xs
xsm
sm
md
lg

Hidden : แอบดูเป็น แอบดูตาย

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


(Spoiler: บทความชิ้นนี้เปิดเผยรายละเอียดสำคัญของหนัง)

ช่วงเดือนที่ผ่านมา การจลาจลในฝรั่งเศสกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แล้วก็เพิ่มความเคลือบแคลงสงสัยขึ้นอีกว่า ทำไมถึงต้องรอให้เหตุการณ์บานปลายไปเกือบสัปดาห์ กว่าที่โดมินีก เดอ วิลเลอแปง นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศสจะลงมาดูแล และอีกหลายวันนับจากนั้น กว่าที่นายฌากส์ ฌีรัก ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี - จะออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้

แต่ไหนแต่ไรมาฝรั่งเศสปฏิเสธว่าตนไม่เคยมีปัญหาเรื่องการแบ่งแยกสีผิวหรือชาติพันธุ์ ทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันไม่ใช่ และในปัจจุบัน, พลเมืองในเขตชานเมืองของกรุงปารีสเต็มไปด้วยราษฎรชั้นสอง อันเป็นผลพวงมาจากการล่มสลายของยุคล่าอาณานิคม

ทั้งชาวอัลจีเรีย, ตูนีเซีย และอีกหลายชาติในแอฟริกา รวมไปถึงฝั่งเอเชียอย่างเวียดนาม - กระจายตัวอาศัยอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส พวกที่ไม่สามารถขยับฐานะตัวเองมาเทียบเท่าชนชั้นกลางได้ ก็จะถูกมองเป็นกาฝากและขยะของสังคม – อย่างไม่มีทางเลี่ยง

อาจเกี่ยว, หรือไม่เกี่ยว – ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันผมได้ดูงานชิ้นล่าสุดของ มิคาเอล ฮาเนเก ผู้กำกับจอมเลือดเย็นชาวออสเตรีย แล้วชวนให้คิดถึงเหตุจลาจลนี้ขึ้นมา ตัวละครในฟากตรงข้ามกับตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้ เป็นคนสัญชาติอื่น ไม่ใช่ปารีเซียงขนานแท้ ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างแร้นแค้น เข้าข่ายพลเมืองชั้นสองอย่างชัดเจน

ตัวละครคนที่ว่านี้อยู่ฝั่งตรงข้ามตัวละครเอกก็จริง แต่ก็ยากที่จะบอกได้ว่า เขาเป็นคนดีหรือคนร้าย เป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ – งานส่วนใหญ่ของมิคาเอล ฮาเนเกไม่ได้ชี้ชัดลงไปขนาดนั้น พูดกันง่ายๆ คือ เขาแทบจะไม่ยอมปะติดปะต่ออะไรให้เข้าใจกันง่ายๆ แต่สนุกสนานที่จะเว้นช่องว่างเอาไว้ เพื่อเรียกร้องให้ผู้ชมใช้ความคิดในการเติมเต็มเอาเอง

หนังเรื่องที่ว่านี้คือ Hidden (หรือ Cache’) มองภายนอกนี่เป็นหนังระทึกขวัญว่าด้วยเรื่องของ จอร์จ (ดาเนียล ออเตยล์) พิธีกรรายการทีวีชื่อดังที่จู่ๆ ก็ได้รับเทปวิดีโอลึกลับซึ่งบันทึกภาพกิจวัตรประจำวันของเขา – ส่งมาหน้าบ้านอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย

ภาพที่ปรากฏในวิดีโอม้วนนั้นไม่มีอะไรพิเศษ เหมือนกับว่าวางกล้องไว้หน้าบ้านแล้วจับภาพในระยะไกล เพื่อให้เห็นบรรยากาศการดำรงชีวิตอันพูนพร้อมของชนชั้นกลางในปารีส แต่เทปนั่นมันไม่ได้รบกวนจิตใจของจอร์จเท่ากับภาพวาดที่แนบมาด้วยกัน ภาพลายเส้นขยุกขยิกนั้นพาให้เขาประหวัดไปถึงความลับบางอย่างในอดีต ที่เคยมีกับ มาฌิด (โมรีซ์ เบนิชู) เด็กชายชาวอัลจีเรียที่แม่ของเขาเคยอยากเก็บมาเป็นลูกบุญธรรม

หนังเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับมาฌิดผ่านมุมมองของจอร์จ ขณะเขานอนฝันร้าย เด็กชายคนนั้นฆ่าไก่อย่างเลือดเย็น ด้วยการใช้ขวานสับหัวให้ขาดแล้วปล่อยให้เหยื่อกระพือปีกไปอย่างไร้จุดหมายรอจนกระทั่งมันสิ้นลมไปเอง

แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองด้านเดียวที่คนดูได้เห็นผ่านความคิดของจอร์จ ซึ่งฮาเนเกพยายามบอกใบ้ไว้ว่า คนดูไม่สามารถเชื่อถือเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ทั้งหมด หนังค่อยๆ ทำลายขนบของการรับรู้ผ่านมุมมอง – ซึ่งเป็นภาษาศาสตร์ทางภาพยนตร์ - ทีละน้อยๆ เพื่อตอกย้ำว่า คนดูไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น

ตั้งแต่ช็อตแรกของหนังที่ภาพชัดใสราวกับฟิล์มภาพยนตร์ แต่ก็มาเฉลยในอีกไม่กี่วินาทีถัดมาว่านั่นเป็นภาพจากกล้องวิดีโอ หรือในอีกตอนหนึ่งที่หนังจับภาพผ่านกล้องของรายการโทรทัศน์ (ที่หากสังเกตจากลักษณะความละเอียดของภาพจะเข้าใจได้ทันทีว่านี่คือกล้องวิดีโอ) ที่จอร์จเป็นพิธีกรอยู่ แต่หนังกลับทำให้กล้องนั้นเคลื่อนไปจับภาพจอร์จเดินออกจากเวทีเพื่อรับโทรศัพท์ส่วนตัวที่ด้านหลังของฉาก - - คำถามก็คือ ใครเป็นคนถ่ายภาพช็อตนี้ และมันควรจะเป็นมุมมองของใครกันแน่

คำเฉลยยังไม่ปรากฏเช่นเคย แต่ฮาเนเกใช้วิธีการลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ข้อสงสัยต่างๆ ก็ค่อยๆ ทวีคูณขึ้นแบบเท่าตัว

ฮาเนเกแสดงภาพความตลบตะแลงของสื่ออีกครั้งในฉากการพูดคุยในรายการโทรทัศน์ของจอร์จ ที่หัวข้อสนทนานั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตการทำงานของอาร์ตูร์ แรงโบด์ หนังปล่อยให้คนดูเห็นภาพการถกถึงเรื่องน่าสนใจของแรงโบด์ไปชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะสะดุดอารมณ์ด้วยการกรอภาพกลับ และเสียงคนตัดต่อที่พูดคุยกับจอร์จว่า ควรจะตัดช่วงน่าเบื่อนี้ไปเลย แล้วข้ามไปเก็บในส่วนชีวิตโฮโมเซ็กช่วลของแรงโบด์แทน เพราะน่าสนใจกว่า

สำหรับคนดูที่ติดตามงานของมิคาเอล ฮาเนเกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับงานใจร้ายๆ อย่าง Benny’s Video (1992) และ Funny Game (1997) คงพอจะทราบว่านี่ไม่ใช่หนแรกที่ฮาเนเกนำประเด็นเรื่อง “สื่อ” (Medium) มาเล่นสนุก และรื้อโครงสร้างการรับรู้ของคนดูใหม่ทั้งหมด

กับ Hidden ก็เช่นกัน เพียงเวลาครึ่งชั่วโมง คนดูก็ลอยคว้างหาที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้ (เพราะฮาเนเกทำลายระบบมุมมองของหนังไปหมดสิ้นแล้ว) ดูเหมือนตัวละครที่อยู่ใกล้คนดูมากที่สุด – ซึ่งพอจะไว้ใจได้ – คือ อานน์ (จูเลียต บินอช) ภรรยาของจอร์จ ที่อยู่รอบนอกของเรื่องวุ่นนี้

อานน์ ก็ไม่ต่างจากคนดูที่ทีละน้อยก็เริ่มไม่ไว้ใจสามีของตัวเอง เริ่มมองเห็นด้านที่เขาไม่เคยแสดงออกมาก่อน ยิ่งนานเข้า เธอก็ไม่แน่ใจแล้วว่า สามีของเธอตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้อย่างที่เห็นจริงๆ หรือเปล่า

ว่ากันตามตรงยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมายที่รบกวนจิตใจคนดูว่า แท้จริงแล้วมันเป็นอย่างที่เห็นหรือไม่ เครื่องหมายคำถามเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ดูเหมือนท่ามกลางความสับสนนั้น ยังมีอย่างหนึ่งที่แน่นอนและอาจไม่ต้องหาคำตอบใดๆ เพิ่มเติมอีก

นั่นก็คือ จอร์จเป็นคนเลือดเย็นและเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ แค่การปล่อยวาจาหยาบคายออกมาว่าหนุ่มแอฟริกันคนหนึ่งที่ขี่จักรยานปาดหน้าตอนที่เขากลุ้มใจ นั่นอาจจะยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ทว่ารายละเอียดที่ฮาเนเกให้ไว้อย่างผ่านเลยเกี่ยวกับตัวเขานั้น ชวนให้คนดูอยากจะนำตัวออกห่างจากตัวละครตัวนี้

เขาไม่เคยคิดจะไปเยี่ยมแม่อย่างจริงๆ จังๆ ถ้าไม่มีเรื่องจำเป็น เรียกร้องให้ภรรยาเข้าใจและไว้ใจ ในขณะที่เขาเองไม่ได้ให้สิ่งนั้นตอบ การพยายามกลบเกลื่อนปัญหาที่สั่นคลอนสถานภาพของตนเอง โดยไม่ยอมสนใจว่าคนรอบข้างจะเป็นอย่างไร

ที่เจ็บปวดที่สุดน่าจะเป็นการคนดูเริ่มเข้าใจว่า เหตุการณ์ในอดีตที่เกี่ยวกับตัวมาฌิดนั้น เป็นไปได้อย่างสูงว่าจะผิดและบิดเบือนไปจากที่เราได้รับรู้ในตอนแรก คนที่หวงแหนแม่และสวัสดิภาพของตนเอง รวมถึงบงการให้เด็กกำพร้าชาวอัลจีเรียคนนั้นทำเรื่องเลวร้ายจนต้องกระเด็นไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ คือเด็กน้อยจอร์จ

ดูหนังฮาเนเกทีไร นอกเหนือไปจากความสนุกสนานที่เกิดจากเกมการเล่าเรื่องแล้ว ผมจะต้องมานั่งหวาดกลัวกับพฤติกรรมของมนุษย์ทุกที มันชวนให้คิดไปในแง่ร้ายว่า บางทีความเกลียดชังคงเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่อย่างไรก็ไม่มีวันลบออก

Hidden อาจจะเรียกร้องความอดทนในการชมสูงกว่าหนังทั่วๆ ไปสักหน่อยนะครับ แต่จะเพลิดเพลินมากถ้าหากดูจบแล้วก็เปิดวงนั่งถกกับเพื่อนไปด้วย

เพราะนี่คือหนังที่แสนจะเจ้าเล่ห์ ชั่วร้ายและยอกย้อนที่สุดในปีนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น