ในอุตสาหกรรมดนตรีไม่ว่าใหญ่หรือเล็กขนาดไหน ย่อมเป็นโลกของทุน และธุรกิจที่โหดร้ายทั้งสิ้น แม้จะเปี่ยมด้วยความสามารถขนาดไหน หากไม่สามารถหาเหลี่ยมมุม แปรมาเป็นตัวสินค้าในตามมาตรฐานตลาดวงกว้างแล้วก็ มีทางเดียวคือ เฉดหัวส่ง แล้วปล่อยให้เหี่ยวเฉาตายไปตามธรรมชาติ
กรณีของ "อังกุน" (Anggun) กับ "ทาทา ยัง" ก็อยู่ในรูปรอยเดียวกัน เพราะทั้ง 2 คน เป็นศิลปินท้องถิ่น มีที่อยู่ที่ยืนในตลาดเพลงพ็อพกระแสหลักในประเทศของตัวเอง คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับซูเปอร์สตาร์ ก่อนที่จะเซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของโลกที่ประจำอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ทาทา ยัง เล่นกับตลาดเอเชีย โดยมีทีมทำเพลงป็อปแด๊นซ์จากยุโรปเหนือ แถบสแกนดิเนเวียเป็นคนป้อนเพลงเข้าปากของเธอ
ส่วนอังกุน เล่นกับของยากกว่า เพราะเธอเล่นกับตลาดเพลงของยุโรป ซึ่งมีมาตรฐานและคุณภาพที่หลากหลาย และโจทย์ที่ยากกว่า
แต่เรื่องรสนิยมการฟังเพลงนั้น หามาตรวัดกันยาก เพราะเป็นเรื่องของลางเนื้อชอบลางยา วงดนตรีหรือนักร้องในระดับโนเนมในยุโรปเองอาจจะมาดังในเอเชียก่อน แล้วจึงกลับไปโด่งดังในฐานบ้านเกิด
หากว่าไปแล้ว อังกุนนั้น ไม่ธรรมดาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสืบค้นประวัติกลับไปเธอ จะพบว่า เธอมีต้นทุนทางสังคมมาจากสายตระกูลที่เข้มแข็ง และเข้มข้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเกิดมาเป็นลูกสาวของ Darto Singo ซึ่งเป็นศิลปินและโปรดิวเซอร์ผู้อาวุโสแห่งวงการดนตรีที่โด่งดัง องค์ประกอบเหล่านี้ก็ย่อมที่จะส่งผลถึงลูกสาวอย่างเต็มที่ การถ่ายทอดทางสายเลือด และพันธุกรรม
อังกุน มีชื่อจริงแบบเต็มๆ ว่า Anggun Cipta Sasmi เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน ปี 1974 (2515) อายุปัจจุบันก็ 31 ปี
การที่ไม่ต้องเริ่มต้นขึ้นมาจากศูนย์ ทำให้อังกุนมีแต้มต่อในการทำงานเพลงที่ถูกจับตามองตั้งแต่เริ่มเข้าวงการ
เธอออกอัลบั้มเพลงเด็กในอินโดนีเซียมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ พอช่วงอายุ 12-19 ปี ก็ออกงานเพลงในกระแสเพลงป็อปกระแสหลักในอินโดนีเซียมาถึง 6 อัลบั้ม จนโด่งดังกลายเป็นป็อปสตาร์ของอินโดนีเซีย ตอนอายุ 17 ปี ช่วงต้นยุคทศวรรษที่ 90 เธอมีเพลงยอดนิยมในระดับเมกะฮิตในตลาดเพลงอินโดนีเซียที่ชื่อ ‘Tua Tua Keladi - (Misbehaving Old Man)’ ซึ่งเป็นเพลงเศร้ากินใจ จนถูกวางตัวให้เป็นอนาคตแห่งวงการดนตรีอินโดนีเซีย
สไตล์และแนวดนตรีของอังกุน ในช่วงที่เป็นซูเปอร์สตาร์ของชาวอินโดนีเซียนั้น จะเป็นในแนวป็อป-เมทัล ที่ผสมดนตรีเทรดิชั่นของอินโดนีเซียเข้ามาผสมผสาน ถ้านึกไม่ออกเอาง่ายๆ ก็คือ ดนตรีในแบบของบอน โจวี่ (Bon Jovi) ที่มีเสียงของดนตรีแบบชวานีส อย่าง กามิลัน (Gamelan) แทรกสอดเข้ามาอย่างลงตัว โดยมีโปรดิวเซอร์คู่ใจคือ เอียน อันโทโน
เพราะฉะนั้น บุคลิกร็อกเกอร์อินโดนีเซียนของเธอที่ถูกถอดทิ้งออกไป หลังจากโกอินเตอร์ในฝรั่งเศส ยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกานั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่า รสนิยมการฟังเพลงของโลกนั้นมีทิศทางไปด้านไหน ซูเปอร์สตาร์ที่มาจากภูมิภาคอื่นของโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งต้องทำใจ และหลอมอัตตาตัวเองที่เคยมีอยู่ให้ลดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
อัลบั้ม ‘Luminescence’ ซึ่งเป็นงานชุดใหม่ของอังกุน ได้แสดงให้เห็นถึงความเจนจัดของเธอว่า 8 ปีที่ผ่านมา ที่เธอออกอัลบั้มเพลงในฝรั่งเศส สามารถจับทางได้อย่างอยู่มือแล้ว พื้นฐานของเพลงยูโร-ป็อป และอิเล็คทรอ-ป็อปที่เน้นหนักไปทางโรแมนติก บัลลาด และสโลว์ บัลลาดที่หวานฉ่ำ โดยไม่ทิ้งตัวตนของอินโดนีเซียที่ใส่บรรยากาศของดนตรีเทรดิชั่นของอินโดฯ โปรยประปรายในบรรยากาศ และอารมณ์เพลง
ไม้ตายของอังกุน อยู่ที่เนื้อเสียงของเธอที่หนาแน่นอุ้มโอบไปด้วยอารมณ์ที่สื่อสารออกมาอย่างเต็มที่ แก้วเสียงที่ก้องกังวานของเธอสามารถลากโหนไปได้กว้างอย่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่ได้เดินตามรอยทางลักษณาการร้องของนักร้องสายเออร์แบน แบล็ค มิวสิก ที่มีนักร้องเสียงทอง (Diva) ที่มีพื้นฐานของโซล และอาร์แอนด์บี เป็นพิมพ์นิยมของวงการเพลงโลกยุคนี้อยู่
การร้องเพลงของเธอมีความเหมาะเจาะพอดิบพอดีกับตัวเพลงในแต่ละเพลงทั้ง 13 เพลงในอัลบั้ม โดยเฉพาะบทเพลงสุดท้ายที่ชื่อ ‘Go’ จะซึมซับถึงพลังในเสียงร้องของเธออย่างเต็มเปี่ยม การทอดอารมณ์ เปล่งความรู้สึกในถ้อยคำของแต่ละพยางค์ มวลรวมของประโยคที่แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะของนักร้องที่ดี และที่สำคัญเธอมีทางร้องที่ไม่ใช่แบบแผนของตะวันตก แม้จะใช้วิธีการของตะวันตกก็ตาม
นี่คือเสน่ห์ของความเอ็กซอติค (Exotic) ในบทเพลงของเธอ
บทเพลง ‘Saviour’ แสดงถึงการร้องเพลงร็อกที่เฉียบขาดเป็นอย่างมาก หากเปรียบเทียบกับชากีรา (Shakira) ราชินีละตินร็อกของโคลัมเบียนั้นก็เรียกได้ว่า สูสีเบียดกันได้
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การเขียนเพลงเองของเธอทุกเพลง แม้จะมีโปรดิวเซอร์มาช่วยเขียนด้วยก็ตาม ได้แสดงให้เห็นว่า อังกุนสามารถเขียนเพลงรักที่เข้มข้น ง่าย คมคาย ถึงแม้จะไม่ลึกซึ้งนักได้ไม่แพ้นักร้องทางตะวันตก
โบนัส แทร็ก หรือเพลงแถมในอัลบั้มนี้มีด้วยกัน 2 เพลง แบ่งย่อยเป็นบทเพลง ‘Mantra’ 3 เวอร์ชั่น และ ‘In Your Mind’ ที่มีเพิ่มมาจากอัลบั้มอีก 2 เวอร์ชั่น แสดงให้เห็นว่า เธอสามารถรับมือกับการร้องในรูปแบบต่างๆ และปล่อยความรู้สึกผ่านอารมณ์เพลงที่สอดคล้องและรับกับภาคดนตรีได้ดีมาก
บทพิสูจน์จากอัลบั้มชุด ‘Luminescence’ บ่งบอกและชี้ให้เห็นอย่างเด่นชัด ถึงความเชี่ยวชาญในการร้องเพลงในระดับที่ทัดเทียมกับป็อปสตาร์ตะวันตกที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ได้อย่างไม่เคอะเขิน โดยมีความเป็นตัวของตัวเองในระดับที่สูงอยู่พอสมควร
หากจะสรุปก็สามารถชี้ภาพให้เห็นว่า นักร้องสาวที่มาจากโลกที่กำลังพัฒนา ไม่ว่า ชากีร่า, อังกุน หรือแม้กระทั่งทาทา ยังของไทยเอง มีศักยภาพในการร้องเพลงที่สามารถตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมดนตรีที่ไหลตามกระแสแฟชั่นของตะวันตกได้เพียงพอ
และก็มีศูนย์รวมสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ นอกจากทำงานดนตรีและร้องเพลงที่เปี่ยมคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพสุดๆ แล้ว จุดสำคัญอีกอย่างก็คือ ภาพลักษณ์ที่ต้องโชว์เนื้อหนังมังสาในฐานะสัญลักษณ์ทางเพศที่แปลกใหม่ในเชิงเอ็กซอติคด้วยเช่นกัน
อังกุน ก็สื่อสารตัวเองด้วยสายตาที่พริ้มเคลิ้ม ภายใต้ชุดที่แนบเนื้อเปิดไหล่ วางท่าทางให้เซ็กซี่ยั่วยวนใจ น่าค้นหาในความลึกลับที่ไม่คุ้นชินของโลกตะวันตก
การขึ้นเป็นป็อปสตาร์ในฐานะ ดิวา (Diva) ที่เคยชินกับภาพลักษณ์ทางเพศที่มีอยู่เก่าก่อน สามารถตอบคำถามของโลกเพลงป็อปในยุคโพสต์-โคโลเนียล (Post- Colonial - หลังอาณานิคม) ของนักร้องสาวจากภูมิภาคต่างๆ ที่พยายามก้าวขึ้นโกอินเตอร์ได้ว่า ต้องเป็นสินค้าที่สื่อสารในฐานะสินค้าทางเพศได้ทัดเทียมกันกับนักร้องสาวจากโลกตะวันตกที่เป็นอยู่เช่นกัน
นั่นคือการที่ต้องเปลื้องเปลือยตัวตนในโลกของดนตรีและเสียงเพลง แล้วก็เปลื้องเปลือยตัวเองในทางสินค้าที่ยั่วยวนใจทางเพศอีกโสตหนึ่งอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ถ้าอยากขึ้นสู่ระดับโลก
อังกุน กับทาทา ยัง ได้ตอบคำถามในฐานะตัวแทนจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หมดจดไปแล้ว
..........
paulheng_2000@yahoo.com