xs
xsm
sm
md
lg

Autumn Spring : สงครามของเฒ่าทารก

เผยแพร่:   โดย: ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี


ภายใน 1 วัน ช่วงเวลาที่อารมณ์คนเราดิ่งลงล่างที่สุด น่าจะเป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์ตก

คนเมืองที่มีชีวิตวูบไหวอาจจะไม่ค่อยรู้สึก แต่กับชาวบ้านคนรากหญ้า คนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ หรือคนที่เคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้า น่าจะสังเกตได้ มันเป็นช่วงเวลาสงบนิ่ง เปล่าเปลี่ยว คนไกลบ้านจะเหงาและคิดถึงบ้านกันมากที่สุดก็ในยามนี้

มนุษย์หลายชนเผ่ามีความเชื่อเรื่องเวลาย่ำค่ำไม่ต่างกันนัก ส่วนใหญ่แล้วมันมักผูกพันกับความตาย หลังจากเราทำกิจกรรมการงานอันเหนื่อยล้ามาตลอดทั้งวัน เวลานี้คือเวลาของการหยุดพัก ความมืดค่อยๆ คืบคลานเข้ามา อุณหภูมิก็เริ่มต่ำลง

หนังหลายเรื่องใช้ช่วงเวลานี้เกี่ยวโยงกับความตายได้อย่างมีชั้นเชิง ผมจำได้แม่นกับหนังจากเนเธอร์แลนด์ เรื่อง Antonia’s Line (1995, มาร์ลีน กอร์ริส) หนังเล่าเรื่องของหญิงชราสู้ชีวิตที่ทำงานหนักมามากกว่าครึ่งหนึ่งของอายุขัย และกำลังรับมือกับมัจจุราช ที่จะมาเยือนเธอในไม่ช้า

กอร์ริสถ่ายฉากที่เธอขี่ม้าไปกับหลานสาวตัวน้อยในยามที่แสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ใกล้จะลาขอบฟ้าได้สวยงาม บทสนทนาเองก็งามไม่แพ้กัน เพราะเป็นเรื่องราวของสวรรค์ที่เด็กน้อยตั้งคำถามต่อยายด้วยความสงสัย

หนังอีกเรื่องที่ถ่ายฉากลักษณะนี้ได้วิเศษจนผมจำติดตา คือ Madadayo (1993) ผลงานเรื่องสุดท้ายของผู้กำกับ อากิระ คุโรซาว่า ฉากจบของหนังแสดงให้เห็นการเล่นซ่อนหาของเด็กกลุ่มหนึ่งในทำนองเปรียบเปรย คนปิดตาจะคอยถามว่า “พร้อมหรือยัง” (Mahda-kai) ฝ่ายที่ยังหาที่ซ่อนไม่ได้ก็จะบอกว่า “ยังไม่พร้อม” (Madadayo)

ข้อเท็จจริงพื้นฐานของโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ ซึ่งไม่ต่างจากการสับเปลี่ยนของฤดูกาล คือไม่ว่าจะอย่างไร เราทุกคนก็ต้องตาย ปัญหาอยู่ที่บางคนอาจจะพร้อม แต่บางคนก็ไม่

ผมเลี่ยงที่จะดู Autumn Spring อยู่นาน เพราะคิดว่าหนังเล่าเรื่องความตายและความชรา ผมไม่อยากและไม่พร้อมที่จะรับมือกับความหดหู่ นึกไปว่าตัวเองคงยังไม่ถึงวัยที่จะตระหนักถึงเรื่องทำนองนี้ อันนี้เป็นบรรทัดฐานส่วนตัวนะครับ

จะว่าไป Autumn Spring ก็เป็นไปอย่างที่คาดไว้จริงๆ แต่ในเรื่องราวที่ค่อนข้างเศร้านั้น คนทำหนังก็แฝงความรื่นรมย์ไว้บางๆ มานั่งนึกๆ ดู (หลังจากใจกล้าซื้อตั๋วเข้าชมแล้ว) ผมรู้สึกอิ่มเอมกับหนังเรื่องนี้ มากถึงขนาดที่ว่ารู้สึกอบอุ่นในใจขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก

พิจารณาตามเนื้อผ้าแล้ว ตัวหนังดำเนินไปอย่างราบเรียบ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการกระแทกกระทั้นอย่างรุนแรง แต่มันก็คล้ายๆ กับหยดน้ำเม็ดเล็กๆ ที่ไหลซึมลงบนบ่อทราย กว่าจะรู้ตัวอีกที น้ำก็ปริ่มเอ่อล้นเสียแล้ว

ตัวละครเอกในหนังเรื่องนี้คือ ตาเฒ่าวัย 76 ชื่อ ฟานดา ในวัยอย่างแก ควรจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน หากิจกรรมนิ่งๆ ทำได้แล้ว แต่ก็ไม่ ฟานดากับเอดา เพื่อนซี้วัยใกล้เคียงกัน ออกเดินเที่ยวเล่นในเมืองเหมือนเด็กวัย 8 ขวบเล่นสนุก

หนึ่งในกิจกรรมที่ฟานดาโปรดปรานมากที่สุดคือการปลอมตัวเป็นมหาเศรษฐีจากอเมริกา ที่เดินทางมาซื้อคฤหาสน์หลังโต หลังจากปล่อยให้นายหน้าบริการอย่างดี (ด้วยอาหารราคาแพงและรถลีมูซีน) แกก็หายเข้ากลีบเมฆ – เป็นอันว่าจบเกมในหนึ่งวัน

ตรงข้ามกับ เอมิลี เมียของแก ที่ทำตัวสมวัยจริงๆ ด้วยการเลี้ยงหลาน คอยเป็นธุระจัดการเรื่องลูกชายที่มีเมียอย่างน้อยๆ ก็ 3 คน พลางเก็บออมเงินไว้เพื่อจัดงานศพให้ตัวเอง ว่างๆ ก็เดินไปดูประกาศมรณกรรม และเลือกดูว่าแบบไหนน่าจะเหมาะกับตัวเองและสามี

ฟานดาไม่พอใจนักที่ เอมิลีทำแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่เขาพยายามต่อสู้มาตลอด หนังไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่า ฟานดาไม่พร้อมรับมือกับความตาย ลึกๆ เขาอาจจะพร้อมแล้ว แต่ก็อาจไม่อยากจากไปด้วยความหดหู่

สองตายายเลยกระฟัดกระเฟียดใส่กันเสมอๆ แล้วเรื่องวุ่นก็เกิดขึ้น เมื่อนายหน้าคนหนึ่งที่ฟานดาเคยทำแสบไว้ เข้ามาเรียกร้องค่าเสียหาย ตาเฒ่าเลยขโมยเงินที่เมียจะเก็บไว้จัดงานศพ ไปใช้หนี้จนหมด

แต่ก่อนที่จะตัดสินใจหยิบเงินเมียไป หนังก็กำหนดให้มีซีเควนซ์ใหญ่ๆ ที่สำคัญซีเควนซ์หนึ่ง ฟานดาและเอดาพยายามทุกวิถีทาง เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ตั้งแต่การเข้าไปในบ่อนคาสิโน (ก่อนจะถูกไล่ตะเพิดออกมา เพราะดูเหมือนคู่หูเคยมาป่วนที่นี่หนหนึ่งแล้ว) เข้าไปยืมหลานสาว โดยการโกหกว่าจะไปลงเรียนการแสดง เพื่อจะได้แสดงในหนังทุนยักษ์ (แล้วก็เหลวตามเคย)

แผนต่อไป คือการเดินทางไปพบกับเพื่อนเก่าซึ่งเคยเป็นนางเอกละคร สมัยยังทำงานอยู่ที่โรงละครด้วยกัน หวังว่าจะได้เงินสักก้อนที่จะพอใช้หนี้ แต่ความจริงที่ทั้งคู่ได้พบ นอกจากเธอจะยังติดเงินคนข้างบ้าง (ด้วยจำนวนเพียงน้อยนิด) แล้ว หญิงชรายังอยู่อย่างโดดเดี่ยว เฝ้าถวิลหาอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับ การมาถึงของชายชราเพื่อนเก่า 2 คน จึงเป็นเหมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจ ให้เธอมีแรงลุกขึ้นจากเตียงอีกครั้งหนึ่ง

หญิงแก่ถือโอกาสเลี้ยงฉลองวันเกิดเหงาๆ ของตัวเอง ด้วยการเปิดไวน์ซึ่งหล่อนเก็บมาเป็นเวลาหลาย 10 ปี ให้เพื่อนๆ ได้ดื่ม แกดีใจถึงขนาดมีอารมณ์นึกอยากจะหวีผม เพื่อแต่งตัวอีกหน

ฟานดาและเอดา จากไปด้วยความเศร้าสร้อย ระหว่างเดินคอตก เอดาบอกว่าอยากจะทำทานให้ขอทานตาบอดสักหน่อย แต่แล้วเจ้าขอทานตัวแสบก็เชิดเงินทั้งหมดวิ่งหนีไปต่อหน้าต่อตา - - ทำไมชีวิตถึงได้เจ็บปวดขนาดนี้

มันเป็นซีเควนซ์ที่ขึ้นต้นด้วยเสียงหัวเราะ แต่ก็จบลงด้วยการถอนหายใจเฮือกใหญ่

หลังจากเรื่องขโมยเงิน ฟานดาก็ทำแสบอีกครั้งด้วยการแสร้งว่าตัวเองตาย หนนี้เอมิลีฉุนขาด บอกลูกชายให้เรียกทนายฟ้องหย่าทันที ผู้กำกับ วลาดิมีร์ มิคาเลก ชวนให้คนดูคิดว่า มันจะกลายเป็นเรื่องโอละพ่อ แต่ฉากการต่อสู้กันในศาลก็เป็นฉากเด่นอีกฉากหนึ่งของหนัง ซึ่งทำออกมาได้น่าประทับใจ

แรกๆ เราก็เห็นว่าเอมิลีรู้สึกโมโหผัวจริงๆ แต่ระหว่างที่พรั่งพรูข้อเสียสารพัดให้กับศาลฟัง เธอก็ตระหนักไปพร้อมๆ กับคนที่นั่งอยู่รายรอบ (รวมถึงคนดู) ว่า ข้อเสียงี่เง่าเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เธอตกหลุมรักเขา ข้างฝ่ายฟานดาเองก็คอตกยอมแพ้ การได้รู้ว่าเมียต้องทนกับพฤติกรรมดื้อด้านของตนมาตลอด เขาก็เริ่มโอนอ่อน กลายเป็นเด็กที่อยู่ในโอวาท

คนดูก็น่าจะเดากันได้ เพราะคนทำหนังเองก็ไม่ได้ต้องการจะเก็บงำใดๆ อยู่แล้วว่า ถึงท้ายที่สุด ฟานดาก็ต้องกลับมาเป็นไอ้แสบอย่างเดิม คนที่เปลี่ยนไปไม่ใช่เขา แต่คือ เอมิลี ซึ่งพร้อมจะยินดีที่เห็นสามียืนหันหลังให้กับความตายอย่างมีความสุข

ฉากจบของหนังถ่ายทำออกมาได้สวยงาม หลังจากพาเมียไปร่วมขบวนการต้มนายหน้าด้วยกันแล้ว เขาก็ได้ขึ้นบอลลูนสมใจอย่างที่เขาเคยพูดไว้ ทั้งเฟรมถูกอาบด้วยสีทอง เป็นแสงของเวลาย่ำค่ำอันแสนสุข และทั้งคู่ก็หัวเราะให้แก่กัน

พี่ “นรา” เขียนลงใน Flicks เมื่อ 2-3 ฉบับก่อนว่า นี่คงเป็นหนังที่ดีที่สุดที่เข้าฉายที่เฮ้าส์ อาร์ซีเอ แรกๆ ผมก็ไม่เอะใจอะไร พอได้ดูแล้ว ก็ชักเริ่มคล้อยตามแล้วจริงๆ



กำลังโหลดความคิดเห็น