุด ลองหลับตาจินตนาการเมื่อเปิดเพลงๆ นี้ฟัง เหมือนกับนั่งอยู่บนเรือที่ไหลไปตามลำน้ำอันเชี่ยวกราก ท่ามกลางความเวิ้งว้างในอารมณ์ ต้องพยายามจับสมาธิตัวเองให้มั่นคงเพื่อก้าวผ่านให้พ้นสู่อีกมรรคาหนึ่ง

จากเพลง ‘วีณาแกว่งไกว’ ก็สามารถอนุมานได้ว่า โฟร์ก็อตเทน จำเป็นต้องควานหามือแต่งเพลงอย่าง เขตอรัญ เลิศพิพัฒน์ ผู้วางวายไปแล้วมาสักคน เพราะจากงานชุดนี้

ในบทเพลงอื่นๆ ที่อยู่ในอัลบั้ม ไม่ว่า ‘อยากรู้’, ‘แสงจากฟ้า’, ‘สัญญา’ ถือเป็นงานที่ได้มาตรฐานของเพลงร็อกที่ดี การเรียบเรียงดนตรีที่ผ่านกระบวนคิดที่กลั่นกรองอย่างหมดจด โดยเฉพาะบทเพลง ‘อยากรู้’ ที่ใช้วงเครื่องสายเข้ามาสร้างบรรยากาศให้เพลงมีความอลังการมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะนำเสนองานดนตรีที่เนี้ยบออกสู่หูคนฟัง

บทเพลงที่เป็นเพลงบรรเลงคือ ‘Plastique’ (Chillout Version) ซึ่งเป็นเพลงปิดอัลบั้ม ถือว่าเป็นความชาญฉลาดในการวางเพลงปิดท้ายที่แสดงถึงกึ๋นของคนทำงานที่ไม่ดูดาย เพราะโดยมากพวกตีหัวเข้าบ้าน มักจะเอาแบ็คกิ้ง แทร็กของเพลงที่จะโปรโมตมาปิดท้ายอีกที เพื่อทำให้คนฟังคุ้นกับท่วงทำนอง

โฟร์ก็อตเทน ได้นำงานทีดีอยู่แล้วของเพลงเปิดอัลบั้มมาแตก และตีความใหม่ในอีกแนวทาง สามารถฉีกออกให้เป็นงานเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วเคลิบเคลิ้มไพเราะเสนาะหู

อัลบั้มชุด ‘โรลลิ่ง’ ถือว่าเป็นงานเพลงที่แสดงถึงความกล้าหาญในการนำเสนอเชิงชั้นทางดนตรีที่เป็นตัวของตัวเอง แม้พยายามเอาใจตลาดจนทำให้ไขว้เขวและเกิดอาการฝืดไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตาย อัลบั้มชุดหน้าของพวกเขาน่าจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการเพลงในเมืองไทยได้แน่นอน เพราะดูจากภาพรวมแล้ว โฟร์ก็อตเทน มีศักยภาพเทียบชั้นกับวงร็อคชั้นยอดของเมืองไทยได้แล้วในชั่วโมงนี้
..........
paulheng_2000@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น